หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกา
และคำแถลงแห่งสภาสังคายนา เล่มที่ 4

บทที่ 3  : การร่วมมือของบรรดาพระสังฆราชเพื่อประโยชน์ของหลายคริสตจักร

- - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระสมณกฤษฎีกา แห่ง สภาสังคายนาว่าด้วยหน้าที่ของ
พระสังฆราชในการอภิบาลสัตบุรุษ ในพระศาสนจักร

ก.การประชุมสมัชชา  การประชุมสังคายนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาสังฆราช

สมัชชากับการประชุมสังคายนาย่อย

๓๖. ตั้งแต่ในศตวรรษแรก ๆ ของพระศาสนจักร บรรดาพระสังฆราชได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประมุขคริสตจักรต่าง ๆ และได้รับแรงดันจาการรักกันอย่างฉันพี่น้องกับความห่วงใขต่อภารกิจทั่วไปที่ฝากกับบรรดาอัครธรรมฑูต จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อทำประโยชน์แก่คริสตจักรแต่ละแห่งหรือรวมกัน เพราะเหตุนี้จึงได้มีการประชุมสมัชชา การประชุมสังคายนาระดับมณฑล และที่สุด การประชุมสังคายนาสากลขึ้น ในการประชุมเหล่านี้ บรรดาพระสังฆราชได้วางหลักเกณฑ์เหมือนกัน ซึ่งจะต้องถือในคริสตจักรต่าง ๆ เพื่อสอนความเชื่อและจัดระเบียบของพระศาสนจักร

สภาสังคายนา นี้ ปรารถนาอย่างแรงกล้าให้สถาบันอันน่าเคารพแห่งการประชุมสมัชชาและสังคายนามีกำลังเข้มแข็งใหม่เพื่อเพิ่มความเชื่อและรักษาระเบียบวินัยในคริสตจักรต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและเป็นผลดียิ่งขึ้น แล้วแต่ภาวการณ์

ความสำคัญของสภาสังฆราช

๓๗. ในสมัยของเรานี้เป็นต้น มีบ่อยครั้งที่พระสังฆราชจะปฏิบัติหน้าที่โดยเหมาะสมและให้เกิดผลดีไม่ได้ ถ้าเราไม่ร่วมใจทำงานประสานกับพระสังฆราชอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปรากฏว่า สภาสังฆราชซึ่งได้ตั้งขึ้นในหลายชาติแล้ว ได้ทำงานเกิดผลดีเป็นอันมาก ฉะนั้น สภาสังคายนา จึงเห็นเป็นการสมควรอย่างยิ่งให้ในที่ทุกแห่งทั่วโลก พระสังฆราชที่เป็นชาติเดียวกัน หรืออยู่ในภาคเดียวกันรวมกันตั้งเป็นสภาเดียว และให้ประชุมกันตามกำหนดเวลาแน่นอน เมื่อแลกเปลี่ยนความฉลาดปราดเปรื่อง ความชำนาญจัดเจนและความคิดอ่านกันแล้ว ก็จะเกิดการรวมกำลังกันอย่าง ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคริสตจักรทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น สภาสังคายนา จึงกำหนดบัญญัติต่อไปนี้เกี่ยวกับสภาสังฆราช

สภาสังฆราชคืออะไร ? ประกอบด้วยอะไร ต้องมีคุณวุฒิอะไร?  และร่วมมือกันอย่างไร ?

๓๘. ( ๑ ) สภาสังฆราชเป็นเหมือนที่ประชุมหนึ่ง ซึ่งในที่ประชุมนั้นบรรดาพระสังฆราชในชาติหนึ่งหรือในดินแดนแห่งหนึ่งร่วมกันทำงานอภิบาลสัตบุรุษ เพื่อส่งเสริมประโยชน์ที่พระศาสนจักรหยิบยื่นให้แก่มนุษย์ โดยใช้แบบและวิธีแพร่ธรรมที่เข้ากันอย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันเป็นต้น

( ๒ ) สมณะประมุขท้องที่ ไม่ว่าจะถือจารีตอะไร (ยกเว้นอุปสังฆราช) พระสังฆราช ผู้ร่วมช่วย พระสังฆราช ผู้ช่วยและพระสังฆราชเกียรตินามอื่น ผู้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษซึ่งพระสันตะสำนักหรือสภาสังฆราชมอบให้ท่านเหล่านี้เป็นผู้มีสิทธิเข้าประชุมในสภาสังฆราช ส่วนพระสังฆราชเกียรตินามอื่น ๆ ตลอดจนผู้แทนพิเศษของพระสันตะปาปา ไม่มีสิทธิ์เข้าประชุมในสิทธิ์เข้าประชุมในสภาสังฆราชที่ผู้แทนพิเศษของพระสันตะปาปาไม่มีสิทธินั้นเพราะเพียงแต่ปฎิบัติหน้าที่พิเศษอยู่ในเขตนั้น

สมณะประมุขท้องที่กับพระสังฆราชผู้ร่วมช่วยมีสิทธิที่จะออกเสียงลงคะแนน ส่วนพระสังฆราชผู้ช่วยและพระสังฆราชอื่น ๆ ซึ่งมีสิทธิร่วมในการประชุมของสภาให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนหรือเพียงแต่มีสิทธิให้คำปรึกษาหารือ ตามแต่กฎข้อบังคับของสภาจะกำหนด

( ๓ ) แต่ละสภาสังฆราชจะต้องร่างกฎข้อบังคับซึ่งจะต้องได้รับการรับรองเห็นชอบจากพระสันตะสำนัก ในกฎข้อบังคับนั้น นอกจากเรื่องอื่น ๆ จะต้องตั้งหน่วยงานที่จะช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายของสภาอย่างเกิดผลดียิ่งขึ้น เช่น ตั้งพระสังฆราชจำนวนหนึ่งเป็นคณะถาวร คณะกรรมการสังฆราชและเลขาธิการ

( ๔ ) มติของสภาสังฆราช ถ้าได้ลงคะแนนโดยชอบและได้คะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามจากพระสังฆราชที่มีสิทธิออกเสียงในสภา กับถ้าได้รับการรับรองจากพระสันตสำนัก ก็ถือว่ามีผลบังคับทางกฎหมาย แต่มีผลบังคับเฉพาะในกรณีที่กำหนดโดยกฎทั่วไป กับเมื่อคำสั่งพิเศษที่           พระสันตะสำนักออกโดยตนเองหรือตามขอร้องของสภาสังฆราช จะกำหนดให้เป็นเช่นนั้น

( ๕ ) ในที่ที่พึงกระทำเพราะมีภาวการณ์พิเศษ พระสังฆราช ในชนหลายชาติจะรวมกันตั้งเป็นสภาเดียว โดยความยินยอมของพระสันตะสำนักก็ได้

อนึ่ง พึงส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสภาสังฆราชของชาติต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ทำประโยชน์มากยิ่งขึ้น

( ๖ ) ขอกำชับอย่างแข็งแรงให้บรรดาพระสังฆราชในหมู่คริสตจักรตะวันออก ซึ่งรวมกันประชุมเป็นสมัชชาเพื่อส่งเสริมระเบียบวินัยแห่งคริสตจักรของเขาเองกับเพื่อสนับสนุนกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของพระศาสนานั้น คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของดินแดนทั้งหมด ซึ่งมีหลายคริสตจักรที่ถือจารีตต่างกัน ในการประชุมระหว่างผู้ถือจารีตต่าง ๆ ควรจะกระทำการปรึกษาหารือกันตามกฎซึ่งผู้มีอำนาจจะตั้งขึ้น

ข.การกำหนดเขตของแขวงฝ่ายพระศาสนจักรกับการตั้งภาคฝ่ายพระศาสนจักร

หลักเกียวกับการปรับปรุงเขต

๓๙.  เพื่อประโยชน์ของวิญญาณ จำเป็นต้องกำหนดเขตอย่างเหมาะสม มิใช่สำหรับสังฆมณฑลเท่านั้น แต่สำหรับแขวงฝ่ายพระศาสนจักรด้วย เพื่อปฎิบัติให้เป็นไปดียิ่งขึ้นตามความต้องการของการแพร่ธรรม แล้วแต่ภาวการณ์ทางสังคมและท้องที่เช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาพระสังฆราชด้วยกันเอง กับพระอัครสังฆราฃและพระสังฆราชอื่นที่อยู่ในประเทศเดียวกัน และกับ         เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก็จะสะดวกง่ายดายและเกิดผลดียิ่งขึ้น

กฎที่ต้องถือ

๔๐. ฉะนั้น เพื่อได้ผลดังกล่าวนี้ สภาสังคายนากำหนดให้ตั้งกฎดังต่อไปนี้

(๑ ) อาณาเขตของแขวงฝ่ายพระศาสนจักรต้องปรับปรุงใหม่อย่างเหมาะสม และสิทธิกับเอกสิทธิของอัครสังฆราชต้องระบุด้วยกฎเกณฑ์ใหม่และสมควร

( ๒ ) ควรถือเป็นกฎว่า ทุกสังฆมณฑลและดินแดนอื่นที่กฎหมายถือว่าเท่าเสมอกับสังฆมณฑล ให้รวมเข้าในแขวงฝ่ายพระศาสนจักรแขวงใดแขวงหนึ่ง เพราะฉะนั้น บรรดาสังฆมณฑลซึ่งในปัจจุบันนี้ขึ้นต่อรพระสันตะสำนักโดยตรงและไม่รวมเข้ากับสังฆมณฑลอื่นใดนั้น ถ้าเป็นไปได้ให้รวมกันเข้าเป็นแขวงใหม่ฝ่ายพระศาสนจักร แล้วอยู่ในสิทธิเขตปกครองของอัครสังฆราช ตามกฎในกฎหมายทั่วไป

( ๓ ) ที่ใดที่ประโยชน์แนะให้ทำ ให้รวมแขวงฝ่ายพระศาสนจักรเข้าเป็นภาคฝ่ายพระศาสนจักร การจัดระเบียบภาคฝ่ายพระศาสนจักรให้กำหนดโดยกฎหมาย

การขอให้สภาสังฆราชออกเสียงลงมติ

๔๑ บรรดาสภาสังฆราชที่มีอำนาจพึงพิจารณาปัญหาเรื่องนี้เกี่ยวกับการกำหนดเขตแขวงหรือตั้งภาคขึ้น ตามกฎที่ได้วางไว้แล้ว สำหรับการกำหนดเขตสังฆมณฑล (เลข ๒๓ และ ๒๔ ) แล้วให้เสนอความเห็นและความปรารถนาต่อพระสันตะสำนัก

ค.พระสังฆราช ที่ปฏิบัติหน้าที่ระหส่งสังฆมณฑล

การตั้งตำแหน่งงานพิเศษขึ้นกับการร่วมมือกับพระสังฆราช

๔๒. เนื่องจากความต้องการในการอภิบาลสัตบุรุษยิ่งทียิ่งเรียกร้องให้งานอภิบาลสัตบุรุษบางอย่างได้รับการดำเนินส่งเสริมโดยความเห็นชอยพร้อมเพรียงกัน จึงเป็นการสมควรให้มีการตั้งตำแหน่งงานบางตำแหน่ง ซึ่งจะมอบให้พระสังฆราชทำก็ได้ เพื่อทำการใช้ทุก ๆ สังฆมณฑลหรือหลาย ๆ สังฆมณฑล  ในภาคหนึ่งหรือในชาติหนึ่งที่กำหนด

สภาสังคายนา ขอกำชับให้บรรดาสมณะผู้ใหญ่หรือพระสังฆราชที่ทำหน้าที่เหล่านี้กับบรรดาพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลและสภาสังฆราชมีความสามัคคีปรองดองกันฉันพี่น้องกับมีความร่วมใจกันในการเอาใจใส่อภิบาลสัตบุรุษ ความสัมพันธ์เหล่านี้ต้องบัญญัติในกฎหมายทั่วไปด้วย

พระสงฆ์ในกองทัพ

๔๓.  การเอาใจใส่ดูแลทหารทางฝ่ายวิญญาณ สมควรได้รับความห่วงใยเป็นพิเศษโดยเฉพาะ เพราะเขามีสภาพชีวิตที่ไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ ดังนั้น ในทุก ๆ ชาติ ให้ตั้งตำแหน่งคณะสงฆ์ในกองทัพขึ้น ถ้าหากว่าทำได้ หัวหน้าคณะสงฆ์ในกองทัพกับพระสงฆ์ผู้ร่วมงานควรอุทิศตนอย่างสุดกำลังแก่งานอันลำบากยากเย็นนี้ โดยร่วมมืออย่างเต็มที่กับพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล

เพราะฉะนั้น พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลต้องให้หัวหน้าคณะสงฆ์ในกองทัพ มีพระสงฆ์ที่เหมาะแก่งานหนักนี้เป็นจำนวนเพียงพอและในขณะเดียวกัน ให้สนับสนุนความริเริ่มที่มุ่งจะส่งเสริมประโยชน์ฝ่ายวิญญาณของทหาร