หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  2 :  ประชาคมมนุษย์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้
ภาคที่หนึ่ง  :  พระศาสนจักรกับกระแสเรียกของมนุษย์

๑๑.  ทำตามการดลใจของพระจิต
  ๑. เพราะมีความเชื่อและรู้ว่าพระจิตของพระเจ้าซึ่งกระจายอยู่เต็มโลกนำตนไป ประชากรของ พระเป็นเจ้าจึงพยายามมองดูว่า ในเหตุการณ์ ในข้อเรียกร้อง และในความต้องการในสมัยของเรา  ซึ่งตนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยนั้น  มีเครื่องหมายอะไรแสดงว่าพระเป็นเจ้าสถิตอยู่หรือมีพระประสงค์อะไร เพราะว่าความเชื่อส่องแสงสว่างใหม่ทำให้เราเข้าใจเรื่องทุกอย่างและทำให้เรารู้น้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าเกี่ยวกับ    กระแสเรียกทั่วไปของมนุษย์ ฉะนั้นจึงนำให้จิตใจไปหาทางแก้ที่เป็นมนุษย์จริง ๆ

๒. ก่อนอื่นทั้งปวง  สภาสังคายนาตั้งใจจะใช้ความสว่างนี้พิจารณาสิ่งมีค่าต่าง ๆ ซึ่งคนในสมัยนี้  ยกย่องมากที่สุด และแสดงให้เห็นว่ามีกำเนิดมาจากพระเป็นเจ้า เพราะสิ่งมีค่าเหล่านี้ซึ่งเกิดจากสติปัญญาที่พระเป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์ เป็นสิ่งดีนักหนา แต่บ่อย ๆ ทีเดียว ใจชั่วช้าเสียไปของมนุษย์ได้ชักจุงให้มันออกไปจากระเบียบที่จัดไว้เป็นอย่างดีแล้ว  สิ่งมีค่าเหล่านั้นจึงพึงได้รับการล้างชำระให้สะอาด

๓. พระศาสนจักรมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรเกี่ยวกับมนุษย์ ? เห็นว่าควรเสนอแนะอะไรบ้างสำหรับสร้างสังคมในสมัยปัจจุบันนี้ขึ้น ? กิจการของมนุษย์ในโลกมีความหมายสุดท้ายเป็นประการใด? ปัญหา    ทั้งหมดนี้ต้องการคำตอบ ถ้ามีคำตอบแล้ว ก็จะเห็นชัดขึ้นว่าประชากรของพระเป็นเจ้ากับชาติมนุษย์ซึ่งประชากรของพระเป็นเจ้าปะปนอยู่ด้วย  จะต้องรับใช้ช่วยเหลือกันและกัน แล้วดังนี้ ก็จะเห็นประจักษ์ว่า ภารกิจของพระศาสนจักรมีลักษณะเกี่ยวกับศาสนา และเมื่อมีลักษณะเกี่ยวกับศาสนา ก็มีลักษณะเกี่ยวกับมนุษย์อย่างสูงสุด
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
๒๓.  จุดมุ่งหมายของสภาสังคายนา

๑. ลักษณะที่เด่นที่สุดอย่างหนึ่งของโลกในปัจจุบันก็คือ มนุษย์มีการติดต่อกันมากขึ้น  และความก้าวหน้าทางวิชาการในทุกวันนี้ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมการติดต่อกันนั้นเป็นอันมากทั้งนั้นก็ดี การติดต่อฉันพี่น้องระหว่างมนุษย์จะได้ผลสมบูรณ์มิใช่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการที่กล่าวนั้น  แต่จะได้ผลดียิ่งขึ้นด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของบุคคล และบุคคลจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่างก็ต้องเคารพศักดิ์ศรีทางฝ่ายจิตของกันและกันอย่างเต็มที่.  ข้อไขแสดงที่คริสตชนรู้จะช่วยส่งเสริมให้บุคคลเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันจะช่วยให้เราเข้าใจบัญญัติของการดำรงชีวิตในสังคมซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทรงจารึกลงในธรรมชาติฝ่ายจิตและศีลธรรมของมนุษย์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น.

๒. แต่เนื่องจากเอกสารของพระศาสนจักรเมื่อไม่นานมานี้ได้อธิบายพระคริสตธรรมเกี่ยวกับสังคมมนุษย์อย่างละเอียดแล้ว  สภาสังคายนาจึงขอเตือนให้ระลึกถึงข้อความจริงสำคัญบางข้อ กับข้ออธิบายรากฐานของข้อความจริงเหล่านั้นโดยอาศัยความสว่างแห่งข้อไขแสดงของพระเป็นเจ้า  ต่อจากนั้นจะขอเน้นถึงผลบางอย่างซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษในสมัยของเขา.

๒๔.  กระแสเรียกของมนุษย์มีลักษณะเป็นประชาคมตามแบบแผนการของพระเป็นเจ้า

๑. พระเป็นเจ้าซึ่งทรงเอาพระทัยใส่ทุกคนเยี่ยงบิดา  ได้พอพระทัยให้มนุษย์ทั้งหลายรวมกันเป็นครอบครัวเดียวและปฏิบัติต่อกันด้วยจิตใจฉันพี่น้อง เพราะพระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทุกคนมาตามพระฉายาของพระองค์ "ซึ่งบันดาลให้มนุษย์ชาติทั้งสิ้นบังเกิดจากคน ๆ เดียวและอาศัยอยู่ทั่วพื้นแผ่นดิน" (กจ. ๑๗:๒๖) และมนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้ไปสู่จุดหมายปลายทางอันเดียว  ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าเอง.

๒. เพราะเหตุนี้ ความรักต่อพระเป็นเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์จึงเป็นบัญญัติประการแรกและที่สำคัญที่สุด. พระคัมภีร์สอนเราว่า ความรักต่อพระเป็นเจ้าจะแยกจากความรักต่อเพื่อนมนุษย์ไม่ได้  "…บัญญัติอื่นใดทั้งหมดสรุปรวมอยู่ในคำนี้ คือ จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวตนเอง…เพราะฉะนั้น ความรักจึงเป็นการถือบัญญัติอย่างครบถ้วน" (รม. ๑๓:๙-๑๐; เทียบ ๑ ยน. ๔:๒๐).  เป็นที่เห็นได้ชัดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด สำหรับมนุษย์ซึ่งยิ่งวันยิ่งมีความเกี่ยวพันกันและสำหรับโลกซึ่งยิ่งวันยิ่งรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

๓. ยิ่งกว่านั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงภาวนาขอพระบิดาว่า "ขอให้เขาทั้งหลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน…เหมือนกับที่เราทั้งสองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" (ยน. ๑๗:๒๑-๒๒) นั้น พระองค์ทรงให้แนวความคิดที่เกินสติปัญญามนุษย์และตรัสแย้มให้เราเข้าใจว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสามพระบุคคลในพระเป็นเจ้า มีความคล้ายคลึงกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของบรรดาบุตรของพระเป็นเจ้าในความจริงและความรัก.  ความคล้ายคลึงกันนี้แสดงว่ามนุษย์ซึ่งเป็นสรรคสัตว์อย่างเดียวที่พระเป็นเจ้าทรงปรารถนาอยากได้เพราะเห็นแก่สรรคสัตว์นั้นเอง  จะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ นอกจากด้วยการอุทิศพลีตนอย่างจริงใจ.

๒๕.  บุคคลกับสังคมเกี่ยวข้องกัน

๑. เนื่องจากมนุษย์มีธรรมชาติชอบอยู่เป็นสังคม จึงปรากฏว่า ความก้าวหน้าของบุคคลกับความเจริญของสังคมเกี่ยวโยงกัน  เพราะบุคคลมนุษย์ซึ่งโดยธรรมชาติต้องการอยู่เป็นสังคมอย่างเด็ดขาดนั้น ย่อมเป็นและต้องเป็นหัวใจและจุดมุ่งหมายของสถาบันสังคมทุกอย่าง. ฉะนั้น ชีวิตที่อยู่เป็นสังคมจึงไม่ใช่ของที่เพิ่มเติมให้สำหรับมนุษย์ และที่มนุษย์จะเจริญขึ้นตามคุณสมบัติทุกอย่างและสามารถปฏิบัติตามกระแสเรียกได้นั้น ต้องอาศัยการสมาคมคบค้ากับผู้อื่น ต้องทำการรับใช้ช่วยเหลือกันและกัน  และต้องติดต่อกับพี่น้องเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน.

๒. ในบรรดาเครื่องผูกพันทางสังคม ซึ่งจำเป็นสำหรับส่งเสริมให้มนุษย์ก้าวหน้านั้น  มีบางอย่างที่เหมาะตรงกันธรรมชาติภายในของมนุษย์มากกว่า เช่น ครอบครัวและประชาคมทางการเมือง  แต่บางอย่างก็เป็นเรื่องสุดแล้วแต่ความสมัครใจของเขาเอง. ในสมัยของเรานี้  เนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ ยิ่งวันยิ่งมีการติดต่อสัมพันธ์กันมากขึ้น  ดังนั้นจึงเกิดมีสมาคมและสถาบันต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสาธารณะและเอกชน.  ถึงแม้สิ่งที่เราเรียกกันว่า การจัดให้เป็นสังคม (socialization) มีอันตรายอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีประโยชน์หลายประการ ทำให้คุณสมบัติของบุคคลเพิ่มและมั่นคงขึ้น กับป้องกันสิทธิของเขา.

๓. แต่ถึงหากว่าบุคคลมนุษย์ได้รับประโยชน์หลายอย่างจากการอยู่เป็นสังคมเพื่อปฏิบัติตามกระแสเรียก แม้กระแสเรียกทางศาสนา เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ่อย ๆ มนุษย์มักถูกชักจูงมิให้ประกอบความดีและถูกชักนำให้ประกอบความชั่ว เนื่องจากกรณีแวดล้อมทางสังคมซึ่งเขาดำรงชีวิตและหมกมุ่นอยู่ตั้งแต่อายุยังน้อย. เป็นการแน่ว่า  ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในระบบสังคมนั้น ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากความตึงเครียดที่มีอยู่ในโครงร่างเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเอง แต่โดยมากเกิดจากความหยิ่งทะนงและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ซึ่งทำให้บรรยากาศของสังคมเสียไปด้วย.  ที่ใดระเบียบความเป็นอยู่เสียไปเพราะผลของบาป ที่นั่นมนุษย์ซึ่งลำเอียงไปหาบาปตั้งแต่เกิดแล้ว ย่อมรู้สึกถูกกระตุ้นให้ทำบาปอีก และการกระตุ้นเตือนนั้น เขาไม่สามารถจะเอาชนะได้ ถ้าไม่พยายามขืนใจ  และถ้าไม่มีพระหรรษทานช่วย.

๒๖.  ส่งเสริมประโยชน์ส่วนรวม

๑. เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ยิ่งกระชับแน่นขึ้น และค่อย ๆ แพร่ไปทั่วพิภพ ดังนั้น  ประโยชน์ส่วนรวมหรืออีกนัยหนึ่ง สภาพความเป็นอยู่ทางสังคมทั้งหมด  ซึ่งอำนวยให้หมู่คณะตลอดจนสมาชิกแต่ละคนบรรลุถึงยอดความปรารถนาได้อย่างสมบูรณ์และง่ายขึ้นนั้น ทุกวันนี้ยิ่งแผ่ขยายกว้างออกไปทุกทีและครอบคลุมไปถึงสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวถึงมนุษย์ชาติทั้งสิ้น.  ไม่ว่าหมู่คณะใดจำต้องคำนึงถึงความต้องการและความใฝ่ฝันอันชอบธรรมของหมู่คณะอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคำนึงถึงคุณประโยชน์ส่วนรวมของครอบครัวมนุษย์ทั้งหมด.

๒. แต่ในขณะเดียวก็มีการสำนึกยิ่งขึ้นถึงศักดิ์ศรีอันสูงส่งของบุคคลมนุษย์ ซึ่งประเสริฐกว่าสิ่งใด ๆ และมีสิทธิกับหน้าที่ทั่วไปและละเมิดมิได้.  ฉะนั้น  ต้องจัดการให้มนุษย์มีทางได้รับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการเพื่อดำรงชีวิตที่เหมาะสมแก่สภาพมนุษย์อย่างแท้จริง เช่น อาหาร  เสื้อผ้า  ที่อยู่ สิทธิที่จะเลือกอาชีพอย่างอิสระและตั้งครอบครัว  สิทธิในการอบรม  ในการทำงาน  ในชื่อเสียง ในความนับถือ ในการหาความรู้ตามสมควร สิทธิที่จะปฏิบัติตามมโนธรรมของตน สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองชีวิตส่วนตัวและส่วนเสรีภาพอันชอบธรรม เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องถือศาสนา.

๓. เพราะฉะนั้น  ระเบียบสังคมและความก้าวหน้าของระเบียบสังคมต้องถือประโยชน์ของบุคคลเป็นใหญ่เสมอ เพราะระบบสิ่งของต้องอยู่ใต้ระบบบุคคล  และกลับกันไม่ได้  เพราะพระคริสตเจ้าเองได้ทรงสอนเป็นนัยให้เข้าใจดังนี้ เมื่อตรัสว่า "วันสับบาโตได้ตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ได้ถูกสร้างมาสำหรับวันสับบาโต".  ระบบที่ต้องพัฒนาให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ตั้งรากบนความจริง สร้างขึ้นบนความยุติธรรม  บำรุงให้เติบใหญ่ด้วยความรักและต้องได้เสรีภาพเป็นเครื่องทำดุลยภาพให้สมบูรณ์อย่างมีมนุษย์ธรรมยิ่ง ๆ ขึ้น. เพื่อทำการเป็นผลสำเร็จดังนั้นจำต้องฟื้นฟูจิตใจและทำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างกว้างขวาง.

๔. พระจิตของพระเป็นเจ้าซึ่งทรงนำกระแสเวลาและเปลี่ยนโฉมของโลกด้วยพระญาณสอดส่องอย่างน่าพิศวง  ก็เฝ้าดูวิวัฒนาการที่กล่าวนี้. พระวรสารซึ่งเปรียบเหมือนเชื้อแป้ง ได้ทำให้เกิดและยังทำให้เกิดการเรียกร้องต้องการศักดิ์ศรีอย่างรั้งไว้ไม่อยู่ขึ้นในหัวใจของมนุษย์.

๒๗.  ความเคารพต่อบุคคลมนุษย์

๑. บัดนี้ จะกล่าวถึงการปฏิบัติซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องรีบด่วนเป็นพิเศษ.  สภาสังคายนานี้ขอเน้นเรื่องให้มีความเคารพต่อมนุษย์  ขอให้แต่ละคนถือเพื่อนมนุษย์โดยไม่ยกเว้นแต่คนเดียวเป็น "ตัวของตนอีกคนหนึ่ง"  ก่อนอื่นให้คำนึงถึงชีวิตของเขาและปัจจัยที่เขาจำเป็นต้องมีเพื่อดำรงชีวิตอย่างสมควร  และระวังที่จะไม่เอาอย่างเศรษฐีคนนั้น  ซึ่งไม่เอาใจใส่ลาซารัสผู้ยาจกแต่อย่างใดเลย.

๒. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้ เรามีพันธะต้องทำตัวของเราเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนทุกคน  และถ้าเขามาหาเรา ก็ต้องรับใช้เขาอย่างแข็งขัน  ไม่ว่าจะเป็นคนชราที่ใคร ๆ ทอดทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรต่างชาติที่ถูกคนดูหมิ่นอย่างอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนถูกเนรเทศ  ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ซึ่งไม่ได้สมรสกันตามกฎหมายและต้องทนทุกขทรมานเพราะความผิดที่เด็กนั้นไม่ได้ทำ  ไม่ว่าจะเป็นคนหิวโหยที่สะกิดมโนธรรมของเรา โดยเตือนให้ระลึกถึงพระวาจาของพระคริสตเจ้าว่า "ทุกครั้งที่ท่านทำให้แก่พี่น้องที่ต่ำต้อยที่สุดของเราคนใดคนหนึ่ง ก็เท่ากับทำให้แก่เราเอง" (มธ. ๒๕:๔๐)

๓. อนึ่ง  ไม่ว่าสิ่งใดที่ทำลายชีวิต เช่น การฆ่าคนทุกชนิด การทำลายเผ่าพันธ์ การทำแท้ง การทำให้คนป่วยที่รักษาไม่หายตายและแม้การจงใจฆ่าคนให้ตาย; ไม่ว่าสิ่งใดที่เป็นการละเมิดบูรณภาพของบุคคลมนุษย์  เช่นการทำให้ร่างกายพิการ การทรมานทางร่างกายและทางใจ การบีบค้นทางจิตใจไม่ว่าสิ่งใดที่เป็นที่เสื่อมเสียแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ เช่น  การให้กินอยู่ไม่สมกับเป็นมนุษย์ การขังคุกตามอำเภอใจ  การเนรเทศ การจับเป็นทาส  การบังคับค้าประเวณี การซื้อขายสตรีและเยาวชน ตลอดจนการให้ทำงานอย่างเสื่อมเสียที่ถือคนงานเป็นเครื่องมือหากำไร  ไม่ใช่บุคคลที่เป็นอิสระและมีความรับผิดชอบ การปฏิบัติทั้งหมดนี้และอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันล้วนเป็นการกระทำน่าชิงชังทั้งสิ้น  นอกจากเป็นการทำลายอารยธรรมแล้ว  ยังทำให้ผู้ที่ประพฤติดังนี้เสื่อมเสียเกียรติยิ่งกว่าผู้ที่ทนทุกขทรมานเสียอีก  และเป็นการหมิ่นประมาทเกียรติศักดิ์ของพระผู้สร้างอย่างร้ายแรงอีกด้วย.

๒๘.  ความเคารพและรักศัตรู


๑. เราต้องเคารพและรักแม้กระทั่งคนที่คิดหรือทำไม่เหมือนกับเราในเรื่องสังคม การเมืองและศาสนา. ความจริงยิ่งเราพยายามเข้าใจความคิดเห็นของเขาด้วยความรักและมนุษยธรรม เรายิ่งจะติดต่อเจรจากับเขาได้ง่ายขึ้น

๒. แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อเรามีความรักและความอารีอารอบเช่นนี้แล้ว เราไม่ต้องสนใจใยดีต่อความจริงและความดี.  อันที่จริง  เป็นความรักนั้นเองที่กระตุ้นให้ศิษย์ของพระคริสตเจ้าประกาศให้มนุษย์ทุกคนรู้ถึงความจริงที่ช่วยให้รอด. แต่เราต้องแยกความหลงผิดกับคนหลงผิด; ความหลงผิดนั้น เราต้องประณาม  ส่วนคนที่หลงผิดนั้น เราประณามไม่ได้ เพราะเขายังคงมีศักดิ์ศรีเป็นบุคคลคนหนึ่งอยู่เสมอ  แม้เขาจะมีความรู้ในเรื่องศาสนาอย่างผิด ๆ หรือไม่รู้ถูกต้อง  พระเป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้นเป็นผู้พิพากษาและสำรวจจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงห้ามเราพิพากษาความผิดภายในไม่ว่าของใคร.

๓. พระคริสตเจ้าทรงสอนให้เราถึงกับอภัยความผิดของผู้อื่น  และทรงสั่งให้เรารักแม้กระทั่งศัตรูทุกคน ซึ่งนับเป็นคำสั่งแห่งบัญญัติใหม่  ตามที่พระองค์ตรัสว่า  "พวกท่านได้ยินเขาพูดว่า จงรักเพื่อนมนุษย์และเกลียดศัตรู  แต่เราขอบอกพวกท่านว่า จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดท่าน และจงภาวนาอุทิศแก่ผู้ที่ข่มเหงและใส่ความท่าน" (มธ. ๕:๔๓-๔๔)

๒๙.  มนุษย์ทุกคนเท่าเสมอกันอย่างแท้จริง - ความยุติธรรมในสังคม

๑. มนุษย์ทุกคนมีวิญญาณที่รู้จักคิด  สร้างมาตามพระฉายาของพระเป็นเจ้า มีธรรมชาติอย่างเดียวกันและต้นกำเนิดก็อย่างเดียวกัน  มีธรรมชาติอย่างเดียวกันและต้นกำเนิดก็อย่างเดียวกัน. มนุษย์ทุกคนซึ่งไถ่โดยพระคริสตเจ้ามีกระแสเรียกอย่างเดียวกันและมีชะตากรรมที่พระเป็นเจ้าทรงกำหนดอย่างเดียวกัน  ฉะนั้นเราต้องรับรู้ยิ่งหนักแน่นขึ้นทุกวันว่ามนุษย์มีความเท่าเสมอกันในขั้นมูลฐาน.

๒. แน่นอน มนุษย์ทุกคนไม่เท่าเสมอกันในข้อที่มีความสามารถทางร่างกายต่างกันและมีกำลังทางสติปัญญาความคิดต่างกัน  แต่การแบ่งแยกทุกแบบในเรื่องสิทธิขั้นมูลฐานของบุคคลไม่ว่าในทางสังคมหรือทางวัฒนธรรม เพราะเกี่ยวกับเพศ เชื้อชาติ  สีของผิว  ฐานะทางสังคม  ภาษาหรือศาสนา ต้องละเว้นทำไม่ได้ เพราะขัดต่อเจตจำนงของพระเป็นเจ้า  เป็นที่น่าอเนจอนาถอย่างแท้จริงที่สิทธิขั้นมูลฐานเหล่านั้นยังไม่ได้รับการรับรองในที่ทั่วไป.  เรื่องก็เป็นเช่นนี้แหละถ้าสตรีถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิจะเลือกสามีหรือเลือกอาขีพได้ตามใจ หรือได้รับการอบรมหรือวัฒนธรรมเหมือนกับที่ผู้ชายได้รับ.

๓. นอกจากนั้น แม้ว่ามนุษย์จะมีความแตกต่างกันที่ตำหนิไม่ได้ แต่ศักดิ์ศรีอันเท่าเสมอกันของบุคคลเรียกร้องให้มีสภาพชีวิตที่ยุติธรรมและเหมาะสมแก่มนุษย์ยิ่งขึ้น เพราะการที่บรรดาสมาชิกหรือชนชาติในครอบครัวมนุษย์ครอบครัวเดียวกันมีความไม่เสมอกันทางเศรษฐกิจและสังคมจนเกินไปนั้นเป็นเรื่องน่าอับอายอดสู  และขัดต่อความยุติธรรมในสังคม  ความเที่ยงธรรม  ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ตลอดจนสันติสุขในสังคมและในระหว่างชาติด้วย.

๔. ขอให้สถาบันทั้งที่เป็นสาธารณะและเอกชนพยายามทำการรับใช้ศักดิ์ศรีและจุดหมายของมนุษย์ พร้อมกันนั้นขอให้ต่อสู้อย่างแข็งขันต้านทานการใช้คนเป็นทาสในสังคมและในทางการเมืองทุกแบบ  และขอให้ป้องกันรักษาสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการเมืองแบบใด และถ้าต้องการเวลานานพอใช้เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่มุ่งไว้ สถาบันเหล่านี้ต้องค่อย ๆ ปรับปรุงให้เหมาะสมกับเรื่องฝ่ายจิตซึ่งเป็นเรื่องสูงกว่าเรื่องอะไรทั้งหมด.

๓๐.  ต้องมีมากกว่าธรรมจริยาแบบเฉพาะบุคคล

๑. เนื่องจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จึงเป็นการจำเป็นอย่างเร่งด่วนยิ่งขึ้นที่ใครจะพอใจมีแต่ธรรมจริยาแบบเฉพาะบุคคลแล้วไม่นำพาถึงกระแสเหตุการณ์หรือทำเมินเฉยเสียหาได้ไม่.  ถ้าแต่ละคนร่วมทำประโยชน์ส่วนรวมตามกำลังความสามารถ  และคำตึงถึงความต้องการของผู้อื่นกับส่งเสริมช่วยสถาบัน ไม่ว่าสาธารณะหรือเอกชนซึ่งช่วยทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น ก็เท่ากับเขาปฏิบัติหน้าที่ความยุติธรรมและความรักเป็นขั้น ๆ แล้ว.  อันว่ามีบางคนประกาศว่ามีความคิดแนวกว้างและใจกว้าง แต่ในทางปฏิบัติยังดำรงชีวิตต่อไปเหมือนกับว่าไม่สนใจถึงความต้องการทางสังคมแต่อย่างใดเลย. ยิ่งกว่านั้น ในท้องถิ่นบางแห่ง มีคนหลาย ๆ คนถือว่ากฎหมายและกฎเกี่ยวกับสังคมไม่มีความสำคัญอะไรเลยมีคนเป็นอันมากไม่กลัวที่จะใช้เล่ห์เพทุบายต่าง ๆ หลีกเลี่ยงภาษีอันยุติธรรมและหนี้สังคมในรูปต่าง ๆ.  บางคนละเลยกฎบางอย่างที่ต้องถือเมื่ออยู่ในสังคม  เช่น  กฎที่เกี่ยวกับการรักษาอนามัยหรือเกี่ยวกับการขับขี่ยวดยาน  โดยเขาไม่คิดเลยว่าความประมาทของเขาอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตของเขาเองและแก่ชีวิตของคนอื่น.

๒. ขอให้ทุกคนมีแก่ใจนับการมีส่วนร่วมมือในกิจการต่าง ๆ ของสังคมเข้าในจำนวนหน้าที่สำคัญของคนในสมัยนี้ และขอให้ปฏิบัติถือตามด้วย  เพราะยิ่งโลกร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวเพียงใด  ก็ยิ่งปรากฏชัดขึ้นเพียงนั้นว่า พันธะต่าง ๆ ของมนุษย์แผ่ข้ามกลุ่มชนเล็ก ๆ ค่อย ๆ ขยายไปทั่วพิภพ  แต่การนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อแต่ละคนและแต่ละกลุ่มชนจะบำเพ็ญถือคุณงามความดีทางศีลธรรม  และสังคมในตน  แล้วเผยแพร่คุณงามความดีนั้นไปในสังคม. เมื่อนั้นแหละ  อาศัยความช่วยเหลือแห่งพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า  จะเกิดมีคนใหม่อย่างแท้จริงซึ่งจะเป็นผู้สร้างมนุษยชาติใหม่ขึ้น.

๓๑.  ความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมมือ

๑. เพื่อให้มนุษย์ทุกคนปฏิบัติพันธะตามมโนธรรมโดยเคร่งครัดยิ่งขึ้นทั้งต่อตนเอง และต่อหมู่คณะต่าง ๆ ที่เขาเป็นสมาชิกอยู่  เขาต้องได้รับการอบรมให้มีวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยใช้อุปกรณ์สำคัญ ๆ ที่มนุษยชาติมีใช้ในทุกวันนี้. ก่อนอื่น ไม่ว่าเยาวชนจะมาจากสังคมใด ต้องอบรมเขาจนถึงขั้นเกิดมีชายและหญิงที่มิใช่แต่มีสติปัญญาเฉียบแหลมเท่านั้นแต่ยังมีจิตใจสูง เพราะสมัยของเราต้องการเป็นอย่างมากทีเดียว.

๒. แต่มนุษย์จะมีความรับผิดชอบเช่นนี้ได้ยาก  นอกจากสภาพในชีวิตจะอำนวยให้เขาสำนึกถึงศักดิ์ศรีและปฏิบัติตามกระแสเรียกของเขา โดยอุทิศตนทำการรับใช้พระเป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์. เสรีภาพของมนุษย์นั้น บ่อย ๆ มักจะอ่อนแอลงเมื่อมนุษย์ตกอยู่ในสภาพแร้นแค้นอย่างที่สุด  เหมือนกับที่มันเสื่อมโทรมลงเมื่อมนุษย์ปล่อยตัวให้อยู่สุขสบายเกินไป  เหมือนกับขังตัวเองในที่โดดเดี่ยว. ตรงกันข้าม เสรีภาพนั้นกลับแข็งแกร่งขึ้นเมื่อมนุษย์ยอมรับการบีบบังคับอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตสังคม น้อมรับข้อเรียกร้องมากมายของการร่วมมือทำงานกับมนุษย์ และสมัครเข้าทำงานรับใช้ประชาคมของมนุษย์.

๓. เพราะเหตุนี้ ต้องกระตุ้นให้ทุกคนมีน้ำใจร่วมมือในงานที่ทำร่วมกัน และต้องสรรเสริญวิธีปฏิบัติของชาติต่าง ๆ ที่มีพลเมืองมากที่สุด  ร่วมมือในกิจการบ้านเมืองโดยมีเสรีภาพอย่างแท้จริง. อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงถึงสภาพแท้จริงของแต่ละชาติตลอดจนความเข้มแข็งซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจำเป็นต้องมีด้วย. แต่เพื่อให้พลเมืองทุกคนมีแก่ใจอยากมีส่วนในชีวิตของหมู่คณะต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสังคมซึ่งเป็นเหมือนกายนั้น จำเป็นต้องให้เขาพบเห็นในหมู่คณะเหล่านี้ว่ามีสิ่งมีค่าที่ดึงดูดและชักจูงเขาให้อุทิศตัวทำการรับใช้เพื่อนมนุษย์. เราคิดได้โดยไม่ผิดว่าโชคชะตาภายหน้าของมนุษย์ชาติอยู่ในกำมือของผู้ที่รู้จักพูดให้คนรุ่นต่อไปมีเหตุผลที่จะดำรงชีวิตและมีความหวัง.

๓๒.  พระวจนาถที่มาเกิดเป็นมนุษย์กับการร่วมมือทำงานกับมนุษย์

๑. พระเป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์มามิใช่เพื่อให้อยู่โดดเดี่ยว แต่เพื่อให้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมฉันใด  พระองค์ก็ทรงพอพระทัยทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์และรอด  มิใช่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีพันธะเกี่ยวพันถึงกันและกันฉันนั้น. ตรงกันข้าม พระองค์ทรงพอพระทัยทำให้มนุษย์เป็นประชากรชาติหนึ่งที่รู้จักพระองค์ถูกต้องตามความจริงและรับใช้พระองค์อย่างศักดิ์สิทธิ์.  ฉะนั้นตั้งแต่แรกเริ่มประวัติแห่งความรอด พระองค์ทรงเลือกมนุษย์บางคนมิใช่ในฐานะบุคคล แต่ในฐานะเป็นสมาชิกในประชาคมหมู่หนึ่ง  และพระองค์ทรงเผยแผนการแก่ผู้เลือกสรรเหล่านี้เรียกเขาเป็น "ประชากรของพระองค์" (อยพ. ๓:๗-๑๒). นอกจากนั้น พระองค์ทรงทำพันธสัญญากับประชากรหมู่หนึ่งที่ภูเขาซีนาย.

๒. ลักษณะเป็นหมู่ประชาคมนี้ได้เป็นอันสำเร็จสมบูรณ์ไปในงานของพระเยซูคริสตเจ้า  เพราะพระบุตรที่มาเกิดเป็นมนุษย์เองทรงพอพระทัยมีส่วนในการร่วมชะตากรรมของมนุษย์ พระองค์เสด็จไปร่วมในงานสมรสที่เมืองกานา  เสด็จไปที่บ้านของซาเควเสวยพระกระยาหารกับคนเก็บภาษีและคนบาป.  พระองค์ทรงเผยความรักของพระบิดาและกระแสเรียกอันสุดประเสริฐของมนุษย์  โดยตรัสถึงสิ่งธรรมดาสามัญที่สุดในชีวิตสังคมและโดยใช้ถ้อยคำและรูปภาพที่เห็นประจำวัน. พระองค์ทรงทำให้พันธะต่าง ๆ ของมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นพันธะเกี่ยวกับครอบครัวซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตทางสังคม. พระองค์สมัครพระทัยอ่อนน้อมต่อกฎหมายในบ้านเมืองของพระองค์ พอพระทัยเจริญชีวิตเป็นช่างคนหนึ่งในสมัยและในถิ่นฐานของพระองค์.

๓. ในคำเทศนา  พระองค์ทรงสั่งอย่างแจ่มแจ้งให้ผู้เป็นบุตรของพระเป็นเจ้าต้องถือตัวเป็นพี่น้องต่อกันและกัน. ในคำภาวนา พระองค์ทรงภาวนาขอให้สานุศิษย์ทุกคนเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” ยิ่งกว่านั้น  พระองค์ซึ่งเป็นพระผู้ไถ่ของทุกคน  ทรงถวายองค์เพื่อมนุษย์ทั้งหลายจนถึงแก่สิ้นพระชนม์.  “ไม่มีความรักอันใดใหญ่หลวงยิ่งกว่าการสละชีวิตเพื่อมิตรสหายของตน” (ยน. ๑๕:๑๓). พระองค์ทรงสั่งให้บรรดาอัครธรรมทูตประกาศข่าวดีแก่ชนทุกชาติ  เพื่อให้ชาติมนุษย์กลายเป็นครอบครัวของพระเป็นเจ้า และในครอบครัวของพระเป็นเจ้านั้น  การถือบัญญัติให้ครบถ้วนก็คือ  ต้องมีความรัก.

๔. พระคริสตเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นพี่หัวปีในหมู่พี่น้องเป็นอันมาก  เมื่อสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนม์ขึ้นมาแล้ว พระองค์ได้ทรงตั้งการร่วมสนิทกันอย่างฉันพี่น้องแบบใหม่ในหมู่ผู้ที่ต้อนรับพระองค์ด้วยความเชื่อและความรักโดยประทานพระจิตของพระองค์.  การร่วมสนิทกันอย่างฉันพี่น้องนี้สำเร็จเป็นไปในพระกายของพระองค์ซึ่งได้แก่พระศาสนจักร. ในพระกายนี้  คนทุกคนซึ่งต่างเป็นอวัยวะของกันและกันต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามที่ได้รับพระคุณต่าง ๆ กัน.

๕. การร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้จะต้องเจริญงอกงามขึ้นเรื่อยไป  จนกว่าถึงวันที่ความร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจะเจริญจนถึงขีดสุด. ในวันนั้น มนุษย์ทั้งหลายซึ่งรอดด้วยพระหรรษทานและเป็นเหมือนครอบครัวที่รักยิ่งของพระเป็นเจ้าและของพระคริสตเจ้าผู้เป็นพระเชษฐา จะถวายพระเกียรติมงคลอันดีพร้อมทุกประการแด่พระเป็นเจ้า.