หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ธรรมนูญด้านพระธรรม กล่าวถึง พระศาสนจักร
 “ Lumen Gentium “ เล่มที่ 1

บทที่  5 การเชื้อเชิญทุกคนทั่วไป ให้เข้ามาสู่ความศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักร

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 หนทางและวิธีไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์

42.  “พระเป็นเจ้าเป็นองค์ความรัก และผู้ใดอยู่ในความรัก  ผู้นั้นก็อยู่ในพระเป็นเจ้า  และพระเป็นเจ้าก็ทรงดำรงอยู่ในตัวเขาผู้นั้น” (1 ยน. 4,16).  พระเป็นเจ้าได้ทรงหลั่งความรักของพระองค์ลงในจิตใจของชาวเรา โดยผ่านทางพระจิตเจ้าซึ่งเราได้รับ (เทียบ รม. 5,5)  เพราะฉะนั้น ทานอันดับหนึ่ง และทานอันจำเป็นอย่างที่สุด ก็คือความรัก ซึ่งทำให้เรารักพระเป็นเจ้าเหนือทุกสิ่ง  และทำให้เรารักเพื่อนมนุษย์เพราะพระเป็นเจ้า. แต่เพื่อจะให้ความรักซึ่งเปรียบดังพืชดี  เจริญงอกงามขึ้น และผลิตดอกออกผลในวิญญาณของเรา, สัตบุรุษแต่ละคนต้องยินดีฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า  และโดยที่พระหรรษทานเข้าช่วยเหลือ  เขาก็ปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระองค์ด้วยการงาน, เขาร่วมเข้าส่วนบ่อย ๆ ในศักดิ์สิทธิการ  เป็นต้นศักดิ์สิทธิการพระสดุดีบูชา และในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ  เขาบำเพ็ญการอธิษฐานภาวนา,  เขาเสียสละตนเอง,  เขารับใช้พี่น้องด้วยออกแรงทำการงาน, เขาฝึกฤทธิ์กุศล  (คุณธรรม) ทุก ๆ ชนิดด้วยใจมั่นคงหนักแน่น  เหตุว่า ความรักในฐานะเป็นโซ่ผูกรวมความดีบริบูรณ์ และเป็นสุดยอดของพระบัญญัติ (เทียบ คส. 3,14; รม. 13,10), ก็เป็นตัวจักรจัดระเบียบวิธีการทุกอย่างในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ บันดาลให้กระปรี้กระเปร่ามีชีวิตชีวา,  และนำไปสู่จุดหมายปลายทาง  เพราะฉะนั้นความรักทั้งต่อพระเป็นเจ้า  ทั้งต่อเพื่อนมนุษย์ จึงเป็นเครื่องหมายบอกว่า  ใครเป็นศิษย์แท้ของพระคริสตเจ้า.

พระเยซู  พระบุตรของพระเป็นเจ้า ได้ทรงแสดงความรักของพระองค์ให้ประจักษ์ ด้วยการเสียสละพระชนม์ชีพของพระองค์ท่านเองเพื่อชาวเรา, เป็นอันว่า ไม่มีใครมีความรักใหญ่หลวงกว่าผู้ที่สละพระชนม์ชีพเพื่อพระองค์ และเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (เทียบ 1 ยน. 3,16; ยน. 15,13). เพื่อยืนยันความรักอันนี้อย่างสำคัญยิ่งยวดต่อหน้าคนทั้งหลาย  และเป็นต้น  ต่อหน้าผู้เบียดเบียนเคี่ยวเข็ญ  ได้มีบุคคลบางคนนับแต่สมัยแรกเริ่มมีชื่อเรียกว่า คริสตชนและจะมีชื่อเรียกดังนี้ต่อไปอีกด้วย.  การเสียสละชีวิตเพื่อพระศาสนา  (การเป็นมรณสักขี = Martyrium) (67)  ทำให้ศิษย์เหมือนกับพระอาจารย์ผู้ทรงยินดีตายเพื่อความรอดของโลก  และทำให้ละม้ายคล้ายกับพระองค์ท่าน ด้วยการหลั่งพระโลหิต, การกระทำอันนี้ พระศาสนจักรเคารพเชิดชูถือว่าเป็นพระคุณอันแสนประเสริฐ และเป็นเครื่องพิสูจน์อันสูงส่งแห่งความรัก.  จริงอยู่  พระคุณประการน้อยคนนักจะได้รับ,  อย่างไรก็ดี ทุก ๆ คนต้องเตรียมพร้อมจะประกาศพระคริสตเจ้าต่อหน้ามวลมนุษย์  และต้องดำเนินชีพตามพระองค์ท่านไปตามทางไม้กางเขน ขณะถูกเบียดเบียนเคี่ยวเข็ญ ซึ่งภัยอย่างนี้ไม่เคยหมดสิ้นไปในพระศาสนจักร.

ความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร ยังได้รับการเลี้ยงดูประคบประหงมด้วยวิธีพิเศษ กล่าวคือด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำหลายประการ ที่พระสวามีเจ้าได้ทรงเสนอไว้ในพระวรสาร,  แนะนำให้สานุศิษย์ของพระองค์รับปฏิบัติ.  ในคำแนะนำเหล่านั้น  ที่เด่นคือพระคุณอันแสนประเสริฐแห่งพระหรรษทาน, อันที่พระบิดาประทานให้แก่คนบางคน (เทียบ มก. 19,11; 1 คร. 7,7) นั่นคือให้เขาถือพรหมจรรย์หรือถือโสด, เพื่อว่าเขาจะได้ถวายการงานสละตัวง่ายขึ้น โดยไม่แบ่งแยกดวงใจของตนแก่ใครเลย (เทียบ 1 คร. 7,32-34), เขารับใช้ปรนนิบัติพระเป็นเจ้าแด่ผู้เดียว.  อันการอดกลั้นอย่างบริบูรณ์ เพื่อพระราชัยสวรรค์อันนี้  พระศาสนจักรเคารพเทิดชูให้เกียรติสูงส่งอยู่เสมอ  ถือว่าเป็นเครื่องหมาย และเครื่องกระตุ้นความรัก และอันที่จริงกิจกรรมอันนี้ ก็เป็นท่อธารพิเศษ  ก่อให้เกิดความสมบูรณ์มีลูกดกฝ่ายวิญญาณในโลกนี้.

พระศาสนจักรยังพินิจพิจารณาคำตักเตือนของท่านอัครสาวก, ซึ่งเรียกร้องให้สัตบุรุษมีความรัก  โดยกระตุ้นให้เขารู้สึกในตัวของเขาเอง  สิ่งซึ่งเป็นอยู่ในองค์พระคริสตเยซู, พระองค์นี้ได้ทรงกลายเป็นเปล่าเมื่อเสด็จมารับร่างกายของทาส … พระองค์ได้ทรงเชื่อฟังจนกระทั่งตาย  (ฟล. 2,7-8) และเพราะเห็นแก่ชาวเรา  “พระองค์ได้ทรงกลายเป็นคนขัดสน  ทั้ง ๆ ที่ทรงเป็นเศรษฐี”  (2 คร. 8,9).  เนื่องจากที่พวกสานุศิษย์จำเป็นต้องแสดงออกอยู่เสมอถึงการเอาอย่างและการยืนยันในเรื่องความรัก และการถ่อมตนขององค์พระคริสตเจ้า, พระศาสนจักรผู้เป็นมารดา  จึงรู้สึกชื่นชมเมื่อมองเห็นว่า ในอุระของท่านมีบุคคลจำนวนมาก ทั้งบุรุษและสตรีเจริญชีพอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตามพระแบบฉบับนั้น : เขาถือตัวเป็นเปล่าตามพระผู้ไถ่,  เขาแสดงออกให้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น : แม้, ในฐานะบุตรของพระเป็นเจ้า เขาเป็นอิสระ, ถึงกระนั้นเขายอมรับเอาความยากจนและยอมสละทิ้งน้ำใจของตนเอง  อันเป็นสิทธิเฉพาะของเขา,  กล่าวคือ  เขายอมมอบตนเองให้อยู่ใต้อำนาจของคนด้วยกัน  ทั้งนี้เพราะเห็นแก่พระเป็นเจ้า, ในแง่ของความดีครบครัน  และยอมปฏิบัติเกินเลยไปเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อจะทำตนเองให้ละม้ายคล้ายพระคริสตเจ้าผู้ทรงเชื่อฟัง, ให้บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เป็นอันว่า สัตบุรุษคริสตชนทุก ๆ คนได้รับเชิญ  ทั้งมีหน้าที่ต้องแสวงหาความศักดิ์สิทธิ์ และความดีครบครันตามฐานะของตน ๆ. ฉะนั้นทุก ๆ คน จงใส่ใจจัดระเบียบตัณหา ความปรารถนาของตนให้อยู่ในร่องในรอย,  ขณะใช้ข้าวของของโลกนี้  จงอย่าผูกใจติดในมันจนเป็นการกำจัดจิตตารมณ์แห่งพระวรสารเรื่องความยากจน,  จนเป็นเหตุขัดข้องมิให้บรรลุถึงความครบครันแห่งความรัก, โปรดฟังคำท่านอัครสาวกที่เตือนสติว่า  “บรรดาผู้ใช้ข้าวของของโลกนี้  จงอย่าติดตั้งอยู่ในมัน  เพราะว่าภาพของโลกนี้ย่อมล่วงพ้นไป.” (เทียบ 2 คร. 7,31 กริก).