หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ธรรมนูญด้านพระธรรม กล่าวถึง พระศาสนจักร
 “ Lumen Gentium “ เล่มที่ 1

บทที่  6   ว่าด้วยนักบวช (Religiosi) 
อาชีพการปฏิบัติตามคำแนะนำแห่งพระวรสารในพระศาสนจักร

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 คำแนะนำแห่งพระวรสาร

43.  คำแนะนำแห่งพระวรสาร ในอัตถ์เรื่องการถือพรหมจรรย์ ยกถวายแด่พระเป็นเจ้า,  ในอัตถ์เรื่องการถือความยากจน  และในอัตถ์เรื่องความนอบน้อมเชื่อฟังนั้น,  เพราะมีหลักฐานอยู่ในพระวจนะและในพระแบบฉบับของพระสวามีเจ้าท่านเอง,  ประกอบกับคณะอัครสาวก, บรรดานักบุญปิตาจารย์ ตลอดจนบรรดานักปราชญ์ และบรรดาชุมพาบาลแห่งพระศาสนจักรได้รับรองสนับสนุน จึงนับว่าเป็นเทวทาน  (= ทานของพระเป็นเจ้า) ซึ่งพระศาสนจักรได้รับมาจากพระสวามีเจ้า และเดชะพระหรรษทานของพระองค์ท่านช่วยเหลือ พระศาสนจักรได้ธำรงรักษาไว้ให้เจริญอยู่ตลอดมา. สิทธิอำนาจของพระศาสนจักรนั่นเอง, โดยพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำ, ได้เฝ้าระวังในการอธิบายพระธรรมคำสอนและจัดระเบียบหลักปฏิบัติ  และตกที่สุดถึงกับตรากำหนดหลักการครองชีพอย่างถาวร, เป็นแนวต้องยึดถือเพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำแห่งพระวรสารนั้นด้วย.  จึงมีครุวนาดังต้นพฤกษา, ได้รับพันธุ์ทิพย์มาจากสวรรค์, เจริญงอกงามเป็นที่น่าพิศวงและแตกกิ่งก้านมากมาย และยังแตกแขนงเป็นรูปต่าง ๆ , บ้างดำเนินชีวิตวิเวกโดดเดี่ยว, บ้างดำเนินชีวิตเป็นสาธารณะร่วมกัน, เจริญเป็นครอบครัวต่าง ๆ  ซึ่งก็ทวีโภคทรัพย์, ทำคุณประโยชน์ ทั้งเพื่อความก้าวหน้าของสมาชิกในครอบครัวทั้งเป็นคุณผลิตผลแก่  “ร่างกาย” ทั้งหมดของพระคริสตเจ้า ครอบครัวเหล่านี้สงเคราะห์สมาชิกของตน  ด้วยการทำให้มั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้นในทำนองการครองชีพของคณะ, ด้านหลักธรรมคำสอนที่ได้ทดสอบมาแล้ว  เป็นทางให้บรรลุถึงความครบครัน, ด้านการรวมตัวกันประสาพี่น้องในยุทธภูมิของพระคริสตเจ้า, ด้านอิสรเสรีที่แข็งแกร่งขึ้น  เพราะความนอบน้อมเชื่อฟัง, เป็นอันว่าบรรดาสมาชิกสามารถปฏิบัติตามคำปฏิญญาของนักบวช ด้วยความมั่นใจและอย่างสัตย์ซื่อ  และจนกระทั่งตามทางแห่งความรักนั้น พวกเขาเจริญก้าวหน้าไปด้วยจิตใจร่าเริงเบิกบาน.

สถาบันนักบวชดั่งนี้  เพราะเหตุที่ตั้งขึ้นโดยพระเป็นเจ้า  และโดยพระฐานานุกรมแห่งพระศาสนจักร จึงมิใช่เป็นสถาบันกึ่งกลางระหว่างสถาบันคณะสงฆ์และสถาบันฆราวาส แต่คริสตชนบางท่านจากทั้งสองสถาบันนั้น  ได้รับกระแสเรียกจากพระเป็นเจ้าให้มาเสพพระคุณพิเศษในชีวิตของพระศาสนจักร และให้ต่างคนต่างช่วยเหลือกันและกัน  ในภารกิจแห่งความรอดตามวิธีทำนองของตน