หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การเผยของพระเป็นเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
การแพร่ธรรมของฆราวาส เล่ม 2

บทที่  2 : รหัสธรรมศักดิ์สิทธิ์ของศีลมหาสนิท

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม

๔๗. ในการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย  คืนที่มีผู้ทรยศพระองค์ พระผู้ไถ่ของเราทรงตั้งสักการบูชาพระกายและพระโลหิตของพระองค์เป็นการสรรเสริญและขอบพระคุณ พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ เพื่อให้การถวายบูชาบนกางเขนดำรงอยู่ตลอดไปทุกศตวรรษ จนกว่าพระองค์จะเสด็จมาอีก และเพื่อมอบอนุสรณ์การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระองค์ไว้แก่พระศาสนจักร เจ้าสาวที่รักยิ่งของพระองค์ อนุสรณ์นี้เป็นศีลแห่งความรัก เครื่องหมายแห่งเอกภาพ  สายสัมพันธ์แห่งความรักเมตตากรุณา เป็นการเลี้ยงปัสกา ซึ่งคริสตชนรับพระคริสตเจ้าเป็นอาหาร จิตใจเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน และเป็นการรับรองว่าเราจะได้สิริโรจนาการในอนาคต

๔๘.  เพราะฉะนั้น พระศาสนจักร จึงปรารถนาอย่างร้อนรนที่จะให้สัตบุรุษร่วมในรหัสธรรมแห่งความเชื่อนี้มิใช่เหมือนคนแปลกหน้า หรือคนที่ดูอย่างเงียบ ๆ แต่ปรารถนาให้สัตบุรุษเข้าใจจารีตและบทภาวนาอธิษฐานอย่างดี แล้วจะได้ร่วมในกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างซาบซึ้งศรัทธาและแข็งขัน จะได้รับการอบรมโดยฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า และชุบเลี้ยงตัวด้วยพระกายของพระเจ้า จะได้ขอบพระคุณพระเป็นเจ้า เมื่อถวายเครื่องบูชาอันปราศจากมลทิน มิใช่ด้วยมือพระสงฆ์เท่านั้น แต่โดยร่วมจิตใจกับพระสงฆ์ด้วย สัตบุรุษจะได้หัดถวายตัวแก่พระเป็นเจ้า และสนิทสนมกลมเกลียวระหว่างกันเองยิ่งวันยิ่งทวีขึ้น เพื่อในที่สุด—พระเป็นเจ้าจะได้เป็นทุกสิ่งสำหรับทุกคน

๔๙.  เพราะฉะนั้น เพื่อให้การถวายบูชามิสซาเกิดผลอย่างเต็มที่แก่สัตบุรุษแม้แต่ในจารีตภายนอก สภาสังคายนา จึงตั้งกฎต่อไปนี้ โดยคำนึงถึงมิสซาซึ่งถวายโดยมีสัตบุรุษมาร่วม เฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์ และวันฉลองที่บังคับ

๕๐. ให้แก้หนังสือจารีตมิสซาในทำนองให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า ภาคต่าง ๆ ในมิสซาแต่ละภาคมีลักษณะและจุดประสงค์โดยเฉพาะอย่างไร และเกี่ยวโยงถึงกันอย่างไร เพื่อให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมอย่างศรัทธาและแข็งขันยิ่งขึ้น
โดยเหตุนี้ ให้ตรวจแก้ไขจารีตต่าง ๆ ให้เป็นแบบง่าย ๆ แต่รักษาแก่นสำคัญของจารีตไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนใดของจารีตที่กระทำมานานเข้า เลยทำซ้ำสองทีหรือเพิ่มเติมโดยมีประโยชน์น้อยก็ให้ตัดทิ้งเสีย จารีตบางอย่างที่เสื่อมสูญไปเพราะความผันแปรของกาลสมัย  ก็ให้รื้อฟื้นขึ้นมาใช้ใหม่อย่างมีชีวิตชีวาเช่นในสมัยปิตาจารย์ เท่าที่เห็นว่าเหมาะสมหรือจำเป็น

๕๑.  เพื่อให้สัตบุรุษได้ฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้าโดยเป็นผลดียิ่งขึ้น  ให้เอาพระคัมภีร์มาอ่านให้สัตบุรุษฟังมากยิ่งขึ้น  แล้วดังนี้ ภายในจำนวนปีที่กำหนด   สัตบุรุษก็จะได้ฟังพระคัมภีร์ตอนที่สำคัญ ๆ จนหมด

๕๒.  ตลอดปีพิธีกรรม เวลาเทศน์ พระสงฆ์ใช้พระคัมภีร์อธิบายรหัสธรรมแห่งความเชื่อ และกฎแห่งชีวิตพระคริสตธรรม ฉะนั้น จึงขอกำชับอย่างแข็งแรงให้มีการเทศน์จากพระคัมภีร์ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเอง  ยิ่งกว่านั้นในพิธีมิสซาที่มีสัตบุรุษมาร่วมในวันอาทิตย์ และในวันฉลองที่บังคับ การเทศน์จะงดเสียไม่ได้ นอกจากมีเหตุผลสำคัญ

๕๓ . “ บทภาวนาพร้อมกัน “ หรือเรียกว่า “ บทภาวนาของสัตบุรุษ “ ให้รื้อฟื้นขึ้นมาสวดใหม่หลังพระวรสารและการเทศน์ เฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์หรือในวันฉลองที่บังคับ ทั้งนี้เพื่อว่าจะได้ร่วมกับประชาสัตบุรุษภาวนาอธิษฐานอุทิศให้พระศาสนจักร ผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมือง ผู้ที่ทนทุกข์ทรมานต่าง ๆ ตลอดจนมนุษย์ทุกคนและเพื่อความรอดของโลกทั้งหมด ( ๑ ทธ. ๒ : ๑-๒ )

๕๔.  ให้ใช้ภาษาพื้นเมืองได้อย่างพอเหมาะในมิสซาที่ถวายโดยมีสัตบุรุษมาร่วม เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบทอ่านและบทภาวนาพร้อมกัน และตามสภาพของท้องที่ ยังใช้ได้ในส่วนที่เป็นของสัตบุรุษตามข้อ ๓๖ ของสังฆธรรมนูญนี้

อย่างไรก็ดี  ควรพยายามให้สัตบุรุษสวดหรือขับร้องลำดับของมิสซาตอนที่เป็นของสัตบุรุษพร้อมกันเป็นภาษาลาตินได้ด้วย

ถ้าที่ใดเห็นสมควรใช้ภาษาพื้นเมืองในมิสซาอย่างกว้างขวางกว่านี้ ก็ให้ถือตามกฎบัญญัติไว้ในข้อ ๔๐ แห่งสังฆธรรมนูญนี้

๕๕.  ขอกำชับอย่างแข็งแรงให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในมิสซาในแบบที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรับ           พระกายของพระคริสตเข้าด้วยปังที่เสกในมิสซาเดียวกัน เมื่อพระสงฆ์รับศีลแล้ว

พระสังฆราช อาจพิจารณาอนุญาตให้ผู้ที่เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์หรือนักบวชตลอดจนฆราวาส รับศีลใต้รูปปรากฎทั้งปังและน้ำองุ่นได้ ตามกรณีที่พระสันตสำนักจะกำหนด เช่น ผู้ที่บวชใหม่อาจรับศีลเช่นนี้ในมิสซาที่เขาได้รับศีลบวช ผู้ที่ทำปฏิญาณถวายตัว อาจรับศีลเช่นนี้ในมิสซาที่เขาปฏิญาณเป็นนักบวช และผู้รับศีลล้างบาปอาจรับศีลเช่นนี้ในมิสซาหลังจากพิธีล้างบาปของเขา ทั้งนี้ โดยยึดหลักพระสัจจธรรมซึ่งพระสังคายนาที่เมืองเตรนท์วางไว้

๕๖.  ภาคสำคัญสองภารที่ประกอบเป็นมิสซาขึ้น คือ ภาควจนพิธีกรรมและภาคศีลมหาศีลสนิทนั้น  มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดจนนับรวมเป็นคารวกิจอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นสภาสังคายนาจึงขอเตือนผู้ดูแลสัตบุรุษอย่างแข็งแรงให้อบรมสัตบุรุษว่า ต้องร่วมพิธีมิสซาแต่ต้นจนจบ เฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์และวันฉลองที่บังคับ

๕๗.  ( ๑ ) การประกอบพิธีมิสซาร่วมกันที่แสดงเอกภาพของสังฆภารอย่างเหมาะสมยิ่งนั้น  ยังคงใช้อยู่ในพระศาสนจักรจนทุกวันนี้ ทั้งภาคตะวันออกและภาคตะวันตก เพราะฉะนั้น สภาสังคายนา จึงขอขยายสิทธิที่จะประกอบพิธีมิสซาร่วมกันในกรณีต่อไปนี้

๑ . ก . ในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์  ทั้งในมิสซาเสกน้ำมันคริสมาและในมิสซาเวลาเย็น
ข.ในมิสซาที่ประกอบพิธีในการประชุมสภาสังคายนา ในการประชุมพระสังฆราชและในการประชุมของสังฆมณฑล

ค.ในมิสซาอภิเษกอธิการอารามฤาษี

๒. นอกจากนั้น ให้ทำได้โดยขออนุญาตจากสมณะประมุขท้องที่ซึ่งมีหน้าที่จะพิจารณาว่า การประกอบพิธีมิสซาร่วมกันจะเหมาะสมหรือไม่

ก.ในมิสซาของคณะฤาษีและในมิสซาเอกของวัด เพื่อประโยชน์ของสัตบุรุษไม่ต้องการให้พระสงฆ์ที่มาร่วมต่างองค์ต่างประกอบพิธี

ข.ในมิสซาของที่ประชุมทุกชนิดของพระสงฆ์ ไม่ว่าพระสงฆ์ที่เป็นนักพรตหรือไม่เป็นนักพรต
( ๑ ) เป็นหน้าที่ของพระสังฆราชที่จะควบคุมและออกวินัยเกี่ยวกับการประกอบพิธีมิสซาร่วมกันในสังฆมณฑลของตน

( ๒ ) อย่างไรก็ตาม ให้พระสงฆ์ทุกองค์ต่างมีสิทธิเสรีภาพที่จะประกอบพิธีมิสซาต่างหากองค์เดียวเสมอ แต่ไม่ใช่ในเวลาเดียวกันในวัดที่มีประกอบพิธีมิสซาร่วมกันและในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์
๕๘. ให้แต่งจารีตใหม่สำหรับการประกอบพิธีมิสซาร่วมกัน และให้ใส่แทรกไว้ในหนังสือจารีตของพระสังฆราชและในหนังสือมิสซาจารีตโรมัน