หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การเผยของพระเป็นเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
การแพร่ธรรมของฆราวาส เล่ม 2

บทที่ 4  : ทำวัตรสรรเสริญพระ ( Officium Divinum )

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม

๘๓.  พระเยซูคริสตเจ้า—พระมหาสมณะแห่งพันธสัญญาใหม่นิรันดร – เมื่อทรงรับเอาธรรมชาติของมนุษย์ ได้นำเอาบทเพลงที่ขับร้องตลอดนิรันดรในสวรรค์เข้ามาในโลกถิ่นเนรเทศนี้ เมื่อรวมเอาประชาคมมนุษย์ทั้งหมดมาสนิทกับพระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงให้ประชาคมมนุษย์นั้นร่วมในการ        ขับร้องสรรเสริญพระเป็นเจ้าด้วย

แท้จริง พระองค์ยังทรงปฏิบัติหน้าที่สงฆ์นี้ต่อไปโดยอาศัยพระศาสนจักรของพระองค์ ซึ่งไม่หยุดยั้งที่จะสรรเสริญพระเป็นเจ้าและวิงวอนขอพระองค์เพื่อความรอดของโลกทั้งโลก ทั้งนี้มิใช้อาศัยการประกอบพิธีสักการบูชาขอบพระคุณเท่านั้น  แต่ยังใช้ชีวิตอื่นอีก เฉพาะอย่างยิ่ง  ด้วยการทำวัตรสรรเสริญพระ

๘๔.  ตามธรรมประเพณีคริสตชนแต่โบราณมา การทำวัตรสรรเสริญพระนั้น  จัดขึ้นในแบบที่ทำให้เวลาทั้งวันทั้งคืนศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยการสรรเสริญพระเป็นเจ้า เมื่อใดพระสงฆ์หรือผู้อื่นที่พระศาสนจักรมอบหมาย ทำการขับร้องสรรเสริญอย่างน่าซาบซึ้งตามกฎที่วางไว้  หรือเมื่อสัตบุรุษสวดร่วมกับพระสงฆ์ตามแบบที่รับรองแล้ว เมื่อนั้นก็มีเสียงเจ้าสาว (พระศาสนจักร) พูดกับเจ้าบ่าว ( พระคริสตเจ้า) อย่างแท้จริง อีกนัยหนึ่ง เป็นคำภาวนาที่พระคริสตเจ้าพร้อมกับพระกายของพระองค์ถวายแด่พระบิดาเจ้า

๘๕. เพราะฉะนั้น  บรรดาผู้ที่ถือหน้าที่นี้ มิใช่ทำแต่หน้าที่ของพระศาสนจักร หากยังมีส่วนร่วมในเกียรติสูงสุดของเจ้าสาวพระคริสตเจ้า เพราะเมื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าเขาก็ยืนอยู่ต่อหน้าพระบัลลังก์ของพระเจ้าในนามของพระศาสนจักรมารดาของเขา

๘๖.  พระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่อภิบาลสัตบุรุษ จะถวายคำสรรเสริญเช่นนี้ด้วยใจร้อนรนยิ่งขึ้นหากพระสงฆ์ยิ่งสำนึกว่าจะต้องปฎิบัติตามคำเตือนของนักบุญเปาโลที่ว่า “ ท่านจงภาวนาโดยไม่หยุดหย่อน “ ( ๑ ธส. ๕ :๑๗ ) เพราะพระเจ้าผู้เดียวสามารถทำให้งานที่เขาปฏิบัตินั้นสำเร็จและเกิดผล “ ตามพระวาจาของพระองค์ว่า “ หากเราไม่ช่วย ท่านจะทำอะไรไม่ได้เลย “ (ยน.๑๕ :๕ ) เพราะฉะนั้น เวลาตั้งสังฆานุกรบรรดาอัครธรรมฑูตจึงกล่าวว่า “ ส่วนเรา เราจะหมั่นภาวนาและทำการเทศน์ต่อไป “ (กจ. ๖ :๔ )

๘๗.  แต่เพื่อให้พระสงฆ์หรือสมาชิกอื่น ๆ ของพระศาสนจักรปฎิบัติหน้าที่ภาวนาสรรเสริญพระโดยดียิ่งขึ้นในกรณีแวดล้อมปัจจุบัน สภาสังคายนา ซึ่งปฎิบัติงานฟื้นฟูพิธีกรรมที่พระสันตสำนักได้เริ่มด้วยดีมาแล้วต่อไป จึงขอบัญญัติดังต่อไปนี้เกี่ยวกับทำวัตรสรรเสริญพระตามจารีตโรมัน

๘๘.  จุดหมายของการทำวัตรสรรเสริญพระ คือ ทำให้เวลาในวันหนึ่ง ๆ ศักดิ์สิทธิ์ไป ฉะนั้น ให้ฟื้นฟูการทำวัตรให้ตรงกัลเวลาที่ต้องกระทำนั้นจริง ๆ ดังที่เคยปฎิบัติตามประเพณีทั้งนี้เท่าที่จะทำได้ โดยคำนึงถึงสภาพการดำรงชีพในปัจจุบันเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ปฎิบัติงานแพร่ธรรม

๘๙.  เพราะฉะนั้นในการฟื้นฟูการทำวัตรสรรเสริญพระให้ถือกฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้

( ก ) ตามประเพณีอันน่าเคารพของพระศาสนจักรสากล การทำวัตรเช้าตรู่ (เลาเดส) และการทำวัตรเย็น (เวสเปรัส ) เป็นชั่วโมงที่เป็นหลักของชั่วโมงอื่น ๆ จึงต้องถือชั่วโมงทั้งสองนี้ว่าเป็นชั่วโมงเอกและต้องปฎิบัติเช่นนี้จริง ๆ

( ข ) ให้แต่งบททำวัตรค่ำ (คอมเปลโตรีอุม) ให้เป็นบทภาวนาที่เหมาะสำหรับจบวันหนึ่ง ๆ

( ค ) ชั่วโมงที่เรียกว่า “มาตูตีนุม “ ควรจะมีลักษณะเป็นบทสรรเสริญเวลากลางคืนเช่นแต่ก่อน เมื่อสวดพร้อมกันในโบสถ์ แต่ก็ให้ปรับปรุงให้เป็นแบบที่จะใช้สวดได้ตลอดวันไม่ว่าชั่วโมงไหน แบบใหม่นี้ให้มีเพลงสดุดีน้อยลง และให้มีบทอ่านมากขึ้น

( ง ) ชั่วโมงที่เรียกว่า “ ปรีมา “ ให้ยกเลิกเสีย

( จ ) ถ้าสวดพร้อมกันในโบสถ์ ยังคงมีชั่วโมงน้อยที่เรียกว่า “ แตร์ซีอา เซ็กสตา โนนา “ ถ้าไม่สวดพร้อมกันในโบสถ์ อนุญาตให้เลือกสวดชั่วโมงใดชั่วโมงหนึ่งในจำนวนสามนี้แล้วแต่ว่าสวดเวลาไหน

๙๐.  อนึ่ง การทำวัตรสรรเสริญพระ ในฐานะที่เป็นภาวนาส่วนรวมของพระศาสนจักร จึงเป็นบ่อเกิดแห่งความศรัทธาและเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงการสวดส่วนตัว ฉะนั้น จึงขอพระสงฆ์และผู้มีส่วนในการทำวัตรสรรเสริญพระในนามของพระเป็นเจ้าเวลาภาวนาให้โน้มน้าวจิตใจให้ประสานเข้ากับเสียงของตนและเพื่อจะทำได้สำเร็จดังนี้ เขาควรศึกษาพิธีกรรมและพระคัมภีร์เฉพาะอย่างยิ่งเพลงสดุดีให้รู้ดียิ่งขึ้น

ในการฟื้นฟูนี้ให้ปรับปรุงการทำวัตรสรรเสริญพระตามจารีตโรมัน ในแบบที่ผู้สวดจะใช้โดยรับผลประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและง่ายขึ้น

๙๑.  เพื่อให้ถือชั่วโมงสวดที่เสนอในช้อ ๘๙  ได้อย่างแท้จริง จะไม่มีการแบ่งบทเพลงสดุดีสำหรับเวลาเพียงสัปดาห์เดียวแต่จะแบ่งสำหรับเวลายาวกว่านั้น

งานตรวจแก้ไขประมวลเพลงสดุดีซึ่งเริ่มทำเป็นอันดีมาแล้วจะต้องทำต่อไปให้เสร็จโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ทงนี้โดยคำนึงถึงภาษาลาตินแบบของคริสตชน ประเพณีของพระศาสนจักรคาทอลิกและการใช้เพลงสดุดีในพิธีกรรม  เป็นต้นในการร้องเพลง

๙๒.  เกี่ยวกับการอ่าน ให้ถือกฎต่อไปนี้

ก.บทอ่านจากพระคัมภีร์ให้จัดในแบบที่ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์อันอุดมจากพระวาจาอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ข.บทอ่านทีคัดมาจากหนังสือของพระปิตาจารย์ นักปราชญ์ และนักประพันธ์แห่ง              พระศาสนจักรจะต้องเลือกให้ดียิ่งขึ้น

ค.ประวัติการรับทรมานเป็นมารตีหรือชีวประวัติของนักบุญ จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับความจริงในประวัติศาสตร์

๙๓.  บทสรรเสริญ  (Hymns) จะต้องแก้ไขให้เป็นรูปเดิมเท่าที่จะเห็นว่าเป็นประโยชน์โดยตัดหรือเปลี่ยนอะไร ๆ ที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเทพนิยายหรือไม่เข้ากับความศรัทธาแบบคริสตชน ให้เอาบทสรรเสริญอื่นที่มีอยู่ในประมวลบทสรรเสริญมาใช้แล้วแต่ความต้องการ

๙๔.  เพื่อทำให้วันเวลาศักดิ์สิทธิ์ไปอย่างแท้จริง กับเพื่อสวดบทตามชั่วโมงต่าง ๆ โดยเกิดผลฝ่ายจิตใจเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะสวดชั่วโมงนั้น ๆ ตามเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดกับเวลาแท้จริงที่กฎพระศาสนจักรกำหนดให้สวด

๙๕.  คณะนักบวชที่มีหน้าที่สวดพร้อมกันในโบสถ์ นอกจากมิสซาประจำคณะแล้ว ต้องทำวัตรสรรเสริญพระทุกวันพร้อมกัน คือ

ก.พวกที่ต้องทำวัตรสรรเสริญพระทั้งหมด ได้แก่ พวกสังฆมนตรี ( Canons)  นักพรตชายและนักพรตหญิง กับนักบวชประเภทไม่ใช้นักพรตแต่ต้องสวดพร้อมกันในโบสถ์ตามกฎหรือวินัยของคณะ

ข.พวกที่ต้องทำวัตรสรรเสริญพระเพียงบางส่วนที่บังคับโดยกฎทั่วไปหรือกฎพิเศษ ได้แก่ พวกสังฆมนตรีประจำอาสนวิหารหรือวัดที่ไม่มีพระสังฆราช ( Cathedral or Collegiate Chapters)

ค.แต่สมาชิกทุกคนของคณะเหล่านี้ซึ่งได้รับศีลบวชชั้นสูง หรือได้ทำการปฎิญาณอย่างสง่า ยกเว้นนักบวชที่ทำหน้าที่นอกอาราม ( lay brothers) ต้องสวดบทภาวนาประจำชั่วโมงที่กฎพระศาสนจักรกำหนดเป็นการส่วนตัว ถ้าไม่สวดพร้อมกันในโบสถ์

๙๖.  นักบวชที่ไม่ต้องสวดพร้อมกันในโบสถ์ ถ้าได้รับศีลบวชชั้นสูงแล้ว มีพันธะต้องสวดบท      ทำวัตรสรรเสริญพระทั้งหมดทุกวัน โดยสวดกับคนอื่นหรือสวดคนเดียวก็ได้ ตามที่บัญญัติในข้อ ๘๙.

๙๗.  การประกอบพิธีกรรมแทนการสวดทำวัตรสรรเสริญพระ จะกำหนดในกฎจารีต

ในกรณีพิเศษและโดยมีเหตุผลสมควร ประมุขท้องที่มีอำนาจจะยกเว้นให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ต้องสวดทำวัตรสรรเสริญพระบางส่วนหรือทั้งหมด หรือเปลี่ยนให้ทำอย่างอื่นแทนก็ได้

๙๘.  สมาชิกของสถาบันใด ๆ ที่มุ่งถือความดีพร้อม ถ้าทำวัตรสรรเสริญพระเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งตามกฎของคณะ ก็ถือว่าได้ทำการภาวนาส่วนรวมของพระศาสนจักร

เช่นเดียวกันให้ถือว่าเขาทำการภาวนาส่วนรวมของพระศาสนจักร ถ้าเขาสวดบททำวัตรสรรเสริญพระแบบสั้น  ตามวินัยของคณะ แต่บททำวัตรนั้นจะต้องแต่งตามรูปของบททำวัตรสรรเสริญพระและต้องได้รับการรับรอง

๙๙.  เนื่องจากบททำวัตรสรรเสริญพระเป็นเสียงของพระศาสนจักร คือเป็นเสียงของพระกายทิพย์ทั้งหมดซึ่งถวายการสรรเสริญส่วนรวมแด่พระเป็นเจ้า จึงเป็นการสมควรที่นักบวชซึ่งไม่จำเป็นต้องสวดพร้อมกันในโบสถ์ และโดยเฉพาะพระสงฆ์ที่อยู่ร่วมกันเป็นคณะหรือพบปะกันชั่วคราว จะสวดบททำวัตรสรรเสริญพระร่วมกันอย่างน้อยสักส่วนหนึ่ง

แต่บรรดาผู้ที่สวดบททำวัตรสรรเสริญพระเช่นนี้  โดยสวดพร้อมกันในโบสถ์ก็ดี หรือ สวดร่วนกันก็ดี ควรจะทำหน้าที่ที่ได้รับนี้อย่างดีที่สุด ไม่ว่าในด้านความศรัทธาภายในหรือในด้านการปฏิบัติภายนอก

นอกจากนั้น การสวดบททำวัตรสรรเสริญพระ ไม่ว่าจะเป็นการสวดพร้อมกันในโบสถ์ หรือเป็นการสวดร่วมกันควรจะทำเป็นแบบขับร้อง เมื่อทำได้

๑๐๐. ผู้อภิบาลสัตบุรุษควรเอาใจใส่ให้มีการประกอบพิธีบทสวดประจำยามสำคัญ เป็นต้น ทำวัตรเย็น (เวสเปรัส) ในวันอาทิตย์และในวันฉลองใหญ่ ขอแนะเตือนฆราวาสให้สวดบททำวัตรสรรเสริญพระโดยสวดร่วมกับพระสงฆ์ หรือสวดในหมู่พวกเดียวกันเอง หรือจะสวดคนเดียวก็ได้

๑๐๑ ( ๑) ตามประเพณีของจารีตลาตินที่ถือในการสวดบททำวัตรสรรเสริญพระเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระสงฆ์ต้องใช้ภาษาลาติน ทั้งนั้นก็ดี  สำหรับกรณีพิเศษเป็นราย ๆ ประมุขท้องที่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้ใช้คำแปลเป็นภาษาพื้นเมืองซึ่งแต่งโดยถือตามข้อ ๓๖ สำหรับพระสงฆ์ที่ถ้าใช้ภาษา       ลาตินก็จะไม่สามารถทำวัตรสรรเสริญพระได้อย่างสมควร

( ๒ ) สำหรับนักพรตหญิงและสมาชิกของสถาบันที่มุ่งถือความดีพร้อม จะเป็นหญิงก็ดี หรือเป็นชายที่ไม่เป็นพระสงฆ์ก็ดี ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจจะอนุญาตให้ใช้ภาษาพื้นเมืองในการทำวัตรสรรเสริญพระ แม้จะเป็นการประกอบพิธีในโบสถ์ก็ได้ แต่คำแปลนั้นต้องเป็นคำแปลที่ได้รับการรับรอง

( ๓ ) พระสงฆ์ที่ต้องทำวัตรสรรเสริญพระ ถ้าได้สวดเป็นภาษาพื้นเมืองร่วมกับสัตบุรุษหมู่หนึ่ง หรือกับบุคคลที่ระบุในอนุเฉท (๒ ) ข้างต้นนี้ ก็ถือว่าได้ปฎิบัติหน้าที่ของตนแล้ว แต่คำแปลนั้นจะต้องเป็นคำแปลที่ได้รับการรับรอง