หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  4 : ธรรมทูต

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมฑูตแห่งพระศาสนจักร

กระแสเรียกธรรมทูต

๒๓.  แม้ว่าศิษย์ของพระคริสตเจ้าทุกคนมีส่วนในหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อ  พระคริสตเจ้าย่อมเรียกคนที่พระองค์พอพระทัยในหมู่ศิษย์ของพระองค์เสมอให้มาอยู่กับพระองค์ และส่งไปประกาศเทศนาแก่ชนชาติต่างศาสนา (เทียบ มก. ๓:๑๓ และ ต่อ ๆ ไป).  เพราะฉะนั้นอาศัยพระจิตซึ่งแบ่งปันพระคุณพิเศษตามที่พอพระทัยเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร (๑ คร. ๑๒:๑๑) จึงดลใจให้เกิดกระแสเรียกธรรมทูตขึ้นในใจของแต่ละคน พร้อมทั้งบันดาลให้เกิดคณะนักบวชขึ้นในพระศาสนจักร. คณะเหล่านั้นรับหน้าที่ประกาศ ข่าวดีอันเป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรทั้งมวลเหมือนดังเป็นภาระหน้าที่ของตนเอง.

ผู้ที่มีเครื่องหมายแสดงว่ามีกระแสเรียกเป็นพิเศษคือ ผู้ที่มีอุปนิสัยดี เหมาะสมด้วยคุณสมบัติและสติปัญญา และได้รับการอบรมให้พร้อมที่จะทำงานธรรมทูต ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นเมืองหรือชาวต่างประเทศ ได้แก่พระสงฆ์  นักบวชและฆราวาส. เมื่อผู้มีอำนาจโดยชอบทางศาสนาส่งไป เขาก็ไปด้วยความเชื่อและนบนอบเชื่อฟังไปหาผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพระคริสตเจ้า โดยถือว่าเป็นผู้คัดไว้ต่างหากสำหรับงานที่เขาได้รับเลือกให้ไปทำ (เทียบ กจ. ๑๓:๒) ในฐานะเป็นข้าเทวการประกาศข่าวดี “เพื่อให้คนต่างศาสนาได้เป็นเครื่องบูชาที่พอพระทัย  เพราะพระจิตทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์” (รม. ๑๕:๑๖).

ชีวิตฝ่ายวิญญาณของธรรมทูต

๒๔.  แต่เมื่อพระเจ้าเที่ยงแท้ทรงเรียก  มนุษย์ก็ต้องตอบในแบบไม่ต้องปรึกษาถามเลือดเนื้อ (เทียบ คท. ๑:๑๖) แล้วอุทิศตนอย่างสิ้นเชิงทำงานประกาศข่าวดี. แต่มนุษย์จะตอบเช่นนี้หาได้ไม่เว้นแต่พระจิตจะทรงกระตุ้นเตือนและประทานกำลังให้ เพราะผู้ที่พระส่งไปนั้นเข้าไปในชีวิตและภารกิจของพระผู้ที่ “ทรงสละเกียรติถ่อมพระองค์มาถือฐานะทาส” (ฟป. ๒:๗) เพราะฉะนั้นเขาต้องพร้อมที่จะยึดมั่นในกระแสเรียกของเขาตลอดชีวิต ต้องพร้อมที่จะสละทิ้งตนเองและทุกสิ่งที่เขามีจนถึงเวลานั้นแล้ว “ทำตนเป็นทุกสิ่งแก่ทุกคน” (๑ คร. ๙:๒๒).

เมื่อประกาศข่าวดีในหมู่ชนชาติคนต่างศาสนา ธรรมทูตต้องมีความมั่นใจเผยเหตุการณ์เร้นลับเรื่องพระคริสตเจ้า โดยคิดว่าเขาทำหน้าที่เป็นทูตของพระองค์ ด้วยบารมีของพระองค์ดังนี้  เขากล้าพูดอย่างที่ควรจะพูด (เทียบ อฟ. ๖:๑๙; กจ. ๔:๓๑)  และไม่อายเรื่องความอัปยศอดสูแห่งกางเขน  เดินตามรอยพระยุคลบาทของพระอาจารย์ซึ่งทรงเป็นผู้อ่อนโยนและพระทัยอ่อนหวาน.  ธรรมทูตต้องแสดงให้เห็นว่าแอกของพระองค์เป็นของนิ่มนวลและของแบกของพระองค์เป็นของเบา (มธ. ๑๑:๒๙). เมื่อธรรมทูตเจริญชีวิตตามพระวรสารอย่างแท้จริงถือความหนักแน่น ความอดทน ความอ่อนโยนและความรักที่ไม่แสร้งทำ (เทียบ ๒ คร. ๖:๔) ธรรมทูตก็เป็นองค์พยานประกาศพระคริสตเจ้า  และถ้าจำเป็นก็ประกาศจนถึงกับยอมหลั่งโลหิต.  เขาจะได้รับความกล้าหาญและกำลังจากพระเป็นเจ้าเพื่อรู้ว่า ในสาหัสนั้น มีความชื่นชมอยู่อย่างล้นเหลือ (เทียบ ๒ คร. ๘:๒).  ผู้รับใช้ของพระคริสตเจ้าผู้ซึ่งได้กอบกู้ไถ่มนุษยชาติด้วยความเชื่อฟังของพระองค์.

ผู้ประกาศข่าวดีต้องระวังอย่าละเลยพระหรรษทานที่อยู่ในตน ต้องชุบตัวด้วยการเปลี่ยนแปลงจิตใจวันละวัน (เทียบ ๑ ทธ. ๔ : ๑๔ ; อฟ. ๔ : ๒๓; ๒ คร. ๔ : ๑๖). เมื่อถึงเวลากำหนดสมณะประมุขท้องที่และอธิการต้องเรียกชุมนุมบรรดาธรรมทูตเพื่อให้เขาได้รับการชูกำลังตามที่เขามีความหวังในกระแสเรียกและได้รับการชุบตัวในการแพร่ธรรม  หากจำเป็นก็ควรจะมีบ้านพิเศษเพื่อจุดประสงค์ข้อนี้.

การอบรมฝ่ายวิญญาณและศีลธรรม

๒๕.  ผู้ที่จะเป็นธรรมทูตในภายหน้าต้องเตรียมทำงานอันสูงศักดิ์นี้ด้วยการฝึกอบรมทางวิญญาณและศีลธรรมเป็นพิเศษ;  ต้องพร้อมที่จะทำการริเริ่ม  มีใจแน่วแน่ที่จะทำงานต่าง ๆ ให้ลุล่วงสำเร็จ ยืนหยัดในความยากลำบาก สู้ทนการอยู่โดดเดี่ยว ความเหน็ดเหนื่อยและการทำงานไม่ได้ผลด้วยใจอดทนและกล้าหาญ; ต้องต้อนรับคนทั้งหลายด้วยน้ำใจซื่อตรงและอย่างเปิดอก  เต็มใจรับทำงานที่ได้รับมอบให้ทำ ปรับตัวด้วยใจกว้างขวางให้เข้ากับขนบประเพณีของชนต่างชาติและภาวะต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ;  ต้องทำงานช่วยเพื่อน พี่น้องและบรรดาคนที่ถวายตัวทำงานอย่างเดียวกัน  โดยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและรักกันและกัน จนมีจิตใจเดียวและวิญญาณเดียว เหมือนอย่างคณะอัครธรรมทูต (เทียบ กจ. ๒:๕๒;๔:๓๒).

สภาพจิตใจเช่นนี้ตั้งแต่ในเวลาอบรมต้องได้รับการฝึกบำรุง อบรมและหล่อเลี้ยงด้วยชีวิตฝ่ายวิญญาณ เมื่อเปี่ยมด้วยความเชื่ออันเข้มแข็งและความหวังอันไม่รู้จักท้อถอย  ธรรมทูตจะต้องเป็นคนที่รักการสวดภาวนา  ต้องเร่าร้อนด้วยจิตตารมณ์  ความเข้มแข็ง  ความรัก และการควบคุมตนเอง (เทียบ ๒ ทธ. ๑:๗). ต้องหัดช่วยตนเองโดยไม่พึ่งคนอื่นในทุก ๆ โอกาส (เทียบ ฟป. ๔:๑๑); เพราะมีจิตตารมณ์ของการพลีกรรม ต้องรับสภาพการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าไว้ในตัว  เพื่อให้ชีวิตของพระองค์ออกฤทธิ์ในตัวผู้ที่เขาถูกส่งไปหา (เทียบ ๒ คร. ๔:๑๐ และต่อ ๆ ไป); เพราะใจร้อนรนต่อวิญญาณ  ต้องเต็มใจสละทุกสิ่งและแม้แต่ตนเองโดยเห็นแก่วิญญาณ  (เทียบ ๒ คร. ๑๒:๑๕ และต่อ ๆ ไป) จนถึงขนาด “รักพระเป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์ยิ่งขึ้น เมื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนเช่นนี้ทุก ๆ วัน”  ด้วยประการฉะนี้แหละ เมื่อถือตามน้ำพระทัยของพระบิดาพร้อมด้วยพระคริสตเจ้า และจะร่วมมือในรหัสธรรมแห่งความรอด.

การอบรมทางด้านคำสอนและด้านการแพร่ธรรม

๒๖.  ผู้ที่จะถูกส่งไปยังชนชาติคนต่างศาสนา  ในฐานะเป็นข้าเทวการที่ดีของพระคริสตเจ้านั้น จะต้องเลี้ยงตนด้วยพระวาจาแห่งความเชื่อและคำสอนถูกต้อง (๑ ทธ. ๔:๖) พระวาจานั้นเขาจะพบได้เป็นต้นในพระคัมภีร์เมื่อศึกษารหัสธรรมเรื่องพระคริสตเจ้าซึ่งเขาเป็นผู้ประกาศและองค์พยานของพระองค์.

เพราะเหตุนี้ธรรมทูตทุกคนไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ ภารดา ภคินี หรือฆราวาส จะต้องเตรียมตัวและรับการอบรมตามฐานะของแต่ละคนเพื่อไม่ตกอยู่ในสภาพไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนได้. ตั้งแต่ต้นทีเดียวการอบรมทางด้านคำสอนต้องสอนเขาให้คำนึงถึงเรื่องพระศาสนจักรมีลักษณะเป็นสากลและชาติต่าง ๆ ในโลกมีความแตกต่างไม่เหมือนกัน. ที่กล่าวนี้ใช้ได้จนวิชาอื่น ๆ ที่ถ้าเขารู้ก็จะเป็นประโยชน์ เพื่อมีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับชนชาติ  วัฒนธรรม  และศาสนาต่าง ๆ มิใช่ในอดีตเท่านั้นแต่ในเวลาปัจจุบันด้วย เพราะบุคคลใดก็ตามถ้าอยากเข้าหาชาติอื่น จะต้องนิยมยกย่องสิ่งที่เขาได้รับเป็นมรดก ภาษา และขนบธรรมเนียมเป็นอย่างสูง.  ฉะนั้นเป็นการจำเป็นอย่างเด็ดขาดที่ผู้ซึ่งจะเป็นธรรมทูตในภายหน้าจะต้องศึกษาวิชาเกี่ยวกับมิสซัง หมายความว่า  ต้องเรียนคำสอนและกฎของพระศาสนจักรเกี่ยวกับงานธรรมทูต ต้องรู้ว่าในศตวรรษที่แล้ว ๆ มาผู้ประกาศข่าวดีได้เดินทางไหนและต้องรู้สภาพปัจจุบันของมิสซังต่าง ๆ ตลอดจนวิธีการที่ปัจจุบันเห็นว่าเกิดผลดีกว่า.

แม้ว่าแผนการอบรมแต่ต้นจนจบนี้ต้องหนักไปในทางให้มีความห่วงใยด้านอภิบาลสัตบุรุษ  แต่ก็ต้องให้การอบรมด้านแพร่ธรรมเป็นอย่างพิเศษและอย่างมีระเบียบ ทั้งด้วยการสอนและด้วยการฝึกปฏิบัติด้วย.

ต้องสอนภารดาและภคินียิ่งมากยิ่งดีให้รู้จักวิชาแปลคำสอนอย่างชำนิชำนาญและเตรียมตัวไว้  เพื่อสามารถร่วมมือในการแพร่ธรรมได้มากยิ่งขึ้น.

แม้คนที่รับหน้าที่ในงานธรรมทูตเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งก็จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะกับสภาพของเขา.
การอบรมแบบต่าง ๆ เหล่านี้ควรต่อให้จบในประเทศที่ถูกส่งไป  ธรรมทูตจะได้รู้ประวัติศาสตร์ โครงสร้างทางสังคม  และขนบธรรมเนียมของชนชาตินั้น ๆ อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น  และจะได้เข้าใจระเบียบศีลธรรมคำสอนทางศาสนาและความคิดภายในซึ่งชนชาตินั้น ๆ มีเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า  โลกและมนุษย์  ตามประเพณีนิยมอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา.  ธรรมทูตต้องเรียนภาษาจนถึงขั้นใช้การได้อย่างแคล่วคล่องและถูกต้อง  จะได้เข้าถึงความคิดและจิตใจของมนุษย์ง่ายยิ่งขึ้น  นอกจากนั้นต้องรู้ถึงความต้องการทางด้านอภิบาลสัตบุรุษโดยเฉพาะของถิ่นนั้นด้วย.

ธรรมทูตบางคนควรได้รับการฝึกเตรียมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในสถาบันที่สอนเรื่องมิสซังหรือในคณะหรือในมหาวิทยาลัยอื่นเพื่อสามารถปฎิบัติหน้าที่พิเศษโดยได้ผลดียิ่งขึ้น และใช้ความรู้ของเขาทำประโยชน์แก่ธรรมทูตอื่นในการปฏิบัติงานธรรมทูต  ซึ่งในสมัยนี้เป็นต้นมีเรื่องยุ่งยากลำบากมาก แต่ก็มีโอกาสที่จะทำประโยชน์ได้มาก. นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าปรารถนาอย่างยิ่งในบรรดาสภาสังฆราชประจำภาคต่าง ๆ มีผู้เชี่ยวชาญเช่นนี้มาก ๆ ไว้สำหรับใช้ความรู้และความชำนาญจัดเจนของเขาเมื่อเกิดข้อยุ่งยากขึ้นในงานหน้าที่.  เช่นเดียวกันไม่ควรขาดคนที่รู้จักใช้เครื่องอุปกรณ์เทคนิคและสื่อมวลชน ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่า สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด.

คณะนักบวชที่ทำงานอยู่ในมิสซัง

๒๗.  คุณสมบัติทั้งหมดนี้ แม้เป็นสิ่งซึ่งธรรมทูตจำเป็นต้องมีอย่างเด็ดขาด แต่เป็นสิ่งที่ธรรมทูตลำพังแต่ละคนเกือบไม่สามารถจะมีได้อย่างแท้จริง. ตามที่ประสบพบเห็นมา  งานธรรมทูตเป็นงานที่คนตามลำพังคนเดียวทำไม่ได้ จึงมีกระแสเรียกคนหลาย ๆ คนให้มาอยู่รวมกันเป็นคณะ  และเมื่อรวมกำลังเข้าด้วยกัน ก็มีหนทางได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมจนสามารถปฏิบัติงานนี้ได้ในนามของพระศาสนจักรและภายใต้การควบคุมของพระฐานานุกรม.

ตั้งแต่หลายศตวรรษมาแล้ว คณะนักบวชเหล่านี้ได้รับภาระหนักโดยอุทิศตนทำงานแพร่ธรรมทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน.  บ่อย ๆ พระสันตะสำนักมอบฝากดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลให้เขาเทศน์สอน  เขาก็ตั้งประชากรใหม่ขึ้นถวายพระเป็นเจ้า  เป็นคริสตจักรท้องที่ซึ่งจงรักภักดีต่อนายชุมพาบาลของตนเอง. คริสตจักรเหล่านี้ซึ่งเขาตั้งขึ้นด้วยหยาดเหงื่อหรือแม้ด้วยเลือดเนื้อของเขาเอง เขาจะทำการรับใช้ด้วยความร้อนรนความสันทัดจัดเจนและโดยถือเป็นการร่วมมืออย่างฉันพี่น้อง.  การเรื่องนี้เขาทำได้โดยเอาใจใส่ดูแลวิญญาณหรือโดยปฏิบัติหน้าที่พิเศษเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม.

บางทีตลอดทั่วดินแดนแห่งหนึ่ง คณะนักบวชเหล่านี้ต้องรับงานบางอย่างที่รีบด่วนกว่า  เช่น  งานประกาศข่าวดีแก่หมู่ชนหรือชนชาติที่เนื่องจากเหตุผลบางประการ ยังไม่ได้รับข่าวดี หรือต่อต้านข่าวดีจนกระทั่วบัดนี้.  ถ้าจำเป็นเขาต้องพร้อมที่จะอบรมและใช้ความชำนาญช่วยเหลือผู้ที่อุทิศตนมาทำงานธรรมทูตชั่วระยะหนึ่ง.

เนื่องจากเหตุผลเหล่านี้  และเนื่องจากยังมีชนชาติอีกมากมายซึ่งต้องนำมาหาพระคริสตเจ้า  คณะนักบวชต่าง ๆ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเด็ดขาด.