หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การเผยของพระเป็นเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
การแพร่ธรรมของฆราวาส เล่ม 2

บทที่  1 : หลักการทั่วไปเกี่ยวกับการฟื้นฟูและส่งเสริมพิธีกรรม ( ตอนที่ 1-2)

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 พระสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม

ตอน ๑ . ลักษณะสำคัญของพิธีกรรมในชิตของพระศาสนจักร

๕. พระเป็นเจ้า “ ผู้ทรงปรารถนาให้มนุษย์ทั้งหลายรอดและมารู้ความจริง “ ( ๑ ทธ. ๒ : ๔ ) และ “ หลายต่อหลายวาระมาแล้วในอดีต และหลายต่อหลายวิธีด้วยกัน พระเป็นเจ้าได้ตรัสแก่      บรรพบุรุษของเราทางประกาศก “ (ฮบ.๑:๑ ) ครั้นครบเวลากำหนด พระองค์ทรงส่งพระบุตรของพระองค์ คือพระวจนาถผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และได้รับการเจิมของพระจิต ให้มาประกาศข่าวดีแก่             ผู้ยากจน รักษาดวงใจที่ปวดร้าวให้หาย (อสย. ๖๑:๑ ลก ๔: ๑๘ ) เป็น “ โอสถรักษากายและใจ “       (นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันตีโอเกีย ) และเป็นคนกลางระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษย์ ( ๑ ทธ. ๒:๕ ) เพราะมนุษยภาพของพระองค์ซึ่งร่วมสนิทกับพระบุคคลภาพของพระวจนาถได้เป็นเครื่องมือไถ่มนุษย์ให้รอด เพราะฉะนั้น- ในพระคริสตเจ้า – “ เราจึงคืนดีกับพระเป็นเจ้าได้ และเราสามารถนมัสการ          พระองค์ได้อย่างสมบูรณ์”

งานอันน่าพิศวง ที่พระเป็นเจ้าทรงกระทำท่ามกลางประชากรในพันธสัญญาเดิมนั้น เป็นแต่การเบิกทางสำหรับงานของพระคริสตเจ้าในการไถ่มนุษยชาติและถวายเกียรติมงคลแก่พระเป็นเจ้าอย่างบริบูรณ์ พระคริสตเจ้าทรงทำงานของพระองค์สำเร็จโดยเฉพาะอาศัยรหัสธรรมปัสกา อันได้แก่มหาทรมาน การกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย และการเสด็จขึ้นสวรรค์อย่างรุ่งโรจน์ เดชะรหัสธรรมนี้             “พระองค์ทรงทำลายความตายของเราด้วยการสิ้นพระชนม์ และทรงคืนชีวิตให้เราด้วยการกลับคืนชีพ“ (บทถวายสดุดีวันปัสกา ) เพราะว่า “ พระศาสนจักร ทั้งหมดซึ่งเป็นหมายสำคัญอันน่าพิศวง “ เกิดจากพระปรัศว (สีข้าง ) ของพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์บนกางเขน

๖. เช่นเดียวกับที่พระบิดาทรงส่งพระคริสตเจ้ามา พระคริสตเจ้า ก็ทรงส่งบรรดอัครธรรมฑูตซึ่งเปี่ยมด้วยพระจิต ไปประกาศข่าวดี ทั้งนี้ เพื่อว่าอัครธรรมฑูต – เมื่อไปประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน    ( มก. ๑๖ :๕ ) จะได้ประกาศว่าพระบุตรของพระเป็นเจ้า เดชะการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระองค์ ก็ทรงช่วยให้เราเป็นอิสระพ้นจากอำนาจของปีศาจและพ้นจากความตาย นำเราเข้า          อาณาจักรของพระบิดาของพระองค์ นอกจากนี้พระคริสตเจ้ายังมีพระประสงค์ที่จะให้บรรดาอัครธรรมฑูตทำให้งานไถ่มนุษย์ให้รอดที่เขาประกาศนั้น ได้ลุผลสำเร็จอาศัยการถวายสักการบูชาและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชีวิตแห่งพิธีกรรมทั้งหมด ดังนี้ อาศัยศีลล้างบาป- มนุษย์จมลงในรหัสธรรมปัสกาของพระคริสตเจ้า เขาตายกับพระองค์ ถูกฝังกับพระองค์ และกลับคืนชีพกับพระองค์       (รม. ๖:๔, อฟ.๒ : ๖, คส. ๓:๑ , ทธ. ๒ :๑๑ ) เขาได้รับจิตตารมณ์บุตรบุญธรรม “ อาศัยจิตตารมณ์นี้ เราจึงร้องว่า อับบา- ข้าแต่พระบิดา (รม. ๘ : ๑๕ ) และดังนี้ ก็ได้เป็นผู้นมัสการแท้ที่พระบิดาเจ้าทรงแสวงหา (ดู ยน. ๔ : ๒๓ ) ในทำนองเดียวกัน ทุกครั้งที่เขารับประทานอาหารค่ำตามแบบพระเจ้า เขาก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา (ดู ๑ คร. ๑๑ :๒๖ ) เพราะเหตุนี้ในวันพระจิตตาคมนั้นเอง เมื่อพระศาสนจักรปรากฎต่อหน้าโลก “ บรรดาผู้ที่เชื่อฟังคำ “ ของเปโตร “ จึงได้รับศีลล้างบาป “ และ “ เขาแสดงตัวเป็นผู้หมั่นเพียรมาฟังคำสอนของบรรดาอัครธรรมฑูตมาร่วมในพิธีหักปังและสวดภาวนา “ . . . เขาสรรเสริญพระเป็นเจ้าและได้ความนิยมนับถือของบุคคลทั่วไป            ( กจ. ๒:๔๑ -๔๗ ) นับตั้งแต่นั้นมา พระศาสนจักรมิได้เคยละเว้นที่จะมาชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีรหัสธรรมปัสกา มีการอ่านเรื่องต่าง ๆ “ ที่มีกล่าวถึงพระองค์ในพระคัมภีร์ทั้งหมด “ (ลก. ๒๔ :๒๗ ) มีการประกอบพิธีสักการบูชาขอบพระคุณ ซึ่งทำให้ “ ชัยชนะของการสิ้นพระชนม์ของพระองค์กลับเป็นปัจจุบันอีก “ ในเวลาเดียวกันก็มีการขอบพระคุณ “ พระเป็นเจ้าเพราะของประทานอันประเสริฐสุดพรรณนา “ ( ๒ คร.๙ : ๑๕ ) ในพระคริสตเยซู “ เพื่อสรรเสริญพระเกียรติมงคลของพระองค์ “ (อฟ. ๑ :๑๒ ) เดชะอานุภาพของพระจิตเจ้า

๗. เพื่อทำงานอันใหญ่ยิ่งนี้ - พระคริสตเจ้า สถิตในพระศาสนจักรของพระองค์เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งในเวลาประกอบพิธีกรรม พระองค์สถิตในพิธีสักการบูชามิสซา ในตัวของผู้ประกอบพิธี               “ พระองค์นั้นเองแต่ก่อนถวายพระองค์บนกางเขน บัดนี้ก็เป็นผู้ถวายอาศัยศาสนกิจของพระสงฆ์ “ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์สถิตอยู่ภายใต้รูปปรากฎของศีลมหาสนิท พระองค์สถิตอยู่ในศีล     ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ด้วยฤทธานุภาพของพระองค์ถึงขนาดว่า เมื่อใครคนหนึ่งทำพิธีล้างบาป ก็เป็น          พระคริสตเจ้าเองที่ทรงกระทำพิธีล้างบาป พระองค์สถิตอยู่ในพระวาจาของพระองค์ เพราะเป็น         พระองค์ที่ตรัส เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร ที่สุดพระองค์สถิตอยู่อ้วย เมื่อพระศาสนจักรภาวนาและขับร้องสดุดี เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า “ ที่ใดมีคนสองสามคนประชุมกันในนามของเรา เราก็อยู่ที่นั่นท่ามกลางเขา “ (มธ. ๑๘:๒๐ )

ที่จริงพระคริสตเจ้าให้พระศาสนจักรมีส่วนร่วมกับพระองค์เสมอในการประกอบพระราชกิจอันใหญ่ยิ่งนี้ ซึ่งถวายพระเกียรติมงคลแด่พระเป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์ และให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์
พระศาสนจักร เป็นเจ้าสาวสุดรักซึ่งร้องหาพระสวามีเจ้า และถวายนมัสการพระบิดาเจ้าผู้สถิตนิรันดรโดยทางพระองค์

ดังนั้น จึงเป็นการถูกต้องที่จะถือว่าพิธีกรรมเป็นการปฎิบัติหน้าที่สงฆ์ของพระเยซูคริสตเจ้า ในพิธีกรรม – มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยหมายสำคัญที่เห็นได้ และในทำนองที่ตรงกับหมายสำคัญแต่ละอย่าง ในพิธีกรรมพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า – กล่าวคือ องค์ผู้ทรงเป็นศีรษะและบรรดาผู้เป็นอวัยวะของพระองค์- เป็นผู้ประกอบประชาคารวกิจทั้งหมด

ดังนั้น เป็นอันว่าการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง – เนื่องด้วยเป็นกิจการของพระคริสตสงฆ์ และของพระกายของพระองค์ คือ พระศาสนจักร จึงเป็นกิจการศักดิ์สิทธิ์เลิศกว่ากิจการอื่น ๆ ทั้งปวง ไม่มีกิจการอื่นใดของพระศาสนจักรจะเสมอเหมือนในประสิทธิภาพ

๘. ในพิธีกรรมที่ประกอบบนแผ่นดินนี้ เรามีส่วนในการลิ้มรสล่วงหน้าในพิธีกรรมแห่งสวรรค์ซึ่งประกอบในนครเยรูซาเล็มศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นจุดหมายการเดินทางของเราในฐานะผู้จาริก ในนครเยรูซาเล็มนี้ พระคริสตเจ้า ประทับอยู่เบื้องขวาพระเป็นเจ้า ทรงเป็นผู้ประกอบศาสนกิจในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง และทรงเป็นพลับพลาอันแท้จริง (ดู วว. ๒๑ : ๒ , คล . ๓ : ๑ , ฮบ. ๘ : ๒  ) เราขับร้องเพลงสรรเสริญพระสิริโรจนาการของพระเจ้า พร้อมกับนักรบทั้งหลายในกองทัพสวรรค์ เมื่อเราแสดงความนับถือบรรดานักบุญที่ล่วงลับไปแล้ว เราก็หวังว่าจะร่วมความสุขและมิตรภาพกับท่าน เราตั้งหน้าตั้งตาคอยพระผู้ไถ่ –พระเยซูคริสต์พระเจ้าของเรา – จนกว่าพระองค์ – ผู้ทรงเป็นชีวิตของเรา จะปรากฎมา แล้วเราก็จะปรากฎในสิริโรจนาการกับพระองค์ด้วย (ดู ฟล.๓ : ๒๐ ,คล . ๓ :๔ )

๙. กิจกรรมทั้งหมดของพระศาสนจักรมิใช้มีเพียงแต่พิธีกรรมเท่านั้น ก่อนที่ใครจะมาร่วมพิธีกรรมได้ เขาก็ต้องได้รับการเรียกให้เชื่อและกลับใจเสียก่อน “ แต่จะเรียกหาพระองค์อย่างไรได้ ถ้ายังไม่เชื่อในพระองค์ ? และจะเชื่อในพระองคืได้อย่างไรถ้าไม่ได้ยินพูดถึงพระองค์ ? และจะได้ยินพูดถึง      พระองค์ได้อย่างไรถ้าไม่มีใครไปประกาศ? และจะประกาศอย่างไรถ้าไม่มีใครใช้คนไปประกาศ ? “                (รม. ๑๐ :๑๔ -๑๕ )

เพราะฉะนั้น พระศาสนจักร จึงประกาศข่าวดีว่าความรอดมาถึงแล้ว แก่บรรดาผู้ยังไม่เชื่อเพื่อให้มนุษย์ทุกคนจะได้รู้จักพระเป็นเจ้าแท้และพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งพระองค์ทรงส่งมา ดังนี้เขาจะได้เปลี่ยนความประพฤติโดยทำการใช้โทษบาป (ดูยวง ๑๗ : ๓ , ลก. ๒๔ :๒๗ , กจ. ๒ :๓๘ ) พระศาสนจักร ยังต้องเทศน์สั่งสอนผู้ที่มีความเชื่อแล้วให้เขื่อและทำการใช้โทษบาปต่อไปอีก พระศาสนจักร ต้องเตรียมให้เขารับศีลศักดิ์สิทธิ์ สอนเขาให้ถือตามทุกสิ่งทุกอย่างที่พระคริสตเจ้าทรงสั่ง พระศาสนจักร ต้องเชิญชวนเขาให้กระทำกิจเมตตา กิจศรัทธา และการแพร่ธรรมทุกอย่างด้วยว่ากิจการเหล่านี้ทั้งหมดแสดงให้เห็นชัดว่า คริสตชนมิได้เป็นของโลกนี้ก็จริง แต่ก็ต้องเป็นความสว่างของโลก และต้องถวายพระเกียรติมงคลแด่พระบิดาเจ้าต่อหน้ามนุษย์

๑๐.  ถึงกระนั้นก็ดี พิธีกรรมอันเป็นยอดสูงสุดที่กิจกรรมของพระศาสนจักรมุ่งไปถึง ในเวลาเดียวกันพิธีกรรมก็เป็นบ่อเกิดที่ฤทธิ์กำลังทั้งหมดของพระศาสนจักรหลั่งไหลออกมา เพราะงานแพร่ธรรมทุกชนิดมีจุดหมายและวัตถุประสงค์ที่จะให้บรรดาผู้ที่ได้มาเป็นบุตรของพระเป็นเจ้าอาศัยความเชื่อและศีลล้างบาปแล้วนั้น จะได้มาชุมนุมกันสรรเสริญพระเป็นเจ้าท่ามกลางพระศาสนจักรของพระองค์ มาร่วมการถวายสักการบูชาและรับประทานอาหารค่ำตามแบบพระเจ้า

ส่วนพิธีกรรมก็นำสัตบุรุษ ซึ่งเปี่ยมด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ปัสกาแล้วนั้น ให้ “ เป็นหนึ่งเดียวกันในความศักดิ์สิทธิ์ “ (บทหลังรับศีลอาทิตย์ปัสกา) ในพิธีกรรมมีคำภาวนาขอให้ “ สัตบุรุษดำรงชีวิตโดยยึดมั่นในสิ่งที่เขาได้รับโดยความเชื่อ “ บทภาวนาของที่ชุมนุมประจำมิสซาวันอังคายอัฐมวารปัสกา )                   ในศีลมหาสนิท การรื้อฟื้นพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ก็ดึงดูดสัตบุรุษให้เข้ามาในความรักอันเร่งเร้าของพระคริสตเจ้าและจุดไฟแห่งความรักให้ลุโพลงในใจเขา ดังนั้นพระหรรษทานจึงหลั่งลงมาเหนือเราจากพิธีกรรม เฉพาะอย่างยิ่งจากศีลมหาสนิทซึ่งเป็นบ่อเกิดของพระหรรษทาน การทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ในพระคริสตเจ้า และการถวายพระเกียรติมงคลแก่พระเจ้า ซึ่งเป็นจุดหมายของ           กิจกรรมอื่นทั้งปวงของพระศาสนจักรจึงลุความสำเร็จในทำนองที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

๑๑.  เพื่อว่าพิธีกรรมจะได้บังเกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จำเป็นที่สัตบุรุษจะต้องมาร่วมพิธีกรรมด้วยสภาพจิตใจอันเหมาะสม จิตใจของเขาจะต้องประสานเข้ากับเสียงของเขา และเขาจะต้องร่วมมือกับพระหรรษทาน มิฉะนั้นแล้วเขาจะรับพระหรรษทานโดยเปล่าประโยชน์ (ดู ๒ คร. ๖ :๑ ) เพราะฉะนั้นผู้อภิบาลสัตบุรุษต้องตระหนักว่า เมื่อประกอบพิธีกรรมนั้น กาถือตามกฎจารีตเพื่อมิให้พิธีกรรมเป็นโมฆะหรือเป็นบาปเท่านั้นหาพอไม่ เป็นหน้าที่ของเขาด้วยเหมือนกันที่จะให้เป็นที่แน่นอนว่าสัตบุรุษร่วมพิธีกรรมโดยรู้ดีว่าตัวกำลังทำสิ่งใด คือกำลังร่วมจารีตด้วยกิจกรรมของตนเองจริง ๆ และได้รับผลอย่างอุดมจากพิธีกรรมนั้น

๑๒.  อย่างไรก็ดี ชีวิตฝ่ายวิญญาณมิใช่จำกัดอยู่แต่ในการร่วมพิธีกรรมเท่านั้น คริสตชนยังได้รับการเชื้อเชิญให้ภาวนาอธิษฐานกับบรรดาพี่น้อง ทั้งยังเข้าไปในห้องส่วนตัวภาวนานมัสการพระบิดาเจ้าอย่างลับ ๆ อีกด้วย (ดู มธ. ๖: ๖ ) ยิ่งกว่านั้น ตามคำสั่งสอนของอัครธรรมฑูตเปาโล คริสตชนยังต้องภาวนาอธิษฐานมิหยุดหย่อน (ดู ๑ ธส. ๕ :๑๗ ) อัครธรรมฑูต เปาโลยังสอนเราอีกว่า เราต้องสำแดงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าในร่างกายของเราเสมอ เพื่อว่าชีวิตของพระเยซูเจ้าจะได้ปรากฏในร่างกายของเราด้วย (ดู ๒ คร. ๔ : ๑๐–๑๑ ) ด้วยเหตุนี้เราจึงวอนขอพระเจ้าในมหาบูชามิสซาว่า       “ เมื่อพระองค์ทรงรับเครื่องบูชาฝ่ายจิตเป็นของถวายแล้ว “ ขอพระองค์ทรงจัดตัวเราให้เป็น “ ของถวายนิรันดร “ สำหรับพระองค์ (บทภาวนาเหนือเครื่องบูชา ในมิสซาวันจันทร์อัฐมวารพระจิตตาคม)

๑๓ .กิจศรัทธาซึ่งพระคริสตประชากรนิยมปฏิบัตินั้น ควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างมาก ขอแต่ให้เป็นไปตามวินัยและกฎเกณฑ์ของพระศาสนจักร เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นกิจศรัทธาที่พระสันตะสำนักสั่งให้กระทำ
กิจศรัทธาที่เป็นของคริสตจักรต่าง ๆ แต่ละคริสตจักรนั้น ก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีเฉพาะของตนด้วยเหมือนกัน หากว่าปฎิบัติตามคำสั่งของพระสังฆราช โดยถือตามประเพณีหรือหนังสือที่ได้รับการเห็นชอบตามวินัย
แต่ควรจะจัดกิจศรัทธาเหล่านี้ให้สอดคล้องกับเทศกาลพิธีกรรมตรงกับพิธีกรรมและสืบเนื่องมาจากพิธีกรรมทางใดทางหนึ่ง และนำประชาชนไปยังพิธีกรรมอีกด้วย เพราะที่จริงพิธีกรรมในตัวเองก็ประเสริฐกว่ากิจศรัทธาใด ๆ ทั้งสิ้น

ตอน ๒. การส่งเสริมให้มีการอบรมพิธีกรรมและมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างแข็งขัน

๑๔.  พระศาสนจักรผู้เป็นมารดา ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะนำสัตบุรุษไปยังการร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่ โดยรู้ และโดยกิจกรรม  ลักษณะสำคัญของพิธีกรรมเองก็เรียกร้องให้ทำเช่นนี้ คริสตประชากรในฐานะที่เป็น “ ชาติที่ได้ทรงเลือกสรรไว้ เป็นราชสมเพศ เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่พระเป็นเจ้าทรงได้มา “ ( ๑ ปต.๒ : ๙ ดู ๒ :๔-๕ ) ก็มีสิทธิและหน้าที่อันเนื่องมาจากศีลล้างบาปที่จะร่วมใน พิธีกรรมเช่นนั้น

การฟื้นฟูและส่งเสริมพิธีกรรมต้องมีจุดประสงค์ก่อนอื่นหมด ที่จะให้สัตบุรุษร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่และด้วยกิจกรรมจริง ๆ เพราะว่าพิธีกรรมเป็นบ่อเกิดแรกและจะเว้นเสียมิได้ซึ่งให้จิตตารมณ์แบบคริสตชนแท้แก่สัตบุรุษ เพราะฉะนั้นบรรดาผู้มีอภิบาลสัตบุรุษจึงต้องพยายามด้วยความขยันขันแข็งที่จะลุถึงผลสำเร็จอันนี้ในงานปกครองวิญญาณทุกอย่างอาศัยการอบรมที่จำเป็น

ถึงกระนั้นก็ดี จะไม่มีหวังลุจุดประสงค์นี้ได้ นอกจากว่าบรรดาผู้อภิบาลสัตบุรุษเองจะเปี่ยมด้วยจิตตารมณ์ และฤทธิ์กำลังของพิธีกรรมก่อนใคร ๆ ทั้งหมด และลงมืออบรมคนอื่นในเรื่องนี้เพราะฉะนั้นความต้องการข้อแรกก็คือ ก่อนอื่นหมดให้เอาใจใส่ที่จะอบรมคณะสงฆ์เรื่องพิธีกรรม ด้วยเหตุนี้ สภาสังคายนาจึงบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้
๑๕. อาจารย์ที่มีหน้าที่สอนพิธีกรรมในสามเณราลัยสำนักศึกษาของนักบวช และคณะ               เทวศาสตร์ในมหาวิทยาลัย  ต้องได้รับการอบรมเป็นอย่างดีสำหรับหน้าที่นี้จากสถาบันที่เชี่ยวชาญในวิชานี้

๑๖. ให้กำหนดวิชาพิธีกรรมเป็นวิชาสำคัญและบังคับในสามเณราลัย และสำนักศึกษาของ        นักบวชและในคณะเทวศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ต้องถือว่าเป็นวิชาเอกวิชาหนึ่ง ทั้งยังต้องสอนวิชาพิธีกรรมในด้านเทวศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การอบรมวิญญาณ การอภิบาลวิญญาณ และในด้านกฎหมายด้วย ยิ่งกว่านั้น อาจารย์อื่น ๆ – เมื่อพยายามอธิบายรหัสธรรมของพระคริสตเจ้าและประวัติแห่ง                ความรอดในทัศนะเฉพาะของแต่ละวิชาที่ต่างคนต่างสอนแล้วยังต้องอธิบายในทำนองที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชาที่ตนสอนกับพิธีกรรม รวมทั้งความเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นพื้นฐานของการอบรมสงฆ์ อาจารย์เทวศาสตร์ แผนกสัจธรรม อบรมวิญญาณและอภิบาลสัตบุรุษ และอาจารย์พระคัมภีร์ต้องพิจารณาเรื่องนี้ซึ่งสำคัญสำหรับเขาเป็นพิเศษ

๑๗.  ในสามเณราลัยและสำนักนักบวช ผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์จะต้องได้รับการอบรมด้านพิธีกรรมเพื่อส่งเสริมชีวิตฝ่ายวิญญาณ ในการอบรมนี้เขาจะต้องได้รับการแนะนำอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าใจจารีตศักดิ์สิทธิ์ และร่วมจารีตด้วยจิตใจยินดีเต็มที่ เขายังต้องประกอบรหัสธรรมศักดิ์สิทธิ์เอง และปฎิบัติกิจศรัทธาที่สัตบุรุษนิยม ซึ่งดื่มด่ำไปด้วยจิตตารมณ์ของพิธีกรรม นอกจากนั้น เขาต้องฝึกถือกฎของพิธีกรรมเพื่อว่าชีวิตในสามเณราลัยและสำนักนักบวชจะได้รับการกล่อมเกลาให้มีจิตตารมณ์ของพิธีกรรมอย่างแท้จริง

๑๘.  พระสงฆ์ทั้งที่ถือวินัยนักบวชและไม่ถือวินัยนักบวชและออกปฏิบัติงานในสวนองุ่นของ   พระเจ้าแล้ว ต้องได้รับความช่วยเหลือด้วยวิธีอันเหมาะสมทุกอย่างเพื่อจะได้เข้าใจอย่างดีสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นว่าเขาทำอะไรเมื่อประกอบจารีตศักดิ์สิทธิ์ เขาต้องได้รับความช่วยเหลือให้ดำรงชีวิตตามพิธีกรรม และให้สัตบุรุษที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนนั้นได้ดำรงชีวิตตามจิตตารมณ์ของพิธีกรรมนั้นด้วย

๑๙.  บรรดาผู้อภิบาลวิญญาณต้องมีความร้อนรนและพากเพียรในการส่งเสริมอบรมสัตบุรุษในเรื่องพิธีกรรม และให้ร่วมพิธีกรรมด้วยกิจกรรมของตนจริง ๆ ทั้งในด้านจิตใจและภายนอกทั้งนี้โดยคำนึงถึงอายุ สภาพ ฐานะชีวิต และระดับความรู้ทางศาสนา หากผู้อภิบาลวิญญาณทำเช่นนี้ก็จะทำหน้าที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งสำเร็จในฐานะที่เป็นผู้แจกจ่ายรหัสธรรมของพระเป็นเจ้าอย่างสัตย์ซื่อ ในเรื่องนี้เขาต้องนำฝูงชุมพาของเขา มิใช่ด้วยคำพูดเท่านั้น – แต่ด้วยแบบอย่างที่ดีด้วย

๒๐.  การถ่ายทอดจารีตศักดิ์สิทธิ์ทางวิทยุ และโทรทัศน์นั้น ต้องทำด้วยความรอบคอยและมีเกียรติภายใต้การนำและควบคุมแนะนำของบุคคลที่มีความชำนาญ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากบรรดาพระสังฆราชเพื่อทำหน้าที่นี้ เรื่องนี้สำคัญเป็นพิเศษเมื่อจะถ่ายทอดมหาบูชามิสซา