หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  2 : การส่งเสริมวัฒนธรรม
หมวดที่  ๒ / หลักเกณฑ์บางประการในการส่งเสริมวัฒนธรรม

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้
ภาคที่สอง  : ว่าด้วยปัญหาบางข้อที่รีบด่วน

๕๗.  ความเชื่อกับวัฒนธรรม

๑. ขณะที่เดินมุ่งไปยังเมืองสวรรค์ คริสตชนต้องแสวงหาและลิ้มชิมสิ่งที่อยู่เบื้องบนสวรรค์ แต่การปฏิบัติดังนี้ไม่ใช่ทำให้พันธะของเขาที่ต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ทั้งหลาย  เพื่อสร้างโลกที่มีมนุษยธรรมยิ่งขึ้น มีความสำคัญน้อยลง  แต่กลับทำให้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และความจริง  รหัสธรรมเรื่องความเชื่อของคริสตชนนั้นเป็นยาบำรุงใจอย่างประเสริฐช่วยให้เขาถือหน้าที่อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยให้เขาค้นพบความหมายของการปฏิบัติงานนี้  ซึ่งทำให้วัฒนธรรมมีความสำคัญอย่างเด่นชัดในกระแสเรียกของมนุษย์.

๒. ด้วยว่าเมื่อมนุษย์ขุดไถดินด้วยมือหรือด้วยเครื่องมือเทคนิค  เพื่อให้ดินเกิดผลและกลายเป็นที่อยู่อันเหมาะสมสำหรับครอบครัวมนุษย์ทั้งหมด และเมื่อมนุษย์มีส่วนร่วมในชีวิตของหมู่สังคมโดยความสำนึกนั้น  มนุษย์ก็ปฏิบัติตามแผนการของพระเป็นเจ้าที่เผยแสดงแต่ปฐมกาลให้มนุษย์ครองโลกและทำให้การเนรมิตสร้างเสร็จสมบูรณ์ไป  ซึ่งก็เท่ากับมนุษย์ทำการพัฒนาคนนั่นเอง.  ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ปฏิบัติตามพระบัญญัติอันยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้าที่สั่งให้อุทิศตนรับใช้เพื่อมนุษย์

๓. อนึ่ง  เมื่อศึกษาวิชาต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ปรัชญา ประวัติศาสตร์  คณิตศาสตร์  วิชาธรรมชาติ  กับเมื่อฝึกศิลปศาสตร์ต่าง ๆ นั้น  มนุษย์อาจจะช่วยได้มากทีเดียวให้ครอบครัวมนุษย์มีความเข้าใจความจริง ความดี และความงามอย่างสูงเด่นยิ่งขึ้น  กับมีความวินิจฉัยสิ่งที่มีค่าทั่วไป.  ดังนี้  มนุษยชาติอาจได้รับความสว่างมากยิ่งขึ้นจากพระปรีชาญาณอันน่าพิศวงนั้นซึ่งสถิตอยู่กับพระเป็นเจ้าแต่นิรันดร ทรงจัดทุกสิ่งกับพระองค์  ทรงเล่นอยู่บนแผ่นดินและมีความอภิรมย์ชมชื่นที่จะประทับอยู่กับพวกลูกของมนุษย์.

๔. ด้วยประการฉะนี้  จิตใจของมนุษย์ซึ่งหลุดพ้นจากการเป็นทาสของสรรพสิ่งมากยิ่งขึ้น  ก็จะสามารถยกตัวขึ้นเพื่อถวายความคารวะและเพ่งพินิจพระผู้สร้างตนได้ง่ายยิ่งขึ้น. ยิ่งกว่านั้นอาศัยแรงดลใจของพระหรรษทาน มนุษย์พร้อมที่จะรับนับถือพระวจนาถของพระเจ้าผู้ซึ่งก่อนจะรับเอากาย  เพื่อไถ่และรวมสิ่งต่างๆมาไว้ในพระองค์ ก็ประทับอยู่ในโลกแล้วเป็นดัง  ”ความสว่างแท้ที่ส่องแสงแก่มนุษย์ทุกคน”  (ยน.๑:๙-๑๐).

๕. แน่นอน   ความก้าวหน้าปัจจุบันในความรู้และวิชาการต่างๆ   ซึ่งเพราะตำราที่ใช้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของความจริงนั้น   อาจจะส่งเสริมลัทธิที่เรียกกันว่า   ลัทธิไม่เชื่อว่ามีอะไรจริงนอกจากปรากฏการณ์ (phenomenism ) กับลัทธิไม่เชื่อถึงพระเจ้า (agnoficism) ในเมื่อวิธีค้นคว้าที่วิชาเหล่านี้ใช้ ถือผิดๆว่าเป็นกฎสูงสุดสำหรับค้นหาความจริงทั้งหมด.  อันตรายยังมีอยู่คือ   มนุษย์ซึ่งไว้ใจในสิ่งที่ค้นพบในทุกวันนี้จนเกินไปอาจจะคิดว่าตนพึ่งตนเองก็พอแล้วและไม่ต้องแสวงหาสิ่งมีค่าที่สูงกว่าอีกต่อไป

๖.   อย่างไรก็ดี   ผลร้ายเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากวัฒนธรรมในปัจจุบันนี้   และเราไม่ควรคิดจะไม่ยอมรับนับถือคุณค่าของวัฒนธรรมนี้    ซึ่งมีอยู่อย่างแท้จริง. สิ่งมีค่าที่สมควรจะกล่าวถึงก็คือ การชอบความรู้และการถือความจริงอย่างเคร่งครัดในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์    ความจำเป็นต้องทำงานร่วมกับคนอื่นในหมู่วิชาการ  ความเข้าใจถึงการต้องร่วมมือกันในระหว่างชาติ   การที่ผู้มีความรู้ยื่งวันยิ่งสำนึกถึงความรับผิดชอบต้องช่วยและป้องกันมนุษย์   น้ำใจอยากช่วยให้มนุษย์ทุกคนมีการกินอยู่ดีขึ้น  โดยเฉพาะคนที่ไม่มีโอกาสจะรับผิดชอบ   หรือผู้ที่ลำบากเพราะขัดสนทางวัฒนธรรม.    สิ่งมีคุณค่าทั้งหมดนี้อาจเป็นการเตรียมทางให้ได้รับข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้า  และการเตรียมทางนั้น อาจสำเร็จได้ด้วยความรักต่อพระเป็นเจ้า  อาศัยพระผู้ที่เสด็จมาไถ่โลก.

๕๘.  ข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้ากับวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์เกี่ยวถึงกันหลายอย่าง

๑. สารที่นำความรอดมาจากพระเป็นเจ้าฝ่ายหนึ่งกับวัฒนธรรมของมนุษย์ฝ่ายหนึ่ง   มีความสัมพันธ์เกี่ยวถึงกันหลายประการ   ด้วยว่าพระเป็นเจ้า    เมื่อสำแดงพระองค์แก่ประชากรของพระองค์จนกว่าจะมาสำแดงพระองค์อย่างเต็มที่ในพระบุตรที่เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น   ได้ตรัสตามแบบวัฒนธรรมที่เหมาะแก่แต่ละสมัย

๒. ในทำนองเดียวกัน พระศาสนจักรซึ่งในเวลาที่ล่วงแล้วมาเคยดำรงชีวิตอยู่ในสภาพการณ์ต่างๆได้ใช้สิ่งที่พบในวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อประกาศเผยแพร่และอธิบายสารของพระคริสตเจ้าแก่ชนทุกชาติ  เพื่อศึกษาและเข้าใจสารนั้นให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น  และเพื่อระบายออกมาให้ดีขึ้นในเวลาปประกอบพิธีกรรมตลอดจนในชีวิตประชาคมหลายแบบในมวลสัตบุรุษ.

๓. แต่ในขณะเดียวกัน    พระศาสนจักรซึ่งพระคริสตเจ้าส่งไปหาชนชาติทุกชาติในที่ทุกแห่งและทุกสมัย   ไม่มีข้อผูกมัดออย่างเด็ดขาดและไม่รู้จักสิ้นสุดอยู่กับคนเชื้อชาติสัญชาติใดหรือกับแบบการดำรงชีวิตโดยเฉพาะแบบใด   หรือกับขนบธรรมเนียมเก่าหรือใหม่อย่างใด.    โดยที่พระศาสนจักรถือตามธรรมประเพณีของตนอย่างเคร่งครัด   อีกทั้งสำนึกว่าตนมีหน้าที่ปฏิบัติทั่วไป  จึงสามารถเข้าได้กับวัฒนธรรมแบบต่างๆ   เป็นการทำความเจริญรุ่งเรืองให้แก่พระศาสนจักรเองและแก่วัฒนธรรมนั้นๆด้วย.

๔. ข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าฟื้นฟูชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ล้มแล้วอยู่ตลอดเวลาข่าวดีนั้นปราบและขจัดความลุ่มหลงกับความชั่วร้ายต่างๆ ซึ่งเกิดจากความเย้ายวนอันมีอยู่ตลอดเวลาของบาป.  ข่าวดีนั้นชำระและยกระดับศีลธรรมของชนชาติต่างๆ ให้สูงขึ้นและโดยไม่หยุดยั้ง.   คุณสมบัติต่างๆฝ่ายวิญญาณกับพรไม่ว่าของชนชาติใดและในยุคใด  ข่าวดีนั้นทำให้อุดมเหมือนจากภายใน  ทำให้แข็งแรง   ทำให้สมบูรณ์และฟื้นฟูขึ้นในพระคริสตเจ้าด้วยพระคุณที่ได้รับจากเบื้องบน.      ดังนี้    พระศาสนจักร       เมื่อปฏิบัติหน้าที่ของตน       ก็เท่ากับกระตุ้นและส่งเสริมงานอารยธรรม    การกระทำของพระศาสนจักร   แม้เมื่อประกอบพิธีกรรมก็เท่ากับการนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพภายในตน.
                          
๕๙.  ความกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมแบบต่างๆ

๑. เนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว     พระศาสนจักรขอเตือนทุกคนให้ระลึกว่า  วัฒนธรรมต้องมีจุดมุ่งหมายถึงความดีพร้อมทุกอย่างของมนุษย์กับประโยชน์ของประชาคมและชาติมนุษย์ทั้งสิ้น   เพราะฉะนั้น   ต้องฝึกฝนจิตใจเพื่อพัฒนาความสามารถที่พิศวง  ยกย่อง   เข้าใจ  เพ่งพินิจ  เพื่อมีความวินิจฉัยส่วนตัวและเพื่อยกระดับความสำนึกทางศาสนา   ทางศีลธรรมและทางสังคม

 ๒.  วัฒนธรรม    โดยที่สืบเนื่องโดยตรงมาจากลักษณะรู้จักคิดหาเหตุผลและชอบอยู่เป็นสังคม  จึงต้องการเสรีภาพอันพึงมีอยู่เสมอเพื่อความเจริญงอกงามกับต้องการความสามารถอันพึงมีสำหรับปฏิบัติการได้ตามหลักการของตน.  ฉะนั้น  วัฒนธรรมมีสิทธิจะได้รับความเคารพและการละเมิดมิได้อยู่บ้าง    แต่ก็ต้องรักษาสิทธิของบุคคลและสังคม   ไม่ว่าโดยเฉพาะหรือทั่วไปภายในขอบเขตของประโยชน์ส่วนรวม.

๓. สภาสังคายนานี้ขอยกเอาคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่ ๑  มาแถลงว่า    “มีความรู้สองอย่าง” ที่ต่างกัน   คือ  ความเชื่อกับเหตุผล   พระศาสนจักรไม่ขัดขวางมิให้   “วิชาความรู้ของมนุษย์ใช้หลักการและตำราของตนเองในแต่ละแขนง”  ฉะนั้น  “เมื่อรับรู้เสรีภาพอันยุติธรรมนี้”  แล้ว               พระศาสนจักรขอยืนยันว่า    วัฒนธรรมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาความรู้       มีความเป็นอิสระแก่ตนเองโดยชอบ.

๔. การทั้งหมดนี้  ยังเรียกร้องให้มนุษย์สามารถแสวงหาความจริง ประกาศเผยแพร่ความคิดเห็นของตนกับฝึกฝนศิลปศาสตร์อะไรก็ได้  โดยต้องถือระเบียบศีลธรรมและรักษาประโยชน์ส่วนรวม ที่สุดยังเรียกร้องให้มนุษย์ได้ทราบข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองตามความเป็นจริงด้วย.

๕. ส่วนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่มีหน้าที่จะกำหนดว่า แบบวัฒนธรรมต่างๆ จะต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร แแต่มีหน้าที่สนับสนุนเงื่อนไขและเครื่องมือที่สามารถจะส่งเสริมชีวิตวัฒนธรรมท่ามกลาง พลเมืองทุกคน และแม้แต่ภายในชนหมู่น้อยในชาติใดชาติหนึ่ง เพราะเหตุนี้  ต้องพยายามอย่าง เต็มที่อย่าให้วัฒนธรรมต้องหันเหจากจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะของมัน แล้วถูกบังคับให้รับใช้อำนาจทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ.