หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  3 : ชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม
หมวดที่  ๑ / ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้
ภาคที่สอง  : ว่าด้วยปัญหาบางข้อที่รีบด่วน

๖๔.  เศรษฐกิจก้าวหน้าเพื่อรับใช้มนุษย์

เพื่อประเชิญกับเรื่องจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นกับเพื่อสนองความใฝ่ฝันของชาติมนุษย์ซึ่งยิ่งมีมากขึ้น เป็นการชอบแล้วที่ทุกวันนี้มีการพยายามมากกว่าแต่ก่อนที่จะเพิ่มผลิตผลทางกสิกรรมและอุตสาหกรรมกับเพิ่มการรับใช้ช่วยเหลือให้มากขึ้น.  เหตุฉะนั้น  ต้องช่วยกันส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการ ความคิดริเริ่ม ความกระตือรือร้นที่จะสร้างและขยายวิสาหกิจ  การดัดแปลงแก้ไขวิธีผลิต ตลอดจนความพยายามบากบั่นของบรรดาผู้ที่ทำการผลิต พูดสั้น ๆ แต่คำเดียวว่า  ต้องส่งเสริมการทุกอย่างที่กระตุ้นความก้าวหน้าที่กล่าวนี้  แต่จุดหมายข้อใหญ่สำคัญของการผลิตนี้ไม่ใช่เพียงการเพิ่มผลิตภัณฑ์  ทั้งไม่ใช่ผลกำไรหรืออำนาจ แต่เป็นการรับใช้มนุษย์ และเป็นการรับใช้มนุษย์หมดครบทั้งตัวตามลำดับความต้องการทางวัตถุและความต้องการทางสติปัญญา  ทางศีลธรรม  ทางวิญญาณและทางศาสนา  เมื่อเรากล่าวว่ามนุษย์  เราหมายถึงไม่ว่ามนุษย์คนใด  ไม่ว่าหมู่ชนหมู่ใดจะเป็นชาติใดหรือมาจากส่วนใดของโลกก็ตาม. เพราะฉะนั้นกิจการงานเศรษฐกิจต้องปฏิบัติตามตำราและกฎโดยเฉพาะของมันภายในกรอบของศีลธรรม  เพื่อให้เป็นไปตามแผนการของพระเป็นเจ้าเกี่ยวกับมนุษย์.

๖๕.  ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอยู่ในความควบคุมของมนุษย์

๑. ความเจริญทางเศรษฐกิจต้องอยู่ในความความควบคุมของมนุษย์  จะทิ้งให้อยู่ในความวินิจฉัยตัดสินของคนไม่กี่คนหรือของหมู่คนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากเกินไป หรือของหมู่คณะฝ่ายการเมืองหมู่เดียวหรือของบางชาติที่มีอำนาจเป็นพิเศษไม่ได้ตรงกันข้าม  ควรให้มีคนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในทุกระดับและถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชาติ ก็ควรให้ทุกชาติมีส่วนร่วมในการควบคุมความก้าวหน้านั้นอย่างแข็งขัน.  ในทำนองเดียวกัน ต้องให้งานริเริ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองของบุคคลและหมู่คนที่เป็นอิสระประสานเข้ากับความพยายามของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง  และงานเหล่านี้ก็ต้องผสมกลมกลืนอย่างเหมาะสม.

๒. ความเจริญพัฒนาจะปล่อยให้เป็นไปตามกระแสเดินเหมือนแบบเครื่องจักรของกิจการงานเศรษฐกิจที่เป็นของเอกชนหรือให้อยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองฝ่ายเดียวไม่ได้ ฉะนั้นลัทธิที่อ้างเสรีภาพจอมปลอมขัดขวางการปฏิรูปอันจำเป็นต้องทำก็ดี  ลัทธิที่ถือว่าสิทธิขั้นมูลฐานของบุคคลและของหมู่คณะสำคัญน้อยกว่าการจัดระเบียบการผลิตของส่วนรวมก็ดี ต้องรับการประณามว่าเป็นลัทธิที่หลงผิด.

๓. อนึ่ง  พลเมืองทั้งหลายพึงระลึกไว้ว่า ตนมีสิทธิและมีหน้าที่ต้องมีส่วนทำให้ประชาคมที่ตนสังกัดอยู่เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงตามกำลังความสามารถของตน และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ต้องรับรองสิทธิและหน้าที่ที่กล่าวนี้. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยังไม่เจริญทางเศรษฐกิจ และต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมดอย่างรีบด่วนนั้น  ผู้ที่เก็บทรัพยากรของตนไว้ไม่ให้เกิดผลหรือกีดกันไม่ให้ประชาคมของตนได้รับความช่วยเหลือทางกายและใจที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของส่วนบุคคลที่อพยพไปอยู่ที่อื่น ต้องนับว่าเป็นผู้ที่ทำให้ประโยชน์ส่วนรวมตกอยู่ในภยันตรายอย่างร้ายแรง.

๖๖.  ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจและสังคม

๑. เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ความยุติธรรมและเที่ยงธรรมเรียกร้อง  ต้องพยายามอย่างเต็มกำลัง  โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและลักษณะประจำของแต่ละชาติที่จะกำจัดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจให้หมดไปโดยเร็วที่สุด.  ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเช่นนี้ในปัจจุบันยังมีอยู่และบ่อย ๆ กลับยิ่งรุนแรงหนักขึ้น  แถมมีการถือความแตกต่างทางส่วนบุคคลและสังคมอีกด้วย  เช่นเดียวกัน  เนื่องจากในหลายเขตท้องที่ ชาวนาประสบความยุ่งยากเป็นอันมากในการผลิตและการขยายผลิตผล ฉะนั้น ต้องช่วยชาวนาเพิ่มและขายผลิตผลนั้นทำการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขที่จำเป็น  ตลอดจนมีรายได้อันยุติธรรม มิฉะนั้น เขาจะคงอยู่ในสภาพเป็นพลเมืองชั้นต่ำเหมือนดังที่เป็นอยู่โดยมาก. ข้างฝ่ายกสิกร เฉพาะอย่างยิ่งคนที่หนุ่มแน่น ต้องพยายามขวนขวายให้มีความชำนาญทางอาชีพดียิ่งขึ้น  ถ้าไม่มีความชำนาญแล้ว การกสิกรรมก็ไม่รู้จักเจริญขึ้นได้.

๒. เช่นเดียวกัน ความยุติธรรมและเพียงความเรียกร้องให้การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจกระทำไปในลักษณะที่ไม่ทำให้บุคคลและครอบครัวของเขามีสภาพชีวิตที่ง่อนแง่นและไม่แน่นอน. สำหรับคนงานจากประเทศหรือท้องที่อื่นที่มาทำงานช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งหรือภาคหนึ่งเจริญขึ้นนั้น  ต้องเอาใจใส่ระมัดระวังอย่าให้มีการแตกต่างประการใด ๆ ในเรื่องให้ค่าจ้างหรือเงื่อนไขของการทำงาน อนึ่ง  คนท้องที่ทุกคน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องถือเขาเป็นบุคคล  ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือผลิต ต้องช่วยให้เขานำครอบครัวมาอยู่กับตัวและให้มีที่อยู่อย่างสมควร กับต้องสนับสนุนให้เขาได้เข้าร่วมในชีวิตสังคมของประเทศหรือท้องที่ที่รับเขาให้อยู่ อย่างไรก็ดี  ควรจัดให้เขามีงานในถิ่นของเขาเองเท่าที่จะทำได้.

๓. ในเรื่องเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในทุกวันนี้และในสังคมอุตสาหกรรมแบบใหม่ ๆ ซึ่งมีหลายอย่างกำลังเจริญ เช่นการใช้เครื่องจักรทำงานนั้น ต้องเอาใจใส่สอดส่องให้ทุกคนมีงานพอและเหมาะ กับสามารถที่จะได้รับการอบรมทางวิชาการและอาชีพอย่างสมควร นอกนั้น  ผู้ที่มีความทุกข์ยากลำบากเพราะโรคภัยไข้เจ็บหรือความชราเป็นต้น ควรได้รับการประกันให้มีความเป็นอยู่และมีศักดิ์ศรีอันคู่ควรแก่มนุษย์.