หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  3 : ชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม
หมวดที่  ๒ / หลักบางประการที่ใช้บังคับชีวิตด้านเศรษฐกิจสังคมทั้งหมด

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้
ภาคที่สอง  : ว่าด้วยปัญหาบางข้อที่รีบด่วน

๖๗.  การทำงาน  เงื่อนไขทำงาน เวลาว่าง

๑. งานที่มนุษย์ทำเพื่อผลิตและแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือทำการรับใช้ทางเศรษฐกิจนั้น  ประเสริฐกว่าปัจจัยใด ๆ ทั้งหมดในชีวิตทางเศรษฐกิจ  เพราะปัจจัยเหล่านี้มีค่าเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น.

๒. งานนี้ ไม่ว่าจะทำด้วยความสมัครใจของตนเองหรือเพราะคนอื่นจ้างให้ทำเกิดจากตัวมนุษย์โดยตรง. มนุษย์นั้นเหมือนกับทำเครื่องหมายสิ่งของในธรรมชาติไว้ด้วยตราของตนและบังคับให้อยู่ในอำนาจเจตจำนงของตน.  โดยปกติ มนุษย์ทำการหาเลี้ยงชีพตนและครอบครัวด้วยงานของตน  รวมเข้ากับเพื่อนมนุษย์และทำการรับใช้เขา สามารถจะบำเพ็ญความรักแท้จริงและร่วมมือช่วยให้งานสร้างของพระเป็นเจ้าเสร็จสมบูรณ์ไป.  ยิ่งกว่านั้น  เราถือว่าเมื่อถวายงานของตนแด่พระเป็นเจ้า  มนุษย์มีส่วนร่วมในงานไถ่มนุษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ซึ่งทรงทำให้การงานมีศักดิ์ศรีอันสูงเลิศ  เพราะพระองค์ทรงทำงานที่นาซาเรธด้วยพระหัตถ์ของพระองค์. เพราะเหตุนี้ มนุษย์ทุกคนจึงมีหน้าที่ทำอย่างซื่อตรง.  และยังมีสิทธิจะทำงานด้วย. แล้วแต่สภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น  สังคมมีหน้าที่ต้องช่วยให้พลเมืองมีโอกาสที่จะทำงานอย่างเพียงพอ. ที่สุด การทำงานต้องได้รับค่าจ้างในลักษณะที่จะอำนวยให้คนกับลูกเมียของเขามีชีวิตทางด้านกาย  สังคม วัฒนธรรมและวิญญาณได้อย่างสมควร ทั้งนี้โดยต้องคำนึงถึงงาน  หน้าที่ และผลที่ทำได้ของแต่ละคน กับต้องคำนึงถึงฐานะของวิสาหกิจและประโยชน์ส่วนรวมด้วย.

๓. เนื่องจากโดยมากการเศรษฐกิจสำเร็จได้ด้วยการทำงานร่วมกันของมนุษย์  ฉะนั้น  จึงเป็นการอยุติธรรมและผิดมนุษยธรรมที่จะจัดการเศรษฐกิจนั้นในลักษณะที่ทำความเสียหายไม่ว่าแก่คนงานคนใด. แต่เรามักเห็นบ่อย ๆ แม้ในทุกวันนี้ว่าผู้คนทำงานคล้ายกับตกเป็นทาสของงานที่เขาทำนั้นเอง  ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายที่อ้างว่าเป็นกฎหมายเศรษฐกิจ ก็ไม่มีทางจะแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องถูกได้. ฉะนั้นจำเป็นต้องดัดแปลงวิธีทำงานที่เกิดผลทุกอย่างให้เข้ากับความต้องการของบุคคลและแบบดำรงชีวิตของเขา  เป็นต้นชีวิตในครอบครัว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับแม่บ้านและโดยต้องคำนึงถึงเพศและอายุของทุกคนด้วย นอกจากนี้  ต้องให้โอกาสแก่คนงานที่จะพัฒนาคุณสมบัติและบุคลิกลักษณะในเวลาที่เขาทำงานนั้นเอง. ถึงแม้จะใช้เวลาและกำลังเรี่ยวแรงไปในงานนี้ด้วยความรับผิดชอบเท่าที่ควร  เขาทุกคนควรจะมีเวลาพักผ่อนและเวลาว่างอย่างเพียงพอสำหรับบำรุงชีวิตทางครอบครัว  ทางวัฒนธรรม ทางสังคมและทางศาสนา ยิ่งกว่านั้น เขาควรมีโอกาสที่จะพัฒนาสมรรถภาพและความสามารถต่าง ๆ ซึ่งบางทีเขามีโอกาสแต่น้อยที่จะใช้ในงานอาชีพของเขา.

๖๘.  การไม่มีส่วนร่วมในวิสาหกิจและในการจัดระเบียบเศรษฐกิจร่วมกัน – การขัดแย้งในการทำงาน

๑. บุคคลที่ร่วมทำงานด้วยกันในวิสาหกิจคือ  มนุษย์ที่เป็นอิสระเสรีซึ่งสร้างมาตามพระฉายาของพระเป็นเจ้า.  ฉะนั้นเมื่อคำนึงถึงหน้าที่ของแต่ละคนซึ่งจะเป็นเจ้าของก็ดี นายจ้างก็ดี  ผู้จัดการก็ดี คนงานก็ดี  และเมื่อเฝ้าระวังให้การจัดการงานรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว  ต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการดำเนินการของวิสาหกิจ ตามวิธีที่จะกำหนดอย่างเหมาะสม. เนื่องจากบ่อย ๆ ทีเดียว  มติเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคมซึ่งชี้ชะตากรรมในอนาคตของคนงานกับลูกของเขา  ไม่ได้ทำกันภายในวิสาหกิจเองแต่มาจากสถาบันชั้นสูง  คนงานจึงควรมีส่วนในการกำหนดเรื่องนี้ โดยตนเองหรือโดยผู้แทนที่เลือกอย่างเสรี

๒. ในบรรดาสิทธิขั้นมูลฐานของบุคคลมนุษย์นั้น ต้องนับสิทธิเสรีภาพของคนงานที่จะตั้งสมาคมซึ่งสามารถจะเป็นตัวแทนเขาได้อย่างแท้จริง กับช่วยจัดการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจให้เป็นระเบียบถูกต้อง.  สิทธิเสรีภาพอีกประการหนึ่งก็คือ  สิทธิเสรีภาพที่จะมีส่วนในการร่วมกิจการของสมาคมเหล่านี้โดยไม่ต้องกลัวการแก้เผ็ด. อาศัยการมีส่วนร่วมอย่างมีระเบียบแบบนี้ประกอบกับการอบรมทางเรื่องเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้าเจริญขึ้น ทุกคนจะมีความสำนึกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตนยิ่ง ๆ ขึ้น อีกทั้งจะได้รับการชักจูงให้รู้สึกว่า ตนมีส่วนในงานพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด ตลอดจนงานทำประโยชน์แก่ส่วนรวมทั่วไปตามกำลังความสามารถและคุณสมบัติส่วนตัวของตนด้วย.

๓. อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคมขึ้น  ต้องพยายามที่จะหาทางตกลงกันอย่างสันติ.  แต่ถึงแม้ว่าทั้งสองฝ่ายควรหันหน้าเจรจากันอย่างจริงใจก่อนเสมอก็ดี  การผละงานแม้ในภาวการณ์ปัจจุบันนี้ ก็ยังอาจใช้เป็นเครื่องมือที่จำเป็น  แม้เป็นเครื่องมือขั้นสุดท้ายสำหรับป้องกันสิทธิและทำให้ได้ตามที่คนงานเรียกร้องอย่างยุติธรรมได้. อย่างไรก็ตาม ต้องหาทางติดต่อเจรจาประนีประนอมตกลงกันโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้.

๖๙.  ทรัพย์สิ่งสินในโลกนี้สำหรับมนุษย์ทุกคน

๑. พระเป็นเจ้าทรงสร้างโลกและสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกมาสำหรับมนุษย์ทุกคนและชาติทุกชาติใช้สิ่งทั้งปวงจึงควรไหลเปลี่ยนมือถึงทุกคนดังที่พึงเป็นตามหลักความยุติธรรมและความรัก.  แบบกรรมสิทธิ์จะเป็นแบบใดก็ตาม เมื่อปรับปรุงให้เข้ากับจารีตประเพณีอันชอบธรรมของชาติตามภาวการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนได้แล้ว ก็ต้องคำนึงเสมอว่า สิ่งทั้งหลายได้สร้างมาสำหรับมนุษย์ทุกคน.  ฉะนั้น  เมื่อใช้สิ่งของเหล่านี้มนุษย์ต้องถือว่า ของภายนอกที่เขาเป็นเจ้าของโดยชอบธรรม  เป็นของตนเท่านั้น แต่ควรถือเป็นของมูล  โดยสำนึกว่าของเหล่านั้นอาจะเป็นประโยชน์มิใช่แก่ตนเท่านั้น  แต่อาจเป็นประโยชน์แก่คนอื่นด้วย.  อันที่จริง  ทุกคนมีสิทธิที่จะมีสิ่งของส่วนหนึ่งที่พอสำหรับตนและครอบครัว  บรรดาพระปิตาจารย์และนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักรก็เข้าใจเช่นนี้เมื่อสอนว่า  เรามนุษย์มีพันธะจำต้องช่วยคนยากจน  และที่ต้องช่วยนั้นไม่ใช่ช่วยโดยเอาจากของที่มีอยู่จนเหลือเฟือแล้วเท่านั้น. ส่วนผู้ที่อยู่ในความขัดสนอย่างถึงขนาดนั้น เขามีสิทธิจะได้ของที่จำเป็นจากสมบัติความมั่งมีของคนอื่น. เนื่องจากมีคนหิวโหยอยู่ในโลกมากมายนัก  สภาสังคายนาขอเร่งเร้าทุกคนทั้งส่วนบุคคลและรัฐบาลให้ระลึกถึงวาทะคำนี้ของบรรดาพระปิตาจารย์ว่า “จงให้อาหารแก่ผู้ที่กำลังจะหิวตายเถิด  เพราะถ้าไม่ให้เขากินก็เท่ากับฆ่าเขาตาย” กับขอเร่งเร้าให้ทุกคนแบ่งและใช้ทรัพย์สินของตนอย่างแท้จริงตามกำลังความสามารถของแต่ละคน  ก่อนอื่นโดยจัดให้บุคคลและชนชาติต่าง ๆ มีเครื่องมือที่เขาสามารถใช้ช่วยตนเองและพัฒนาตนเองได้.

๒. บ่อย ๆ ในสังคมที่ยังไม่สู้เจริญทางเศรษฐกิจนัก  การถือทรัพย์สินเป็นของมูลทำเป็นผลสำเร็จได้บ้าง  โดยมีขนบประเพณีนิยมแบบประชาคมซึ่งจัดสิ่งของที่จำเป็นแท้ ๆ ให้แก่สมาชิกทุกคน.  อย่างไรก็ตาม  ถ้าประเพณีบางอย่างไม่ถูกกับความต้องการใหม่ของยุคนี้แล้ว  ก็ต้องระวังอย่าถือว่า ประเพณีนั้นเป็นประเพณีที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้เสียเลย  แต่ในทางกลับกันประโยชน์อีกมาก ถ้าปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับภาวการณ์ในสมัยปัจจุบันอย่างเหมาะสม.  เช่นเดียวกัน  ในประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจมาก  กลุ่มสถาบันสังคมที่ทำการเกี่ยวกับการประกันและการให้ความปลอดภัย  อาจดำเนินการให้การถือสิ่งของเป็นของมูลเกิดผลได้บ้าง. ต้องส่งเสริมงานรับใช้ครอบครัวและสังคมต่อไปเฉพาะอย่างยิ่งงานรับใช้ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมและการอบรม แต่ในการปฏิบัติงานทั้งหมดนี้ ต้องระวังสอดส่องอย่าให้พลเมืองแสดงอาการเฉยเมยต่อสังคมหรือละทิ้งภาระหน้าที่และไม่ยอมทำงานรับใช้.

๗๐.  การจ่ายแจกทรัพย์สิ่งสินและปัญหาเรื่องเงิน

การจ่ายแจกทรัพย์สิ่งสินนั้น  ต้องมุ่งที่จะหาหนทางให้ประชาชนในวันนี้และในวันหน้ามีงานทำและมีรายได้อย่างเพียงพอ. บุคคลใดก็ตามที่ทำหน้าที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการแจกจ่ายทรัพย์สิ่งสินแบบนี้ ตลอดจนการจัดระเบียบการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มชนหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จำต้องคำนึงถึงจุดหมายเหล่านี้และสำนึกถึงพันธะอันหนักของตนคือทางหนึ่งต้องเอาใจใส่สอดสอ่งจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับให้บุคคลก็ดี  หรือหมู่คณะทั้งคณะก็ดี มีการดำรงชีวิตอย่างสมควร และอีกทางหนึ่งนั้น ต้องคิดถึงเวลาข้างหน้าและจัดให้ของที่จำเป็นต้องใช้สอยในปัจจุบันนี้สำหรับส่วนบุคคลก็ดี  หรือส่วนรวมก็ดีได้ส่วนสมดุลย์กันกับสิ่งที่จำต้องจ่ายแจกให้แก่คนรุ่นหลัง.  ยังต้องคำนึงเสมอถึงความต้องการอย่างรีบด่วนของชาติหรือภาคที่ยังไม่เจริญทางเศรษฐกิจ.  ส่วนในเรื่องการเงินนั้น ต้องระวังอย่างทำการสิ่งใดเป็นผลร้ายต่อประโยชน์ของชาติตนเองหรือของชาติอื่น นอกจากนี้  ต้องดำเนินการอย่าให้ประเทศที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างอยุติธรรมจากการเปลี่ยนค่าของเงิน.

๗๑.  การมีกรรมสิทธิ์และการมีอำนาจของเอกชนเหนือทรัพย์สิน  ปัญหาเรื่องการมีที่ดินกว้างใหญ่ไพศาล

๑. การมีกรรมสิทธิ์กับการที่เอกชนมีอำนาจแบบอื่น ๆ เหนือทรัพย์สินภายนอกนั้นมีส่วนช่วยให้มนุษย์แสดงออกมาซึ่งบุคลิกลักษณะ กับเป็นการให้โอกาสเขาที่จะแสดงบทบาทในสังคมและในทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น จึงเป็นการสำคัญยิ่งนักที่จะต้องสนับสนุนให้บุคคลก็ดี หมู่คณะก็ดี  มีอำนาจเหนือทรัพย์สินภายนอกบ้าง.

๒. การมีกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือการมีอำนาจเหนือทรัพย์สินภายนอกนั้นเป็นการทำให้แต่ละบุคคลมีที่ทางอันหนึ่งที่จำเป็นโดยแท้สำหรับสำแดงความเป็นอิสระของตนและครอบครัวและเราต้องถือว่าเป็นการขยายเสรีภาพของมนุษย์ให้กว้างออกไปที่สุด  โดยที่การมีกรรมสิทธิ์นี้เป็นเครื่องกระตุ้นให้มนุษย์ถือภาระหน้าที่ จึงต้องนับว่าเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งของเสรีภาพพลเมือง.

๓. การมีอำนาจเหนือมีกรรมสิทธิ์เช่นนี้ ในปัจจุบันมีเป็นแบบต่าง ๆ และยิ่งวันยิ่งมีแบบต่าง ๆ กันมากขึ้น.  แต่การมีอำนาจหรือมีกรรมสิทธิ์ทุก ๆ แบบยังคงเป็นบ่อเกิดของความมั่นคงอบอุ่นใจที่ไม่ควรดีค่าต่ำ  เมื่อเทียบกับสาธารณสมบัติ สิทธิและการรับใช้ต่าง ๆ ที่จัดโดยสังคม.  ข้อนี้เป็นความจริงใจมิใช่สำหรับการมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งเป็นวัตถุเท่านั้น แต่ยังเป็นความจริงสำหรับการมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุด้วย  เช่น  ความสามารถในงานอาชีพ.

๔. อย่างไรก็ตาม สิทธิที่จะมีกรรมสิทธิ์ของเอกชนหาได้ขัดขวางมิให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ซึ่งมีเป็นแบบต่าง ๆ ไม่  แต่ทว่าการโอนทรัพย์สินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐนั้นจะกระทำมิได้ นอกจากโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ตามที่สาธารณประโยชน์ต้องการและในขอบเขตที่ต้องการ กับต้องให้ค่าชดใช้อันเที่ยงธรรมด้วย. นอกจากนี้  ยังเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะขัดขวางมิให้ใครใช้ทรัพย์สินของตนไปในทางที่ขัดต่อสาธารณประโยชน์.

๕. การมีกรรมสิทธิ์ของเอกชนนั้น  โดยธรรมชาติของมันเอง  ยังมีลักษณะสังคมซึ่งสืบเนื่องมาจากกฎข้อที่ว่า ทรัพย์สินต่าง ๆ มีไว้สำหรับทุกคน.  ถ้าไม่เคารพลักษณะสังคมประการนี้แล้ว บ่อย ๆ ทีเดียว การมีกรรมสิทธิ์ก็อาจกลายเป็นโอกาสให้โลภอยากได้  และเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนัก จนคนที่โจมตีเรื่องการมีกรรมสิทธิ์ของเอกชนมีข้ออ้างที่จะโต้แย้งทำให้เรื่องสิทธินี้กลายเป็นปัญหาขึ้น.

๖. ในหลายภาคที่ยังไม่เจริญทางเศรษฐกิจ ที่ดินชนบทกว้างใหญ่และบางทีก็กว้างใหญ่อย่างมหาศาล  เป็นที่ซึ่งทำการเพาะปลูกเพียงเล็กน้อยหรือเก็บทิ้งไว้เพื่อเก็งหาผลกำไร  แต่ในขณะเดียวกันนั้น  ราษฎรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินหรือมีแต่นาน้อยเต็มที และอีกประการหนึ่งเล่า  ก็เห็นได้ชัดว่า ต้องเร่งรีบเพิ่มผลิตผลของนาให้มากขึ้น ๆ .  บ่อย ๆ คนที่เจ้าของที่ใช้ทำงานหรือเช่าทำส่วนหนึ่ง ได้รับแต่ค่าจ้างหรือรายได้ที่มนุษย์ไม่สมควรจะได้รับ  ไม่มีที่อยู่อย่างพอสมควรและถูกคนกลางสูบเอาผลประโยชน์. เขาไม่มีความมั่นคงทางสังคมแต่อย่างใด ต้องอยู่ในสภาพเป็นขี้ข้าส่วนตัวชนิดที่เกือบไม่สามารถจะทำอะไรได้โดยลำพังและด้วยความรับผิดชอบเลย  ไม่สามารถจะทำการส่งเสริมวัฒนธรรมและมีส่วนร่วมในชีวิตทางสังคมและทางการเมืองเลย. ฉะนั้น จำเป็นต้องทำการปฏิรูป  แล้วแต่กรณีต่าง ๆ คือ  เพิ่มรายได้ แก้เงื่อนไขการทำงานให้ดีขึ้น  เพิ่มเติมความมั่นคงในการจ้าง  ส่งเสริมให้ทำงานด้วยความริเริ่มและถึงกับแบ่งที่ดินที่ทำการเพาะปลูกไม่เพียงพอ  ให้แก่คนที่สามารถให้ที่ดินนั้นเกิดผล. ในกรณีเช่นนี้  ต้องให้เครื่องใช้เครื่องมือที่จำเป็นแก่เขา  เป็นต้นต้องให้เขาได้รับการอบรมและสามารถจัดตั้งแบบแผนอันดีถูกต้องคือสหกรณ์.  อย่างไรก็ดี เมื่อใดที่สาธารณประโยชน์ต้องการเรียกเอาที่ดินคืน  ต้องคิดค่าชดใช้ให้อย่างเที่ยงธรรม และโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทุกด้าน.

๗๒.  งานเศรษฐกิจและสังคมกับอาณาจักรของพระคริสตเจ้า

๑. คริสตชนที่มีส่วนร่วมแข็งขันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันกับการทำการรบสู้เพื่อความยุติธรรมและความรัก ต้องเชื่อตระหนักว่า  ตนสามารถทำการได้มากเพื่อความเจริญของชาติมนุษย์และสันติภาพของโลก.  เมื่อปฏิบัติการเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็นคน ๆ หรือเป็นหมู่ ๆ ขอให้เขาเป็นแบบฉบับที่ดีเด่นสุกใส.  หลังจากมีความชำนาญและเชี่ยวชาญซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งแล้ว  เขาควรจะถือระเบียบอันดีถูกต้องในท่ามกลางงานฝ่ายโลก  โดยถือซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้าและพระวรสารของพระองค์ ดังนี้ ชีวิตทั้งชีวิตของเขา ไม่ว่าในทางส่วนบุคคลหรือในส่วนสังคม  ก็จะดื่มด่ำไปด้วยจิตตารมณ์ของความมีบุญแปดประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะดื่มด่ำไปด้วยจิตตารมณ์ของการถือความยากจน.

๒. บุคคลใดปฏิบัติตามที่พระคริสตเจ้าสั่ง ย่อมแสวงหาอาณาจักรของพระเป็นเจ้าก่อน และย่อมพบความรักที่เข้มแข็งและบริสุทธิ์กว่า  เพื่อช่วยเหลือพี่น้องของตนและปฏิบัติกิจการแห่งความยุติธรรม  ตามที่ความรักจะดลใจให้ทำ.