หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  5 : การผดุงสันติภาพและการส่งเสริมประชาคมนานาชาติ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้
ภาคที่สอง  : ว่าด้วยปัญหาบางข้อที่รีบด่วน

๗๗.  อารัมภบท

๑. ในสมัยของเรานี้  ความทุกข์ลำเค็ญและความกระวนกระวายอันเกิดจากสงครามที่กำลังดำเนินหรือกำลังคุกคามนั้น  ยังมีอยู่ในหมู่มนุษย์อย่างร้ายแรงที่สุด ครอบครัวมนุษย์ทั้งมวลได้เดินมาถึงเวลาที่อันตรายที่สุดในการก้าวย่างไปถึงความสำเร็จสมบูรณ์ของตน  พระศาสนจักรซึ่งค่อย ๆ รวมกันเข้าและสำนึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของตนดีขึ้นในที่ทั่วไปนั้น ไม่สามารถจะประกอบงานอันหนึ่งให้สำเร็จ  คือ งานสร้างโลกให้มีมนุษยธรรมดีขึ้นอย่างแท้จริงสำหรับทุกคนในที่ทั่วไป เว้นแต่ทุกคนจะรื้อฟื้นจิตใจใหม่หันไปหาสันติภาพที่แท้จริง.  ถ้าเป็นดังนั้น  พระวรสารซึ่งสอดคล้องกับความใฝ่ฝันและความปรารถนาอันลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ก็จะส่องแสงสุดใสใหม่ โดยที่ประกาศว่าผู้สร้างสันติเป็นผู้มีบุญ “เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า” (มธ. ๕:๙).

๒. เพราะเหตุนี้ เมื่อได้อธิบายความหมายอันแท้จริงและมีเกียรติสูงของสันติภาพกับความป่าเถื่อนของสงครามแล้ว  สภาสังคายนาตั้งใจจะเรียกร้องให้คริสตทั้งหลาย อาศัยพระคริสตเจ้าผู้ทรงสร้างสันติภาพ ทำการร่วมมือกับมนุษย์ทุกคนในอันที่จะผดุงสันติภาพด้วยความยุติธรรมและความรักกับเตรียมเครื่องมือสันติภาพไว้.

๗๘.  สันติภาพมีลักษณะอย่างไร


๑. สันติภาพไม่ใช่เป็นภาระไม่มีสงครามอย่างเดียวหรือเป็นเพียงการจัดให้ปรปักษ์สองฝ่ายมีกำลังสมดุลย์เท่ากัน.  สันติภาพมิใช่เกิดจากการปกครองแบบบังคับกดขี่  แต่เรียกได้โดยถูกต้องเหมาะเจาะว่า เป็น “งานที่เกิดจากความยุติธรรม (อสย. ๓๒:๑๗). สันติภาพเป็นผลที่เกิดจากระเบียบอันพระผู้สร้างได้ทรงจารึกไว้ในสังคมมนุษย์และซึ่งมนุษย์ผู้กระหายให้มีความยุติธรรมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจะต้องทำให้สำเร็จไป  ด้วยว่าแม้ประโยชน์ส่วนรวมของมนุษยชาติถูกกำหนดไว้โดยกฎนิรันดรตามความหมายเดิมของมัน  แต่มันก็เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดหย่อน.  ดังนั้น สันติภาพจึงไม่ใช่ของที่ได้มาครั้งหนึ่งแล้วก็คงอยู่  แต่เป็นสิ่งที่ต้องเสริมสร้างตลอดไป  นอกจากนั้นเนื่องจากเจตจำนงของมนุษย์ไม่มั่นคงและอ่อนแอลงเพราะบาป ฉะนั้นถ้าอยากให้มีสันติภาพ ทุกคนจะต้องควบคุมกิเลสตัณหาอยู่เป็นนิตย์ และเจ้าหน้าที่โดยชอบจะต้องมีความระมัดระวัง.

๒. แต่เท่านี้ยังไม่พอ สันติภาพที่เรากล่าวถึงนั้นจะมีขึ้นในโลกไม่ได้  เว้นแต่คุณค่าของบุคคลจะได้รับความคุ้มครองและมนุษย์จะต้องสมัครใจและไว้ใจ  กับถ่ายทอดสมบัติความคิดและสติปัญญาให้แก่กันและกัน.  ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเคารพมนุษย์และชนชาติอื่น ๆ ตลอดจนศักดิ์ศรีของเขาก็ดี  การเอาใจใส่ถือภารดรภาพก็ดี  เป็นสิ่งจำเป็นอย่างเด็ดขาดสำหรับสร้างสรรค์สันติภาพ  ดังนี้สันติภาพยังเป็นผลของความรักที่ทำเกินกว่าที่ความยุติธรรมจะทำให้ได้.

๓. สันติภาพในโลกที่เกิดจากความรักต่อเพื่อนมนุษย์นั้นเป็นรูปสัญญลักษณ์และเป็นผลของสันติภาพของพระคริสตเจ้าซึ่งมาจากพระบิดา  เพราะพระบุตรเองซึ่งเสด็จมาเกิดเป็นมนุษย์และเป็นเจ้าแห่งสันติภาพนั้น ได้ทำให้มนุษย์ทุกคนกลับคืนดีกับพระเป็นเจ้าด้วยกางเขนของพระองค์ เมื่อทำให้ทุกคนกลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวโดยเป็นประชากรและกายอันเดียว พระองค์ทรงฆ่าความเกลียดให้ตายไปในเนื้อหนังของพระองค์เอง  และเมื่อได้รับการยกย่องด้วยการกลับฟื้นคนพระชนม์แล้ว  พระองค์ได้ทรงถ่ายเทพระจิตแห่งความรักลงในจิตใจของมนุษย์.

๔. เพราะเหตุนี้คริสตชนทุกคนถูกรบเร้าให้ “ถือความจริงด้วยความรัก” (อฟ. ๔:๑๕) และให้สมทบกับมนุษย์ที่ใฝ่สันติอย่างแท้จริง  เพื่อวอนขอและสร้างสันติภาพขึ้น.

๕. เนื่องจากมีจิตตารมณ์อย่างเดียวกัน  เราอดไม่ได้ที่จะสรรเสริญผู้ซึ่งละเว้นไม่ทำการรุนแรงในการเรียกร้องทวงสิทธิแล้วใช้วิธีการป้องกันตัว  ซึ่งแม้แต่ผู้มีกำลังน้อยก็ใช้ได้  ขอแต่เพียงว่าให้ทำการเรื่องนี้โดยไม่ก่อความเสียหายแก่สิทธิหรือหน้าที่ของผู้อื่นหรือหมู่ประชาคม.

๖. โดยเหตุที่มนุษย์เป็นคนบาป  ภัยสงครามก็ย่อมคุกคามมนุษย์และจะคุกคามเช่นนั้นจนกระทั่งพระคริสตเจ้าเสด็จมากแต่ถ้ามนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความรักและเอาชนะบาปได้ เขาก็จะชนะการใช้กำลังบังคับด้วย  จนกว่าจะสำเร็จไปตามวาทะที่ว่า “เขาจะดีตาบของเขาให้เป็นคันไถ  และจะตีหอกให้เป็นเคียว. นานาชาติจะไม่ชักดาบออกมาสู้กันและจะไม่ฝึกซ้อมเพื่อรบกันอีก” (อสย. ๒:๔).