หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  2 : ว่าด้วยงานธรรมทูตเอง
ข้อสอง : การประกาศข่าวดีกับการชุมนุมประชากรของพระเป็นเจ้า

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมฑูตแห่งพระศาสนจักร

การประกาศข่าวดีและการกลับใจ

๑๓.  ไม่ว่าที่ใดที่พระเป็นเจ้าทรงเปิดช่องทางให้เทศนาเพื่อประกาศรหัสธรรมของพระคริสตเจ้า (เทียบ คส. ๔:๓) ก็ให้ประกาศ (เทียบ ๑ คร. ๙:๑๕;รม. ๑๐:๑๔) แก่มนุษย์ทุกคน (เทียบ มก. ๑๖:๑๕) ด้วยความมั่นใจ (เทียบ กจ. ๔:๑๓,๒๙, ๓๑; ๙:๒๗, ๒๘; ๑๓:๔๖; ๑๔:๓; ๑๘-๘; ๒๖:๒๖; ๒๘:๓๑; ๑ ทธ. ๒:๒;๒ คร. ๓:๑๒;๗:๔;ฟป. ๑:๒๐;อฟ. ๓:๑๒;๖:๑๙,๒๐) ซึ่งองค์พระเจ้าผู้ทรงชีวิตและพระเยซูคริสตเจ้า  ซึ่งพระองค์ทรงมากอบกู้มนุษย์ทุกคนให้รอด (เทียบ ทธ. ๑:๙-๑๐;๑ คร. ๑:๑๘–๒๑; กท. ๑:๓๑; กจ. ๑๔:๑๕–๑๗;๑๗:๒๒–๓๑). ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่มิใช่คริสตชนเชื่อโดยพระจิตทรงเปิดใจของเขาแล้วสมัครกลับใจมาหาพระเป็นเจ้าและจงรักภักดีต่อพระองค์ด้วยน้ำใสใจจริง  เพราะพระองค์ทรงเป็น “หนทาง  ความจริง  และชีวิต” (ยน. ๑๔:๖);  พระองค์โปรดให้ตามที่เขาปรารถนาทางวิญญาณเกินกว่าที่เขาปรารถนาอย่างสุดที่ประมาณได้เสียอีก.

แน่ละ  การกลับใจเช่นนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นการกลับใจในขั้นต้น แต่ก็พอที่จะทำให้มนุษย์มองเห็นว่า  เมื่อละทิ้งบาปแล้วตนได้เข้าถึงรหัสธรรมเรื่องความรักของพระเป็นเจ้าซึ่งเรียกตนให้มาผูกความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระองค์ในพระคริสตเจ้า. แท้จริง  ด้วยฤทธิ์อำนาจแห่งพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า  ผู้กลับใจใหม่เปรียบเหมือนตั้งต้นเดินทางฝ่ายวิญญาณ: บนหนทางนั้นโดยที่มีส่วนร่วมแล้วเพราะมีความเชื่อถึงรหัสธรรมเรื่องพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์และกลับฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมา เขาจึงผ่านจากสภาพคนเก่าสู่สภาพคนใหม่ ซึ่งเป็นคนดีพร้อมในองค์พระคริสตเจ้า (เทียบ คส. ๓:๕-๑๐; อฟ. ๔:๒๐–๒๔).  การผ่านจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งเช่นนี้ ซึ่งทำให้ความรู้สึกนึกคิดและกิริยาเปลี่ยนไปตามลำดับนั้น จำเป็นต้องปรากฏออกพร้อมด้วยผลติดตามมาทางสังคมและค่อย ๆ พัฒนาในระหว่างเวลาที่เรียนคำสอนอยู่.  เนื่องจากพระคริสตเจ้าที่เขาเชื่อถึงนั้นเป็นเครื่องหมายแห่งความขัดแย้ง (เทียบ ลก. ๒:๓๔; มธ. ๑๐:๓๔–๓๙)  มีอยู่บ่อย ๆ ที่ผู้กลับใจจะถูกตัดขาดหรือถูกแยกไปแต่เขาก็จะได้รับความชื่นชมยินดีซึ่งพระเป็นเจ้าประทานให้อย่างไม่อั้นเหมือนกัน (เทียบ ๑ ธส. ๑:๖).

พระศาสนจักรห้ามอย่างเคร่งครัดมิให้บังคับผู้ใดก็ตามเข้าถือศาสนา หรือชักนำหรือชักจูงให้ใครเข้าถือโดยวิธีการอันไม่สมควร  เช่นเดียวกันพระศาสนจักรประกาศอย่างแข็งแรงว่าทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ให้ใครขู่เข็ญมิให้เข้าศาสนาโดยการข่มเหงรังแกอย่างอยุติธรรม.

ตามธรรมเนียมที่พระศาสนจักรเคยปฏิบัติแต่ดึกดำบรรพ์มา  จะต้องพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ว่า ใครคนใดคนหนึ่งกลับใจเพราะเหตุอะไรบ้าง  และในกรณีที่จำเป็น  ก็ต้องแก้ไขให้เขามีเหตุผลกลับใจที่บริสุทธิ์และถูกต้อง

การสอนคำสอนและการแนะให้รู้เรื่องศาสนา

๑๔.  ผู้ที่ได้รับความเชื่อถึงพระคริสตเจ้าจากพระเป็นเจ้าทางพระศาสนจักรจะต้องรับให้มาเรียนคำสอนโดยประกอบจารีตทางพิธีกรรม.  การสอนคำสอนไม่ใช่เป็นการบรรยายข้อสัจธรรมและคำสั่งสอนเท่านั้น  แต่เป็นการฝึกอบรมให้ถือชีวิตแบบคริสตชนอย่างครบถ้วน และเป็นการฝึกหัดที่มีคนสอนอย่างดีรวมความว่า  เป็นการฝึกอบรมและฝึกหัดให้สานุศิษย์มีความสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสตเจ้าพระอาจารย์ของตน. ฉะนั้นผู้เรียนคำสอนต้องได้รับการแนะให้รู้จักรหัสธรรมเรื่องความรอดและการถือคำสั่งสอนของพระวรสาร อีกทั้งต้องได้รับการสอนให้รู้จักชีวิตแห่งความเชื่อ พิธีกรรมและความรักแห่งประชากรของพระเป็นเจ้าด้วยจารีตศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องประกอบในเวลาต่าง ๆ ต่อ ๆ กันไป.

หลังจากนั้น  เมื่อหลุดพ้นจากอำนาจแห่งความมืด (เทียบ คส. ๑:๑๓)  ด้วยศีลที่รับเวลาเข้าศาสนา  เมื่อตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า ถูกฝังพร้อมกับพระองค์และกลับคืนชีวิตขึ้นมาพร้อมกับพระองค์แล้ว (เทียบ รม. ๖:๔-๑๑; คส. ๒:๑๒–๑๓;๑ ปต. ๓:๒๑–๒๒; มก. ๑๖:๑๖)  เขาก็รับพระจิตที่รับเราเป็นบุตรบุญธรรม (เทียบ ๑ ธส. ๓:๕-๗; กจ. ๘:๑๔–๑๗) และประกอบพิธีรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสตเจ้ารวมกับประชากรทั้งมวลของพระเป็นเจ้า.

เป็นที่น่าปรารถนาให้พิธีกรรมในเทศกาลมหาพรตและในเทศกาลปัสกาได้รับการปรับปรุงในทำนองให้เป็นการเตรียมจิตใจของผู้เรียนคำสอนให้ทำการฉลองรหัสธรรมปัสกา เพราะในระหว่างงานฉลองรหัสธรรมนี้เขาได้เกิดใหม่ ด้วยศีลล้างบาปในพระคริสตเจ้า.

การแนะให้รู้เรื่องศาสนาในระหว่างเวลาเรียนคำสอนนั้นไม่ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้สอนคำสอนพวกเดียวหรือพระสงฆ์พวกเดียวเท่านั้น แต่ควรจะเป็นหน้าที่ของพระชาสัตบุรุษทั้งหมด โดยเฉพาะพิเศษควรจะเป็นหน้าที่ของผู้เป็นพ่อแม่ทูนหัว.  ถ้าทำดังนี้ ผู้เรียนคำสอนจะรู้สึกตัวตั้งแต่ต้นทีเดียวว่า เขาเข้าอยู่ในหมู่ประชากรของพระเป็นเจ้า. เนื่องจากชีวิตจิตใจของพระศาสนจักรคือการแพร่ธรรม  ดังนั้นผู้เรียนคำสอนต้องหัดร่วมมือในการแพร่ข่าวดีและสร้างพระศาสนจักรอย่างขันแข็งด้วยการดำรงชีวิตเป็นองค์พยานและประกาศความเชื่อของตน.

ที่สุดต้องกำหนดบ่งฐานะทางกฎหมายของผู้เรียนคำสอนให้ชัดแจ้งในประมวลกฎหมายใหม่ของพระศาสนจักร  เพราะเขารวมเข้าอยู่ในพระศาสนจักรและเป็นคนในพระเคหะของพระคริสตเจ้าแล้ว และบ่อยทีเดียวเขาดำรงชีวิตอย่างมีความเชื่อความไว้ใจและความรัก.