หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  4 : ชีวิตของประชาคมการเมือง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้
ภาคที่สอง  : ว่าด้วยปัญหาบางข้อที่รีบด่วน

๗๓.  การเมืองในปัจจุบันนี้

๑. ในยุคนี้ เราสังเกตเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในโครงสร้างและระเบียบแบบแผนของชาติต่าง ๆ ด้วย.  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ซึ่งเป็นผลเกิดจากวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  และสังคมของชนชาติเหล่านั้น  มีอิทธิพลเหนือชีวิตของประชาคมการเมืองเป็นอันมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ที่ทุกคนมีทั้งในการใช้เสรีภาพทางการเมือง ทั้งในการทำสาธารณประโยชน์  ตลอดจนในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองด้วยกันและระหว่างพลเมืองกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง.

 ๒.  มนุษย์มีความสำนึกถึงศักดิ์ศรีของตนอย่างแก่กล้ายิ่งขึ้น  ฉะนั้น  ในส่วนต่างๆ ของโลกจึงเกิดความกระตือรือร้นที่จะรื้อฟื้นตั้งระเบียบการเมืองและกฎหมาย  เพื่อป้องกันสิทธิของบุคคลในชีวิต   ประชาคมดียิ่งขึ้น  เช่น  สิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมกัน ปฏิบัติงานร่วมกัน  แสดงความคิดเห็นและถือศาสนาได้ ทั้งในที่ส่วนตัวและในที่สาธารณะ  ด้วยว่าการประกันสิทธิของบุคคลนั้นเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับให้ พลเมืองไม่ว่าเป็นคนๆหรือเป็นหมู่ๆมีส่วนร่วมในชีวิตและการบริหารงานของรัฐอย่างแข็งขันได้.

๓. คนเป็นจำนวนมากคอยเฝ้าติดตามความเจริญทางวัฒนธรรม  เศรษฐกิจและสังคม  กับทั้งมีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีส่วนร่วมในการจัดประชาคมการเมืองมากยิ่งขึ้น.  มโนธรรมของหลายๆคนมีความห่วงใยมากขึ้นที่จะรักษาสิทธิของชนกลุ่มน้อยในชาติใดชาติหนึ่ง  แต่ก็ไม่ละเลยที่จะให้ชนกลุ่มน้อยนั้นถือพันธะของตนต่อประชาคมการเมืองด้วย นอกจากนี้  มนุษย์รู้จักเคารพผู้ที่ถือความคิดหรือศาสนาอื่นมากยิ่งขึ้นทุกวัน.  ในขณะเดียวกัน มีการร่วมมือกันมากขึ้นในอันที่จะให้พลเมืองทุกคน  ไม่ใช่ผู้มีอภิสิทธิ์บางคนเท่านั้นได้ใช้สิทธิที่เป็นของบุคคลนั้นอย่างแท้จริง.

๔. แต่มนุษย์ประณามระบอบการปกครองไม่ว่าในแบบใดดังที่มีอยู่ในบางประเทศที่ขัดขวางเสรีภาพในทางการเมืองการถือศาสนา  ทำให้คนหลาย ๆ คนต้องรับเคราะห์กรรมเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงและการประกอบอาชญากรรมทางการเมืองและทำให้การใช้อำนาจของเขาแทนที่จะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมกลับเป็นประโยชน์แก่พรรคพวกบางคนหรือแก่ผู้ปกครองเอง.

๕. เพื่อก่อตั้งชีวิตทางการเมืองที่เหมาะแก่มนุษย์อย่างแท้จริง  ไม่มีอะไรดีกว่าพัฒนาความสำนึกภายในถึงความยุติธรรมความโอบอ้อมอารีและการรับใช้เพื่อสาธารณประโยชน์กับปลุกความรู้ตระหนักอย่างซึ้งว่า ประชาคมการเมืองมีลักษณะแท้จริงอย่างไร และอำนาจในบ้านเมืองนั้นมีจุดหมายอะไร ต้องใช้ให้ดีอย่างไร  และมีขอบเขตแค่ไหน.


๗๔.  ลักษณะและจุดหมายของประชาคมการเมือง

๑. มนุษย์ครอบครัวและกลุ่มชนต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นประชาคมพลเมืองนั้น สำนึกว่าลำพังตนพวกเดียวไม่มีกำลังความสามารถจะก่อตั้งชีวิตที่สมลักษณะมนุษย์อย่างแท้จริงได้  กับมองเห็นความจำเป็นต้องมีประชาคมที่กว้างขวางกว่า และภายในประชาคมนั้นทุกคนต้องร่วมผนึกกำลังเข้าด้วยกันเพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นเสมอ. เพราะเหตุนี้ เขาจึงตั้งประชาคมการเมืองขึ้นตามแบบต่าง ๆ กัน  ดังนั้น ประชาคมการเมืองจึงมีอยู่เพื่อสาธารณประโยชน์. สาธารณประโยชน์นี้แหละทำให้ประชาคมการเมืองมีความหมาย  และแสดงให้เห็นชัดว่าสมควรจะมีประชาคมการเมือง.  ประชาคมการเมืองได้สิทธิเบื้องแรกของตนมาจากสาธารณประโยชน์นี้เอง. ส่วนสาธารณประโยชน์นั้นหมายความรวมถึงสภาพในชีวิตสังคมทั้งหมดซึ่งอำนวยให้มนุษย์ ครอบครัว และหมู่ชนบรรลุถึงความสมบูรณ์พูนสุขได้อย่างครบถ้วนและสะดวกยิ่งขึ้น.

๒. แตต่คนที่มาประชุมกันตั้งเป็นประชาคมการเมืองนั้นมีจำนวนมากและเป็นคนต่างๆกัน เขาอาจมีความคิดเห็นไปหลายทางได้  ซึ่งก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว. ฉะนั้นเมื่อต่างคนคิดเห็นไป   คนละทาง  เพื่อไม่ให้ประชาคมการเมืองแตกแยกออกเป็นชิ้นๆ จำเป็นต้องมีอำนาจอันหนึ่งที่จะควบคุมพลังพลเมืองทุกคนให้มุ่งถึงสาธารณะประโยชน์  มิใช่แบบเครื่องจักรหรืออย่างบังคับกดขี่ แต่ก่อนอื่นหมดเป็นกำลังฝ่ายธรรมที่ขอพึ่งอำนาจเสรีภาพและความสำนึกถึงภาระหน้าที่ที่ได้รับ.

๓. ฉะนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่า  ประชาคมการเมืองและอำนาจในบ้านเมืองนั้นตั้งรากฐานอยู่บนธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นจึงมาจากระเบียบที่พระเป็นเจ้าทรงกำหนดไว้แล้ว. อย่างไรก็ดีการเลือกระบอบการเมืองกับการเลือกผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นให้เป็นเรื่องที่พลเมืองทำโดยเสรี.

๔. ในทำนองเดียวกัน  การใช้อำนาจทางการเมือง  ไม่ว่าในประชาคมหรือในสถาบันที่เป็นตัวแทนรัฐ ต้องทำอยู่ในกรอบของระเบียบศีลธรรมและเพื่อสาธารณประโยชน์ที่คิดไว้อย่างเข้มแข็ง โดยต้องถือตามระเบียบกฎหมายที่ได้ตั้งหรือจะตั้งขึ้นโดยชอบ. เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองปฏิบัติดังนี้ พลเมืองมีพันธะโดยมโนธรรมจำต้องเชื่อฟัง.  เรื่องนี้แหละที่แสดงให้เห็นความรับผิดชอบ  ศักดิ์ศรี และความสำคัญของผู้ปกครองบ้านเมือง.

๕. ถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำเกินอำนาจและกดขี่พลเมือง  พลเมืองก็ยังต้องเชื่อฟังเท่าที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  แต่ให้ถือเป็นการชอบที่เขาจะป้องกันสิทธิของตนและของพลเมืองด้วยกัน  ต่อต้านการใช้อำนาจในทางที่ผิด โดยปฏิบัติอยู่ในขอบเขตที่กฎธรรมชาติแลกฎพระวรสารกำหนดไว้.

๖. ส่วนวิธีการมั่นเหมาะที่ประชาคมการเมืองจะใช้สร้างตนเองกับควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนั้น จะเป็นแบบต่างๆกันก็ได้  แล้วแต่ละลักษณะโดยเฉพาะของแต่ละชาติและความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์  แต่ต้องใช้ประโยชน์สำหรับอบรมมนุษย์ให้เป็นคนเจริญ รักสันติและอารีอารอบต่อทุกคน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของวาติมนุษย์ทั้งมวล.

๗๕.  การร่วมมือกันในกิจการบ้านเมือง

๑. เป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงกับลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ทีเดียวที่จะจัดระเบียบทางการเมืองและกฎหมายที่อำนวยให้พลเมืองทุกคนโดยไม่เลือกหน้าและมากยิ่งขึ้นทุกที สามารถที่จะมีส่วนร่วมอย่างเสรีและอย่างแข็งขันในการตั้งประชาคมการเมืองให้มีรากฐานทางกฎหมายก็ดี  ในการบริหารกิจการบ้านเมืองก็ดี  ในการกำหนดขอบเขตและจุดหมายของสถาบันต่าง ๆ ก็ดี ตลอดจนในการเลือกผู้ปกครองบ้านเมืองด้วย.  ฉะนั้น  ขอให้พลเมืองทุกคนระลึกว่า ตนมีทั้งสิทธิและหน้าที่ต้องใช้การออกเสียงอย่างเป็นอิสระของตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม. พระศาสนจักรสรรเสริญและยกย่องงานของผู้ที่อุทิศตนทำกิจการบ้านเมืองและยอมรับภาระต่าง ๆ ในหน้าที่นี้เพื่อรับใช้มนุษย์.

๒. ถ้าจะให้การร่วมมือของพลเมืองที่สำนึกในหน้าที่  เกิดผลดีในชีวิตการเมืองประจำวันแล้ว จำเป็นต้องมีระเบียบกฎหมายที่แน่นอน แบ่งหน้าที่และสถาบันต่าง ๆ ของอำนาจอย่างเหมาะสม  ตลอดจนคุ้มครอบสิทธิต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและโดยไม่ขึ้นแก่ใคร. ขอให้สิทธิของบุคคลทุกคนของครอบครัวและหมู่คณะต่าง ๆ ได้รับการรับรอง เคารพ และส่งเสริมเท่า ๆ กับหน้าที่ซึ่งพลเมืองทุกคนจำต้องถือ  ในบรรดาหน้าที่ต่าง ๆ นั้น ต้องขอเตือนให้ระลึกถึงพันธะที่จะรับใช้รัฐในทางกำลังทรัพย์และจิตใจตามที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม. ผู้ปกครองบ้านเมืองถึงระวังอย่าขัดขวางกลุ่มครอบครัว  กลุ่มสังคม  กลุ่มวัฒนธรรม ตลอดจนองค์การและสถาบันต่าง ๆ ที่รองลงมาหรือกีดกันมิให้เขาทำกิจการอันชอบและเกิดผลดีได้  แต่ควรจะพยายามส่งเสริมเขาโดยเต็มใจและอย่างมีระเบียบ.  ข้างฝ่ายพลเมืองไม่ว่าจะทำเป็นคน ๆ หรือเป็นหมู่ ๆ ก็พึงระวังอย่าให้อำนาจมากเกินไปแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง  หรืออย่าขอความสะดวกหรือประโยชน์จากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมากเกินไปโดยไม่สมควร  เพราะจะทำให้ความรับผิดชอบของบุคคล ครอบครัว และกลุ่มสังคมถอยลดลง.

๓. เหตุการณ์แวดล้อมที่ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้นในสมัยของเราบังคับให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสอดแทรกเข้ามาในกิจการครอบครัวสังคม  เศรษฐกิจและวัฒนธรรมบ่อยขึ้น เพื่อหาทางช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นให้พลเมืองและกลุ่มชนทำการเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ได้อย่างเต็มที่และมีอิสระ. ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดระเบียบสังคมฝ่ายหนึ่งกับความเป็นอิสระและความก้าวหน้าของบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง  อาจเข้าใจไปได้ปลายทางแล้วแต่ภาคและขีดความเจริญของชนชาติหนึ่ง ๆ.  แต่ถ้าการใช้สิทธิถูกจำกัดไว้ชั่วขณะหนึ่งเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ก็จะต้องปล่อยให้มีเสรีภาพโดยเร็วที่สุด  เมื่อกรณีแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว.  อย่างไรก็ตามต้องนับเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม  ถ้ารัฐบาลหันไปใช้ระบอบแบบรวมอำนาจหรือแบบเผด็จการซึ่งลบล้างทำลายสิทธิของบุคคลและของกลุ่มสังคม.

๔. พลเมืองต้องมีความรักต่อปิตุภูมิอย่างซื่อสัตย์และด้วยจิตใจสูง ต้องไม่มีจิตใจคับแคบ หมายความว่า  ในขณะเดียวกันให้คำนึงถึงประโยชน์ของครอบครัวมนุษย์ทั้งมวลซึ่งรวมเข้าชิดสนิทด้วยเครื่องผูกพันต่าง ๆ ระหว่างเชื้อชาติ ชนชาติและประชาชาติทั้งหลาย.

๕. คริสตชนทุกคนต้องสำนึกถึงกระแสเรียกพิเศษและโดยเฉพาะที่ตกได้แก่เขาในประชาคมการเมือง  ต้องเป็นตัวอย่างดีเด่นในเรื่องความสำนึกถึงหน้าที่และในเรื่องความเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ดังนี้ เขาก็พิสูจน์ให้เห็นด้วยการปฏิบัติว่า  อำนาจกับเสรีภาพได้อย่างไร ความริเริ่มส่วนตัวเข้ากับการร่วมมือและความต้องการของสังคมทั้งหมดได้อย่างไร และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวซึ่งจำเป็นต้องมีนั้น เข้ากับความแตกต่างดันมีคุณได้อย่างไร.  เกี่ยวกับการจัดระเบียบกิจการต่าง ๆ ในโลกนี้  คริสตชนต้องรับนับถือความคิดเห็นอันชอบของคนอื่น  แม้จะขัดแย้งกัน และต้องเคารพพลเมืองที่รวมกันเป็นหมู่ป้องกันทัศนะความคิดเห็นของเขาโดยสุจริตใจ.  ส่วนพรรคการเมืองต่าง ๆ นั้น มีหน้าที่ต้องส่งเสริมสิ่งที่เขาเห็นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่เขาจะถือว่าประโยชน์ส่วนตัวสำคัญกว่าสาธารณประโยชน์ไม่ได้เป็นอันขาด.

๖. การอบรมหน้าที่พลเมืองและทางการเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับราษฎร  และเป็นต้นสำหรับหนุ่มสาว. การอบรมที่กล่าวนี้ควรได้รับความเอาใจใส่ควบคุมอย่างกวดขันเพื่อให้พลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมในประชาคมการเมือง ซึ่งเป็นความสามารถหรืออาจมีความสามารถเล่นการเมือง  ซึ่งเป็นศิลปะยากแต่เป็นศิลปะมีเกียรติสูงยิ่งนี้ ต้องเตรียมตัวและตั้งใจเล่นโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและคิดหากำไรมิชอบ. ต้องมีความฉลาดและมีความประพฤติดีในการต่อสู้กับความอยุติธรรม  การกดขี่  การไม่ยอมให้ผู้อื่นมีความคิดต่างกันและการปกครองตามอำเภอใจของคน ๆ เดียวหรือของพรรค ๆ เดียว ต้องอุทิศตนทำประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วยความจริงใจและเที่ยงตรง  ด้วยความรักและความกล้าหาญในทางการเมือง.

๗๖.  ประชาคมการเมืองกับพระศาสนจักร

๑. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ที่มีสังคมที่ยอมให้มีหลายพรรคหลายพวก เป็นการสำคัญมากที่เราจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมการเมืองกับพระศาสนจักรให้ถูก  และต้องระมัดระวังแยกกิจการที่คริสตชนทำเป็นคน ๆ หรือเป็นหมู่ ๆ ในนามของเขาเองในฐานะเป็นพลเมืองตามมโนธรรมของเขากับกิจการที่เขาทำในนามของพระศาสนจักรร่วมกับนายชุมพาบาลของเขา.

๒. เมื่อพิจารณาหน้าที่และอำนาจของพระศาสนจักรแล้ว  ไม่มีทางจะเอาพระศาสนจักรไปปนกับประชาคมการเมืองได้ และพระศาสนจักรก็ไม่ผูกมัดตัวกับระบอบการเมืองแบบใดทั้งสิ้น  พระศาสนจักรเป็นทั้งเครื่องหมายและเครื่องคุ้มครองเกียรติอันสูงของบุคคลมนุษย์

๓. ประชาคมการเมืองและพระศาสนจักรไม่ขึ้นแก่กันและปกครองตนเองในเรื่องที่เป็นของแต่ละฝ่ายโดยเฉพาะอย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายก็ทำการรับใช้กระแสเรียกทั้งในทางส่วนตัวและทางสังคมของมนุษย์พวกเดียวกันนั้นเอง แม้ในฐานะที่ต่างไม่เหมือนกัน  แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงกรณีแวดล้อมเกี่ยวกับเวลาและสถานที่และหาทางร่วมมือกันให้ดีขึ้นเพียงไร ก็จะทำการรับใช้ที่กล่าวนี้เพื่อประโยชน์ของทุกคนเป็นผลดียิ่งขึ้นเพียงนั้นด้วย เพราะเหตุว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่เพียงในโลกนี้เท่านั้น  แต่ขณะมีชีวิตอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ก็ยังคงรักษากระแสเรียกที่จะบรรลุถึงชีวิตนิรันดรไว้อย่างครอบครัน.  ส่วนพระศาสนจักรซึ่งตั้งขึ้นบนความรักของพระผู้ไถ่โลกนั้น มีส่วนช่วยให้ความรักและความยุติธรรมแผ่ขยายกว้างออกไปภายในชาติและในระหว่างชาติต่าง ๆ.  พระศาสนจักรเคารพและสนับสนุนเสรีภาพทางการเมืองและความรับผิดชอบของพลเมืองด้วยโดยประกาศความจริงแห่งพระวรสาร  และชี้แจงให้กิจการของมนุษย์ทุกสาขาเห็นแจ้งด้วยคำสอนของตนและด้วยคำประกาศยืนยันของบรรดาคริสตชน.

๔. เมื่อบรรดาอัครธรรมทูต  ผู้สืบตำแหน่งบรรดาอัครธรรมทูตและผู้ร่วมมือกับผู้สืบตำแหน่งเหล่านี้ถูกส่งไปประกาศพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่โลกแก่มนุษย์นั้น ในการแพร่ธรรมของเขา  เขาพึ่งอานุภาพของพระเป็นเจ้า  ซึ่งบ่อย ๆ ทีเดียวแสดงให้เห็นกำลังของข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าด้วยการเป็นสักขีพยานอ่อนแอนั้นเอง  เพราะเหตุว่าบรรดาผู้ที่อุทิศตนประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้านั้น ต้องใช้ช่องทางและวิธีโดยเฉพาะของการประกาศข่าวดีซึ่งแตกต่างกับวิธีของโลกในหลาย ๆ ด้าน.

๕. ความจริง กิจการในโลกและสิ่งที่ในความเป็นอยู่ของมนุษย์อยู่สูงกว่าโลกนั้นมีความเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด และพระศาสนจักรเองก็ใช้สิ่งของในโลกเท่าที่ต้องใช้ตามที่มีภาระหน้าที่ แต่ไม่ตั้งความหวังในเอกสิทธิที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมอบให้ ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรจะไม่ใช้สิทธิบางอย่างที่ได้มาโดยชอบ ปรากฏว่า หากใช้แล้วจะทำให้สงสัยว่าคำประกาศยืนยันของพระศาสนจักรจะจริงหรือไม่ หรือถ้าเกิดกรณีแวดล้อมใหม่เรียกร้องให้จัดการเป็นอย่างอื่น. แต่เป็นการชอบที่พระศาสนจักรจะต้องประกาศความเชื่อได้อย่างเสรีจริง ๆ เสมอและในที่ทั่วไป สอนลัทธิสังคม  ปฏิบัติภารกิจในหมู่มนุษย์ได้อย่างสะดวก  ตลอดจนทำการวินิจฉัยทางศีลธรรม แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง  เมื่อสิทธิขั้นมูลฐานของบุคคลหรือความรอดของวิญญาณเรียกร้องให้ทำ  โดยใช้วิธีทุกอย่างและเฉพาะที่ถูกต้องกับพระวรสารและสอดคล้องกับสาธารณประโยชน์เท่านั้น  ตามเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน.

๖. พระศาสนจักรซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและเทิดทูนทุกสิ่งที่เห็นว่าจริงและดีงามในประชาคมมนุษย์นั้น ผดุงสันติสุขไว้ในหมู่มนุษย์เพื่อพระเกียรติของพระเป็นเจ้า  โดยประพฤติตามพระวรสารอย่างซื่อสัตย์กับปฏิบัติภารกิจของตนในโลก.