หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  5 : การผดุงสันติภาพและการส่งเสริมประชาคมนานาชาติ
หมวดที่  ๒ / การสร้างประชาคมระหว่างชาติ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้
ภาคที่สอง  : ว่าด้วยปัญหาบางข้อที่รีบด่วน

๘๓.  อะไรเป็นเหตุให้ร้าวฉานกันและจะแก้ไขอย่างไร?

๑. เพื่อสร้างสันติภาพ ก่อนอื่นทั้งปวงต้องกำจัดสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ร้าวฉานกัน สาเหตุเหล่านี้มีความอยุติธรรมเป็นต้น  เพราะทำให้เกิดสงคราม. สาเหตุหลายประการเกิดจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างเหลือขนาดในด้านเศรษฐกิจ  และยังเกิดจากความล่าช้าในการแก้ไขซึ่งจำเป็นต้องทำ.  ยังมีสาเหตุอื่นอีกที่เกิดขึ้นเพราะความปรารถนาอยากเป็นใหญ่ เพราะการดูถูกตัวบุคคลและถ้าเราจะสืบให้ถึงสาเหตุที่ลึกซึ้งกว่านี้ ก็ยังมีสาเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความอิจฉา เพราะความไม่ไว้ใจ เพราะความเย่อหยิ่งและเพราะกิเลสที่เห็นแก่ตัวอื่น ๆ อีก.  เนื่องจากมนุษย์ทนความยิ่งเหยิงมากมายเช่นนี้ไม่ได้  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  แม้เมื่อสงครามไม่สำแดงเดชให้เห็นความโหดร้าย โลกก็ปั่นป่วนอยู่ตลอดเวลาเพราะการแก่งแย่งระหว่างมนุษย์และการกดขี่รังแกกัน. อีกประการหนึ่ง โดยที่ความชั่วเหล่านี้ก็พบมีอยู่ในการติดต่อระหว่างชาติต่าง ๆ เอง  ฉะนั้นเพื่อเอาชนะหรือป้องกันความชั่วเหล่านี้กับเพื่อกำจัดการกดขี่บังคับที่ปล่อยให้ทำกันมาจึงเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันระหว่างชาติจะต้องร่วมมือและประสานงานให้ดีและมั่นคงยิ่งขึ้น  อีกทั้งต้องกระตุ้นให้ทั้งองค์การที่ส่งเสริมสันติภาพอย่างไม่รู้จักเหนื่อยหน่าย

๘๔.  ประชาคมของนานาชาติกับสถาบันต่าง ๆ ระหว่างชาติ

๑. สมัยนี้พลเมืองทุกคนกับชนทุกชาติในโลกมีพันธะต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น. เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนรวมทั่วไปอย่างฉลาดและเพื่อที่จะได้ประโยชน์นั้นมาอย่างเป็นผลดียิ่งขึ้น. เดี๋ยวนี้เป็นการจำเป็นที่ประชาคมนานาชาติต้องจัดระเบียบสำหรับตน.  ระเบียบนั้นจะต้องเหมาะกับภาระหน้าที่ในปัจจุบัน  เป็นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับดินแดนมากมายที่ยังลำบากขัดสนอย่างเหลือที่จะทนได้.

๒. เพื่อให้สำเร็จตามจุดหมายที่กล่าวนี้  องค์การแต่ละแห่งของประชาคมระหว่างชาติจะต้องทำตามกำลังจัดหาสิ่งของให้ตามที่มนุษย์ต้องการ ไม่ว่าในด้านชีวิตสังคมซึ่งได้แก่เสบียงอาหาร  อนามัย    การอบรมและการทำงาน หรือไม่ว่าในภาวการณ์พิเศษบางอย่างซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง เช่นความจำเป็นต้องช่วยเหลือชาติที่กำลังพัฒนาให้เจริญเติบโตขึ้น  ความจำเป็นต้องช่วยเหลือความทุกข์ลำเค็ญของผู้ลี้ภัยซึ่งกระจัดกระจายไปไปทั่วโลก หรือความจำเป็นต้องช่วยเหลือคนอพยพออกจากประเทศกับครอบครัวของเขา.

๓. องค์การต่าง ๆ ระหว่างชาติที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าที่ทำงานทั่วโลกหรือเฉพาะเขต  ได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่ชาติมนุษย์อย่างน่าสรรเสริญมาแล้ว. องค์การเหล่านี้ปรากฏเป็นเหมือนความพยายามเบื้องแรกที่จะตั้งรากฐานระหว่างชาติของประชาคมมนุษย์ทั้งหมดเพื่อขบปัญหาที่สำคัญ ๆ ที่สุด ในสมัยของเรา คือ  เพื่อส่งเสริมความเจริญทั่วโลกและเพื่อป้องกันสงครามไม่ว่าในรูปใด.  ในกิจการด้านต่าง ๆ เหล่านี้ พระศาสนจักรชื่นชมยินดีที่เห็นจิตตารมณ์ของภารดรภาพอย่างแท้จริงกำลังเจริญงอกงามในหมู่คนที่เป็น คริสตชนและไม่ไม่เป็นคริสตชนจิตตารมณ์นั้นพยายามที่จะให้เราอุตส่าห์ทุเลาความทุกข์ยากอันใหญ่หลวงของมนุษย์ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นเสมอ.

๘๕.  การร่วมมือระหว่างชาติในด้านเศรษฐกิจ

๑. เนื่องจากมนุษยชาติในทุกวันนี้ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ชาติต่าง ๆ ก็ต้องร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในด้านเศรษฐกิจเพราะแม้ว่าเกือบทุกชาติได้รับความเป็นเอกราชแล้วแต่ยังอยู่อีกไกลจากการที่เขาจะหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอย่างเหลือขนาดและจากการต้องขึ้นแก่คนอื่นอย่างไม่สมควรทุกแบบอีกทั้งปลอดจากภัยที่จะประเชิญกับความยุ่งยากร้ายแรงภายในประเทศ.

๒. ความเจริญของชาติใดชาติหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับกำลังคนและกำลังเงิน. พลเมืองของทุก ๆ ชาติต้องได้รับการเตรียมด้วยการอบรมฝึกฝนทางอาชีพเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม.  เรื่องนี้จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ.  แต่ชาวต่างประเทศเวลาช่วยเหลือนั้นต้องประพฤติตนมิใช่อย่างผู้เป็นนาย  แต่อย่างผู้สงเคราะห์และผู้ร่วมมือ. ส่วนการช่วยเหลือทางวัตถุนั้น จะให้แก่ชาติที่กำลังพัฒนาไม่ได้  เว้นแต่จะได้เปลี่ยนวิธีดำเนินการในโลกอย่างลึกซึ้ง. นอกจากนี้  ชาติที่เจริญแล้วควรจะให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ในแบบให้เปล่าหรือให้ยืมหรือลงทุนให้.  ความช่วยเหลือเหล่านี้ฝ่ายหนึ่งควรให้ด้วยน้ำใจกว้างขวางและปราศจากความตระหนี่ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ควรรับด้วยความสุจริตอย่างแท้จริง.

๓. เพื่อสร้างระเบียบเศรษฐกิจสากลขึ้นอย่างแท้จริงต้องกำจัดความอยากได้มากเกินไป.  ความมักใหญ่ใฝ่สูงประจำชาติความกระหายจะมีอำนาจเป็นใหญ่ทางการเมือง  ความคิดแบบนิยมทหารตลอดจนเล่ห์กลที่มุ่งเผยแพร่หรือบังคับให้รับลัทธิคำสอนออย่างใดอย่างหนึ่ง. ได้มีการเสนอให้เลิกใช้ระบอบเศรษฐกิจและสังคมหลายแบบด้วยกัน. เป็นที่พึงปปราถนาให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้พบพื้นฐานร่วมกันสำหรับค้าขายทั่วโลกอย่างปลอดภัย.  เรื่องนี้จะสำเร็จได้ง่ายขึ้นถ้าหากว่าแต่ละคนสละทิ้งอคติของตนเสียและแสดงตัวว่าพร้อมที่จะติดต่อเจรจากันอย่างจริงใจ.

๘๖.  หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมบางข้อ

๑. ดูเหมือนว่า  หลักเกณฑ์ต่อไปนี้เหมาะสมสำหรับการร่วมมือที่กล่าวนั้น  คือ:

๒. (ก) ชาติที่กำลังพัฒนา0ต้องมีแก่ใจจริง ๆ ที่จะกำหนดอย่างมั่นคงและแจ่มแจ้งว่า  จุดหมายของความเจริญก้าวหน้าก็คือ ให้พลเมืองของตนบรรลุถึงความสมบูรณ์พูนสุขอันควรแก่มนุษย์อย่างแท้จริง. ชาติเหล่านั้นพึงระลึกว่า ความเจริญเกิดและเติบใหญ่ขึ้น  เป็นต้นเพราะการงานและปัญญาของชาติเอง  ด้วยว่าความเจริญนั้นไม่ควรพึ่งความช่วยเหลือของคนต่างประเทศอย่างเดียว  แต่ก่อนอื่นควรพึ่งทรัพยากร  สติปัญญา  และวัฒนธรรมของตนเอง.  ผู้ที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่นมากกว่าควรจะเป็นแบบฉบับในเรื่องนี้.

๓. (ข)  ชาติที่เจริญแล้วมีหน้าที่อันสำคัญที่สุดที่จะช่วยชาติที่กำลังพัฒนาให้ปฏิบัติภาระหน้าที่ที่กล่าวข้างต้นนี้  ฉะนั้นให้เขาทำการปรับปรุงทางด้านจิตใจและทางวัตถุ ซึ่งจำเป็นต้องทำสำหรับทำให้เกิดการร่วมมือทั่วโลกเช่นนี้ขึ้น.

๔. ดังนั้นในการเจรจากับชาติที่อ่อนแดและยากจนกว่า  ชาติที่เจริญแล้วต้องเอาใจใส่คำนึงถึงคุณประโยชน์ของชาติเหล่านั้น เพราะเขาต้องใช้รายได้จากการขายผลิตผลสำหรับดำรงความเป็นอยู่.

๕. (ค)  ประชาคมระหว่างชาติมีหน้าที่ต้องประสานและกระตุ้นความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ต้องระวังจ่ายแจกทรัพยากรที่จัดสำหรับเรื่องนี้ให้เกิดผลและอย่างเที่ยงธรรมที่สุด.  ประชาคมนี้ยังมีหน้าที่จัดระเบียบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในโลกเพื่อให้ความสัมพันธ์เหล่านั้นเป็นไปตามหลักความยุติธรรม และแน่นอน  ต้องคำนึงถึงหลักให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตามลำดับชั้น.

๖. ให้ตั้งองค์การที่สามารถส่งเสริมและจัดการค้าระหว่างชาติ เป็นต้นกับชาติที่ด้อยพัฒนา ทั้งนี้เพื่อชดใช้ข้อเสียหายที่เกิดจากการที่ชาติต่าง ๆ มีอำนาจไม่เท่าเทียมอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย. การจัดเช่นนี้ซึ่งทำพร้อมกับการช่วยเหลือทางวิชาการวัฒนธรรมและทางการเงิน  ต้องอำนวยให้ชาติที่กำลังพัฒนามีเครื่องมืออันจำเป็นสำหรับบรรลุถึงความเจริญทางเศรษฐกิจโดยสมควร.

๗. (ง)  ในหลาย ๆ กรณี มีความจำเป็นต้องรีบแก้ไขโครงสร้างทางเศรษฐกิจและทางสังคม  แต่ต้องระวังวิธีแก้ทางวิชาการที่คิดไตร่ตรองยังไม่ดีพอ  เป็นต้นวิธีแก้ที่ให้ประโยชน์ทางวัตถุแก่มนุษย์ แต่ขัดต่อลักษณะฝ่ายวิญญาณและความก้าวหน้าเจริญของมนุษย์  เพราะ “มนุษย์มิใช่มีชีวิตอยู่ด้วยปังอย่างเดียว  แต่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเป็นเจ้า” (มธ. ๔:๔).  ขุมสมบัติฝ่ายจิตใจที่พระเป็นเจ้าทรงฝากแก่มนุษยชาตินั้น  ครอบครัวมนุษย์ไม่ว่าเหล่าตระกูลใด ย่อมเก็บส่วนหนึ่งไว้ในตัวหรือในประเพณีนิยมที่ดีที่สุดของตน แม้ว่าหลาย ๆ คนไม่รู้ว่ามาจากต้นกำเนิดแห่งใด.

๘๗.  การร่วมมือระหว่างชาติในเรื่องจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้น

๑. การร่วมมือระหว่างชาติกลายเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยชาติต่าง ๆ ที่บ่อยครั้งในทุกวันนี้  นอกจากมีความยุ่งยากในเรื่องอื่น ๆ มากมายหลายอย่างแล้ว  ยังมีเรื่องยุ่งยากพิเศษที่เกิดจากการที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย.  เป็นการจำเป็นอย่างรีบด่วนที่ทุก ๆ คน เป็นต้นชาติมั่งคั่ง  ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่และอย่างแข็งขันที่จะสำรวจดูว่า  จะจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นแก่การยังชีพและการศึกษาอย่างสมควรของมนุษย์แล้วแจกจ่ายสิ่งเหล่านั้นให้แก่ประชาคมมุนษย์อย่างทั่วถึงได้อย่างไร. หลาย ๆ ชาติจะสามารถทำให้สภาพชีวิตของตนดีขึ้นได้มาก ถ้าได้รับการศึกษาเท่าที่ควร  เลิกวิธีกสิกรรมแบบเก่า ๆ แล้วนำวิชาสมัยใหม่มาใช้ให้เหมาะกับสภาพของตนอย่างฉลาดแต่เขาจะต้องจัดระเบียบสังคมให้ดีขึ้นกับจัดแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้นด้วย.

๒. เกี่ยวกับปัญหาประชากรของแต่ละชาติ  รัฐบาลย่อมมีหน้าที่และสิทธิภายในขอบเขตอำนาจของตน  เช่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการออกกฎหมายสังคมและครอบครัว การอพยพของชาวชนบทเข้าไปในเมือง การให้ข่าวเกี่ยวกับสภาพความต้องการของประเทศ. เนื่องจากจิตใจของมนุษย์ทุกวันนี้เป็นห่วงกังวลถึงปัญหาเรื่องนี้อย่างรุนแรง  จึงเป็นที่น่าปรารถนาให้ชาวคาทอลิกที่สันทัดในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้  เป็นต้นในมหาวิทยาลัย  ดำเนินการศึกษาและงานที่ริเริ่มต่อไปอย่างขยันขันแข็งกับขยายให้กว้างออกไปยิ่ง ๆ ขึ้น.

๓. เนื่องจากมีคนเป็นอันมากยืนยันว่า การเพิ่มขึ้นของพลเมืองในโลก  หรืออย่างน้อยในบางประเทศ  ต้องทำให้ลดลงให้ได้โดยทุกวิถีทางและด้วยมาตรการทุกอย่างของรัฐบาล  สภาสังคายนาขอเตือนมนุษย์ทุกคนให้ระวังวิธีแก้ที่ขัดต่อกฎศีลธรรมและมีคนโฆษณาทั้งอย่างเปิดเผยและเป็นการส่วนตัว  หรือบางทีก็ถึงกับบังคับให้ใช้ทีเดียว  ทั้งนี้เพราะว่า  เมื่อมนุษย์มีสิทธิอันยกโอนไม่ได้ที่จะแต่งงานและมีลูก  การที่กำหนดว่าจะมีลูกกี่คนจึงต้องแล้วแต่การวินิจฉัยอันถูกต้องของพ่อแม่  จะปล่อยให้เรื่องเห็นดีเห็นชอบของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ได้. แต่เนื่องจากเราสมมติว่า  การวินิจฉัยของพ่อแม่เกิดจากมโนธรรมที่ฝึกฝนมาแล้วเป็นอันดี  จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องอำนวยให้ทุกคนมีโอกาสถือความรับผิดชอบที่ถูกต้องและคู่ควรแก่มนุษย์อย่างแท้จริง และความรับผิดชอบนั้นจะต้องเคารพบัญญัติของพระเป็นเจ้ากับคำนึงถึงกรณีแวดล้อมเกี่ยวกับเหตุการณ์และเวลาด้วย.  เพื่อจะให้เป็นดังนี้  วิธีการสอนอบรมและสภาพทางสังคมในที่ต่าง ๆ ก็ต้องดีขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้การอบรมทางศาสนาหรืออย่างน้อยการอบรมทางศีลธรรมอย่างครบถ้วน นอกจากนั้นต้องจัดอย่างฉลาดให้พลเมืองรู้ถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องค้นหาวิธีที่จะช่วยสามีภรรยาให้มีลูกเท่าที่ต้องการ  แต่จะต้องเป็นวิธีที่เชื่อถือได้และถูกต้องกับศีลธรรมอย่างแน่นอนไม่มีที่สงสัย.

๘๘.  หน้าที่ของคริสตชนในการช่วยเหลือกันระหว่างชาติ

๑. คริสตชนควรยินดีและมีน้ำใจร่วมมือในการก่อตั้งระเบียบระหว่างชาติโดยเคารพต่อเสรีภาพที่ชอบธรรมทั้งหลายอย่างแท้จริง กับต้องมีความรู้สึกเป็นพี่น้องเยี่ยงมิตรกับทุก ๆ คน  และที่ต้องประพฤติดังนี้ก็เพราะโลกส่วนใหญ่ยังยากจนค่นแค้น จนเหมือนกับว่าพระเป็นเจ้าเองทรงร้องด้วยเสียงอันดังขอเมตตาจิตจากสานุศิษย์ของพระองค์อยู่ในตัวของคนยากจน. ฉะนั้นขออย่าให้มีเรื่องน่าอับอายนี้ต่อไปอีก  กล่าวคือ  มีบางชาติซึ่งบ่อย ๆ พลเมืองส่วนใหญ่มีชื่อว่าเป็นคริสตชน มีโภคสมบัติอย่างอุดมสมบูรณ์  ส่วนบางชาติอื่นขาดสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิตและทนทุกข์ทรมานเพราะความหิว  โรคภัยไข้เจ็บ และความลำเค็ญทุกชนิด ด้วยว่าจิตตารมณ์ของการถือความยากจนและเมตตาจิตนั้นเป็นความมีสง่าราศีและเครื่องหมายบอกพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า.

๒. ฉะนั้นต้องสรรเสริญและสนับสนุนคริสตชนเป็นต้นคนหนุ่มสาวที่สมัครใจอุทิศตนสำหรับช่วยเหลือคนอื่นและชาติอื่น.  ยิ่งกว่านั้นเป็นหน้าที่ของประชากรทั้งมวลของพระเป็นเจ้าที่จะต้องประพฤติตามที่บรรดาพระสังฆราชสอนและเป็นแบบฉบับ กล่าวคือ จะต้องบรรเทาความทุกขเวทนาที่มีอยู่ในสมัยนี้ตามกำลังความสามารถ  และตามที่เป็นธรรมเนียมของพระศาสนจักรในสมัยก่อน จะต้องช่วยโดยมิใช่เอาจากสิ่งที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือเท่านั้น  แต่ต้องเอาจากสิ่งจำเป็นจะใช้เองด้วย.

๓. วิธีเก็บและจ่ายแจกความช่วยเหลือนั้น  ถึงแม้ไม่ต้องจัดอย่างเข้มงวดและเป็นแบบเดียวกัน  ก็ควรจะจัดอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังฆมณฑลและในประเทศต่าง ๆ ตลอดจนทั่วโลก และที่ใดเห็นสมควร  ก็ให้ชาวคาทอลิกทำการเรื่องนี้ร่วมกับพี่น้องคริสตชนนิกายอื่น เพราะจิตตารมณ์ความรักนั้นใช่ว่าจะห้ามมิให้ประกอบงานสังคมสงเคราะห์และเมตตากิจอย่างมีแผนและมีระเบียบก็หาไม่ แต่กลับเรียกร้องให้ทำเสียอีก.  ฉะนั้นผู้ที่ตั้งใจจะอุทิศตนทำการรับใช้ชาติที่กำลังพัฒนานั้น  จำเป็นต้องได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมในสถาบันพิเศษ.

๘๙.  พระศาสนจักรร่วมอยู่ในประชาคมระหว่างชาติอย่างมีผล

๑. เมื่อพระศาสนจักรปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับมาจากพระเป็นเจ้า คือ  การประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าแก่มนุษย์ทุกคนและไขพระคลังพระหรรษทานให้แก่เขา  ก็เท่ากับพระศาสนจักรมีส่วนช่วยผดุงสันติภาพให้มั่นคงทั่วโลก  กับมีส่วนช่วยให้ความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างมนุษย์และระหว่างชาติตั้งบนรากฐานมั่นคง  รากฐานนั้นก็คือ การรู้กฎของพระเป็นเจ้าและกฎของธรรมชาติ.  ฉะนั้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้มนุษย์ร่วมมือกัน  จำเป็นอย่างยิ่งที่พระศาสนจักรต้องร่วมอยู่ในประชาคมของนานาชาติ และพระศาสนจักรร่วมอยู่โดยอาศัยองค์การที่เป็นทางการของพระศาสนจักรก็ดี หรือโดยอาศัยการร่วมมืออย่างเต็มที่และอย่างจริงใจของคริสตชนทุกคนก็ดี  ซึ่งการร่วมมือนั้นเกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะรับใช้ทุกคนแต่อย่างเดียว.

๒. จุดหมายนี้จะบรรลุถึงผลแน่นอนยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าสัตบุรุาเองจะสำนึกถึงความรับผิดชอบของตนในฐานะที่เป็นมนุษย์และเป็นคริสตชนยิ่งขึ้น  และจะต้องอุตส่าห์ปลุกกำลังน้ำใจที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างชาติอย่างฉับพลันในวงการชีวิตของตน.  ต้องเอาใจใส่การฝึกอบรมหนุ่มสาวในเรื่องนี้เป็นพิเศษ  ทั้งการอบรมที่เกี่ยวกับศาสนาและการอบรมที่เกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง.

๙๐.  บทบาทของคริสตชนในบรรดาองค์การระหว่างชาติ

๑. กิจกรรมระหว่างชาติแบบหนึ่งที่ดีมากสำหรับคริสตชนนั้น  เชื่อแน่ว่าได้แก่การที่คริสตชนจะเป็นคน ๆ หรือรวมเป็นหมู่ ๆ ก็ดี ร่วมงานกับองค์การต่าง ๆ ที่ได้ตั้งขึ้นหรือจะตั้งขึ้นสำหรับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ บรรดาสมาคมคาทอลิกระหว่างชาติยังใช้ทำประโยชน์ได้มากสำหรับตั้งประชาคมนานาชาติที่รักสันติและเหมื่อนพี่ ๆ น้อง ๆ ต้องร่วมส่งเสริมสมาคมเหล่านี้ให้มั่นคง โดยเพิ่มจำนวนสมาชิกที่ได้รับการอบรมดี  โดยเพิ่มปัจจัยที่เขาต้องการรับประสานกำลังของเขาให้เข้ากัน  เพราะในสมัยของเรานี้  เพื่อทำงานได้ผลและเพราะจำเป็นต้องติดต่อเจรจากัน จึงจำเป็นต้องคิดงานและทำงานร่วมกัน นอกจากนั้น สมาคมแบบนี้ยังมีส่วนช่วยไม่น้อยในการฝึกความสำนึกทั่วไป ซึ่งเหมาะสำหรับชาวคาทอลิกเป็นแน่ กับช่วยทำให้เกิดความสำนึกถึงการร่วมมือช่วยเหลือและความรับผิดชอบร่วมกันทั่วโลกอย่างแท้จริง.

๒. ที่สุด เพื่อให้ชาวคาทอลิกปฏิบัติหน้าที่ในประชาคมระหว่างชาติด้วยดี สภาสังคายนาปรารถนาให้เขาอุตส่าห์ร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับพี่น้องที่แตกแยกออกไปซึ่งถือความรักตามที่พระวรสารสอนเหมือนกับเขา หรือร่วมมือกับมนุษย์ทั้งหลายที่ใฝ่หาสันติภาพอันแท้จริง.

๓. เมื่อคำนึงถึงความทุกขเวทนาอันใหญ่หลวงซึ่งยังเบียดเบียนมนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ในเวลานี้  และเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมในที่ทั่วไป  อีกทั้งกระตุ้นความรักของพระคริสตเจ้าต่อคนจน สภาสังคายนาเห็นเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะตั้งองค์การของพระศาสนจักรสากลขึ้นแห่งหนึ่ง มีหน้าที่กระตุ้นให้ประชาคมของชาวคาทอลิกทั้งหลายส่งเสริมความเจริญในประเทศแร้นแค้น ตลอดจนความยุติธรรมด้านสังคมในระหว่างชาติต่าง ๆ.