หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  5 : การจัดงานธรรมทูต

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมฑูตแห่งพระศาสนจักร

อารัมบท

๒๘.  เนื่องจากคริสตชนมีพระคุณพิเศษต่าง ๆ กัน (เทียบ รม. ๑๒:๖)  จึงต้องร่วมมือกันประกาศ ข่าวดีตามความสามารถ ช่องทาง พระคุณพิเศษ และหน้าที่ของแต่ละคน (เทียบ ๑ คร. ๓:๑๐).  เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนที่หว่านหรือคนที่เก็บเกี่ยว (เทียบ ยน. ๔:๓๗) ไม่ว่าคนที่ปลูกหรือคนที่รดน้ำ ต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (เทียบ ๑ คร. ๓:๘) เพื่อว่า “เมื่อทุกคนมุ่งถึงจุดหมายเดียวกันด้วยใจสมัครและอย่างเป็นระเบียบ” จะได้ร่วมใจอุทิศกำลังเพื่อก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้น.
เพราะฉะนั้นงานของผู้ประกาศข่าวดีและความช่วยเหลือของคริสตชนอื่น ๆ ต้องมีผู้ควบคุมและต้องเกี่ยวโยงถึงกันและกันเพื่อให้ “ทำทุกสิ่งอย่างเป็นระเบียบ” (๑ คร. ๑๔:๔๐) ในงานและการร่วมมือของธรรมทูตทุก ๆ ด้าน.

การจัดงานทั่ว ๆ ไป

๒๙.  โดยที่งานประกาศข่าวดีทั่วโลกก่อนอื่นเป็นหน้าที่ของคณะสังฆราช  ดังนั้นสมัชชาหรืออีกนัยหนึ่ง “ที่ประชุมถาวรของพระสังฆราชเพื่อพระศาสนจักรสากล” นอกจากห่วงใยงานต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทั่วไปแล้ว ต้องมีความห่วงใยเป็นพิเศษถึงงานธรรมทูตซึ่งเป็นภาระหน้าที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระศาสนจักร.

เพื่อมิสซังทุกแห่งและสำหรับงานธรรมทูตทุกประเภทควรมีสำนักงานกลางที่มีอำนาจแต่แห่งเดียว  คือสำนักงานแห่งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ.  สำนักกลางนี้ควรเป็นผู้ควบคุมและประสานงานธรรมทูตและการร่วมมือของธรรมทูตทั่วดลกแต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบรรดาคริสตจักรทางภาคตะวันออก.

แม้ว่าพระจิตทรงบันดาลให้เกิดจิตตารมณ์ธรรมทูตขึ้นในพระศาสนจักรของพระเป็นเจ้าด้วยวิธีต่าง ๆ และบ่อยครั้งปฏิบัติงานก่อนผู้ที่มีหน้าที่ปกครองชีวิตของพระศาสนจักรเริ่มดำเนินงานเสียอีก สำนักงานนี้มีส่วนต้องส่งเสริมกระแสเรียกและชีวิตฝ่ายวิญญาณของธรรมทูต ส่งเสริมให้คนมีใจร้อนรนและภาวนาอุทิศแก่มิสซัง  อีกทั้งออกข่าวจริงและมีแก่นสารเกี่ยวกับมิสซัง.

สำนักงานนี้มีหน้าที่ชักชวนให้เกิดธรรมทูตและจ่ายแจกธรรมทูตไปแล้วแต่ภายใดมีความต้องการรีบด่วนกว่า  มีหน้าที่วางแผนปฏิบัติงานอย่างเป็นระเบียบ ออกกฎแนะนำและวางหลักเกณฑ์อันเหมาะสมสำหรับทำการแพร่ธรรมและทำการกระตุ้นเตือน.  สำนักงานนี้มีหน้าที่ชักชวนและประสานงานเรี่ยไรทุนทรัพย์ซึ่งจะจ่ายแจกไปตามความต้องการหรือประโยชน์และอาณาเขตของดินแดน  ตามจำนวนของสัตบุรุษและคนนอกศาสนา  ตามจำนวนกิจการและคณะนักบวชเจ้าหน้าที่ศาสนาและธรรมทูต.

สำนักงานนี้โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเอกภาพของคริสตศาสนิกชน ต้องหาวิธีทำให้เกิดความร่วมมืออย่างฉันพี่น้อง  ตลอดจนความสามัคคีลงรอยกับงานริเริ่มของคริสตชนนิกายอื่นเพื่อขจัดเสียซึ่งความอัปยศอดสูในเรื่องแตกแยกกันเท่าที่จะทำได้.

เพราะฉะนั้นสำนักงานนี้จำต้องเป็นเครื่องมือบริหารงาน  เท่า ๆ กับเป็นเครื่องมือจัดการอย่างเข้มแข็ง ซึ่งใช้ตำราถูกหลักวิชาและอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสภาพในสมัยนี้คือ  โดยคำนึงถึงสิ่งที่ค้นพบในปัจจุบันเกี่ยวกับเทวศาสตร์ วิชาว่าด้วยหลักการสอนและงานอภิบาลสัตบุรุษของธรรมทูต.

ผู้ที่ต้องมีส่วนสำคัญในการอำนวยการสำนักงานนี้พร้อมกับมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนคือ ผู้แทนที่คัดเลือกโดยบรรดาผู้ที่ร่วมมือในงานธรรมทูต  ซึ่งได้แก่พระสังฆราชทั่วโลก (เมื่อได้ฟังความเห็นของสภาสังฆราชแล้ว) กับผู้อำนวยการสถาบันและกิจการต่าง ๆ ในความอุปถัมภ์ของพระสันตะปาปา ตามวิธีการที่พระสันตะปาปาจะกำหนด.  ผู้แทนทั้งหมดนี้จะต้องเรียกประชุมตามเวลาที่กำหนด และต้องเป็นผู้จัดระเบียบงานธรรมทูตทั้งหมดชั้นสูงสุดภายใต้อำนาจของพระสันตะปาปา.

สำนักงานนี้ควรมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์เชื่อถือได้ไว้ใช้กลุ่มหนึ่งอย่างถาวร.  ในงานหน้าที่หลายอย่างของสำนักงานนี้ อย่างหนึ่งก็คือ  รวบรวมข่าวที่เหมาะสมเกี่ยวกับสภาพท้องที่ของภาคต่าง ๆ และความนึกคิดจิตใจของหมู่ชนต่าง ๆ เกี่ยวกับวิธีแพร่พระวรสารที่ต้องใช้ แล้วเสนอข้อสรุปที่มีหลักฐานตามหลักวิชาสำหรับกิจการและการร่วมมือของธรรมทูต.

คณะนักบวชหญิง  กิจการภาคสำหรับมิสซัง องค์การฆราวาส  โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การระหว่างชาติ ต้องมีผู้แทนอยู่ในสำนักงานนี้ด้วยวิธีอันเหมาะสม.

การจัดงานท้องที่ในมิสซัง

๓๐.  เพื่อบรรลุเป้าหมายและได้ผลในการปฏิบัติงานธรรมทูตเอง ผู้ที่ทำงานธรรมทูตทุกคนจะต้องมี  “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (กจ. ๔:๓๒).

ในฐานะเป็นประมุขและศูนย์ของความกลมเกลียวในการแพร่ธรรมของสังฆมณฑล พระสังฆราชมีหน้าที่ต้องส่งเสริมควบคุมและประสานงานแพร่ธรรม  แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องเคารพและสนับสนุนความริเริ่มที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันทีของผู้ที่มีส่วนร่วมในงานนี้. ธรรมทูตทุกคนแม้นักพรตที่ไม่ขึ้นแก่พระสังฆราช ก็ต้องเชื่อฟังอำนาจของพระสังฆราชในกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานแพร่ธรรมอันศักดิ์สิทธิ์.

เพื่อประสานงานกันดียิ่งขึ้น  ให้พระสังฆราชตั้งสภาเกี่ยวกับการอภิบาลสัตบุรุษขึ้นเท่าที่สามารถจะทำได้. ในสภาที่กล่าวนี้พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส  จะมีส่วนร่วมโดยมีผู้แทนที่เลือกส่งเข้าไป. นอกจากนั้นพระสังฆราชต้องสอดส่องมิให้ทำการแพร่ธรรมในหมู่คนที่กลับใจแล้วพวกเดียวเท่านั้น  แต่ให้มีธรรมทูตและเงินส่วนหนึ่งสำหรับประกาศข่าวดีแก่ผู้ที่มิใช่คริสตชนด้วย.

การประสานงานในภาคต่าง ๆ

๓๑.  บรรดาสภาสังฆราชต้องปรึกษาหารือกันกล่าวถึงปัญหาที่สำคัญกว่ากับเรื่องที่รีบด่วนกว่าก็จริง แต่ก็ไม่ควรมองข้ามความแตกต่างกันในท้องที่ของตน.  เวลามีคนหรือกำลังทรัพย์ไม่พอ  เพื่อไม่ให้สูญเสียไปเปล่า และเพื่อไม่ให้มีการริเริ่มซ้ำกันโดยไม่จำเป็น ขอกำชับให้ร่วมกำลังข้าด้วยกันตั้งกิจการที่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายร่วมกัน  เช่นสามเณราลัยโรงเรียนชั้นสูงและโรงเรียนเทคนิค  ศูนย์งานอภิบาลสัตบุรุษ ศูนย์อบรมคำสอน ศูนย์อบรมพิธีกรรม ตลอดจนศูนย์สื่อมวลชน.

การร่วมมือกันแบบนี้ควรจัดขึ้นตามความเหมาะสมแม้ในระหว่างสภาสังฆราชต่าง ๆ.

การจัดงานของคณะนักบวช

๓๒.  เป็นการสมควรที่จะประสานงานต่าง ๆ ที่ดำเนินโดยสถาบันหรือคณะต่าง ๆ ของพระศาสนจักรด้วย.  ทุกคณะไม่ว่าจะเป็นประเภทใดต้องเชื่อฟังสมณะประมุขท้องที่ในการทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานธรรมทูตโดยตรง. เพราะเหตุนี้จะมีประโยชน์มาก  ถ้าสมณะประมุขท้องที่กับอธิการคณะจะทำการตกลงเพื่อกำหนดว่าจะติดต่อกันอย่างไร.
เมื่อดินแดนแห่งใดถูกมอบฝากให้แก่คณะนักบวชคณะหนึ่งผู้ใหญ่ฝ่ายพระศาสนจักรกับคณะจะต้องมีแก่ใจทำทุกอย่าง เพื่อมุ่งถึงจุดหมายนี้คือ ให้กลุ่มคริสตชนใหม่เจริญเติบโตจนกลายเป็นคริสตจักรท้องที่ ซึ่งเมื่อถึงเวลาสมควรจะปกครองโดยพระสังฆราชกับคณะสงฆ์ของตนเอง.

เมื่ออาณัติปกครองดินแดนแห่งหนึ่งสิ้นกำหนดแล้ว  ก็เกิดสถานการณ์ใหม่ขึ้น.  เวลานั้นสภาสังฆราชกับคณะนักบวชต้องร่วมกันปรึกษาตั้งกฎเพื่อกำหนดการติดต่อกันระหว่างสมณะประมุขท้องที่กับคณะนับบวช. เป็นหน้าที่ของพระสันตะสำนักที่จะวางแนวหลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับทำการตกลงประจำภาคหรือแม้การตกลงเป็นพิเศษ.

แม้ว่าคณะนักบวชพร้อมที่จะทำงานที่ได้เริ่มมาแล้วต่อไปโดยร่วมมือในหน้าที่ปกติ คือ งานดูแลวิญญาณ  แต่เมื่อคณะสงฆ์พื้นเมืองยิ่งเจริญขึ้น ต้องคิดหาทางให้คณะนักบวชคงซื่อสัตย์ต่อสังฆมณฑลเอง  เท่าที่ทำตรงกับจุดหมายของตนได้ โดยรับเอากิจการพิเศษบางอย่างไปทำหรือรับเอาภาคใดสักแห่งในสังฆมณฑลนั้นไปปกครองด้วยน้ำใจกว้างขวาง.

การประสานงานในระหว่างคณะนักบวชต่าง ๆ

๓๓.  คณะนักบวชต่าง ๆ ที่ทำงานธรรมทูตอยู่ในดินแดนเดียวกัน ต้องหาหนทางและวิธีที่จะประสานงานที่ตนทำ. เพราะฉะนั้นการประชุมของนักบวชชายกับการชุมนุมของนักบวชหญิงจึงมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกคณะนักบวชที่เป็นชาติเดียวกันหรือทำงานอยู่ในภาคเดียวกันอาจร่วมในการประชุมนั้น ๆ ได้. การประชุมเหล่านี้ต้องคิดค้นว่างานอะไรจะทำได้โดยรวมความพยายามเข้าด้วยกัน และต้องทำการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับสภาสังฆราช.

ด้วยเหตุผลอันเดียวกัน  เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ควรขยายกินความไปถึงการร่วมมือของคณะนักบวชธรรมทูตในประเทศบ้านเกิดของเขาเอง. ถ้าทำดังนี้ปัญหาและงานริเริ่มร่วมกันจะสามารถแก้ได้ง่ายขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง  เช่นการอบรมผู้ฝึกเป็นธรรมทูตด้านคำสอน  การเรียนสำหรับธรรมทูตการส่งรายงานถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง  หรือองค์การระหว่างชาติและสูงกว่าชาติ.

การประสานงานระหว่างสถาบันความรู้

๓๔.  การปฏิบัติงานธรรมทูตอย่างถูกต้องและมีระเบียบเรียกร้องให้ผู้ประกาศข่าวดีได้รับการเตรียมตัวอย่างถูกหลักวิชาให้ไปประกอบภารกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อเจรจากับบรรดาศาสนาและวัฒนธรรมที่มิใช่ของคริสตชนและยังเรียกร้องให้ผู้ประกาศข่าวดีได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจังในเวลาปฏิบัติงาน.  ดังนั้นสภาสังคายนานี้ปรารถนาให้คณะนักบวชต่าง ๆ ที่ศึกษาวิชาว่าด้วยมิสซังและวิชาหรือศิลปศาสตร์อื่น อันมีประโยชน์แก่มิสซัง เช่น ชาติวงศ์วิทยากับภาษาศาสตร์  ประวัติศาสตร์และวิชาว่าด้วยศาสนาต่าง ๆ สังคมศาสตร์  ศิลปะในการอภิบาลสัตบุรุษและวิชาอื่นที่คล้ายคลึงกัน ร่วมมือกันอย่างฉันพี่น้องและด้วยน้ำใจกว้างขวางเพราะเห็นแก่มิสซัง.