หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ธรรมนูญด้านพระธรรม กล่าวถึง พระศาสนจักร
 “ Lumen Gentium “ เล่มที่ 1

โน้ตสำหรับการแปลในภาษาไทย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1.(1)นี่เป็นสูตรที่ใช้ในเอกสารพระสังคายนาทุกฉบับ ตลอดจนในเอกสารสำคัญอื่น ๆ  ของสมเด็จพระสันตะปาปา
-แทนคำ :  ทาสของพระเป็นเจ้า เราใช้ “เทวทาส” เพื่อความกระทัดรัด

(2)ธรรมนูญด้านการแพร่ธรรม  เราใช้แปลคำ ‘Constitutio Dogmatica’ คือธรรมนูญเกี่ยวกับพระธรรม หรือ “คำสอน”  นั่นเอง.

(3)อคาธัตถ์  (อ่าน อะคาทัด) เป็นคำที่ใช้ในหนังสืออธิบายคำสอน เป็นคำผูกขึ้นมาจาก อคาธ + อัตถ์ =  อคาธัตถ์  หมายถึงข้อความลึกซึ้งที่คนเราหยั่งไม่ถึง.  เราพิจารณาดูศัพท์ที่ใช้กันในสมัยหลัง ๆ นี้ว่า :  รหัสธรรม, รหัสยธรรม  ซึ่งแม้จะมีความหมายว่า ลี้ลับ,  ลึกซึ้ง แต่ก็ยังใช้ว่า เป็นสิ่งที่ลี้ลับสำหรับบางคน แต่ไม่ลี้ลับสำหรับอีกบางคน เช่น รหัสของตู้นิรภัย,  คนที่รู้รหัสแล้วมันไม่ลึกลับอีกต่อไป  จึงไม่อาจนำมาแปลศัพท์ ลาติน – กรีก Mysterium’ ‘Musterion ได้. เพราะศัพท์นี้ใช้ความหมายว่าเป็นอัตถ์ลึกซึ้ง  ซึ่งทีแรกเราไม่รู้ว่ามีอยู่ แต่ต่อมา เมื่อพระเป็นเจ้าโปรดไขแสดงแล้ว  เราก็ทราบว่ามีอยู่  แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร.

(4)ศักดิ์สิทธิการ  หมายความว่า “ผู้ทำความศักดิ์สิทธิ์”  เรานำศัพท์ใหม่นี้มาใช้แทนคำ “ศีลศักดิ์สิทธิ์”  ซึ่งเป็นคำใช้กันมาแต่โบราณ  เราจำใจต้องเปลี่ยน  เพราะมิฉะนั้นจะไม่มีใครเข้าใจความหมายของเอกสารในที่นี้  ที่ว่า  “พระศาสนจักรเป็นประหนึ่งศีลศักดิ์สิทธิ์”  ศีลศักดิ์สิทธิ์ =  บัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์, แต่ศัพท์ลาติน  Sacramantum หมายความถึงเครื่องหมายชี้แสดง  ทั้งเป็นเครื่องมือผลิตพระหรรษทาน. เราเห็นคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ที่คริสตังเราใช้มาแต่โบราณ หมายถึงความดีบริบูรณ์, ความครบครัน  จึงคิดว่าหากจะเปลี่ยนจากศีลศักดิ์สิทธิ์มาเป็นศักดิ์สิทธิการ คงจะยอมรับกันได้ง่ายขึ้น  ฉะนั้นในเอกสารฉบับนี้เราใช้คำศักดิ์สิทธิการ แทนคำศีลศักดิ์สิทธิ์ตลอดทั้งเล่ม.  แต่ขอพูดความจริงอย่างเปิดอก เราเองก็ไม่สู้ชอบคำ  “ศักดิ์สิทธิ์”  ในความหมายดังกล่าว  เพราะทั่ว ๆ ไป  ใคร ๆ ก็ใช้คำ “ศักดิ์สิทธิ์” ในความหมายว่า  “ขลัง”  หรือที่ทำให้เกิดอัศจรรย์มาก ๆ ตรงกับคำฝรั่งลาตินว่า  Miraculosum ที่สุด หากจะแยกแยะคำ “ศักดิ์สิทธิ์” นี้  ไปจนถึงธาตุของศัพท์ก็เห็นว่า  ประกอบขึ้นด้วยคำ  2 คำ คือ  - ศักดิ  ส.  แปลว่า  อำนาจ และคำว่า สิทธิ  ที่เรานำมาใช้ว่า  : มีอำนาจที่จะทำ จะใช้โดยไม่ผิดความยุติธรรม.  คำที่เหมาะกว่าและควรนำมาใช้แทนคำ  Sacramentum เราเห็นว่าควรเป็นคำ  “วิสุทธิการ”  เป็นอย่างยิ่ง.

(5)นักบุญปิตาจารย์ (ปิตุ – อาจารย์) คำนี้เราใช้เรียกนักบุญอาจารย์พระศาสนาในสมัยโบราณ ซึ่งภาษาลาตินเรียกว่า  Sancti Patres.  ส่วน  “พระบิดร” เราใช้เรียกองค์สมาชิกในสภาพระสังคายนา, ลาตินเรียกว่า  Patres  โดด ๆ
3.(6)ราชัย =  Regnum  เป็นธาตุเดียวกันในภาษาอินเดีย – ยุโรป ทั้งเป็นคำบันทึกอยู่ในพจนานุกรมของทางการด้วย เรายอมรับว่าธาตุของคำนี้ในภาษาสันสกฤตไม่น่าจะออกมาในรูปราชัยเพราะ  ส.  เป็น  ราช.ย,  มันก็เช่นเดียวกับ มาล.ย  ภาษาไทยเรามาเป็นมาลัย.  อนึ่งคำ “ราชัย”  นี้ คริสตังเราก็ใช้มาจนติดปากแล้ว  : ตรงกับภาษายุโรป, สั้นและกระทัดรัดดี ทำไมจะต้องมาเปลี่ยนเป็น  “อาณาจักร”  ซึ่งส่งกลิ่นเป็นภาษาทางโลกมากกว่าภาษาทางศาสนา.

(7)สวามี =  Dominus.  เรามาถึงคำที่ถกเถียงกัน และเป็นที่รังเกียจของหลาย ๆ ท่าน.  ขออนุญาตพูดถึงเรื่องนี้ให้กว้างขวางสักหน่อย. ครั้งแรกราว  60  กว่าปีมาแล้ว  ข้าพเจ้าได้พบคำนี้ในบทภาวนาก่อนรับศีลมหาสนิทว่า :  “ข้าแต่พระสวามีเจ้า ข้าพเจ้าไม่สมไม่ควรที่จะรับพระองค์เสด็จเข้ามาในดวงใจของข้าพเจ้า  แต่โปรดตรัสแต่พระวาจาเดียว และวิญญาโณจิตต์ของข้าพเจ้าก็จะสะอาดบริสุทธิ์ไป”  ข้าพเจ้าเคยรู้สึกสะดุดใจและเคยพูดกับ  ฯพณฯ อ่อน   ประคองจิตต์ ท่านและข้าพเจ้าต่างก็เห็นพ้องกัน นึกชมคนที่นำคำนี้มาใช้ (ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร.) ครั้งเปิดปทานุกรมก็พบว่า  : สวามิ, สวามี  ส.น.เจ้า, ผู้เป็นใหญ่, นาย, ผัว, เจ้าของหญิงใช้สวามินี. เมื่อเปิดดู  Pali  English Dictionary ของ  T.W.  Rhys  Davids  ซึ่งถือกันว่าเป็น Dictionary ที่ดีที่สุดของสมัยนี้ก็พบว่า :  Samin  (cp.  Sk. Savamin, Sva  = Sa 4 ) 1. Owner, Ruler, Lord,  Master  ธาตุ  สวาสา,  ตรงกับธาตุ  ลาติน Sui, Suus ซึ่งการแสดงการเป็นเจ้าของ. ภาษาไทยเราจึงมีคำ  สามิภักดิ์  = ความรักต่อเจ้านาย  สรรพสามิต แปลว่าอะไรหากไม่แปลว่า หลวงเป็นเจ้าของสรรพสิ่ง. ต่อภายหลังเมื่อมีเจ้านายต่างประเทศมาเยี่ยมประเทศไทย  นักหนังสือพิมพ์จึงแทนจะใช้คำ  สามี  ก็ใช้คำ สวามี  (แบบสันสกฤต)  เฉพาะอย่างยิ่งแทน Prince Cinsort. แม้  บ.ส.  จะใช้ในใจความนี้ด้วย  ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นแปลกอะไร เพราะคำพระสวามีนี้ เราใช้แทนพระเยซูเจ้าเป็นต้น แทนพระบิดาก็มีบ้าง.  พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระสามี (สวามี)  ทางวิญญาณของเราอยู่แล้ว. - -  โปรดอย่าแปลกใจที่คำในภาษาต่าง ๆ ค่อย ๆ เลือนไป  มีความหมายต่างออกไป  ชาวอินเดียเขาถือว่าสามีเป็นนายของภรรยา. ภาษายุโรป  กลุ่มภาษาโรมาน  ใช้ศัพท์แทน Dominus  ว่า ;  Seigneur, Signor Senor  ซึ่งมาจากภาษาลาติน  Senior  แปลว่า  “ผู้มีอายุสูงกว่า” (กระทั่งคำ Sir, Sire ก็มาจากคำลาตินนี้.)  คำอังกฤษใช้คำว่า  Lord  ท่านทราบไหมว่า คำนี้มาจากไหน. Skeat  ใน  Concise Etymological Dictionar  of  the English  Language

       เขียนว่า  : Lord,  a master (E.) ‘Lit Loaf – keeper’.  ขอยกตัวอย่างขำ ๆ เรื่องหนึ่ง. พระสันตะปาปา  ปีโอที่ 12 คราวเมื่อทรงตำแหน่งเป็น  พระเอกอัครสมณทูตที่กรุงเบอร์ลิน ขณะจะต้องจากหน้าที่  เพราะคุ้นเคยกับทูตฝรั่งเศสจึงได้ไปอำลา เมื่อได้สนทนาวิสาสะกันพอสมควรแล้ว  ท่านก็ลากลับ  ผ่านลูกชายของท่านทูตที่มีอายุ 4-5  ขวบ เด็กคนนั้นก็พูดกับท่านว่า  ‘Au revoir mon  Vieux’  ท่านทูตกับภรรยาหน้าซีดยืนตัวแข็ง  แต่ค่อยอุ่นใจขึ้น  เมื่อพระสมณทูตทำเฉย   เดินไปขึ้นรถ.     ท่านอยากทราบไหม เด็กลูกทูตนั้นพูดว่าอะไร ? พูดว่า “ลาก่อนอ้ายแก่” =  อ้ายเพื่อนยาก ซึ่งเป็นภาษาทหาร.  ท่านจึงเห็นแล้วในภาษาฝรั่งเศส จาก  ล.  Senior  มาเป็น  Seigneur,  Monsieur, Sire และวกกลับอีกที มาเป็น Vieux  ทำไมภาษาไทยของเรา จะมีภาษาทางศาสนา เหมือนภาษาอื่นเขาบ้างไม่ได้ ?

(8)สดุดีบูชา =  Eucharistia คำลาติน – กรีกคำนี้  ในหนังสือคำอธิบายคำสอนใช้ว่า  “สุหรรษทาน” ซึ่งมีความหมายว่าพระหรรษทานอันดี, อันประเสริฐ. แต่ศัพท์ลาติน – กรีกนั้น เขาใช้ความหมายถึง  การขอบคุณ ข้าพเจ้าจึงค้น  Dictionary  Pali – English  ของ A.P.Buddhatta  Mahathera ก็พบคำบาลีที่ถูกใจคือคำ  ถูติปูชา  แปลว่า  “การถวายคำชมเชย,  คำขอบคุณ” แต่คำนี้ไม่คุ้นหูคนไทย บ.ถูติ – ส.สตุติ ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนให้พอฟังได้ในภาษาไทย  = สดุดีบูชา.

สังเกต :  ขอให้คงรักษาลำดับสดุดีบูชาไว้เสมอ อย่าเปลี่ยนเป็นสดุดีบูชา ทั้งนี้เพราะว่าสดุดีบูชานี้อาจเป็นบูชาถึง  4 อย่าง  คือ บูชาสรรเสริญ,  บูชาวอนขอพระคุณ,  บูชาขอบพระคุณ และ  บูชาขอขมาโทษ