หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การเผยของพระเป็นเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
การแพร่ธรรมของฆราวาส เล่ม 3

บทที่  1 : กระแสเรียกของฆราวาสในการแพร่ธรรม

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

๒. พระศาสนจักร ได้ตั้งขึ้นสำหรับขยายพระราชัยของพระคริสตเจ้าให้แผ่ไปทั่วพิภพ     เพื่อพระเกียรติมงคลของพระบิดา และสำหรับทำให้มนุษย์ทุกคนมีส่วนในการไถ่บาปและช่วย      ผู้อื่นให้รอด  นับว่าพระศาสนจักรอาศัยมนุษย์ทำให้โลกเกี่ยวโยงถึงพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง            กิจการใด ๆ ที่ผู้มีส่วนร่วมในพระกายทิพย์กระทำโดยมุ่งถึงจุดหมายนี้  เราเรียกว่าการ          แพร่ธรรมทั้งสิ้น พระศาสนจักร ทำการแพร่ธรรมโดยอาศัยสมาชิกทุกคนแต่โดยวิธีต่าง ๆ กัน แท้จริง การเรียกใครผู้หนึ่งให้มาเป็นคริสตชนก็ถือว่าเป็นการเรียกผู้นั้นให้มาแพร่ธรรมนั่นเอง                ในร่างกายที่มีชีวิต ไม่มีอวัยวะส่วนใดที่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย แต่ย่อมมีส่วนในชีวิตและในการปฏิบัติงานทั่วไปของร่างกาย เช่นนี้แหละในร่างกายของพระคริสตเจ้าซึ่งได้แก่พระศาสนจักร “ เนื่องจากพระองค์  พระวรกายทั้งหมดจึงประสานสัมพันธ์อย่างสนิทสนม” (อฟ.๔:๑๖)       ยิ่งกว่านั้น บรรดาอวัยวะของร่างกายนี้ต่างช่วยกันและร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เทียบ อฟ.๔ : ๑๖ ) จนว่าอวัยวะส่วนใดที่ไม่ทำงานตามความสามารถให้ร่างกายเติบโต  ต้องถือว่าไร้ประโยชน์ต่อพระศาสนจักรและต่ออวัยวะนั้นเอง

ในพระศาสนจักร  มีศาสนบริการหลายอย่างต่างกัน  แต่มีภารกิจอันเดียวเท่านั้น         พระคริสตเจ้าได้ทรงมอบหมายให้บรรดาอัครธรรมฑูตและผู้สืบตำแหน่งมีหน้าที่สั่งสอน          ปกครองและทำให้สัตบุรุษศักดิ์สิทธิ์ไปในนามของพระองค์และด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์ แต่ฆราวาสที่ร่วมมีส่วนในตำแหน่งสงฆ์  ตำแหน่งประกาศกและตำแหน่งกษัตริย์ของพระคริสตเจ้า ก็ย่อมมีส่วนร่วมกับภารกิจแห่งประชากรทั้งมวลของพระเป็นเจ้าในพระศาสนจักรและในโลก ฆราวาสทำการแพร่ธรรมอย่างแท้จริง เมื่ออุทิศตนให้แก่การประกาศข่าวดีและทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ไป แต่ก็ถือว่าเขาทำการแพร่ธรรมเช่นเดียวกัน  เมื่อพยายามที่จะเข้าไปในวงการฝ่ายโลกและพยายามที่จะให้วงการนั้นเจริญก้าวหน้าด้วยจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร  โดยวิธีนี้  การกระทำของเขาก็เท่ากับเป็นการประกาศยืนยันถึงพระคริสตเจ้าอย่างเด่นชัดและเป็นการช่วยมนุษย์ให้เอาตัวรอด โดยเหตุที่สภาพของฆราวาสมีลักษณะเฉพาะที่จะดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางโลกและกิจการของโลก พระเป็นเจ้าจึงทรงเรียกเขาให้มาทำการแพร่ธรรมในโลกด้วยจิตตารมณ์อันเข้มแข็งแบบคริสตชนของเขาดุจเป็นเชื้อแป้งฉะนั้น

รากฐานแห่งการแพร่ธรรมของฆราวาส

๓. ฆราวาสโดยเหตุที่ร่วมชิดสนิทกับพระคริสตเจ้าผู้เป็นพระประมุขนั้นเอง  จึงมีหน้าที่และมีสิทธิที่จะเป็นผู้แพร่ธรรม เมื่อฆราวาสเข้าอยู่ในพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าโดยอาศัยศีลล้างบาป  และมีกำลังเข้มแข็งด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิตโดยอาศัยศีลกำลัง  ก็ถือว่าเป็น พระเป็นเจ้าเองที่ใช้เขาไปทำการแพร่ธรรม การที่ฆราวาสได้รับแต่งตั้งให้เป็นประชาชาติอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นราชสมณเพศนั้น (เทียบ ๑ ปต. ๒ : ๔–๑๐ ) ก็เพื่อทำให้กิจการทุกอย่างของเขากลายเป็นของถวายฝ่ายจิตและเพื่อประกาศยืนยันถึงองค์พระคริสตเจ้าทั่วพื้นพิภพ  ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลมหาสนิท ถ่ายทอดและหล่อเลี้ยงความรักนั้น ซึ่งเป็นเหมือนวิญญาณของการแพร่ธรรมทุกชนิด

การแพร่ธรรมทำด้วยความเชื่อ ความไว้ใจและความรักซึ่งพระจิตทรงโปรยปรายลงในดวงใจของสมาชิกทุกคนแห่งพระศาสนจักร ยิ่งกว่านั้น พระบัญญัติที่สั่งให้รัก  ซึ่งเป็นพระบัญญัติที่สำคัญที่สุดของพระคริสตเจ้า เร่งเร้าคริสตชนทุกคนให้ทำงานเพื่อพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้า โดยให้พระราชัยของพระองค์มาถึงและให้ถ่ายทอดชีวิตนิรันดรถึงมนุษย์ทุกคน ขอให้เขารู้จักพระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียวและผู้ที่พระองค์ได้ทรงใช้มาคือพระเยซูคริสตเจ้า (เทียบ ยน.๑๗:๓)

ฉะนั้นคริสตชนทุกคนจึงมีหน้าอันสูงส่งที่จะต้องทำงานอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน  เพื่อให้มนุษย์ทุกคนทั่วโลกรู้จักและรับสาส์นแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้

เพื่อทำการแพร่ธรรมที่กล่าวนี้ พระจิตซึ่งทรงทำให้ประชากรของพระเป็นเจ้าศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยศาสนบริการและด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ ยังประทานพระคุณพิเศษให้แก่สัตบุรุษ (เทียบ ๑ คร. ๑๒:๗ ) “โดยจ่ายแจกพระคุณนั้นให้แก่ทุกคนตามที่พอพระทัย “(เทียบ ๑ คร.๑๒ :๑๑ ) เพื่อให้ทุกคนและ “ แต่ละคน เมื่อทำการรับใช้ผู้อื่นตามพระคุณที่ได้รับ เป็นดังผู้จัดการดีที่รู้จักใช้พระคุณหลายแบบของพระเป็นเจ้า “ (เทียบ ปต. ๔:๑๐ ) โดยมุ่งจะสร้างพระกายทั้งครบขึ้นในความรัก “ (เทียบ ปต. ๔:๑๖ ) ผู้มีความเชื่อทุกคน เมื่อได้รับพระคุณเหล่านี้แม้จะเป็นพระคุณที่ธรรมดาสามัญที่สุด ก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่จะใช้พระคุณนั้นในพระศาสนจักรและในโลก เพื่อคุณประโยชน์ของมนุษย์และเพื่อก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้น และใช้พระคุณนั้นได้อย่างอิสระตามแบบของพระจิตซึ่ง “ พัดไปในที่ที่พอพระทัย “ (ยน.๓ : ๘) อีกทั้งใช้พระคุณนั้นโดยร่วมกับพี่น้องในพระคริสตเจ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยร่วมกับผู้อภิบาลสัตบุรุษ  ผู้อภิบาลสัตบุรุษมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยว่าพระคุณเหล่านั้นเป็นพระคุณแท้และใช้ถูกต้องดีหรือไม่ ไม่ใช่สำหรับกำจัดพระจิตให้ดับไป  แต่เพื่อทดสอบทุกสิ่งและเก็บสิ่งที่ดีไว้ (เทียบ ๑ ธส. ๕ : ๑๒ ,๑๙ ,๒๑ )

ฆราวาสต้องถือชีวิตฝ่ายวิญญาณในการแพร่ธรรม

๔. โดยเหตุที่พระคริสตเจ้าซึ่งพระบิดาทรงใช้มา ทรงเป็นบ่อเกิดและกำเนิดแห่งการแพร่ธรรมทุกชนิดของพระศาสนจักรจึงเป็นที่เห็นได้ว่าการแพร่ธรรมของฆราวาสจะเป็นผลดี ก็ย่อมขึ้นกับการที่ฆราวาสเจริญชีวิตร่วมชิดสนิทกับพระคริสตเจ้าตามที่พระองค์ตร้สว่า “ ผู้ใดดำรงอยู่ในเราและเราดำรงอยู่ในเขา ผู้นั้นย่อมบังเกิดผลเป็นอันมาก เพราะถ้าเราไม่ช่วยแล้ว พวกท่านไม่สามารถทำอะไรได้ “ (ยน.๑๕:๕ ) ชีวิตที่สนิทใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้าในพระศาสนจักรนี้ ทะนุบำรุงไว้ด้วยความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณที่มีไว้สำหรับสัตบุรุษทุกคน  แต่เป็นต้นด้วยการร่วมในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ฆราวาสต้องใช้ความช่วยเหลือเหล่านี้ในแบบที่ว่า ในขณะที่ถือตามหน้าที่ทางโลกอย่างครบถ้วนตามสภาพปกติของความเป็นอยู่ จะไม่แยกการร่วมชิดสนิทกับพระคริสตเจ้าจากชีวิต  แต่จะร่วมสนิทกับพระองค์ยิ่ง ๆ ขึ้น โดยปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เช่นนี้แหละ ฆราวาสจะก้าวหน้าในความศักดิ์สิทธิ์ด้วยใจร้อนรนและความชื่นชม พยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยความฉลาดรอบคอบและพากเพียร แต่อย่าคิดว่าการเอาใจใส่ครอบครัวและงานต่างๆ ทางฝ่ายโลกไม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตแบบคริสตชน นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ ท่านจะพูดเรื่องอะไรหรือกระทำกิจการใดก็ดี ก็ให้พูดให้ทำในนามของพระเยซู ผู้ทรงเป็นพระเจ้า เป็นการขอบพระคุณพระเป็นเจ้าพระบิดาทางพระองค์เถิด “ (คส. ๓ :๑๗ ) การดำเนินชีวิตแบบนี้จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อ ความไว้ใจ และความรักตลอดเวลา

อาศัยความสว่างแห่งความเชื่อกับการพินิจรำพึงถึงพระวาจาของพระเป็นเจ้าเท่านั้น  เราจึงจะสามารถรู้สึกได้ทุกเวลาและทุกแห่งหนว่ามีพระเป็นเจ้า “ ซึ่งในพระองค์นั้น  เรามีชีวิตมีความเคลื่อนไหวและความเป็นอยู่ “ (กจ.๑๗ :๒๘ ) โดยวิธีนี้เท่านั้น เราจะสามารถแสวงหาน้ำพระทัยของพระองค์ในทุก ๆ สิ่ง มองเห็นพระคริสตเจ้าในมนุษย์ทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นญาติใกล้ชิดหรือแขกแปลกหน้า  วินิจฉัยอย่างถูกต้องถึงความหมายแท้และคุณค่าของสิ่งของต่าง ๆ ในโลก ไม่ว่าจะพิจารณาดูสิ่งต่าง ๆ นั้นเองตรง ๆ หรือในแง่ที่เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของมนุษย์
ผู้ที่มีความเชื่อดังนี้ ย่อมเจริญชีวิตอยู่ในความหวังจะได้รับสิ่งที่พระเป็นเจ้าทรงสัญญาแก่ผู้ที่เป็นบุตรของพระองค์ พลางรำลึกถึงกางเขนและการกลับฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสตเจ้า

ในชีวิตนี้ซึ่งเปรียบเหมือนการเดินทาง ฆราวาสซึ่งหลบซ่อนอยู่กับพระคริสตเจ้าใน        พระเป็นเจ้าและหลุดพ้นจากการเป็นทาสต่อโภคทรัพย์ ย่อมคิดแสวงหาสมบัติที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร  พยายามเต็มสติกำลังที่จะขยายพระราชัยของพระเป็นเจ้ากับกระตุ้นและทำให้ทุกสิ่งในโลกดีขึ้นตามจิตตารมณ์แห่งคริสตชน เมื่อประสบความยากลำบากในชีวิต ฆราวาสย่อมเกิดมีความมานะกล้าหาญเพราะมีความหวังอยู่ โดยคิดว่า “ความทุกข์ทรมานในปัจจุบันนี้จะเปรียบกับสิริโรจนาการที่จะปรากฎในตัวเรานั้นหาได้ไม่ “ (รม.๘:๑๘)

เมื่อถูกความรักที่มาจากพระเป็นเจ้ากระตุ้น ฆราวาสย่อมทำความดีต่อทุกคน เป็นต้นต่อพี่น้องในความเชื่อ (เทียบ กท.๖:๑๐) ขจัดเสียซึ่ง “ ความมุ่งร้าย ความฉ้อโกง ความหน้าซื่อใจคด ความอิจฉา การติฉินนินทา “ ( ๑ ปต.๒:๑ ) คงจะทิ้งความชั่ว การหลอกลวงหน้าซื่อใจคด อิจฉาริษยา และการว่าร้ายใส่ความทุกชนิด อันว่าความรักของพระเป็นเจ้า “ ซึ่งพระจิตที่เราได้รับทรงโปรยปรายลงในดวงใจ “ นั้น ทำให้ฆราวาสสามารถที่จะแสดงออกซึ่งจิตตารมณ์แห่งมหาบุญลาภแปดประการ ในชีวิตของเขาอย่างแท้จริง ตามพระฉบับแบบของพระเยซูเจ้าผู้ยากจน เขาไม่รู้จักย่นย่อท้อถอยเมื่ออดอยาก และไม่รู้จักเย่อหยิ่งทะนงตัวเมื่อมีความอุดมสมบูรณ์ ตามพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้าผู้ทรงถ่อมตน เขาไม่ปรารถนาอยากได้เกียรติมงคลอันไร้สาระ (เทียบ กท. ๕:๒๖ ) แต่พยายามที่จะทำสบพระทัยพระเป็นเจ้ามากกว่าที่จะถูกใจมนุษย์ พร้อมอยู่เสมอที่จะสละทิ้งทุกสิ่งเพื่อพระคริสตเจ้า (เทียบ ลก.๑๔:๒๖) และสู้ทนการรังแกข่มเหงเพราะเห็นแก่ความยุติธรรม (เทียบ มธ . ๕:๑๐ ) โดยระลึกถึงพระวจนะของพระเยซูเจ้าว่า “ ถ้าผู้ใดใคร่เดินตามเรา ต้องสละทิ้งน้ำใจของตนเอง แบกกางเขนและเดินตามเรา” (มธ.๑๖:๒๔) ฆราวาสต่างมีไมตรีจิตแบบคริสตชนต่อกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในคราวจำเป็นทุกโอกาส

การถือชีวิตฝ่ายวิญญาณของฆราวาสนี้ต้องประกอบด้วยลักษณะพิเศษบางประการ แล้วแต่สภาพชีวิตของแต่ละคน คือแล้วแต่เป็นคนสมรสและมีครอบครัวแล้ว หรือเป็นคนถือพรหมจรรย์ หรือเป็นม่าย หรือเป็นคนเจ็บป่วย หรือเป็นคนทำงานอาชีพและงานในสังคม ฉะนั้น แต่ละคนต้องพัฒนาคุณสมบัติและความสามารถที่ตนมีอยู่ตลอดไป เป็นต้นคุณสมบัติและความสามารถที่เหมาะแก่สภาพชีวิตของตน และใช้ความสามารถที่ได้รับจากพระจิต

ที่สุดฆราวาส-ที่ตามกระแสเรียกพิเศษ-เข้าในคณะหรือสถาบันที่พระศาสนจักรรับรอง ต้องพยายามที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามลักษณะการดำรงชีวิตฝ่ายวิญญาณที่เหมาะสมกับตน ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปเสมอ

ฆราวาสควรยกย่องความสามารถในวิชาอาชีพ ความรู้จักรับผิดชอบต่อครอบครัวและต่อบ้านเมือง ตลอดจนคุณธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตในสังคม เช่น ความสุจริต ความยุติธรรม ความมีน้ำใสใจจริง ความโอบอ้อมอารีและความมีจิตใจเข้มแข็ง ถ้าขาดคุณธรรมเหล่านี้เสียแล้ว ชีวิตแบบคริสตชนที่แท้จริงจะมีไม่ใด

พระนางพรหมจารีซึ่งเป็นพระราชินีแห่งพวกอัครธรรมฑูต  ต้องนับว่าเป็นแบบฉบับอันดีเลิศสำหรับการถือชีวิตฝ่ายวิญญาณและแพร่ธรรมที่กล่าวนี้ ขณะที่ทรงดำรงชีวิตอยู่ในโลกเหมือนกับคนอื่น ๆ ต้องเอาใจใส่และทำงานในครอบครัวนั้น พระนางมารีย์คงร่วมชิดสนิทกับพระบุตรอยู่ตลอดเวลา  และร่วมมีส่วนในงานของพระองค์อย่างไม่มีใครทำเหมือนได้ บัดนี้     พระนางประทับอยู่ในสวรรค์แล้ว  “ความรักประสาแม่ทำให้พระนางต้องทรงเอาใจใส่เฝ้าดูเราที่เป็นน้อง ๆ ของพระบุตรและยังเดินทางอยู่ ยังต้องประจญกับความทุกข์และความลำเค็ญ      ต่าง ๆ จนกว่าจะบรรลุถึงถิ่นฐานอันบรมสุข ” ทุกคนควรมีความศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริงต่อพระนางและฝากชีวิตกับงานแพร่ธรรมของตนไว้ในความปกป้องคุ้มครองของพระนาง