หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  1
คำสอนทั่วไปเกี่ยวกับเสรีภาพในการถือศาสนา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คำแถลงของสภาสังคายนาว่าด้วยเสรีภาพในการถือศาสนาสิทธิ์ของบุคคลและคณะบุคคล
ที่จะมีเสรีภาพทางสังคมและบ้านเมืองในเรื่องศาสนา

เป้าหมายและรากฐานของเสรีภาพในการถือศาสนา

๒. สภาสังคายนาวาติกันขอแถลงว่า  บุคคลมนุษย์ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการถือศาสนา.  เสรีภาพที่กล่าวนี้หมายถึงการที่มนุษย์ทุกคนจะถูกปัจเฉกชนก็ดี  หรือกลุ่มบุคคลในสังคมและอำนาจของมนุษย์ใด ๆ ก็ดี บังคับให้ปฏิบัติฝ่าฝืนมโนธรรมในเรื่องศาสนา  หรือถูกขัดขวางมิให้ปฏิบัติตามมโนธรรมในเรื่องศาสนา หรือถูกขัดขวางมิให้ปฏิบัติตามมโนธรรมในขอบเขตอันยุติธรรมไม่ได้ ไม่ว่าในสถานที่เอกชนหรือในสถานที่สาธารณะ ไม่ว่าเมื่อเขาปฏิบัติคนเดียวหรือปฏิบัติร่วมกับคนอื่น. นอกจากนี้สภาสังคายนายังขอแถลงว่า สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการถือศาสนานั้นมีรากฐานอยู่ในศักดิ์ศรีของตัวบุคคลมนุษย์เอง ตามที่เหตุผลบอกและพระเป็นเจ้าตรัสให้เรารู้.  สิทธิที่บุคคลมนุษย์ต้องมีเสรีภาพในการนับถือศาสนานี้ ต้องได้รับการนับถือในกฎหมายของสังคมจนถือเป็นสิทธิของพลเมืองประการหนึ่ง.

มนุษย์ทุกคน  เนื่องจากมีศักดิ์ศรีเพราะเป็นตัวบุคคล ซึ่งหมายความว่ารู้จักคิดหาเหตุผลและมีเจตจำนงเป็นอิสระ  และดังนั้นมีความรับผิดชอบเป็นส่วนตัวด้วย  จึงถูกธรรมชาติของตนเองเร่งเร้าและถูกพันธะทางศีลธรรมบังคับให้แสวงหาความจริงซึ่งก่อนอื่นได้แก่ควมจริงที่เกี่ยวกับศาสนา.  แต่พอรู้ความจริงแล้ว  มนุษย์ทุกคนจำต้องยึดถือความจริงนั้น และกำกับชีวิตของตนตามที่ความจริงนั้นจะเรียกร้องให้ทำ.  อันว่ามนุษย์จะปฏิบัติตามพันธะประการนี้อย่างถูกต้องตรงกับธรรมชาติของตนได้ ก็ต่อเมื่อมีทั้งเสรีภาพทางใจและทั้งความปลอดพ้นจากการถูกบังคับภายนอกใด ๆ ทั้งสิ้น.  ดังนั้นสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการถือศาสนาจึงเกิดขึ้น  มิใช่เพราะมนุษย์เกิดมีสภาพจิตใจต้องการขึ้นมา  แต่เพราะมนุษย์มีธรรมชาติต้องการเช่นนั้นอยู่เอง. เหตุฉะนั้นแม้คนที่ไม่ถือตามพันธะต้องแสวงหาและยึดถือความจริง ก็ยังทรงไว้ซึ่งสิทธิจะถูกบังคับใด ๆ ไม่ได้  และจะถูกขัดขวางมิให้ใช้สิทธินี้ก็ไม่ได้ตราบเท่าที่ไม่เป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยของประชาคม.

เสรีภาพในการถือศาสนาและความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเป็นเจ้า

๓. เรื่องทั้งหมดนี้เป็นที่เห็นได้ชัดกว่าอีก ถ้าพิจารณาถือว่ากฎเกณฑ์สูงสุดในชีวิตของมนุษย์ก็คือพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าเอง ซึ่งเป็นบัญญัติแต่ชั่วนิรันดร. เป็นความจริงเที่ยงตรงอยู่ในตัว และใช้ทั่วไป และตามแผนการอันปรีชาและเมตตาของพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าทรงใช้บัญญัตินั้นควบคุม นำ และปกครองโลกทั้งโลกตลอดจนวิถีทางเดินของประชาคมมนุษย์. พระเป็นเจ้าทรงทำให้มนุษย์มีส่วนร่วมในบัญญัติของพระองค์ในแบบที่มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงอันเปลี่ยนแปลงมิได้ยิ่งขึ้นเสมอ  ตามที่พระญาณสอดส่องของพระองค์ได้จัดแจงไว้อย่างเหมาะสม.

แต่ต้องแสวงหาความจริงนั้นตามวิธีที่เหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีและสภาพทางสังคมของตัวบุคคลมนุษย์ กล่าวคือต้องการแสวงหาด้วยการสืบเสาะอย่างเสรี ด้วยการสอนและการฝึกอบรม  ด้วยการแลกเปลี่ยนและการติดต่อพบปะกัน. ถ้าทำดังนี้  ต่างฝ่ายต่างอธิบายความจริงที่ได้พบหรือคิดว่าได้พบเพื่อช่วยกันและกันในการแสวงหาความจริง  และเมื่อรู้ความจริงแล้วต้องยึดมั่นในความจริงนั้นอย่างมั่นคงโดยความนิยมเห็นชอบของตนเอง.

แต่ที่มนุษย์รู้สึกและน้อมรับเรื่องที่บัญญัติของพระเป็นเจ้าสั่งให้ทำนั้น  ก็โดยอาศัยมโนธรรม.  มนุษย์จำต้องถือตามมโนธรรมในกิจการทุกอย่างเพื่อบรรลุถึงจุดหมายปลายทางของตนคือ องค์พระเป็นเจ้า. ฉะนั้นมนุษย์จึงมิควรจะถูกบังคับให้กระทำสิ่งใดฝืนมโนธรรม  และก็ไม่ควรจะถูกขัดขวางมิให้กระทำตามมโนธรรม เป็นต้นในเรื่องศาสนา เพราะการถือศาสนานั้นโดยลักษณะของมันเอง ก่อนอื่นก็คือการประกอบกิจกรรมภายในนั้นโดยสมัครใจและอย่างเสรี.  เมื่อประกอบกิจกรรมภายในนั้นมนุษย์ก็ควบคุมชีวิตของตนให้มุ่งตรงไปหาพระเป็นเจ้า.  กิจกรรมเช่นนี้ไม่มีอำนาจใด ๆ ที่เป็นมนุษย์แท้ ๆ จะมาบังคับให้ทำหรือห้ามไม่ให้ทำได้.  แต่ธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบอยู่เป็นสังคมเองเรียกร้องให้มนุษย์แสดงกิจการศรัทธาภายในออกมาภายนอกทำการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นในเรื่องศาสนาและถือศาสนาในรูปเป็นหมู่คณะ.

ฉะนั้นการปฏิเสธไม่ยอมให้มนุษย์ปฏิบัติศาสนาอย่างเสรีในสังคม ทั้งที่การปฏิบัติศาสนามิได้เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาคมแต่อย่างใด ก็นับว่าเป็นการทำหมิ่นประมาทต่อบุคคลมนุษย์และผิดระเบียบที่พระเป็นเจ้าทรงตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์.

อนึ่งเมื่อประกอบกิจศาสนาในที่สาธารณะหรือในที่ส่วนตัวและโดยการตัดสินใจของตนเอง  มนุษย์ก็ควบคุมชีวิตให้มุ่งไปหาพระเป็นเจ้า.  กิจศรัทธาเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่เหนือเรื่องต่าง ๆ ในโลกนี้. อำนาจฝ่ายบ้านเมืองซึ่งมีจุดหมายโดยเฉพาะจะทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ทางโลก จึงต้องยอมรับรู้และส่งเสริมการถือชีวิตทางด้านศาสนาของพลเมือง แต่ต้องกล่าวว่า ถ้าอำนาจฝ่ายบ้านเมืองแย่งเอาสิทธิที่จะควบคุมหรือขัดขวางการปฏิบัติทางศาสนา  ก็เป็นการทำเกินเลยขอบเขตไป.

เสรีภาพของนิกายศาสนาต่าง ๆ

๔. เสรีภาพหรืออีกนัยหนึ่งความปลอดพ้นจากการถูกบังคับใด ๆ ในเรื่องศาสนาซึ่งเป็นคุณสมบัติของบุคคลต่าง ๆ นั้นต้องได้รับการรับรู้ด้วยว่าเป็นสิทธิของเขาเมื่อบุคคลเหล่านั้นปฏิบัติงานร่วมกัน  ด้วยว่านิกายศาสนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์ก็ดี พระศาสนจักรเองก็ดี  มีธรรมชาติชอบอยู่เป็นสังคม.

ฉะนั้นถ้าไม่มีสิ่งใดที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาคมแล้ว  นิกายศาสนาเหล่านี้ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการบังคับใด ๆ ที่กล่าวนี้  เพื่อสามารถปกครองตนตามกฎเกณฑ์ ประกอบคารวกิจสาธารณะ สักการะพระเจ้าสูงสุด ช่วยสมาชิกในการบำเพ็ญถือชีวิตด้านศาสนาและบำรุงเขาให้แข็งแรงด้วยคำสั่งสอน ที่สุดส่งเสริมสถาบันที่เขาดำรงอยู่และร่วมมือกันควบคุมชีวิตให้ดำเนินไปตามหลักศาสนา.

นิกายศาสนาต่าง ๆ ยังมีสิทธิที่จะไม่ถูกกฎหมายหรือการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองขัดขวางมิให้เลือก อบรม แต่งตั้งและโยกย้ายศาสนบริกร (miminters) ของตน  ติดต่อกับเจ้าหน้าที่หรือนิกายศาสนาที่อยู่ในส่วนอื่นของโลก สร้างอาคารทางศาสนาตลอดจนซื้อหาและจัดทรัพย์สินที่ต้องการ.

นิกายศาสนายังมีสิทธิที่จะไม่ถูกขัดขวางมิให้สอนและแสดงความเชื่ออย่างเปิดเผย ทั้งด้วยวาจาและด้วยการเขียน. แต่ในการเผยแพร่ความเชื่อและการนำกิจปฏิบัติทางศาสนาเข้ามาใช้ ทุกคนจะต้องงดเว้นไม่ทำกิจการใดที่มีลักษณะไปในทางบังคับหรือเกลี้ยกล่อมอย่างไม่สุจริตหรือไม่สู้จะซื่อตรงนัก  โดยเฉพาะเมื่อปฏิบัติกับคนยากไร้เข็ญใจหรือคนไม่มีการศึกษา. การปฏิบัติเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นการใช้สิทธิของตนไปในทางที่ผิดและเป็นการล่วงเกินสิทธิของผู้อื่น.

อนึ่งเสรีภาพในการถือศาสนายังเรียกร้องมิให้ขัดขวางนิกายศาสนาต่าง ๆ มิให้แสดงประสิทธิภาพแห่งคำสอนของเขาอย่างเสรีในการจัดระเบียบสังคมและกระตุ้นเตือนกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์.  ที่สุดภาวะของมนุษย์ที่ชอบอยู่เป็นสังคม  ตลอดจนลักษณะของศาสนาเอง นี่แหละเป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดสิทธิของมนุษย์ที่จะประชุมกันได้อย่างเสรี หรือก่อตั้งสถาบันเกี่ยวกับการอบรม วัฒนธรรม เมตตากิจและสังคม ขึ้นตามแรงดันแห่งความศรัทธาของเขา.

เสรีภาพของครอบครัวในการถือศาสนา

๕. ทุก ๆ ครอบครัวในฐานะเป็นสังคมที่มีสิทธิเบื้องต้นที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ  ย่อมมีสิทธิที่จะจัดระเบียบชีวิตทางด้านศาสนาได้อย่างเสรีภาพใต้การนำของพ่อแม่.  พ่อแม่ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะตัดสินว่าจะให้การอบรมทางศาสนาแก่ลูกอย่างไรตามความเชื่อถือของเขาเอง. เพราะเหตุนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้งยอมรับนับถือสิทธิของเขาที่จะเลือกโรงเรียนหรือวิธีการอบรมแบบอื่นได้อย่างเสรีเต็มที่ และจะอ้างการให้เสรีภาพในเรื่องนี้สำหรับบังคับเขาให้ต้องรับภาระอันไม่ยุติธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ได้.  นอกจากนั้นถ้าเด็กถูกบังคับให้รับการศึกษาซึ่งไม่ตรงกับความเชื่อถือของพ่อแม่หรือถูกบังคับให้รับการอบรมแบบที่ตัด   การอบรมทางศาสนาออกอย่างสิ้นเชิง ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของพ่อแม่.

ความรับผิดชอบต่อเสรีภาพในการถือศาสนา

๖. สวัสดิภาพส่วนรวมของสังคมหมายถึงสภาพชีวิตทางสังคมทุกอย่างที่อำนวยให้มนุษย์บรรลุถึงความดีพร้อมของตนอย่างสมบูรณ์และง่ายขึ้น.  ดังนั้นสวัสดิภาพที่กล่าวนี้ก่อนอื่นทั้งปวงจึงหมายถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลมนุษย์. เพราะฉะนั้นความห่วงใยถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการถือศาสนาจึงตกเป็นหน้าที่ทั้งของพลเมืองและหมู่คณะของสังคมตลอดจนของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง พระศาสนจักรและนิกายศาสนาอื่น ในแบบที่เหมาะแก่แต่ละคนและเพราะทุกคนมีหน้าที่ต้องทำเพื่อสวัสดิภาพของส่วนรวม.

การปกป้องและส่งเสริมสิทธิอันละเมิดมิได้ของมนุษย์นั้นเป็นหน้าที่อันสำคัญอย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั่วไป.  เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องใช้กฎหมายที่ยุติธรรมและลู่ทางอันเหมาะสมทำการคุ้มครองเสรีภาพในการถือศาสนาของพลเมืองทุกคนอย่างจริงจังและส่งเสริมให้เกิดภาวการณ์ที่เหมาะสำหรับพัฒนาชีวิตทางศาสนา  เพื่อให้พลเมืองสามารถใช้สิทธิและปฎิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างแท้จริงและเพื่อให้สังคมเองได้รับคุณจากความยุติธรรมและสันติสุขอันเกิดจากการที่มนุษย์ถือซื่อสัตย์ต่อพระเป็นเจ้าและน้ำพระทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์.

ถ้าหากว่าเพราะสภาพแวดล้อมพิเศษในบางชนชาติกฎหมายของบ้านเมืองรับรองนิกายศาสนานิกายหนึ่งเป็นพิเศษก็เป็นการจำเป็นที่ในขณะเดียวกันพลเมืองทุกคนและนิกายศาสนาทุกนิกายควรได้รับการยอมรับนับถือและเคารพในสิทธิที่จะมีเสรีภาพในเรื่องศาสนาด้วย.

ที่สุดเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องกวดขันอย่าให้มีการละเมิดความเสมอภาคตามกฎหมายของพลเมือง ซึ่งความเสมอภาคนั้นเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของสวัสดิการส่วนรวมของสังคมไม่ว่าจะเป็นการละเมิดอย่างเปิดเผยหรืออย่างเร้นลับเพราะเรื่องศาสนา  และต้องกวดขันอย่าให้มีการเลือกที่รักมักที่ชังในหมู่พลเมือง.

เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะบังคับพลเมืองไม่ว่าด้วยกำลังหรือการขู่หรือวิธีอื่นใดให้ถือหรือทิ้งศาสนาไม่ว่าศาสนาใดไม่ได้ หรือจะขัดขวางผู้ใดมิให้เข้าหรือออกจากนิกายศาสนานิกายใดนิกายหนึ่งไม่ได้.  ถ้าใช้กำลังไม่ว่าในรูปใดเพื่อล้างทำลายหรือขัดขวางศาสนาในมนุษยชาติทั้งหมดก็ดี  หรือในประเทศหนึ่งหรือในหมู่คณะหนึ่งก็ดี ก็ยิ่งต้องถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าและผิดต่อสิทธิ์อันศักดิ์สิทธิที่บุคคลและครอบครัวของชนชาติทั้งหลายมีอยู่.

ขอบเขตของเสรีภาพในการถือศาสนา

๗. สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการถือศาสนานั้นใช้อยู่ในสังคมมนุษย์ เพราะฉะนั้นจำต้องมีกฎบางประการจำกัดการใช้สิทธินั้น

เมื่อใช้เสรีภาพ  ไม่ว่าเสรีภาพในเรื่องใด บุคคลและสังคมต้องถือหลักศีลธรรมเรื่องความรับผิดชอบ.  กฎศีลธรรมบังคับว่า คนทุกคนและหมู่คณะทุกหมู่คณะเมื่อจะใช้สิทธิของตน  จะต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนถึงหน้าที่ที่ตนมีต่อผู้อื่นและต่อประโยชน์ส่วนรวมของทุกคน. เราต้องถือความเที่ยงธรรมและมนุษยธรรมต่อทุกคน.

อนึ่งเนื่องจากสังคมในบ้านเมืองมีสิทธิจะป้องกันตนให้พ้นจากความเหลวแหลกซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการอ้างเสรีภาพในการถือศาสนา  จึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะต้องให้ความคุ้มครองที่กล่าวนี้ แต่ก็ไม่ควรทำตามอำเภอใจและโดยเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างอยุติธรรม  แต่ต้องทำตามกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายซึ่งตรงกับระเบียบศีลธรรมที่ถูกต้องอยู่ในตัว  กฎเกณฑ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีเพื่อคุ้มครอบสิทธิของพลเมืองทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อแก้ข้อขัดแย้งเรื่องสิทธิอย่างสันติจำเป็นต้องมี  เพราะความห่วงใยถึงความสงบสุขอันแท้จริงของประชาชนซึ่งความสงบสุขนั้นเป็นผลของการที่มนุษย์อยู่ร่วมกันประชาชนซึ่งความสงบสุขนั้นเป็นผลของการที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในระเบียบอันดีและในความยุติธรรมอันแท้จริง และยังจำเป็นต้องมีเพื่อปกป้องศีลธรรมของประชาชน.  ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นพื้นฐานของสาธารณประโยชน์และนับเข้าในสิ่งที่เรียกว่าความสงบเรียบร้อยของประชาชน. นอกจากนั้นต้องถือกฎมูลที่ว่าต้องมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในสังคม ซึ่งถ้าถือตามกฎนี้ ก็ต้องให้มนุษย์มีเสรีภาพมากที่สุด  และจะจำกัดเสรีภาพนั้นก็เฉพาะเมื่อจำเป็นและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น.

การฝึกอบรมเพื่อใช้เสรีภาพ

๘. ทุกวันนี้มนุษย์ได้รับการกดดันทุกชนิดและอยู่ในที่ล่อแหลมต่อการถูกหลอกมิให้ทำอะไรโดยใช้วิจารณญาณของตนเอง.  แต่คนที่อ้างเสรีภาพเป็นข้อแก้ตัวที่จะไม่ยอมอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่และดูหมิ่นการเชื่อฟังในทางที่ถูกนั้นก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก.

เพราะเหตุนี้ สภาสังคายนาวาติกันขอเตือนทุกคน แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีหน้าที่อบรมผู้อื่น ให้พยายามอบรมคนให้เป็นผู้เคารพระเบียบศีลธรรม รู้จักเชื่อฟังผู้มีอำนาจโดยชอบธรรมและรักเสรีภาพที่แท้จริง  ให้เป็นผู้ที่วินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ โดยตนเองและโดยอาศัยความสว่างแห่งความจริง ปฏิบัติงานต่าง ๆ โดยสำนึกถึงความรับผิดชอบและใฝ่ฝันถึงสิ่งที่เป็นความจริงและยุติธรรม โดยเต็มใจร่วมมือกับผู้อื่น.

ฉะนั้น การช่วยมนุษย์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในชีวิตสังคม  โดยสำนึกถึงความรับผิดชอบมากขึ้น จึงนับเป็นเป้าหมายประการหนึ่งของการมีเสรีภาพในการถือศาสนา.