หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การเผยของพระเป็นเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
การแพร่ธรรมของฆราวาส เล่ม 2

บทที่  3 : ศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ และสิ่งคล้ายศีล

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม

๕๙.  จุดประสงค์ของศีลศักดิ์สิทธิ์คือทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ สร้างพระกายของพระคริสตเจ้าและถวายคารวกิจแด่พระเป็นเจ้า ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายภายนอก ศีลศักดิ์สิทธิ์ยังมีบทบาทสอนเราด้วย ผู้รับศีลต้องมีความเชื่ออยู่แล้ว ความเชื่อนั้น ศีลศักดิ์สิทธิ์หล่อเลี้ยงบำรุงและแสดงออกมาด้วยถ้อยคำและสิ่งวัตถุ เพราะเหตุนี้จึงเรียกศีลศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นศีลแห่งความเชื่อ จริงอยู่ ศีลศักดิ์สิทธิ์ประทานพระหรรษทาน แต่นอกจากนี้ การประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์ยังเตรียมใจสัตบุรุษอย่างดี ที่สุดให้รับพระหรรษทานอย่างเกิดผล ให้ถวายคารวกิจแด่พระเป็นเจ้าและให้บำเพ็ญความรัก

เพราะฉะนั้น  เป็นการสำคัญอย่างยิ่งยวดที่สัตบุรุษจะต้องเข้าใจเครื่องหมายภายนอกของ       ศีลศักดิ์สิทธิ์โดยง่ายและจะต้องมีในร้อนรนที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อย ๆ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต     คริสตชน

๖๐.  นอกจากนั้น  พระศาสนจักร ได้ตั้งสิ่งคล้ายศีลไว้ สิ่งคล้ายศีลคือเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคล้ายกับศีลศักดิ์สิทธิ์ หมายถึงผล—เฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายวิญญาณ ซึ่งได้มาด้วยการเสนอของ              พระศาสนจักร อาศัยสิ่งคล้ายศีลนี้มนุษย์เตรียมพร้อมที่จะรับผลสำคัญของศีลศักดิ์สิทธิ์  และ             เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตก็ศักดิ์สิทธิ์ไป

๖๑.  เพราะฉะนั้น พิธีกรรมของศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลจึงบังเกิดผลดังนี้คือ สำหรับสัตบุรุษที่เตรียมตัวดี เหตุการณ์เกือบทุกอย่างในชีวิตของเขาก็ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า ซึ่งสืบเนื่องมาจากรหัสธรรมปัสกา มหาทรมานการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า เพราะฤทธิ์ของศีลศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งคล้ายศีลทุกประการมาจากพระองค์ ดังนี้การใช้สิ่งของวัตถุอย่างถูกต้องจึงมุ่งไปยังความศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์และการสรรเสริญพระเป็นเจ้า

๖๒.  แต่เมื่อปฏิบัตินานเข้า ก็มีส่วนประกอบบางอย่างแทรกเข้าไปในจารีตของศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีล ทำให้เราในสมัยนี้เข้าใจลักษณะและจุดหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลยากขึ้น จึงจำเป็นต้องทำการปรับปรุงบางอย่างให้เหมาะสมกับความต้องการในสมัยเรานี้ สภาสังคายนาจึงบัญญัติเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขไว้ดังต่อไปนี้

๖๓.  เพราะเหตุว่า บ่อยทีเดียว ในการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลนั้น  การใช้ภาษาพื้นเมืองอาจมีประโยชน์มากสำหรับสัตบุรุษ จึงให้ใช้ภาษาพื้นเมืองมากขึ้น โดยถือกฎเกณฑ์ต่อไปนี้

( ก )  ในการประกอบศีลและสิ่งคล้ายศีล ให้ใช้ภาษาพื้นเมืองได้ตามข้อ ๓๖

( ข )  หนังสือจารีตพิเศษที่ปรับปรุงตามหนังสือจารีตโรมันที่ออกใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องที่รวมทั้งในเรื่องภาษาด้วยนั้น ให้เจ้าหน้าที่พระศาสนจักรประจำท้องที่ตามที่กล่าวในข้อ ๒๒.๒ ในสังฆธรรมนูญนี้ จัดทำขึ้นโดยเร็วที่สุด เมื่อพระสันตสำนักได้ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ใช้หนังสือเหล่านี้ในท้องที่ที่เกี่ยวข้อง ในการแต่งหนังสือจารีตหรือประมวลจารีตพิเศษเหล่านี้         อย่าละเว้นที่จะลงคำอธิบายที่มีอยู่หน้าจารีตต่าง ๆ ในหนังสือจารีตโรมัน ไม่ว่าคำอธิบายจะเกี่ยวกับการอภิบาลสัตบุรุษหรือเกี่ยวกับกฎจารีต หรือมีความสำคัญเป็นพิเศษในด้านสังคม

๖๔.  ให้รื้อฟื้นการเรียนคำสอนของผู้ใหญ่  ซึ่งแบ่งเป็นหลายชั้น และจะต้องปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของสมณะประมุขท้องที่โดยวิธีนี้     เวลาเรียนคำสอนซึ่งกำหนดไว้สำหรับการอบรมอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยจารีตที่ประกอบเป็นระยะ

๖๕.  ในประเทศมิสซัง มีบางชาติที่มีพิธีเข้าศาสนาของตนใช้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จะรับเอาบางส่วนในจารีตที่มีใช้อยู่ในแต่ละชาติ มารวมกับจารีตเตรียมตัวรับศีลล้างบาปที่มีอยู่แล้วในประเพณี        คริสตชนก็ได้  ขอแต่ให้เอามาดัดแปลงให้เข้ากับจารีตคริสตชน ทั้งนี้โดยถือตามข้อ ๓๗–๔๐ ใน        สังฆธรรมนูญนี้

๖๖.  ให้แก้ไขจารีตสำหรับพิธีล้างบาปผู้ใหญ่ทั้งสองแบบทั้งแบบธรรมดาและแบบสง่า โดยคำนึงถึงความรื้อฟื้นแบบเรียนคำสอนขึ้นใหม่ ให้เพิ่มมิสซาเฉพาะ “ สำหรับการประกอบพิธีล้างบาป” ไว้ในหนังสือมิสซาโรมัน

๖๗.  ให้แก้ไขจารีตสำหรับพิธีล้างบาปเด็กเล็ก ๆ โดยปรับปรุงให้เข้ากับสภาพแท้จริงของเด็กอ่อน นอกจากนั้น บทบาทของพ่อแม่และของพ่อแม่ทูนหัว ตลอดจนหน้าที่ของเขาจะต้องบ่งให้เห็นชัดในจารีตนั้นเอง

๖๘.  จารีตล้างบาป จะต้องมีหลายแบบซึ่งสมณะประมุขท้องทที่จะพิจารณาเลือกใช้ได้ในกรณีที่มีคนรับศีลล้างบาปเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ให้แต่งจารีตแบบสั้นไว้สำหรับผู้สอนคำสอนและ       สัตบุรุษทุกคนโดยทั่วไป  เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศมิสซังจะได้ใช้ เมื่อมีใครใกล้จะตายและไม่มี        พระสงฆ์หรืออนุสงฆ์

๖๙.  แทนที่จารีตที่เรียกว่า “ แบบแผนที่ต้องปฎิบัติเพิ่มเติมจารีตที่ละเว้นไม่ได้ทำในการล้างบาปเด็ก “ ให้แต่งจารีตใหม่ซึ่งบอกอย่างชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้นว่า เด็กนั้นซึ่งได้รับศีลล้างบาปก่อนด้วยจารีตแบบสั้น  ได้เข้าอยู่ในพระศาสนจักรแล้ว
เช่นเดียวกัน ให้แต่งจารีตใหม่สำหรับผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปอย่างถูกต้องแล้วกลับใจมาเป็นคาทอลิก เพื่อแสดงโดยจารีตนี้ว่าเขาเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรอย่างสมบูรณ์

๗๐.  นอกจากในกำหนดปัสกา จะเสกนำสำหรับล้างบาปในเวลาประกอบพิธีล้างบาปเองก็ได้ โดยใช้สูตรแบบสั้นที่ได้รับการเห็นชอบแล้ว

๗๑.  ให้แก้ไขจารีตของศีลกำลังด้วย เพื่อแสดงให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการฝึกอบรมตามหลักพระคริสตธรรมทั้งหมดอย่างไร เพราะฉะนั้นก่อนรับศีลกำลังควรมีการรื้อฟื้นคำปฏิญาณที่เคยกระทำเวลารับศีลล้างบาป

จะประกอบศีลกำลังในระหว่างมิสซาก็ได้ เมื่อเห็นควรให้แต่งสูตรที่ต้องใช้เป็นบทนำสำหรับการประกอบศีลนี้นอกมิสซา

๗๒. ให้แก้ไขจารีตและสูตรของศีลแก้บาปในทำนองที่แสดงลักษณะและผลของศีลนี้อย่าง      แจ่มชัดยิ่งขึ้น

๗๓.  “ ศีลทาสุดท้าย “ ซึ่งยังเรียกได้ถูกต้องกว่าว่า “ ศีลเจิมคนไข้ “ นั้น ไม่ใช้ศีลสำหรับคนที่ใกล้จะตายจริง ๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อสัตบุรุษเริ่มอยู่ในขั้นอันตรายจะตายเพราะเจ็บป่วยหรือเพราะวัยชรา ก็นับได้ว่าถึงเวลาสมควรจะรับศีลนี้แล้ว

๗๔.  นอกจากจารีตของศีลเจิมคนไข้และศีลเสบียงซึ่งแยกกันอยู่แล้ว ให้แต่งจารีตใหม่อีกแบบหนึ่ง ให้คนไข้รับศีลแก้บาปก่อนแล้วรับศีลเจิม ที่สุดรับศีลเสบียงติดต่อกัน

๗๕.  การเจิมน้ำมันศีลศักดิ์สิทธิ์คนไข้นั้น จะกระทำกี่ครั้งก็แล้วแต่โอกาส ให้แก้ไขบทสวดเกี่ยวกับจารีตศีลเจิมคนไข้ให้เหมาะสมกับสภาพต่าง ๆ ของคนไข้ที่รับศีลนี้

๗๖.  ให้แก้ไขจารีตของการบวชขั้นต่าง ๆ ทั้งจารีตและถ้อยคำ โอวาทของพระสังฆราชเวลาเริ่มการบวชหรือการอภิเษกทุกครั้ง จะกล่าวเป็นภาษาพื้นเมืองก็ได้

ในการอภิเษกพระสังฆราช  อนุญาตให้พระสังฆราชที่มาร่วมการอภิเษกทุกองค์ปกมือได้

๗๗.  จารีตศีลกล่าว ซึ่งมีอยู่ในหนังสือจารีตโรมัน ให้แก้ไขและทำให้สมบูรณ์ เพื่อแสดงให้เห็นพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น กับให้เน้นถึงหน้าที่ของคู่บ่าวสาวมากยิ่งขึ้น

“ ถ้าในการประกอบพิธีศีลกล่าว ท้องที่ใดเคยใช้ประเพณีและพิธีอื่นที่ควรยกย่อง สภาสังคายนา นี้ก็ปรารถนาอย่างยิ่งให้รักษาประเพณีและพิธีเหล่านั้นไว้

นอกจากนี้ สมณะผู้มีอำนาจประจำท้องที่ตามที่กล่าวในข้อ ๒๒.๒  ของสังฆธรรมนูญนี้ มีอำนาจตามข้อ ๖๓ ที่จะแต่งจารีตของตนขึ้นโดยเฉพาะให้เข้ากับประเพณีท้องที่และชนชาติต่าง ๆ และจารีตต้องถือตามกฎหมายที่ว่าพระสงฆ์ที่อยู่ในพิธีนั้นต้องเป็นผู้ถามและรับความสมัครใจของผู้รับ          ศีลกล่าวทั้งสองฝ่าย

๗๘.  โดยปกติให้ประกอบศีลกล่าวในระหว่างมิสซา เมื่ออ่านพระวรสารและเทศน์แล้ว ก่อนจะสวดบท “ ภาวนาของสัตบุรุษ “ บทภาวนาอุทิศแก่เจ้าสาวที่แก้ไขเพื่อเน้นให้เห็นว่าคู่บ่าวสาวมีหน้าที่เสมอกันที่จะต้องซื่อสัตย์ต่อกันและกันนั้น จะสวดเป็นภาษาพื้นเมืองก็ได้

ถ้าประกอบศีลกล่าวโดยไม่มีมิสซา ให้อ่านบทจดหมายและบทพระวรสารของมิสซาศีลกล่าวเมื่อเริ่มจารีต และจะต้องมีการอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาวเสมอทุกครั้ง

๗๙. ให้แก้ไขสิ่งคล้ายศีลต่าง ๆ โดยคำนึงถึงหลักการเบื้องต้น คือ ให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมได้โดยง่าย โดยมีความเข้าใจซาบซึ้งและอย่างแข็งขัน และต้องคำนึงถึงความต้องการในยุคของเราด้วยในการแก้ไขหนังสือจารีตต่าง ๆ ตามข้อ ๖๓. จะเพิ่มสิ่งคล้ายศีลใหม่อีกก็ได้ ตามความต้องการ

การอวยพรที่สงวนไว้ ให้มีแต่จำนวนน้อย และให้สงวนไว้เฉพาะสำหรับพระสังฆราชหรือสมณะประมุขท้องที่เท่านั้น ให้กำหนดว่า ฆราวาสซึ่งมีคุณสมบัติสามารถประกอบสิ่งคล้ายศีลบางอย่างได้อย่างน้อยในกรณีพิเศษและโดยการวินิจฉัยของสมณะประมุขท้องที่

๘๐. จารีคถวายตัวของหญิงพรหมจารี ซึ่งมีอยู่ในหนังสือจารีตโรมันของพระสังฆราชนั้น ให้       แก้ไขใหม่
นอกจากนั้น ให้แต่งจารีตสำหรับนักบวชทำปฏิญาณหรือรื้อฟื้นการปฏิญาณ จารีตนี้ต้องมีเนื้อความเป็นหนึ่งเดียวโดยตลอดราบเรียบ และสง่ายิ่งขึ้น ผู้ที่ทำปฎิญาณหรือรื้อฟื้นการปฎิญาณในระหว่างมิสซาจะต้องถือจารีตนี้ ทั้งนี้ไม่นับผู้ที่มีสิทธิพิเศษเป็นอย่างอื่น

การปฏิญาณเป็นนักบวช ควรกระทำในระหว่างมิสซาดีกว่า

๘๑.  จารีตปลงศพ จะต้องแสดงให้เห็นลักษณะปัสกาแห่งความตายแบบคริสตชนอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น และจะต้องเหมาะกับกรณีแวดล้อมและประเพณีของแต่ละท้องถิ่นยิ่งขึ้น แม้แต่ในเรื่องสีที่ใช้ในพิธีกรรมด้วย
๘๒.  จารีตปลงศพเด็กเล็ก จะต้องแก้ไขใหม่ และให้มีมิสซาเฉพาะสำหรับจารีตนี้