หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกา
และคำแถลงแห่งสภาสังคายนา เล่มที่ 4

บทที่ 1  : ความสัมพันธ์ระหว่างพระสังฆราชกับพระศาสนจักรสากล

- - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระสมณกฤษฎีกา แห่ง สภาสังคายนาว่าด้วยหน้าที่ของ
พระสังฆราชในการอภิบาลสัตบุรุษ ในพระศาสนจักร

ก.บทบาทของพระสังฆราชในพระศาสนจักรสากล

การใช้อำนาจโดยคณะสังฆราช

๔. อาศัยฤทธิ์อำนาจการอภิเษกของศีลศักดิ์สิทธิ์และโดยที่ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวตามฐานานุกรมกับประมุขและบรรดาสมาชิกของคณะ พระสังฆราชแต่ละองค์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคณะสังฆราชซึ่งรวมกันเป็นเหมือนกายเดียว “ คณะสังฆราชซึ่งสืบตำแหน่งต่อจากอัครธรรมฑูต เพื่อสอนและปกครองอภิบาลหรือพูดให้ชัดกว่านั้นว่า คณะสังฆราช ซึ่งคณะอัครธรรมฑูตดำรงสืบอยู่ต่อไปนั้น ถ้าร่วมเข้ากับพระสันตะปาปาผู้เป็นประมุข และจะขาดประมุขนี้เสียมิได้เป็นอันขาด ก็ถือด้วยว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและสมบูรณ์เหนือพระศาสนจักรสากล แต่อำนาจนั้นจะใช้ได้ก็แต่ด้วยความยินยอมเห็นชอบของพระสันตะปาปาเท่านั้น “ อำนาจที่กล่าวนี้ “ ใช้อย่างสง่าผ่าเผยในสภาสังคายนาสากล “ ฉะนั้นสภาสังคายนานี้จึงลงมติว่าพระสังฆราชทุกองค์ในฐานะเป็นสมาชิกของคณะสังฆราช มีสิทธิจะเข้าร่วมในสภาสังคายนาสากล

อำนาจที่เป็นของคณะอันเดียวกันนี้ บรรดาพระสังฆราชที่อยู่ทั่วโลกยังใช้ร่วมกับพระสันตะปาปาได้ ถ้าประมุขของคณะเรียกบรรดาพระสังฆราชให้มาปฏิบัติการเป็นคณะ หรืออย่างน้อยอนุมัติเห็นชอบงานที่บรรดาพระสังฆราชผู้อยู่กระจัดกระจายทำร่วมกันหรือรับรองอย่างมีอิสระ เพื่อถือเป็นงานที่คณะพระสังฆราชเป็นผู้ปฏิบัติร่วมกันอย่างแท้จริง “

สมัชชาพระสังฆราช

๕. บรรดาพระสังฆราชที่เลือกจากภาคต่าง ๆ ในโลกตามวิธีการและกฎที่กำหนดไว้แล้ว หรือจะกำหนดโดยพระสันตะปาปานั้น ทำการช่วยเหลือนายชุมพาบาลสูงสุดแห่งพระศาสนจักรอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในสภาซึ่งเรียกเป็นชื่อโดยเฉพาะว่า สมัชชาพระสังฆราช (Synod of Bishops)และเนื่องจากปฏิบัติงานในนามของคณะสังฆราชคาทอลิกทั้งหมด สมัชชาพระสังฆราชนี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นในเวลาเดียวกันว่าพระสังฆราชทุกองค์มีส่วนร่วมในความกังวลห่วงใยต่อพระศาสนจักรสากลโดยร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวตามลำดับพระฐานานุกรม

บรรดาพระสังฆราชมีส่วนร่วมในความห่วงใยต่อคริสตจักรทั่วไปทั้งหมด

๖. ในฐานะเป็นผู้สืบตำแหน่งโดยชอบธรรมต่อจากบรรดาอัครธรรมฑูต และเป็นสมาชิกในคณะสังฆราช บรรดาพระสังฆราชต้องรู้ไว้เสมอว่า ตนมีความผูกพันต่อกันและกัน และต้องสำแดงตนเป็นผู้ห่วงใยถึงคริสตจักรต่าง ๆ ทั่วไป เพราะตามกฎของพระเป็นเจ้าและตามหน้าที่ในการ        แพร่ธรรม พระสังฆราชแต่ละองค์ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับพระศาสนจักรร่วมกับพระสังฆราชอื่น ๆ      ขอให้บรรดาพระสังฆราชมีความห่วงใย เป็นต้นถึงภาคต่าง ๆ ในโลกที่พระวจนะของพระเป็นเจ้ายังประกาศไปไม่ถึงหรือที่สัตบุรุษอยู่ในอันตรายจะห่างเหินจากบัญญัติของชีวิตแบบคริสตชน หรือเสียความเชื่อไปเลย เพราะมีพระสงฆ์น้อยเป็นต้น

ฉะนั้น บรรดาพระสังฆราชต้องพยายามโดยเต็มสติกำลังให้สัตบุรุษอุ้มชูและส่งเสริมงานประกาศข่าวดีและแพร่ธรรมอย่างเข้มแข็ง นอกจากนั้น ต้องเอาใจใส่สอดส่องให้มีการเตรียมพระสงฆ์ที่มีความสามารถ ตลอดจนผู้ช่วยซึ่งจะเป็นนักบวชหรือฆราวาสก็ได้ สำหรับมิสซังและภาคที่ลำบากเพราะขาดแคลนพระสงฆ์ และเท่าที่สามารถจะทำได้ ยังควรเอาใจใส่ส่งพระสงฆ์บางองค์ไปยังมิสซังหรือสังฆมณฑลที่กล่าวนี้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นการถาวรหรือเพียงชั่วคราว

อนึ่ง ในการใช้ทรัพย์สินของพระศาสนจักร พระสังฆราขไม่ควรคิดถึงความต้องการของมิสซังที่ปกครองเท่านั้น แต่ควรคิดถึงความต้องการของคริสตจัการท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วย เพราะคริสตจักรเหล่านั้นเป็นส่วนของพระศาสนจัการเดียวของพระคริสตเจ้า  ที่สุด ขอให้พระสังฆราชเอาใจใส่บรรเทาภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ทรมารเบียดเบียนสังฆมณฑลหรือภาอื่น ตามกำลังความสามารถ

เมตตาจิตต่อบรรดาพระสังฆราชที่ถูกเบียดเบียน

๗. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้บรรดาพระสังฆราชสำแดงความรักอย่างพี่น้องต่อพระสังฆราชที่เพราะพระนามของพระคริสตเจ้า ต้องถูกใส่ความและทรมาน ต้องถูกจำคุกหรือถูกห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่ และขอให้แสดงความเสียสละอย่างเข้มแข็งแท้จริง เพื่อทุเลาบรรเทาความทุกข์ทรมานของ พระสังฆราชเหล่านี้ ทั้งด้วยคำภาวนาและกิจกรรมของเพื่อนพระสังฆราชด้วยกันเอง

ข.พระสังฆราช กับพระสันตะสำนัก
อำนาจของพระสังฆราชในสังฆมณฑลของตนเอง

๘. (ก) ในสังฆมณฑลที่มอบฝากแก่ตน พระสังฆราช ในฐานะเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากอัครธรรมฑูต ย่อมมีอำนาจสามัญทุกอย่างโดยอัตโนมัติ เป็นอำนาจโดยเฉพาะและโดยตรงที่พระสังฆราชจำเป็นต้องมีเพื่อถือหน้าที่อภิบาลสัตบุรุษของตน แต่ทั้งนี้โดยไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจ ซึ่งพระสันตะปาปามีอยู่โดยตำแหน่งหน้าที่สามารถจะสงวนบางเรื่องบางกรณีไว้สำหรับพระองค์เองหรือ       ผู้อื่นได้ทุกเมื่อและในทุกเรื่อง

(ข)พระสังฆราช ที่ปกครองสังฆมณฑลแต่ละองค์มีอำนาจที่จะยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ มิให้    สัตบุรุษที่ท่านมีอำนาจปกครองตามกฎหมาย ต้องถือตามกฎทั่วไปของพระศาสนจักรทุกครั้งที่วินิจฉัยเห็นว่าการยกเว้นนั้นจะเป็นคุณประโยชน์แก่วิญญาณของเขา เว้นแต่ว่าอำนาจสูงสุดของ    พระศาสนจักรจะได้สงวนเรื่องนั้น ๆ ไว้เป็นกรณีพิเศษ

แผนกต่าง ๆ ในศูนย์บริหารกลางแห่งพระสันตะสำนัก

๙. ในการใช้อำนาจสูงสุด สมบูรณ์และโดยตรงเหนือพระศาสนจักรสากลนั้น                      พระสันตะปาปาทรงอาศัยแผนกต่าง ๆ ในสำนักงานกลางโรมัน แผนกต่าง ๆ เหล่านั้นจึงปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักรต่าง ๆ และเพื่อรับใช้ผู้อภิบาลสัตบุรุษทั้งหลายในนามและอาศัยอำนาจของพระองค์

บรรดาพระปิตาจารย์แห่งสภาสังคายนา ปรารถนาให้แผนกต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งได้ช่วยเหลือพระสันตะปาปาและบรรดานายชุมพาบาลแห่งพระศาสนจักรอย่างดียิ่งมาแล้ว ได้รับการจัดระเบียบใหม่ที่เหมาะแก่ความต้องการของทุกยุคสมัย ภาคและจารียต่าง ๆมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับจำนวน ชื่อ ความเชี่ยวชาญรอบรู้ วิธีปฏิบัติงาน และการประสานงานของแผนกต่าง ๆเหล่านี้ บรรดาพระปิตาจารย์ยังปรารถนาให้มีการกำหนดหน้าที่ของบรรดาฑูตพิเศษ (Legates) ของพระสันตะปาปาอย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงหน้าที่อภิบาลสัตบุรุษโดยเฉพาะของบรรดาพระสังฆราชด้วย

สมาชิกและผู้มีอำนาจในแผนกต่าง ๆ

๑๐. อนึ่ง เนื่องจากแผนกต่าง ๆ ได้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักรสากล สภาสังคายนาปรารถนาให้สมาชิก ผู้ดำเนินงานและที่ปรึกษาของแผนกต่าง ๆ เหล่านี้ ตลอดจนฑูตพิเศษของพระสันตะปาปา ได้รับการคัดเลือกมาจากภาคต่าง ๆ แห่งพระศาสนจักรมากยิ่งขึ้น เท่าที่สามารถจะทำได้ ถ้าปฎิบัติดังนี้ แผนกบริหารหรืออีกนัยหนึ่ง องค์การกลางแห่งพระศาสนจักรคาทอลิกจะมีลักษณะเป็นสากลอย่างแท้จริง

ในทำนองเดียวกัน สภาสังคายนาปรารถนาให้ในหมู่สมาชิกของแผนกต่าง ๆ มีพระสังฆราชบางองค์ โดยเฉพาะที่เคยปกครองสังฆมณฑลมาแล้ว สำหรับฑูตพระสันตะปาปาให้ทรงทราบถึงความนึกคิดจิตใจ ความปรารถนาและความต้องการของคริสตจักรต่าง ๆ ทั่วไป อย่างกว้างขวางสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ที่สุด บรรดาพระปิตาจารย์แห่งสภาสังคายนาเห็นว่าจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ถ้าแผนกต่าง ๆ เหล่านี้จะฟังความคิดเห็นของฆราวาสที่เด่นด้วยคุณธรรม ความรู้ และความชำนาญจัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ฆราวาสมีบทบาทที่เหมาะสมกับเขาในกิจการของพระศาสนจักร