หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

คำแถลงของสภาสังคายนาว่าด้วยเสรีภาพในการถือศาสนาสิทธิ์ของบุคคลและคณะบุคคลที่จะมีเสรีภาพทางสังคมและบ้านเมืองในเรื่องศาสนา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

๑. มนุษย์ในสมัยของเรานี้นับวันแต่จะมีความสำนึกถึงศักดิ์ศรีของตัวบุคคลมนุษย์ยิ่งวันยิ่งมากขึ้น ผู้ที่เรียกร้องให้มนุษย์ทำกิจการต่าง ๆ ด้วยความเห็นดีเห็นชอบของตนเอง  และด้วยความเป็นอิสระที่ต้องรับผิดชอบ  มิใช่เพราะถูกบีบบังคับแต่เพราะมีความสำนึกถึงหน้าที่นั้น  นับวันแต่จะมีจำนวนมากขึ้น. ในทำนองเดียวกัน เขาเรียกร้องให้กฎหมายจำกัดการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อมิให้มีการควบคุมเสรีภาพอันชอบธรรม  ไม่ว่าของบุคคลหรือของคณะบุคคลอย่างเข้มงวดจนเกินไป. การเรียกร้องเสรีภาพในสังคมมนุษย์เช่นนี้  มักเกี่ยวกับสิ่งที่นับเป็นสมบัติของจิตใจมนุษย์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการถือศาสนาในสังคมได้อย่างเสรี. สภาสังคายนาวาติกันนี้ขมักเขม้นพิจารณา  เพื่อประกาศว่าความใฝ่ฝันเหล่านี้ถูกต้องตรงกับความจริงและความยุติธรรมเพียงใด และสำรวจตรวจดูประเพณีและคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร  และนำเอาเรื่องใหม่ซึ่งถูกต้องตรงกับเรื่องเก่าอยู่เสมอออกมา.

ด้วยเหตุนี้  ก่อนอื่นทั้งปวง สภาสังคายนาขอแถลงว่า พระเป็นเจ้าเองทรงแนะให้มนุษย์รู้จักทางที่จะพบความรอดในพระคริสตเจ้า และบรรลุถึงความสุขด้วยการรับใช้พระองค์. เราเชื่อว่าศาสนาเที่ยงแท้นี้แต่ศาสนาเดียวมีอยู่ในพระศาสนจักรซึ่งเป็นสากลและสืบมาจากอัครสาวก  และพระเยซูเจ้าทรงมอบหมายให้พระศาสนจักรสอนศาสนานั้นให้มนุษย์ทุกคนรู้จัก. เมื่อพระองค์ตรัสแก่บรรดาอัครสาวกว่า “ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปเตือนทุก ๆ ชาติให้มาเป็นศิษย์  ล้างบาปเขาด้วยเดชะพระนามพระบิดาและพระบุตรและพระจิต และสอนเขาให้ถือการทุกอย่างที่เราได้บอกสั่งท่าน” (มธ. ๒๘:๑๙–๒๐). อีกประการหนึ่งมนุษย์ทุกคนจำต้องแสวงหาความจริง  เฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่เกี่ยวกับพระเป็นเจ้าพระศาสนจักรของพระองค์  และเมื่อรู้จักแล้วก็จำต้องรับและถือความจริงนั้น.

ในทำนองเดียวกันอีกเหมือนกัน  สภาสังคายนาขอแถลงว่า หน้าที่เหล่านี้เกี่ยวข้องและผูกมักมโนธรรมของมนุษย์.  ถ้าความจริงจะบังคับ  ก็บังคับเพราะความจริงนั้นเองมีแรงกดดันและซึมซาบเข้าไปในจิตใจทั้งอย่างนุ่มนวลและทั้งอย่างมีแรงอำนาจ. อันว่าเสีรภาพในการถือศาสนาซึ่งมนุษย์เรียกร้องเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต้องการถวายคารวกิจแด่พระเป็นเจ้านั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่มนุษย์จะถูกกดขี่ประการใดในสังคมบ้านเมืองไม่ได้. ดังนั้นเสรีภาพที่กล่าวนี้จึงไม่กระทบกระเทือนถึงคำสอนคาทอลิกแต่ดั้งเดิมในเรื่องมนุษย์ และสมาคมต่าง ๆ มีหน้าที่ทางธรรรมต่อพระศาสนาเที่ยงแท้ และต่อพระศาสนจักรหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า. นอกจากนี้เมื่อกล่าวถึงเสรีภาพในการถือศาสนา สภาสังคายนาปรารถนาจะขยายความคำสอนของบรรดาพระสันตะปาปาองค์หลัง ๆ เรื่องสิทธิอันละเมิดมิได้ของตัวบุคคล มนุษย์กับเรื่องฐานะของสังคมทางกฎหมาย.