หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การเผยของพระเป็นเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
การแพร่ธรรมของฆราวาส เล่ม 2

บทที่  1 : หลักการทั่วไปเกี่ยวกับการฟื้นฟูและส่งเสริมพิธีกรรม ( ตอนที่ 3-5)

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม

ตอน ๓. การปรับปรุงแก้ไขพิธีกรรม

๒๑.  เพื่อให้คริสตประชากรได้รับพระหรรษทานอย่างอุดมและแน่นอนยิ่งขึ้นจากพิธีกรรม         พระศาสนจักรผู้เป็นมารดามีความประสงค์ที่จะทำการฟื้นฟูพิธีกรรมทั่ว ๆ ไป ด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างมาก พิธีกรรมประกอบด้วยส่วนที่พระเป็นเจ้าทรงกำหนดจึงเปลี่ยนแปลงมิได้ และประกอบด้วยส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้นี้มิใช่เป็นสิ่งที่อาจจะเปลี่ยน แต่ว่าต้องเปลี่ยนตามสมัยที่เปลี่ยนไปแล้ว หากปรากฎว่าได้รับความเสียหายบกพร่องเพราะมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเนื้อแท้ของพิธีกรรมแทรกเข้ามา หรือว่าแต่ก่อนก็ดีอยู่แต่แล้วกลับไม่เหมาะสม

ในการฟื้นฟูพิธีกรรมนี้ ให้ร่างทั้งตัวบทและจารีตขึ้นมาให้ทั้งสองอย่างนี้แสดงอย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้นถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หมายถึงบรรดาคริสตชนเท่าที่สามารถจะทำได้ ควรจะสามารถเข้าใจตัวบทและจารีตอย่างง่ายดาย และสามารถร่วมในจารีตอย่างเต็มที่ด้วยกิจกรรมและอย่างเหมาะสมกับชุมนุมคริสตชน

เพราะฉะนั้น สภาสังคายนา จึงกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ดังต่อไปนี้

( ก )  กฎเกณฑ์ทั่วไป

๒๒ ( ๑ )  การออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับพิธีกรรมขึ้นเป็นอำนาจของพระศาสนจักรแต่ผู้เดียว กล่าวคือ เป็นอำนาจของพระสันตะสำนัก และ ตามที่กฏหมายกำหนดเป็นอำนาจของพระสังฆราช

๒๒   ( ๒ ) ด้วยอำนาจที่ได้มาโดยกฎหมาย ข้อบังคับสำหรับพิธีกรรมภายในขอบเขตที่จำกัดบางประการ  ขึ้นอยู่กับสภาสังฆราชที่มีอำนาจในท้องที่ประเภทต่าง ๆ และตั้งขึ้นโดยชอบด้วย           กฏหมาย

๒๒ ( ๓ ) เพราะฉะนั้น บุคคลอื่น – แม้จะเป็นพระสงฆ์ก็ตาม จะเพิ่ม ตัดออก หรือ          เปลี่ยนแปลงสิ่งใดในพิธีกรรมด้วยอำนาจของตนเองหาได้ไม่

๒๓. เพื่อรักษาธรรมประเพณีที่ดีไว้ แต่ก็เปิดทางไว้สำหรับการก้าวหน้าอันชอบต่อไป ให้ทำการสอบสวนอย่างเอาใจใส่แต่ละส่วนของพิธีกรรมที่จะต้องแก้ไขนั้นเสมอ การสอบสวนตรวจตรานี้จะต้องกระทำในด้านเทวศาสตร์ ประวัติศาสตร์   และการอภิบาลวิญญาณ นอกจากนั้นจะต้องพิจารณากฎทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างและความหมายของพิธีกรรมพร้อมกับประสบการณ์ที่ได้มาจากการฟื้นฟู       พิธีกรรมที่ทำไปแล้วไม่นานมานี้ และจากอนุญาตพิเศษที่พระสันตะสำนักออกให้แก่สถานที่ต่าง ๆ          ที่สุดอย่าริเริ่มอะไรใหม่นอกจากว่าคุณงามความดีของพระศาสนจักรอย่างแท้จริงและแน่นอน  ในการริเริ่มนี้ต้องเอาใจใส่ให้แบบใหม่ ๆ นี้งอกออกมากลมกลืนกับแบบที่มีอยู่แล้ว

เท่าที่จะทำได้—ควรหลีกเลี่ยงด้วยความเอาใจใส่มิให้จารีตต่าง ๆ ที่ใช้ในเขตต่าง ๆ ใกล้เคียงนั้นแตกต่างกันมากเกินไป

๒๔.  พระคัมภีร์สำคัญอย่างยิ่งในการประกอบพิธีกรรมเพราะว่าพระคัมภีร์เป็นที่มาของบทอ่านต่าง ๆ ที่ใช้อ่านและอธิบายคำเทศน์และเพลงสดุดีที่ใช้ขับร้อง คำภาวนาอธิษฐาน บทวิงวอน             เพลงขับร้องในพิธีกรรม ล้วนเอาเนื้อความที่เตือนใจมาจากพระคัมภีร์ทั้งสิ้น กิจกรรมและสัญญลักษณ์สำคัญต่างๆ ก็ได้ความหมายมาจากพระคัมภีร์ด้วย ดังนี้ เพื่อความสำเร็จในการแก้ไขพิธีกรรมให้ดีดังเดิมในการส่งเสริมพิธีกรรมให้ก้าวหน้า และในการปรับปรุงให้เหมาะสม ก็จำเป็นต้องส่งเสริมความรักอันอบอุ่นและมีชีวิตจิตใจต่อพระคัมภร์ซึ่งธรรมประเพณีอันน่าเคารพของจารีตตะวันออกและตะวันตกยืนอยู่แล้ว

๒๕.  ให้แก้ไขหนังสือ จารีตต่าง ๆ โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ให้ใช้ผู้เชียวชาญทำงานนี้ และให้ปรึกษาหารือบรรดาพระสังฆราชในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

( ข ) กฎเกณฑ์ที่ได้จากลักษณะของพิธีกรรมในด้านฐานานุกรมและในด้านคริสตชน ทั่วไป

๒๖. พิธีกรรมมิใช่กิจกรรมของส่วนบุคคล แต่เป็นกิจกรรมของพระศาสนจักร ซึ่งเป็น “ ศีลแสดงความเป็นหนึ่ง “ กล่าวคือ ประชากรศักดิ์สิทธิ์รวมกันเป็นหนึ่งเดียวและจัดตั้งขึ้นภายใต้อำนาจของบรรดาพระสังฆราชของเขา

เพราะฉะนั้น พิธีกรรมจึงเป็นของพระศาสนจักรทั้งหมดแสดงพระศาสนจักร และมีผลถึง           พระศาสนจักร แต่พิธีกรรมเกี่ยวข้องกับสมาชิกแต่ละคนของพระศาสนจักรในทำนองต่าง ๆ กัน ตามตำแหน่งหน้าที่และวิธีร่วมพิธีกรรมซึ่งต่างกันไป

๒๙.  ต้องเน้นให้รู้ว่า ทุกครั้งที่จารีตต่าง ๆ ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละจารีต อนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน โดยให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมด้วยแล้ว ให้ประกอบพิธีกรรมร่วมกันเช่นนี้ดีกว่าที่จะให้แต่ละคนทำเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ เท่าที่จะทำได้

กฎนี้ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น ในเมื่อเป็นการถวายมหาบูชามิสซาและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่ามิสซาทุกมิสซาในตัวเองจะมีลักษณะเป็นพิธีกรรมสำหรับประชาชนและสังคมอยู่แล้วก็ตาม

๒๘.  ในพิธีกรรม แต่ละคน ทั้งผู้ประกอบพิธีและฆราวาสซึ่งมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติ ต้องทำหน้าที่นั้นทั้งหมด และเฉพาะหน้าที่นั้น ซึ่งเป็นของตนตามลักษณะของจารีตและตามหลักการของพิธีกรรม

๒๙.  ผู้ช่วยพิธี ผู้อ่าน ผู้อธิบาย และคณะนักขับร้อง ต่างมีส่วนในพิธีกรรมอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเขาควรจะทำหน้าที่ของเขาด้วยความศรัทธาโดยจริงใจและด้วยความเรียบร้อยเหมาะกับศาสนบริการอันสูงส่งและกับที่ประชากรของพระเป็นเจ้าอย่างถูกต้องที่จะให้เขาปฎิบัติ

ด้วยเหตุนี้ บุคคลเหล่านี้ทุกคนจะต้องเปี่ยมด้วยจิตตารมณ์ของพิธีกรรม แต่ละคนตามส่วนที่เหมาะสมกับตน และเขาต้องได้รับการอบรมให้ทำหน้าที่ของเขาอย่างถูกต้องและมีระเบียบ

๓๐.  เพื่อส่งเสริมให้มีการร่วมพิธีกรรมด้วยกิจกรรมจริง ควรเร้าใจสัตบุรุษให้มีส่วนในการร้องรับ การตอบ การขับร้องเพลงสดุดี บทอันติวณา antiphons  บทเพลงต่าง ๆ รวมทั้งกิจการอากัปกิริยาและอิริยาบถของร่างกาย และให้ทุกคนนิ่งเงียบด้วยความเคารพในเวลาอันควร

๓๑.  เมื่อจะตรวจแก้ไขหนังสือพิธีกรรม ให้เอาใจใส่กวดขันให้กฎจารีตกำหนดบทบาทของ        สัตบุรุษไว้ด้วย
๓๒.  พิธีกรรมกำหนดบุคคลทั้งหลายให้แตกต่างกันไปตามหน้าที่ในพิธีกรรมและขั้นศีลบวช กฎพิธีกรรมยังให้เกียรติอันควรแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง  นอกจากกรณีเหล่านี้แล้ว ในพิธีกรรมไม่ต้องให้เกียรติพิเศษแก่เอกชนใด ๆ หรือบุคคลชั้นใด ๆ เลย ไม่ว่าในจารีตหรือในการตกแต่งภายนอก

( ค ) กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นตามลักษณะของพิธีกรรมในด้านอบรมและอภิบาลสัตบุรุษ

๓๓.  แม้ว่าพิธีกรรม – ก่อนอื่นหมด – เป็นการนมัสการพระบรมเดชานุภาพของพระเป็นเจ้า      พิธีกรรมก็ให้อบรมแก่สัตบุรุษเป็นอันมากด้วย เหตุว่าในพิธีกรรม พระเป็นเจ้าตรัสแก่ประชากรของพระองค์และพระคริสตเจ้ายังประกาศข่าวดีของพระองค์ สัตบุรุษก็ตอบพระเป็นเจ้าด้วยการร้องเพลงและการอธิษฐานภาวนา

ยิ่งกว่านั้น คำอธิษฐานภาวนา ซึ่งพระสงฆ์ผู้เป็นประธานที่ประชุมแทนพระคริสตเจ้าเสนอต่อพระเป็นเจ้านั้น พระสงฆ์กล่าวในนามของประชากรศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด และในนามของผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้นทุกคน ที่สุด หมายสำคัญที่แลเห็นได้ซึ่งพิธีกรรมใช้หมายถึงสิ่งที่แลเห็นไม่ได้ของพระเป็นเจ้านั้น        พระคริสตเจ้าหรือพระศาสนจักรเป็นผู้เลือก ดังนั้น มิใช่เฉพาะเมื่อเราอ่าน “สิ่งที่เขียนไว้เพื่ออบรมสอนเรา “ (รม. ๑๕ :๔ )เท่านั้น แต่เมื่อพระศาสนจักรภาวนา ขับร้อง หรือประกอบกิจกรรม ความเชื่อของบรรดาผู้ที่มาร่วมพิธีก็ได้รับการเลี้ยงบำรุง จิตใจของเขาขึ้นไปหาพระเป็นเจ้าเพื่อถวายความนอบน้อมเคารพฝ่ายจิตใจ และได้รับพระคุณของพระองค์อย่างอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น  เมื่อจะปรับปรุงแก้ไขพิธีกรรม ให้ถือกฎเกณฑ์ทั่วไปดังต่อไปนี้

๓๔.  จารีตจะต้องเป็นแบบที่ง่าย ๆ และน่าเลื่อมใส สั้น ชัดเจน ไม่มีการกระทำซ้ำไปซ้ำมาที่ไม่มีประโยชน์และทำให้ยุ่งยากไปเปล่า ๆ จารีตต้องง่ายพอที่จะให้ประชาชนเข้าใจได้ และตามธรรมดาไม่ต้องมีคำอธิบายเท่าไรนัก

๓๕.  เพื่อให้วาจาและจารีตปรากฎชัดว่าสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

( ๑ ) ในพิธีกรรมจะต้องมีบทอ่านจากพระคัมภีร์มากกว่ามีแบบต่าง ๆ และเหมาะสม

( ๒ ) เนื่องด้วยการเทศน์เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม จึงเป็นการดีที่จะกำหนดไว้ในจารีตเองเท่าที่ลักษณะของจารีตจะอำนวยว่าเวลาใดเหมาะสมที่สุดสำหรับเทศน์ การเทศน์เป็นศาสนบริการที่จะต้องกระทำอย่างถูกต้องเรียบร้อยที่สุดและด้วยความสัตย์ซื่อ  นอกจากนั้นเนื้อหาคำเทศน์ส่วนใหญ่จะต้องเอามาจากพระคัมภีร์และพิธีกรรม และจะต้องเป็นแบบประกาศกิจการอันน่าพิศวงของ         พระเป็นเจ้าในประวัติศาสตร์แห่งความรอด รหัสธรรมของพระคริสตเจ้าซึ่งยังเป็นปัจจุบันและทำงานในเราอยู่เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งในเวลาประกอบพิธีกรรม

( ๓ )  ควรให้การอบรมที่เกี่ยวกับพิธีกรรมโดยตรงมากกว่าแก่สัตบุรุษโดยวิธีต่าง ๆ ด้วย ถ้าจำเป็นพระสงฆ์หรือผู้ประกอบพิธีเองอาจจะให้คำอธิบายสั้น ๆ ในระหว่างกระทำจารีตนั้นเองก็ได้ แต่จะต้องให้คำอธิบายนี้เฉพาะในเวลาที่เหมาะสม และใช้ถ้อยคำที่มีอยู่ในจารีตแล้ว หรือคล้าย ๆ กัน

( ๔ ) ควรจะสนับสนุนให้มีพิธีอ่านพระคัมภีร์ โดยเฉพาะวันก่อนสมโภชใหญ่ ๆ วันธรรมดาบางวันในเทศกาลพระคริสตาคมและมหาพรต วนอาทิตย์และวันฉลองต่าง ๆ ควรใช้พิธีนี้โดยเฉพาะในสถานที่ที่ไม่มีพระสงฆ์ ในกรณีเช่นนี้ให้มีสังฆานุกรหรือผู้หนึ่งที่ได้รับอำนาจจากพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีอ่านพระคัมภีร์

๓๖. ( ๑ ) ให้ใช้ภาษาลาตินในจารีตลาติน เว้นแต่ผู้มีสิทธิพิเศษเป็นอย่างอื่น

  ( ๒ )  แต่ถึงกระนั้น ในมิสซาก็ดี ในการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์ก็ดี ในส่วนอื่นของพิธีกรรมก็ดี การใช้ภาษาพื้นเมืองอาจมีประโยชน์แก่สัตบุรุษบ่อยๆ ฉะนั้น ให้ใช้ภาษาพื้นเมืองได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในการอ่านและการบอกกฎปฏิบัติ ในบทภาวนาและบทเพลงบางบท ทั้งนี้ โดยถือตามกฎซึ่งบัญญัติขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทต่อๆ ไป เป็นเรื่อง ๆ

( ๓ ) เมื่อถือกฎเกณฑ์เหล่านี้แล้ว เป็นหน้าที่ของสมณะผู้มีอำนาจประจำท้องที่ตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๒๒ ( ๒ ) ที่จะกำหนดว่า จะใช้ภาษาพื้นเมืองหรือไม่ และจะใช้อย่างไร คำสั่งของสมณะผู้มีอำนาจจะต้องได้รับการเห็นชอบ หรืออีกนัยหนึ่งการรับรองจากพระสันตสำนัก หากจำเป็น ก็ให้สมณะผู้มีอำนาจนี้ปรึกษากับบรรดาพระสังฆราชในท้องที่ใกล้เคียงที่ใช้ภาษาเดียวกันนั้นด้วย

( ๔ ) คำแปลจากภาษาลาตินเป็นภาษาพื้นเมืองสำหรับใช้ในพิธีกรรม ต้องได้รับการเห็นชอบจากสมณะผู้มีอำนาจประจำที่นั้นดังกล่าวแล้วข้างบนนี้

( ง )กฎเกณฑ์สำหรับปรับปรุงพิธีกรรมให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและประเพณีของ     ชนชาติต่าง ๆ

๓๗. ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อหรือคุณประโยชน์ของประชาคมทั้งหมด พระศาสนจักร ไม่ปรารถนาจะบังคับให้ปฎิบัติแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด แม้ในเรื่องพิธีกรรม ตรงกันข้าม พระศาสนจักร เคารพและส่งเสริมความสามารถดีเด่นและคุณวุฒิของชนชาติต่าง ๆ สิ่งใดในขนบธรรมเนียมของเขาที่ไม่เกี่ยวกับการถือนอกรีตและการเชื่อถือผิด ๆ อย่างเด็ดขาดแล้ว พระศาสนจักรก็ยินดีนิยม         ยกย่อง และถ้าทำได้—ก็ช่วยบำรุงรักษาไว้ให้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้นพระศาสนจักรยังรับเข้ามาใช้ในพิธีกรรมของตนเอง ถ้าขนบธรรมเนียมนั้นกลมกลืนกับจิตตารมณ์แท้จริงของพิธีกรรม

๓๘.  เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขหนังสือพิธีกรรม ให้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าสำหรับการดัดแปลงและปรับปรุงพิธีกรรมให้เหมาะกับกลุ่มชนต่าง ๆ เขตแคว้นต่าง ๆ และชนชาติต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศมิสซัง ขอแต่ให้รักษาจารีตโรมันไว้ให้เป็นหนึ่งเดียวในแก่นสำคัญเท่านั้น เมื่อมีการวางโครงร่างจารีตและตั้งกฎจารีต ก็ให้คำนึงถึงข้อนี้ด้วย

๓๙.  ภายในขอบเขตที่มีกำหนดไว้ในหนังสือพิธีกรรม ซึ่งพิมพ์เป็นแบบมาตรฐาน ให้เป็นหน้าที่ของสมณะผู้มีอำนาจประจำท้องที่กล่าวถึงในข้อ ๒๒ อนุเฉท ๒. ที่จะกำหนดเรื่องการปรับปรุงพิธีกรรมให้เหมาะสม เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์ สิ่งคล้ายศีล การแห่ ภาษาที่ใช้ในพิธีกรรม ดนตรีทางศาสนา และศิลปกรรม ทั้งนี้ โดยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ซึ่งมีอยู่ในสังฆธรรมนูญนี้

๔๐.  แต่เนื่องจากในสถานที่บางแห่งและในบางกรณีจำเป็นต้องปรับปรุงพิธีกรรมอย่างกว้างขวางมากกว่า ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น จึงขอให้ปฎิบัติดังนี้

( ๑ )  สมณะผู้มีอำนาจประจำท้องที่ตามที่กล่าวไว้ ข้อ ๒๒ อนุเฉท ๒ จะต้องพิจารณาอย่างเอาใจใส่และรอบคอบดูว่า มีสิ่งใดในประเพณีและวัฒนธรรมของชนแต่ละชาติ ที่จะนำมาใช้ในคารวกิจต่อพระเป็นเจ้าได้บ้าง การปรับปรุงใด ๆ ที่เห็นว่ามีประโยชน์หรือจำเป็น จะต้องเสนอให้พระสันตสำนักอนุมัติเห็นชอบก่อน จึงจะใช้ได้

( ๒ ) เพื่อให้ทำการปรับปรุงนี้ด้วยความรอบคอบเท่าที่ควร พระสันตสำนักจะให้อำนาจแก่สมณะผู้มีอำนาจประจำท้องที่เดียวกันนี้ ที่จะอนุญาตและควบคุมการทดลองเบื้องต้นในกลุ่มคนบางกลุ่มภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้
( ๓ ) เพราะเหตุว่า ตามปกติ กฎพิธีกรรมมักประสบความยุ่งยากพิเศษหลายประการเกี่ยวกับการปรับปรุงเป็นต้นในประเทศมิสซัง ฉะนั้น ในการตั้งกฎพิธีกรรม ควรใช้บุคคลที่มีความ      เชี่ยวชาญในเรื่องนี้

ตอน ๔ . การส่งเสริมชีวิตพิธีกรรมในสังฆมณฑลและในท้องที่วัด

๔๑. ต้องถือว่าพระสังฆราชเป็นมหาสมณะปกครองฝูงชุมพาของท่าน ชีวิตของสัตบุรุษในพระคริสตเจ้าหลั่งไหลมาจากพระสังฆราชและขึ้นอยู่กับท่าน

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมีความเคารพอย่างสูงต่อชีวิต พิธีกรรมของสังฆมณฑล ซึ่งมี                พระสังฆราชเป็นศูนย์กลาง เฉพาะอย่างยิ่งในอาสนวิหารของท่าน ทุกคนต้องตระหนักแน่ว่า                  พระศาสนจักร แสดงตัวเองอย่างเด่นชัดยิ่ง ในเมื่อประชากรศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดของพระเป็นเจ้ามาร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสักการบูชาขอบพระคุณเดียวกัน ในการภาวนาอธิษฐานอันเดียวกัน         ณ พระแท่นเดียวกัน ในการภาวนาอธิษฐานอันเดียวกัน ณ พระแท่นเดียวกัน ที่พระสังฆราชเป็นประธาน แวดล้อมด้วย  คณะสงฆ์และผู้ช่วยอื่น ๆ ของท่าน
๔๒.  เนื่องด้วยพระสังฆราชไม่สามารถเป็นประธานในพิธีกรรมสำหรับฝูงชุมพาทั้งหมดในอาสนวิหารของท่าน พระสังฆราช จึงต้องตั้งกลุ่มสัตบุรุษที่เล็กกว่าขึ้นหลาย ๆ กลุ่ม กลุ่มสัตบุรุษที่สำคัญที่สุดก็คือ กลุ่มวัดต่าง ๆ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามท้องที่ต่าง ๆ และอยู่ในปกครองของเจ้าอาวาส ซึ่งทำหน้าที่แทนพระสังฆราช เพราะนับได้ว่าวัดเหล่านี้แสดงพระศาสนจักรที่แลเห็นได้ ซึ่งตั้งอยู่ทั่วโลก
 
เพราะฉะนั้น ต้องส่งเสริมชีวิตพิธีกรรมในท้องที่วัดและความสัมพันธ์ของชีวิตพิธีกรรมนั้นกับ      พระสังฆราชทั้งในด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติของสัตบุรุษและคณะสงฆ์ ทั้งยังต้องพยายามส่งเสริมให้สัตบุรุษในท้องที่วัดนั้นรู้สึกว่าเป็นหมู่คณะเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งในการร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์

ตอน ๕ การส่งเสริมการอภิบาลสัตบุรุษในด้านพิธีกรรม


๔๓.  เป็นการถูกต้องที่จะถือว่า ความกระตือรือร้นที่จะฟื้นฟูพิธีกรรมและแก้ไขให้ดีดังเดิมนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระเป็นเจ้าทรงเอาพระทัยสอดส่องสมัยเรา และเป็นพระจิต ซึ่งดำเนินงานในพระศาสนจักรของพระองค์ ความกระตือรือร้นนี้เป็นเครื่องหมายที่เด่นชัดถึงชีวิตของพระศาสนจักร ตลอดจนทัศนคติของแนวความคิดและกิจกรรมทางศาสนาในสมัยปัจจุบัน

เพื่อส่งเสริมการอภิบาบสัตบุรุษในด้านพิธีกรรมนั้นให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น สภาสังคายนา จึงบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

๔๔.  ควรอย่างยิ่งที่สมณะผู้มีอำนาจประจำท้องที่ตามที่กล่าวในข้อ ๒๒ อนุเฉท ๒ จะแต่งตั้งคณะกรรมการพิธีกรรมขึ้นโดยมีผู้เชี่ยวชาญในวิชาพิธีกรรม ดนตรี ศาสนา ศิลปกรรม และการอภิบาลสัตบุรุษ คอยช่วยเหลือเท่าที่สามารถจะทำได้ ให้คณะกรรมการนี้รับความช่วยเหลือจากสถาบันพิธีกรรมเกี่ยวกับการอภิบาลสัตบุรุษ คณะกรรมการนี้ต้องประกอบด้วยสมาชิกบางคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ รวมทั้งฆราวาสด้วยความเหมาะสมกับกรณี ภายใต้การแนะนำของสมณะผู้มีอำนาจประจำท้องที่ซึ่งกล่าวแล้วข้างต้น คณะกรรมการนี้มีหน้าที่ที่จะควบคุมแนะนำการอภิบาลสัตบุรุษในด้านพิธีกรรมทั่วเขตในปกครอง และต้องส่งเสริมการศึกษาและการทดลองที่จำเป็น ทุกครั้งที่มีเรื่องการปรับปรุงที่จะต้องเสนอพระสันตสำนักพิจารณา

๔๕.  ด้วยเหตุผลอันเดียวกัน ทุกสังฆมณฑลจะต้องมีคณะกรรมการพิธีกรรม ภายใต้การ           ควบคุมแนะนำของพระสังฆราชเพื่อส่งเสริมการแพร่ธรรมในด้านพิธีกรรม

บางครั้ง อาจเป็นการเหมาะสมที่หลาย ๆ สังฆมณฑล  จะตั้งคณะกรรมการชุดเดียวสำหรับ      ส่งเสริมพิธีกรรมโดยทำงานร่วมกัน

๔๖.  นอกจากคณะกรรมการพิธีกรรมแล้ว ทุกสังฆมณฑลควรจะมีคณะกรรมการดนตรีศาสนา และคณะกรรมการศิลปศาสนาเท่าที่สามารถจะทำได้

เป็นการจำเป็นที่คณะกรรมการทั้งสามชุดจะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ที่จริงบ่อยครั้ง ควรอย่างยิ่งที่จะรวมคณะกรรมการทั้งสามคณะเดียวเท่านั้น