๖๓. บางแง่ของชีวิตด้านเศรษฐกิจ
๑.
ในชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมก็เช่นเดียวกัน ต้องยกย่องและส่งเสริมศักดิ์ศรีและกระแสเรียกของมนุษย์ตลอดจนประโยชน์ของสังคมทั่วไป เพราะมนุษย์เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นศูนย์และจุดหมายของชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด.
๒.
เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตสังคม เศรษฐกิจสมัยนี้มีลักษณะแสดงว่ามนุษย์มีอำนาจบังคับธรรมชาติได้มากขึ้น ความสัมพันธ์และความเกี่ยวพันกันระหว่างบุคคล กลุ่มชนและชาติมีมากขึ้นและเข้มข้นขึ้น และอำนาจทางการเมืองทำการแทรกแซงบ่อยขึ้น ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าในวิธีผลิตและในการแลกเปลี่ยนสินค้าและการช่วยเหลือ ทำให้เศรษฐกิจกลายเป็นเครื่องมือที่เหมาะยิ่งขึ้นสำหรับสนองความต้องการอันเพิ่มขึ้นของมนุษยชาติ
๓.
แต่เหตุที่จะวิตกกังวลก็มีอยู่ไม่น้อย. มนุษย์เป็นอันมาก เป็นต้นในภาคที่เจริญทางเศรษฐกิจแล้ว ดูคล้ายกับถูกเศรษฐกิจครอบงำ ในชีวิตด้านส่วนตัวและทางสังคมของเขาเกือบทั้งชีวิตหมกมุ่นอยู่แต่ในเรื่องเศรษฐกิจ และเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าในประเทศที่สนับสนุนการเศรษฐกิจแบบร่วมกัน หรือในประเทศอื่น ๆ . เราอยู่ในสมัยเวลาที่การพัฒนาเศรษฐกิจน่าจะปัดเป่าความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมให้เบาบางลงได้ ถ้ามีคนทำและจัดให้ทำการพัฒนานั้นอย่างมีเหตุผลและมีมนุษยธรรม แต่บ่อย ๆ ทีเดียวการพัฒนานั้นกลับทำให้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงยิ่งเลวร้ายและในบางแห่งกลับทำให้สภาพทางสังคมของคนอ่อนแอยิ่งตกต่ำลงและทำให้ดูถูกคนจนเสียอีก. ในขณะที่คนหมู่ใหญ่ยังขาดสิ่งที่จำเป็นทีเดียว คนบางคนแม้ในถิ่นที่เจริญน้อยกว่า ก็มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุขหรือใช้สอยอย่างทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ความหรูหราฟุ่มเฟือยกับความยากจนค่นแค้นดำรงอยู่พร้อมกัน. ในขณะเดียวที่คนไม่กี่คนมีอำนาจอย่างกว้างขวางที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ คนเป็นจำนวนมากเกือบไม่มีความสามารถเลยที่จะทำการรับผิดชอบและริเริ่มทำการส่วนตัว และบ่อย ๆ อยู่ในสภาพต้องดำรงชีพและทำงานซึ่งไม่สมกับความเป็นมนุษย์เลย.
๔.
ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้มีอยู่ในเขตกสิกรรม เขตอุตสาหกรรม เขตการทำงานรับใช้ และในภาคต่าง ๆ ของประเทศเดียวกัน การขัดแย้งต่อสู้ระหว่างชาติที่เจริญกว่าทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ ยิ่งวันยิ่งรุนแรงขึ้นและอาจจะเป็นอันตรายแม้ต่อสันติภาพของโลก.
๕.
คนในสมัยของเรายิ่งวันยิ่งสำนึกถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเหล่านี้มากขึ้น เขาเชื่อตระหนักว่า สมรรถภาพทางวิชาการและเศรษฐกิจที่เจริญขึ้นและโลกมีอยู่ในเวลานี้ต้องแก้และสามารถจะแก้ภาวการณ์เลวร้ายนี้ได้ แต่เพื่อการนี้ต้องทำการปฏิรูปหลายอย่างในชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม และทุก ๆ คนต้องเปลี่ยนความคิดจิตใจและทัศนคติด้วย ในศตวรรษที่ล่วงแล้วมา อาศัยความสว่างของพระวรสาร พระศาสนจักรได้นำหลักของความยุติธรรมและเที่ยงธรรมซึ่งถูกต้องตามเหตุผล มาตีแผ่ทั้งสำหรับชีวิตของบุคคลและของสังคม ทั้งสำหรับชีวิตระหว่างชาติ และได้ประกาศหลักเหล่านี้ เฉพาะอย่างยิ่งในเวลาตอนหลัง ๆ นี้. เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน พระศาสนจักรใคร่จะยืนยันหลักการเหล่านี้และให้คำแนะนำบางประการ โดยคำนึงถึงว่าความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเรียกร้องให้ทำอะไรบ้าง เป็นต้น.
|