หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ธรรมนูญด้านพระธรรม กล่าวถึง พระศาสนจักร
 “ Lumen Gentium “ เล่มที่ 1

บทที่  1 :   อคาธัตถ์ (3) ว่าด้วยพระศาสนจักร

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เปาโล  สังฆราช
ทาสแห่งเทวทาสทั้งหลาย
ร่วมกับคณะพระบิดรแห่งพระสังคายนาสากล
เพื่อเป็นหลักฐานให้ความทรงจำดำรงอยู่ตลอดกาล (1)


ธรรมนูญด้านพระธรรม (2)
กล่าวถึงพระศาสนจักร
 

ภาพจำลองต่าง ๆ ของพระศาสนจักร

6. ในพันธสัญญาเดิม  (พระธรรมเก่า) การไขแสดงเรื่องพระราชัย  มักแสดงออกเป็นรูปภาพจำลองต่าง ๆ ฉันใดก็ฉันนั้นในขณะนี้  ธรรมชาติภายในอันลึกล้ำของพระศาสนจักรก็ปรากฏให้เราเห็นโดยอาศัยภาพจำลองหลายอย่างต่างกันด้วยเหมือนกัน, เช่น ภาพชีวิตคนเลี้ยงแกะ, ภาพชีวิตกสิกร  (คนทำไร่ทำนา) หรือภาพการสร้างบ้านเรือน,  หรือกระทั่งภาพจากครอบครัว,  จากการแต่งงาน,  ภาพต่าง ๆ เหล่านี้มีบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ของบรรดาประภาษก (11) เป็นการจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว.

อันที่จริง พระศาสนจักร  คือ คอกแกะ ซึ่งมีพระคริสตเจ้าเป็นทางเข้า (= ประตู) แต่ทางเดียว  ทั้งเป็นทางที่จำเป็น  (ยน. 10,1-10).  พระศาสนจักรยังเปรียบได้กับ  ฝูงแกะ  ที่พระเป็นเจ้าได้มีพระดำรัสไว้ล่วงหน้าไว้ว่า : พระองค์เองจะเป็นชุมพาบาล (= คนเลี้ยงแกะ)  (เทียบ อสย. 40,11; อสค. 34,11…) แกะของพระศาสนจักรนี้ แม้มีมนุษย์เป็นคนเลี้ยง และปกครอง  ถึงกระนั้นผู้ที่แนะนำมันอยู่เสมอ  และผู้ที่เลี้ยงดูมันก็คือ พระคริสตเจ้าเอง, พระองค์ทรงเป็นชุมพาบาลที่ดี  ทั้งเป็นเจ้านายของชุมพาบาลทั้งหลาย  (เทียบ ยน. 10,11; 1 ปต. 5,4), พระองค์ คือ  ผู้ที่ได้พลีชีวิตเพื่อฝูงแกะของพระองค์  (เทียบ ยน. 10,11-15)

พระศาสนจักรเป็นที่ดินเกษตรกรรม หรือเป็นทุ่งนาของพระเป็นเจ้า (1 คร. 3,9)  ที่ทุ่งนานี้มีต้นมะกอกเก่าแก่ขึ้นอยู่  มีบรรดาอัยกา (12) เป็นรากเง่าอันศักดิ์สิทธิ์ของมัน, โดยต้นมะกอกนี้แหละ ประชาชนชาวยิว  และชนต่างชาติได้รับ  และจะรับการคืนดีกับพระ  (รม. 11,13-26). ต้นมะกอกนี้  กสิกรชาวสวรรค์ได้ทรงปลูกไว้,  ท่านเองเป็นสวนองุ่นที่คัดเฟ้นไว้ (มธ. 12,33-43 par = (เทียบ ควบ); เทียบ อสย. 5,1 ต่อ ๆ ไป). ต้นองุ่นแท้คือ พระคริสตเจ้า,  พระองค์คือ ผู้ประสาทชีวิตและอำนาจผลิตผลแก่กิ่งก้าน  หมายความถึงชาวเราเอง, โดยทางพระศาสนจักรเราดำรงอยู่ในพระองค์,  และหากปราศจากพระองค์  ชาวเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย (ยน. 15,1-5)

หลายต่อหลายครั้ง ยังเรียกพระศาสนจักรว่าเป็นดัง การสร้างบ้าน ของพระเป็นเจ้า (1 คร. 3-9). พระสวามีเจ้าเองทรงเปรียบพระองค์เป็นดังศิลา  ที่ผู้สร้างเอาทิ้ง  แต่กลับเป็นศิลามุม  (ศิลาเอก) (มธ. 21,42… เทียบ กจ. 4,11; ปต. 2,7; สดด. 117,22). บนรากฐานอันนี้ของพระศาสนจักร พวกอัครสาวกได้สร้างขึ้น  (เทียบ 1 คร. 3,11), จากหินก้อนนี้ พระศาสนจักรได้รับความมั่นคง  และความเป็นปึกแผ่น, ผลิตกรรมการสร้างอันนี้ได้รับเกียรตินามหลายอย่าง เช่น เคหะของพระเจ้า (1 ทม. 3,15),  ในเคหะนั้น  ครอบครัวของพระองค์ท่านเองพำนักอยู่, เรียกพระศาสนจักรว่า  เป็น  พลับพลาของพระเป็นเจ้าในพระจิตเจ้า (อฟ. 2,19-22), เป็นพลับพลาของพระเป็นเจ้าอยู่ร่วมกันมวลมนุษย์ (วว. 21,3),  และเฉพาะอย่างยิ่งเรียกว่า : วิหารอันศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งบรรดานักบุญปิตาจารย์ (13) กล่าวชม,  วาดภาพเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์สร้างขึ้นด้วยศิลาและในพิธีกรรมก็วาดเป็นภาพอย่างเหมาะเจาะ ว่าเป็น  “นครศักดิ์สิทธิ์”,  เป็น ”กรุงเยรูซาเลมใหม่”. เหตุว่าในนครแห่งนี้ชาวเราถูกสร้างขึ้นบนแผ่นหินเป็น ๆ (หินที่มีชีวิต)  (1 ปต. 2,5).  นครศักดิ์สิทธิ์นี้เมื่อยอห์นพิศดู  คราวโลกถูกปฏิรูปขึ้นใหม่  ท่านกล่าวว่า  เป็นนครมาจากสวรรค์  พระเป็นเจ้าเองทรงตกแต่งให้คล้ายกับเจ้าสาว (14) แต่งองค์คอยต้อนรับพระภัสดาของตน (วว. 21,1 ต่อ ๆ ไป)

พระศาสนจักรยังได้ชื่อว่า : “กรุงเยรูซาเลมเบื้องบน” และ “พระชนนีของชาวเรา” (กล. 4,26; เทียบ วว. 12,17),  มีคำวรรณนาถึงพระศาสนจักรว่า : ท่านเป็นเจ้าสาว (14) นิรมลของพระชุมพาน้อยนิรมล (วว. 19,7; 21,2-9; 22,7), เธอเป็นผู้ที่พระคริสตเจ้าทรงรัก  และมอบพระองค์ท่านเองเพื่อเธอ  หวังจะยังให้เธอศักดิ์สิทธิ์ (อฟ. 5,26), พระองค์ทรงรับเธอเป็นคู่ครองของพระองค์ด้วยคำมั่นสัญญาอันมิรู้แตกสลาย  และทรงเลี้ยงดูเกื้อกูลเธอ (อฟ. 5,26)  เสมอเป็นนิตย์มิได้ขาด และเมื่อเธอบริสุทธิ์หมดจดแล้ว  พระองค์ทรงประสงค์ให้เธอมาสนิทชิดเชื้อกับพระองค์และให้เธอมอบตนอยู่ในควาเสน่หาอันซื่อสัตย์ (เทียบ อฟ. 5,24). ที่สุดพระองค์ทรงประสาทให้เธอเพียบพูนด้วยพรานุพรสวรรค์เรื่อยไปตลอดนิรันดร ทั้งนี้เพื่อให้ชาวเรารู้ซาบซึ้งถึงความรักเสน่หาของพระเป็นเจ้า  และของพระคริสตเจ้าต่อชาวเรา  ความรักเสน่หาอันนี้อยู่เหนือความรู้เข้าใจใด ๆ ทั้งสิ้น  (เทียบ อฟ. 3,19). ระหว่างที่พระศาสนจักรระเหหนอยู่ในโลกนี้ ห่างไกลจากพระเป็นเจ้า  (เทียบ 2 คร. 5,6),  ท่านถือตนเป็นผู้ถูกเนรเทศ,  จนกระทั่งท่านขวนขวายหา และลิ้มรสสิ่งที่อยู่เบื้องบน,  ณ ที่นั้นแหละชีวิตของพระศาสนจักร  หลบซ่อนอยู่ร่วมกับพระคริสตเจ้าในพระเป็นเจ้า,  ทั้งนี้จนกว่าท่านจะปรากฏตัวในเกียรติมงคลพร้อมกับพระภัสดาของท่าน (เทียบ คล. 3,1-4)