หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การเผยของพระเป็นเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
การแพร่ธรรมของฆราวาส เล่ม 2

บทที่ 7 :  ศิลปะศักดิ์สิทธิ์กับเครื่องใช้ในคารวะกิจ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม

๑๒๓. เป็นการถูกต้องอย่างยิ่งที่นับวิจิตรศิลป์เข้าในบรรดางานที่สูงสุดของปัญญามนุษย์ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องนับศิลปะด้านศาสนากับศิลปะศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นยอดของศิลปะด้านศาสนาอีกทีหนึ่ง ศิลปะทั้งสองอย่างนี้ โดยธรรมชาติของมันเอง ก็มุ่งจะแสดงความงามวิจิตรอันหาเขตมิได้ของพระเป็นเจ้าออกมาด้วยกิจการของมนุษย์ ศิลปะทั้งสองอย่างนี้ยิ่งมุ่งเฉพาะเพื่อชักจูงมนุษย์ให้หันไปหาพระเป็นเจ้าได้มากเพียงไรก็ยิ่งลุจุดหมายที่จะสรรเสริญและถวายพระเกียรติแด่พระองค์

เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักร จึงเป็นมิตรกับวิจิตรศิลป์เสมอ  และเอาวิจิตรศิลป์มาช่วยเสมอมิได้ขาด โดยเฉพาะเพื่อให้วัตถุที่สงวดไว้ใช้ในคารวกิจเป็นที่เหมาะสมกลมกลืนและสวยงาม จะได้เป็นเครื่องหมายและสัญญลักษณ์ถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ พระศาสนจักรอบรมศิลปินเพื่อจุดประสงค์นี้  ที่จริงพระศาสนจักรยังถือว่ามีสิทธิที่จะตัดสินวิจิตรศิลปเสมอ วินิจฉัยว่างานของบรรดาศิลปินอันไหนเข้าได้กับความเชื่อ ความศรัทธา และกฎที่ถือกันมาเป็นประเพณี และเหมาะที่จะนำไปใช้ในศาสนาได้หรือไม่

พระศาสนจักร เคยเอาใจใส่กวดขันเป็นพิเศษ ให้เครื่องใช้ในศาสนาสวยงามสมที่จะช่วยทำให้คารวกิจมีความสง่าผ่าเผย พระศาสนจักรจึงยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุ รูปทรงและการตกแต่ง ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิชาการตามยุคสมัย

ด้วยเหตุนี้  บรรดาพระปิตาจารย์จึงตั้งกฎในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑๒๔. พระศาสนจักร ไม่เคยถือว่าศิลปะแบบใดเป็นของตนเองโดยเฉพาะ พระศาสนจักร ยอมรับศิลปะต่าง ๆ ของทุกยุคมาใช้ตามลักษณะและสภาพของชนชาติต่าง ๆ ด้วย ดังนี้ในระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านพ้นมาจึงมีศิลปกรรมเกิดขึ้นมากมาย  ซึ่งต้องรักษาไว้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ศิลปในสมัยของเราซึ่งมาจากชนทุกชาติทุกถิ่น ควรจะมีเสรีภาพที่จะแสดงฝีมือในพระศาสนจักรเหมือนกัน ขอแต่ให้ศิลปะนั้นประดับประดาอาคารศาสนาและจารีตศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ด้วยความเคารพและให้เกียรติเท่าที่ควร ดังนี้ก็สามารถจะร่วมเสียงกับบุคคลสำคัญ ๆ ที่ได้ขับร้องถวายเกียรติแด่พระศาสนาคาทอลิกในศตวรรษที่แล้ว ๆ มา

๑๒๕. ประมุขท้องที่ เมื่อสนับสนุนและส่งเสริมศิลปะที่ศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ จะต้องเพ่งเล็งถึงความงดงามแบบที่ยกจิตใจให้สูงขึ้น  ยิ่งกว่าจะเพ่งเล็งถึงความโอ่อ่าหรูหราแต่อย่างเดียว ให้ใช้หลักการนี้สำหรับเครื่องแต่งตัวและอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ศิลปกรรมที่เข้ากันไม่ได้กับความเชื่อ ศีลธรรม ตลอดจนความศรัทธาของคริสตชน หรือแสลงต่อความรู้สึกเลื่อมใสในศาสนาอย่างแท้จริง เพราะรูปต่ำช้าก็ดี หรือเพราะศิลปะไม่มีค่ายังอ่อนไม่ถึงขั้น หรือเพราะเป็นศิลปะหลอกลวงก็ดี พระสังฆราช จะต้องเอาใจใส่กำจัดออกจากบรรดาพระเคหะของพระเป็นเจ้าและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ

ในการสร้างอาคารสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะต้องระวังอย่างกวดขันให้อาคารสถานที่เหล่านั้นเหมาะสำหรับประกอบกิจพิธีกรรมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสัตบุรุษอย่างแข็งขัน

๑๒๖. ธรรมเนียมเอารูปศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐานให้สัตบุรุษเคารพในวัดจะต้องรักษาไว้ต่อไป แต่ต้องมีจำนวนพอสมควรและตั้งตามตำแหน่งสูงต่ำให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้สัตบุรุษรู้สึกสับสนและเกิดความความศรัทธาอันไม่สู้จะถูกต้องนัก

๑๒๗. สำหรับวินิจฉัยศิลปกรรม ประมุขท้องที่จะต้องฟังความเห็นของคณะกรรมการศิลป         ศักดิ์สิทธิ์ของสังฆมณฑล และในบางกรณีก็ต้องฟังความเห็นของคนอื่นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตลอดจนกรรมการที่กล่าวถึงในข้อ ๔๕ , ๔๕ , ๔๖

ประมุขท้องที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างกวดขันมิให้เครื่องใช้ศักดิ์สิทธิ์หรือของมีค่าตกเป็นของคนอื่นหรือกระจัดกระจายหายสูญไปเพราะเป็นเครื่องประดับพระเคหะของพระเป็นเจ้า

๑๒๘. ให้พระสังฆราชเอาใจใส่ศิลปินอย่างพิเศษ และอบรมเขาให้มีจิตตารมณ์ศิลปะศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรม พระสังฆราชอาจจะให้การอบรมเอง หรืออาศับพระสงฆ์ที่มีความสามารถความเชี่ยวชาญและรักศิลปะ

นอกจากนั้น ขอกำชับให้ตั้งโรงเรียนหรือวิทยาลัยสอนศิลปะศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออบรมศิลปินในถิ่นที่ต้องการ

แต่ศิลปินทุกคน ที่อยากใช้ความสามารถของตนในการเทิดพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้าในพระศาสนจักร จะต้องสำเหนียกไว้เสมอว่า งานของเขาเป็นการเอาอย่างพระผู้สร้างก็ว่าได้ เขาผลิตผลงานสำหรับใช้ในคารวกิจคาทอลิกสำหรับยกจิตใจของสัตบุรุษให้สูงขึ้น ส่งเสริมความศรัทธาของเขา และอบรมเขาในด้านศาสนา

๑๒๙. กฎหมายและข้อบังคับของพระศาสนจักรเกี่ยวกับการทำวัตถุที่ใช้ในคารวกิจ เฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการสร้างอาคารศักดิ์สิทธิ์อย่างเหมาะสมและถูกต้อง รูปแท่นและการสร้างแท่น แบบตู้ศีล และตั้งตู้ศีลไว้ในสถานที่น่าเคารพและปลอดภัย สถานที่ตั้งและศักดิ์ศรีของที่ประกอบพิธีล้างบาป ตลอดจนการตั้งรูปศักดิ์สิทธิ์ให้ถูกต้องตามระเบียบ การตกแต่งและการประดับเหล่านี้ จะต้องแก้ไขปรับปรุงใหม่โดยเร็วที่สุด พร้อมกับหนังสือพิธีกรรมต่าง ๆ ตามข้อ ๒๕. กฎใดที่เห็นว่าไม่สู้เข้ากับพิธีกรรมที่แก้ไขใหม่ ก็ให้เปลี่ยนหรือตัดออกเสีย กฎใดส่งเสริมพิธีกรรมที่แก้ไขใหม่ ก็รักษาไว้หรือนำมาใช้

ในเรื่องนี้ เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับวัตถุและแบบของเครื่องใช้ศักดิ์สิทธิ์และเครื่องอาภรณ์ต่าง ๆ สภาสังฆราชประจำท้องที่ที่มีอำนาจที่จะทำการปรับปรุงให้เหมาะสมแก่ความต้องการและประเพณีท้องถิ่นตามข้อ ๒๒ แห่งสังฆธรรมนูญนี้

๑๓๐. ผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์  ขณะกำลังเรียนปรัชญาและเทวศาสตร์ จะต้องเรียนประวัติและการพัฒนาของศิลปะศักดิ์สิทธิ์  ตลอดจนหลักการอันถูกต้องที่ใช้ในการผลิตงานศิลปกรรมศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อจะได้รู้จักคุณค่าและรักษาอนุสาวรีย์ที่น่าเคารพของพระศาสนจักรไว้ และสามารถจะให้คำแนะนำอันเหมาะสมแก่ศิลปินในการประกอบงานศิลปกรรมของเขา

๑๓๑. เป็นการสมควรที่จะสงวนการใช้เครื่องหมายยศของพระสังฆราชไว้สำหรับผู้ใหญ่ฝ่ายศาสนาที่มีตำแหน่งสังฆราชหรือมีอำนาจในการปกครองเป็นพิเศษบางอย่าง