หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกา
และคำแถลงแห่งสภาสังคายนา เล่มที่ 4

บทที่  4 :  ต้องอบรมทางวิญญาณอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น

- - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระสมณกฤษฎีกา แห่ง สภาสังคายนาว่าด้วยการการอบรมพระสงฆ์

๘. การอบรมด้านวิญญาณต้องเกี่ยวโยงกับการอบรมด้านคำสอนและอภิบาลสัตบุรุษอย่างใกล้ชิด อาศัยความช่วยเหลือของจิตตาธิการเป็นสำคัญ การอบรมด้านวิญญาณนี้ต้องช่วยหัดให้สามเณรได้เจริญชีวิตอย่างสนิทคุ้นเคยตลอดเวลากับพระบิดาอาศัยพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระองค์ในพระจิต เนื่องจากสามเณรต้องเป็นเหมือนพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นสงฆ์ด้วยการรับศีลบวช สามเณรต้องหัดให้คุ้นเคยที่จะติดตามพระองค์เหมือนมิตรโดยเจริญชีวิตอย่างสนิทใกล้ชิดตลอดไป สามเณรต้องดำรงชีวิตตามรหัสธรรมปัสกาของพระองค์ จนสามารถอบรมสัตบุรุษที่จะฝากแก่ตนให้ดำรงชีวิตในปัสกาได้เช่นกัน สามเณรต้องฝึกหัดแสวงฟาพระคริสตเจ้าในการพิจารณารำพึงถึงพระวาจาของพระศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีบูชาขอบพระคุณและการทำวัตร ให้สามเณรแสวงหาพระคริสตเจ้าในพระสังฆราชผู้ส่งเขาไป และให้หาพระองค์ในตัวมนุษย์ที่ผู้ใหญ่ส่งเขาไปหา         โดยเฉพาะในบรรดาคนยากจน  เด็ก คนเจ็บ คนบาป และคนไม่เชื่อ ให้เขามีความไว้วางใจเยี่ยงบุตร รักและเคารพพระนางมารีย์ ซึ่งพระเยซูผู้กำลังสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนได้ทรงมอบให้เป็นมารดาแก่สาวกของพระองค์

ให้สามเณรอุตส่าห์ถือกิจศรัทธาต่าง ๆ อันเป็นที่ยกย่อง เพราะศาสนจักรได้ถือมาด้วยความเคารพ แต่ต้องระวังอย่าให้การอบรมด้านวิญญาณมีแต่การถือกิจศรัทธาเท่านั้น ที่ถูก สามเณรควรจะหัดเจริญชีวิตตามอุดมการณ์แห่งพระวรสาร มั่นคงในความเชื่อ ความหวังและความรัก เพื่อว่าเมื่อบำเพ็ญพลธรรมสามประการนี้แล้ว เขาจะได้มีจิตตารมณ์ชอบภาวนา ป้องกันและทำให้กระแสเรียกมั่นคง ทำให้พลธรรมอื่น ๆ เข้มแข็ง และมีความร้อนรนยิ่งขึ้นซึ่งจะผลักดันให้เขาไปนำมนุษย์ทุกคนมาถวายแด่พระคริสตเจ้า

๙. สามเณรต้องมีความเข้าใจซาบซึ้งในรหัสธรรมเรื่องพระศาสนจักร ซึ่งสภาสังคายนานี้ได้บรรยายอย่างละเอียดเป็นพิเศษ เพื่อเขาจะได้มีความผูกพันกับองค์ผู้แทนพระคริสตเจ้าโดยมีความรักอย่างถ่อมตัวและเยี่ยงบุตร และเมื่อหลังการบวชเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระสังฆราชของตนในฐานะผู้ร่วมงานอย่างซื่อสัตย์และจะได้ทำงานร่วมกับเพื่อน พระสงฆ์สามเณาต้องเป็นพยานประกาศเอกภาพอันนี้ ซึ่งดึงดูดมนุษย์ทั้งหลายให้มาหาพระคริสตเจ้า ให้สามเณรหัดมีทัศนะกว้างขวางและมีส่วนกล่าวว่า “ ใครรักพระศาสนจัการของพระคริสตเจ้าเพียงใด ก็มีพระจิตเจ้าเพียงนั้น “ สามเณรต้องเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า จุดหมายของเขามิใช่เพื่อบังคับบัญชาและได้รับเกียรติ แต่มีหน้าที่คอย รับใช้พระเป็นเจ้าและทำงานอภิบาลสัตบุรุษโดยพลีตนอย่างสิ้นเชิง ให้เอาใจใส่เป็นพิเศษอบรมให้สามเณรเชื่อฟังแบบของพระสงฆ์ ชอบชีวิตยากจนและมีจิตตารมณ์เสียสละทิ้งน้ำใจตนเอง ดังนั้น เขาก็จะคุ้นต่อการตัดใจ การกระทำตนให้เหมือนพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน และคุ้นต่อการสลัดตัดใจได้เองแม้ในเรื่องทำได้ แต่ไม่สมควร

สามเณรต้องได้รับการบอกกล่าวให้รู้ถึงภาวะหน้าที่ต่าง ๆที่เขาจะต้องทำ ตลอดจนความยากลำบากทุกอย่างในชีวิตของพระสงฆ์ อย่างไรก็ดี ในงานที่จะทำภายหน้า สามเณรไม่ควรคิดถึงแต่ภัยที่จะได้รับเสียเกือบอย่างเดียว แต่ทางที่ถูก ควรได้รับการอบรมให้สร้างชีวิตฝ่ายวิญญาณให้มั่นคง โดยอาศัยงานอภิบาลสัตบุรุษที่เขาทำนั่นเอง

๑๐.  สามเณรที่ถือตามกฎอันศักดิ์สิทธิ์และเข้มงวดในจารีตของเขา ถือประเพณีอันน่านิยม เรื่องของพระสงฆ์ต้องบำเพ็ญถือพรหมจรรย์นั้น จะต้องได้รับการอบรมให้ถือสภาพชีวิตแบบนี้ด้วยความเอาใจใส่อย่างกวดขัน ในสภาพชีวิตแบบนี้ เขาสละการแต่งงาน เพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์ (เทียบ มัต.๑๙ : ๑๒ ) ในสภาพชีวิตแบบนี้ เขาติดตามพระเจ้าด้วยความรักซึ่งไม่แบ่งให้ใครและเหมาะสมกับพันธสัญญาใหม่ยิ่งนัก ในสภาพชีวิตแบบนี้ เขาเป็นพยานประกาศว่า จะมีการกลับคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ในโลกที่จะมาถึง (เทียบ ลก. ๒๐ : ๓๖ ) และในสภาพชีวิตแบบนี้ เขาพบเครื่องมืออันดียิ่งที่ช่วยให้เขาถือความรักอย่างครบถ้วนตลอดเวลา ความรักนั้นอำนวยให้เขาเป็นทุกสิ่งสำหรับทุกคนในเวลาปฏิบัติหน้าที่พระสงฆ์ เขาจะรู้สึกอย่างซาบซึ้งว่าจะต้องน้อมรับสภาพชีวิตเช่นนี้ ด้วยความกตัญญูรู้คุณสักเพียงใด มิใช่เพราะเป็นข้อบังคับตามบัญญัติพระศาสนจักร แต่เพราะเป็นพระคุณประเสริฐของพระเป็นเจ้า ซึ่งต้องขอด้วยความถ่อมตน และเขาจะยินดีสนองรับด้วยความเต็มใจและใจกว้าง อาศัยพระหรรษทานของพระจิตเจ้าช่วยและกระตุ้นเตือนให้เขาทำเช่นนั้น

สามเณรต้องมีความรู้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับหน้าที่และศักดิ์ศรีแห่งการสมรสของคริสตชน ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงความรักระหว่างพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร (เทียบ อฟ. ๕: ๓๒ ) สามเณรยังต้องเข้าใจด้วยว่า การถือพรหมจรรย์เพื่อพระคริสตเจ้าเป็นสิ่งประเสริฐกว่า ดังนั้นให้ทำการเลือกโดยคิดอย่างรอบคอบและด้วยจิตใจสูง ถวายตัวแด่พระเจ้า โดยมอบทั้งกายและใจอย่างสิ้นเชิง

สามเณรควรได้รับการเตือนให้รู้ถึงภัยที่คุกคามการถือความบริสุทธิ์ของเขา โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันนี้ อาศัยความช่วยเหลืออันเหมาะสมทั้งของพระเป็นเจ้าและของมนุษย์ให้สามเณรหัดถือพรหมจรรย์อย่างดีพร้อมอย่างที่ชีวิตและการงานของเขาไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดจากการถือโสด แต่ตรงกันข้ามกลับทำการควบคุมใจและกายดียิ่งขึ้น มีความสุขคัมภีรภาพอย่างผู้ใหญ่ยิ่งขึ้น และได้รับพรของพระวรสารอย่างสมบูรณ์ดียิ่งขึ้น

๑๑.  ให้ถือหลักเกณฑ์ของการอบรมพระคริสตธรรมอย่างเคร่งครัดและต้องเอาใจใส่เพิ่มเติมต่อให้ครบด้วยสิ่งที่ค้นพบในทางด้านจิตวิทยาและวิชาครูสมัยปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น การอบรมที่ควบคุมอย่างฉลาดจะต้องส่งเสริมบำรุงความสุขุมคัมภีรภาพที่มนุษย์พึงมีในตัวสามเณรด้วย ความสุขุมคัมภีรภาพนั้นรู้ได้โดยเฉพาะเมื่อจิตใตมั่นคงแบบผู้ใหญ่ สามารถทำการตัดสินใจ เมื่อคิดพิจารณาดีแล้ว และรู้จักใช้วิจารณญาณตัดสินเหตุการณ์และมนุษย์ได้อย่างถูกต้อง สามเณรจะต้องหัดให้คุ้นต่อการปรับอุปนิสัยของตนเอง จะต้องหัดให้มีจิตใจกล้าหาญและโดยทั่วๆไปจะต้องยกย่องคุณธรรมต่อไป ซึ่งถือเป็นสิ่งมีค่ามากในหมู่มนุษย์และทำให้คนทั้งหลายนิยมนับถือข้าเทวการของพระคริสตเจ้า เช่น ความสุจริตจริงใจ ความพยายามถือยุติธรรมตลอดเวลา การถือซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญา มารยาทในความประพฤติ ความเสงี่ยมเจียมตัวพร้อมทั้งมีความรักไมตรีในการสนทนาพาทีกัน

วินัยของสามเณราลัยเป็นเครื่องป้องกันที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ด้วยกัน สามเณรต้องไม่ถือระเบียบในความรักไมตรีเท่านั้น แต่ยังต้องถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับในการอบรมทั้งหมดทีเดียวคือให้รู้จักควบคุมตนเอง ส่งเสริมความสุขคัมภีรภาพส่วนตัวอย่างแท้จริง กับฝึกฝนคุณลักษณะจิตใจอื่น ๆ ที่ช่วยให้ปฎิบัติงานอย่างมีระเบียบและเกิดผลดียิ่งแก่พระศาสนจักร อย่างไรก็ดี ให้ฝึกถือระเบียบวินัยที่กล่าวนี้ จนสามเณรเกิดมีคุณลักษณะทางจิตใจ ซึ่งทำให้สามเณรพร้อมจะน้อมรับอำนาจของผู้ใหญ่เพราะความเชื่อมั่นในใจ คือเพราะมโนธรรม (เทียบ รม.๑๓ : ๕ ) และเพราะเหตุผลเหนือธรรมชาติ อีกประการหนึ่ง จะต้องจัดระเบียบวินัยให้เหมาะสมกับอายุของสามเณรดังนี้ เมื่อเขาค่อย ๆหัดปกครองตนเองแล้ว เขาก็จะคุ้นต่อการใช้เสรีภาพอย่างฉลาด รู้จักริเริ่มในการปฎิบัติงานและทำไปด้วยความมั่นคง และรู้จักร่วมมือกับเพื่อนพระสงฆ์และฆราวาส

แบบดำรงชีวิตในสามเณราลัยจะต้องมีจิตตารมณ์ชอบความศรัทธา ถือความเงียบและพร้อมที่จะช่วยเหลือกันและกัน และจะต้องมีลักษณะเป็นการแนะให้เริ่มชีวิตพระสงฆ์ที่เขาจะต้องบำเพ็ญในภายหน้า

๑๒.  เพื่อให้การอบรมทางวิญญาณตั้งบนรากฐานอันมั่นคงยิ่งขึ้น และเพื่อให้สามเณรถือกระแสเรียกเพราะคิดดี ๆ แล้วพระสังฆราชมีหน้าที่ต้องถือกำหนดเวลาระยะหนึ่งที่เหมาะสำหรับทำการฝึกอบรมจิตใจอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น พระสังฆราชยังมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าสมควรหรือไม่ที่จะสั่งพักการเรียนชั่วขณะหนึ่ง แล้วจัดให้มีการอบรมเกี่ยวกับงานอภิบาลสัตบุรุณเพื่อทำการทดสอบผู้สมัครจะเป็นพระสงฆ์ให้ดียิ่งขึ้น ตามสถานการณ์ของแต่ละแห่งเป็นหน้าที่ของพระสังฆราชเช่นเดียวกันที่จะวินิจฉัยว่าอายุที่กฎมูลทั่วไปเวลานี้กำหนดไว้สำหรับรับศีลบวชนั้น ควรหรือไม่ที่จะกำหนดให้สูงยิ่งขึ้น พระสังฆราช ยังต้องตัดสินว่าควรหรือไม่ที่จะให้สามเณรที่เรียนเทวศาสตร์จบแล้ว ทำหน้าที่สังฆานุกรในระยะเวลาอันสมควรก่อนที่จะบวชเป็นพระสงฆ์