หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

คำแถลงของสภาสังคายนาเรื่องความสัมพันธ์แห่งพระศาสนจักร
กับบรรดาศาสนาที่มิใช่คริสตศาสนา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ศาสนาต่าง ๆ ที่มิใช่คริสตศาสนา

๒. ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ที่สุดจนถึงทุกวันนี้  เราเห็นว่าในชนชาติต่าง ๆ มีความรู้สึกอย่างหนึ่งถึงพละกำลังอันเร้นลับ  ซึ่งอยู่ในกระแสสิ่งของและเหตุการณ์ของชีวิตมนุษย์. บางครั้งก็มีกระทั่งการยอมรับนับถือพระเจ้าสูงสุดหรือพระบิดา.  ความรู้สึกและรับรู้เช่นนี้ทำให้ชีวิตของเราซาบซ่านไปด้วยความสำนึกในเรื่องศาสนาอย่างลึกซึ้ง.  ส่วนบรรดาศาสนาที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมเจริญขึ้น ก็พยายามจะตอบปัญหาเหล่านั้นด้วยความรู้ที่ละเอียดกว่าและภาษาพูดที่กล่อมเกลาดีกว่า. ดังนั้นในศาสนาฮินดู  มนุษย์พยายามไตร่ตรองข้อลึกลับเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าและอธิบายออกมาเป็นเรื่องนิยายมากมายไม่รู้จักจบ กับพยายามค้นคว้าทางปรัชญา  เขาแสดงความรอดพ้นจากความกระวนกระวายแห่งสภาพมนุษย์ของเราด้วยการเจริญชีวิตอย่างเคร่งครัดแบบต่าง ๆ บ้าง ด้วยการพิจารณารำพึงอย่างซาบซึ้งบ้าง ด้วยการหลบเข้าพักพิงในพระเจ้าโดยความรักและไว้ใจบ้าง.  ในพุทธศาสนาตามที่มีหลายแบบยอมรับว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงมานี้ไม่เที่ยงแท้เลย และสอนหนทางที่มนุษย์อาจเดินไปถึงสภาพที่หลุดพ้นเป็นอิสระอย่างแท้จริงได้ด้วยจิตใจศรัทธาและไว้ใจ หรือบรรลุถึงความรู้เห็นแจ้งอย่างสูงสุดด้วยความพยายามของตนหรือด้วยความช่วยเหลือที่มาจากเบื้องบน.  เช่นเดียวกันศาสนาอื่น ๆ ทั่วไปในโลกพยายามจะแก้ความกระวนกระวายของหัวใจมนุษย์ด้วยวิธีต่าง ๆ โดยเสนอ “มรรค” หลาย “มรรค” ซึ่งได้แก่พระธรรม  คำสอน กฎชีวิต  และจารีตพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ.

พระศาสนจักรคาทอลิกไม่ปัดทิ้งสิ่งใดที่จริงและศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาเหล่านี้. พระศาสนจักรพิจารณาด้วยความเคารพอย่างจริงใจซึ่งวิธีปฏิบัติและดำรงชีวิต ตลอดจนกฎและพระธรรมคำสอนเหล่านี้  ถึงแม้จะผิดกับที่ตนเองถือและสอนหลายประการแต่บ่อยครั้ง ก็นำแสงจากองค์ความจริงมาให้  ซึ่งฉายส่องความสว่างแก่มนุษย์ทุกคน. อย่างไรก็ตามพระศาสนจักรประกาศและมีพันธะที่จะไม่หยุดยั้งประกาศองค์พระคริสตเจ้าซึ่งทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต (ยน. ๑๔:๖) ในพระองค์นั้นมนุษย์ต้องพบชีวิตทางศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม  และในพระองค์นั้น  พระเป็นเจ้าทรงได้รับทุกสิ่งกลับมาคืนดีกับพระองค์ (ดู ๒ คร. ๕:๑๘–๑๙).

ฉะนั้นพระศาสนจักรจึงขอเตือนลูก ๆ ให้รับรู้ ป้องกันและทำให้คุณค่าทางจิตใจ  ทางศีลธรรม  และทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่ในตัวคนต่างศาสนาเหล่านี้.  ให้ลูก ๆ ทำเช่นนี้โดยติดต่อเจรจาร่วมมอกับผู้ที่ถือศาสนาอื่นด้วยความฉลาดรอบคอบและความรัก และโดยแสดงความเชื่อและเจริญชีวิตแบบ    คริสตชน.

ศาสนามุสลิม

๓. พระศาสนจักรยังเพ่งพินิจดูผู้ถือศาสนามุสลิมด้วยนับถือ เขาไหว้นมัสการพระเจ้าองค์เดียวผู้ทรงชีวิตและดำรงอยู่  มีพระทัยเมตตาและทรงฤทธิ์ทุกประการ เป็นผู้สร้างสวรรค์และแผ่นดินและได้ตรัสแก่มนุษย์. เขาพยายามด้วยสิ้นสุดจิตใจที่จะนอบน้อมต่อประกาศิตแม้ที่หยั่งรู้ไม่ถึงของพระเป็นเจ้าเหมือนดังที่ท่านอับราฮัม  ซึ่งความเชื่อของชาวมุสลิมชอบอ้างอิงถึง  ได้อ่อนน้อมต่อพระเป็นเจ้ามาแล้ว.  แม้ว่าเขาไม่ยอมรับนับถือพระเยซูเจ้าเป็นพระเจ้า  แต่เขานับถือพระองค์เป็นประกาศก.  เขาเคารพพระนางมารีย์ พระมารดาพรหมจารีของพระองค์ และบางครั้งยังวิงวอนขอพระนางด้วยความเลื่อมใสศรัทะาอีกด้วย. ยิ่งกว่านั้นเขาคอยวันพิพากษา ซึ่งในวันนั้นพระเป็นเจ้าจะทรงปูนบำเหน็จหรือลงโทษมนุษย์ที่กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา. เพราะฉะนั้นเขายกย่องการดำรงชีวิตอย่างมีศีลมีสัตย์และถวายคารวกิจแด่พระเป็นเจ้าเป็นต้นด้วยการภาวนา ทำบุญให้ทาน  และอดอาหาร.

ถ้าหากว่าในศตวรรษก่อน ๆ นี้ได้เกิดความบาดหมางและความเป็นศัตรูระหว่างคริสตศาสนิกชนกับชาวมุสลิมหลายครั้งหลายหน สภาสังคายนานี้ขอเตือนทั้งสองฝ่ายให้ลืมเรื่องในอดีตเสียและให้พยายามที่จะทำความเข้าใจอย่างจริงใจ  ตลอดจนร่วมกันคุ้มครองและส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม คุณค่าทางศีลธรรม  สันติสุข  และอิสรภาพ  เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ทุกคน.

ศาสนายิว

๔. เมื่อใคร่ครวญดูเหตุการณ์ลึกล้ำเรื่องพระศาสนจักรสภาสังคายนาระลึกถึงสายสัมพันธ์ฝ่ายจิตที่ผูกโยงประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่กับเชื้อสายของอับราฮัม.

แท้จริงพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้ารับว่า  ตามแผนการลึกล้ำของพระเป็นเจ้า เรื่องความรอด  ความเชื่อ และการได้รับเลือกสรรของพระสาสนจักรมีต้นเดิมมาจากบรรดาอัยกาโมเสสและบรรดาประกาศก  พระศาสนจักรขอรับว่าสัตบุรุษทุกคนของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นบุตรของอับราฮัมตามความเชื่อนั้น (ดู กท. ๓:๗) ต้องนับรวมเข้าอยู่ในกระแสเรียกของท่านอัยกาผู้นี้และความรอดของพระศาสนจักรก็มีรูปหมายถึงอย่างลึกซึ้งมาก่อนด้วยการที่ประชากรที่ได้รับเลือกสรรออกจากดินแดนที่ตนเป็นทาส.

ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรลืมไม่ได้ว่าพระศาสนจักรได้รับการเปิดเผยในพันธสัญญาเดิมโดยอาศัยชนชาตินี้  ซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทรงทำพันธสัญญาเดิมด้วย เพราะมีพระทัยเมตตาเหลือที่จะกล่าวได้.        พระศาสนจักรลืมไม่ได้ว่าพระศาสนจักรเลี้ยงตัวด้วยอาหารจากรากมะกอกที่ปลูกไว้ด้วยความทะนุถนอมมีกิ่งมะกอกป่ามาต่อซึ่งหมายถึงคนต่างศาสนา (ดู รม. ๑๑:๑๗–๒๔). พระศาสนจักรถือว่าพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นองค์สันติภาพของเราทรงใช้กางเขนของพระองค์ทำให้พวกยิวและคนนอกศาสนากลับคืนดีกัน  และทรงทำให้คนสองพวกนี้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระองค์ (ดู อฟ. ๒:๑๔–๑๖).

พระศาสนจักรนึกอยู่เสมอถึงวาทะที่อัครธรรมทูตเปาโลพูดถึงชนชาติเดียวกันซึ่ง “ได้รับเลือกสรรเป็นบุตรบุญธรรม  ได้รับเกียรติมงคล พันธสัญญาต่าง ๆ ธรรมบัญญัติ  คารวกิจ และพระสัญญาต่าง ๆ.  เขาสืบมาจากบรรดาอัยกาและพระคริสตเจ้าโอรสของพระนางพรหมจารีมารีย์.  พระศาสนจักรยังขอเตือนให้สำเหนียกด้วยว่า บรรดาอัครธรรมทูตซึ่งเป็นรากฐานและหลักมั่นของพระศาสนจักร  ตลอดจนศิษย์หมู่แรกเป็นจำนวนมากที่ประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าแก่โลก  ก็เกิดมาจากชนชาติยิว.

ตามข้อความในพระคัมภีร์ กรุงเยรูซาเล็มไม่รู้เวลาที่พระเป็นเจ้าเสด็จมายังชาวกรุง (ดู ลก. ๑๙:๔๔).  พวกยิวเป็นส่วนมากไม่ยอมรับข่าวดีและคนยิวที่ขัดขวางมิให้ข่าวดีแพร่หลายก็มีอยู่ไม่น้อย  (ดู รม. ๑๑ :๑๘).  ถึงกระนั้นก็ดีตามความเห็นของอัครธรรมทูตเปาโล  เพราะเห็นแก่บรรพบุรุษของพวกยิวว พวกยิวก็ยังคงเป็นที่โปรดปรานยิ่งของพระเป็นเจ้า. พระองค์ประทานสิ่งใดหรือเรียกใครแล้วก็ไม่นึกเสียพระทัยภายหลัง. พร้อมกับบรรดาประกาศกและอัครธรรมทูตองค์เดียวกันนี้ พระศาสนจักรคอยวันที่พระเป็นเจ้าพระคุณเป็นเสียงเดียวกันและ “จงรับใช้พระองค์ภายใต้แอดอันเดียวกัน” (ปชญ. ๓:๙ ดู อสย. ๖๖:๒๓;สดด. ๖๕:๔; รม. ๑๑:๑๑–๓๒).

โดยที่พวกคริสตชนและชาวยิวมีมรดกฝ่ายจิตใจที่ประเสริฐยิ่งร่วมกันฉะนี้  พระสังคายนาใคร่ขอเตือนและกำชับให้ทั้งสองฝ่ายทำความรู้จักและมีความเข้าใจนับถือกันและกัน.  ทั้งสองสิ่งนี้จะเกิดขึ้นด้วยการศึกษาพระคัมภีร์และเทวศาสตร์กับด้วยการเจรจาสังสรรค์กันอย่างฉันพี่น้องเป็นต้น.

แม้ผู้มีอำนาจของชาวยิวบางคนกับพรรคพวกผู้ให้ประหารชีวิตพระคริสตเจ้าก็ดี (ดู ยน. ๑๙:๖) แต่สิ่งที่เขาได้กระทำในระหว่างการรับทรมานของพระองค์นั้น  จะยกมาเอาผิดกับชาวยิวทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นโดยไม่เลือกหรือชาวยิวในสมัยของเรานี้หาได้ไม่.  ถ้าหากเป็นความจริงว่าพระศาสนจักรเป็นประชากรใหม่ของพระเป็นเจ้า ก็ไม่ควรจะถือว่าชาวยิวเป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าประณามและสาปแช่ง เหมือนกับว่าเป็นผลจากพระคัมภีร์. ฉะนั้นเวลาอธิบายคำสอนและเทศน์สอนพระวาจาของพระเป็นเจ้า ขอให้ทุกคนระวังอย่าสอนอะไรที่ผิดต่อความจริง  เรื่องข่าวดีและจิตตารมณ์ของพระคริสตเจ้า.

นอกจากนี้พระศาสนจักรไม่เห็นชอบกับการเบียดเบียนรังแกมนุษย์ทุกชาติชั้นวรรณะไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม. เนื่องจากไม่สามารถจะลืมมรดกซึ่งมีร่วมกันกับชาวยิว  กับทั้งกระตุ้นเตือนมิใช่ด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่ด้วยความรักตามแบบที่พระวรสารสอน  พระศาสนจักรขอประณามความเกลียดชัง  การเบียดเบียนข่มเหงและการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติเสมิติกซึ่งกระทำต่อชนชาติยิวทุกครั้ง  ไม่ว่าจะกระทำในสมัยใดและใครจะเป็นผู้กระทำก็ตาม.

อนึ่งตามที่พระศาสนจักรเคยเชื่อเสมอและก็ยังเชื่ออยู่พระคริสตเจ้าเพราะความรักอันใหญ่หลวงหาที่สุดมิได้ทรงยอมรับทนทรมานและสิ้นพระชนม์เพราะบาปของมนุษย์ทุกคน และเพื่อให้มนุษย์ทุกคนบรรลุถึงความรอด. ฉะนั้นหน้าที่ของพระศาสนจักรในการประกาศเทศน์จึงต้องประกาศว่ากางเขนของพระคริสตเจ้าเป็นเครื่องหมายแสดงความรักทั่วไปของพระเป็นเจ้าและเป็นบ่อเกิดแห่งพระคุณทั้งปวง.

ภารดรภาพสากลไม่ยอมให้มีการแบ่งแยกใด ๆ ทั้งสิ้น

๕. เราจะวิงวอนขอพระเป็นเจ้า พระบิดาของมนุษย์ทุกคนไม่ได้ถ้าหากเราไม่ยอมประพฤติตนฉันพี่น้องต่อเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าใคร  เพราะพระเป็นเจ้าทรงสร้างเขามาตามพระฉายาของพระองค์.  ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเป็นเจ้าผู้เป็นพระบิดาและความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันนั้นมีความเกี่ยวโยงถึงกันอย่างแน่นแฟ้นจนพระคัมภีร์กล่าวว่า “ผู้ใดไม่รัก  ก็ไม่รู้จักพระเป็นเจ้า” (๑ ยน. ๔:๘).

ดังนี้ ก็เท่ากับเป็นการโค่นทำลายรากฐานของทฤษฎีหรือการปฏิบัติใด ๆ ที่ถือการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างชาติกับชาติในเรื่องศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดจากศักดิ์ศรีนั้น.

ฉะนั้นพระศาสนจักรขอประณามว่า การแบ่งแยกหรือเบียดเบียนรังแกใด ๆ ที่กระทำต่อมนุษย์เพราะเรื่องชาติ ผิวชั้นและศาสนาของเขานั้นเป็นการผิดต่อจิตตารมณ์ของพระคริสตเจ้า.  ด้วยเหตุนี้ตามรอยของอัครธรรมทูตเปโตรและเปาโลสภาสังคายนาขอวิงวอนบรรดาสัตบุรุษของพระคริสตเจ้าอย่างเร่าร้อนให้ “ประพฤติตนให้เป็นที่น่าเคารพนับถือท่ามกลางชนชาติอื่น” (๑ ปต. ๒:๑๒) และถ้าเป็นได้ ขอให้อยู่เป็นปกติสุขกับเพื่อนมนุษย์ทุกคนเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะเป็นบุตรแท้ของพระบิดาผู้ทรงสถิตย์อยู่ในสวรรค์.

ข้อความแต่ละข้อทั้งสิ้นที่ประกาศไว้ในสังฆธรรมนูญฉบับนี้  บรรดาปิตาจารย์ได้เห็นชอบแล้วทั้งนั้น  อาศัยอำนาจของท่านอัครธรรมทูต ซึ่งเราได้มอบจากพระคริสตเจ้า เราพร้อมกับบรรดาปิตาจารย์ที่เคารพเหล่านี้ ในพระจิตเจ้า จึงเห็นชอบกำหนดและตราไว้ และสิ่งใดที่สภาสังคายนาได้ตราขึ้น  เราก็สั่งให้ประกาศใช้เพื่อเป็นเกียรติแด่พระเป็นเจ้า.

กรุงโรม – ณ พระวิหารนักบุญเปโตร
วันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๕
เรา – เปาโล  สังฆราชแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก