หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ธรรมนูญด้านพระธรรม กล่าวถึง พระศาสนจักร
 “ Lumen Gentium “ เล่มที่ 1

บทที่  3 พระฐานานุกรมของพระศาสนจักรและตำแหน่งพระสังฆราชโดยเฉพาะ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 หน้าที่ของพระสังฆราช  ด้านการปกครอง

27.  พระสังฆราชปกครอง  พระศาสนจักรปลีกย่อยที่ท่านได้รับมอบหมาย,  ท่านปกครองในฐานะเป็นผู้แทนและเป็นทูตของพระคริสตเจ้า.  ท่านปกครองด้วยการให้ความคิดอ่าน,  ให้กำลังใจ, และบำเพ็ญตัวท่านเองเป็นแบบอย่าง  ทั้งท่านปกครองด้วยอาชญาสิทธิ์, ด้วยอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์,  อำนาจอันนี้ท่านใช้ก็เพื่อจรรโลงเสริมสร้างฝูงชุมพาบาลของท่านให้คงดำรงอยู่ในความศักดิ์สิทธิ์อันแท้จริง,  ขณะเดียวกันท่านก็ระลึกว่า : ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเหมือนผู้น้อย และผู้บังคับบัญชาต้องเป็นดังผู้รับใช้  (เทียบ ลก. 22,26-67).

อำนาจอันนี้ท่านใช้ปฏิบัติ  เป็นการส่วนตัวในนามของพระคริสตเจ้าเป็นอำนาจเฉพาะของท่าน อำนาจปกติธรรมดา  ทั้งเป็นอำนาจโดยตรง  (คือไม่ได้ผ่านคนกลาง),  แม้ว่าตกที่สุดอำนาจสูงสุดของพระศาสนจักร (สากล) เป็นผู้บังคับบัญชา  และอาจกำหนดขอบเขตบางอย่าง ทั้งนี้เป็นเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของพระศาสนจักร  (สากล)  หรือประโยชน์ของบรรดาสัตบุรุษ.  อาศัยอำนาจอันนี้  พระสังฆราชมีสิทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ และมีหน้าที่ต่อเฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า, ในอันที่จะปฏิบัติต่อผู้อยู่ในปกครอง  คือ ตรากฎหมาย, ตัดสินคดีความ  และกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับระเบียบเรียบร้อยของคารวกิจ  และการปฏิบัติงานธรรมทูตต่าง ๆ.

พระสังฆราชได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่  ให้ทำหน้าที่เป็นชุมพาบาล  กล่าวคือให้เอาใจใส่ดูแล ทำนองเป็นปกติธรรมดาและทุก ๆ วัน ต่อฝูงแกะของท่าน.  อันพระสังฆราชนั้น เราต้องไม่ถือว่า ท่านเป็นผู้แทนของพระสังฆราชกรุงโรม, เพราะว่าตัวท่านเองมีอำนาจเฉพาะตน และเป็นความจริงอย่างยิ่ง ที่ท่านได้รับขนานนามว่าเป็นประมุข (54) , หัวหน้าของประชากรที่ท่านปกครอง.  เพราะฉะนั้น อำนาจของท่านนี้  อำนาจสูงสุด,  อำนาจสากลทั่วไป จะทำลายหาได้ไม่, ตรงกันข้าม มีแต่จะต้องยืนยัน, สนับสนุนและป้องกันอำนาจของพระสังฆราช : พระสวามีคริสตเจ้า ได้ทรงสถาปนาระบบปกครองไว้ในพระศาสนจักรของพระองค์  และพระจิตเจ้าก็ทรงธำรงรักษาไว้มิให้เสื่อมสลายไปได้.
พระสังฆราช ผู้ที่พระบิดาแห่งครอบครัวได้ทรงใช้มาครอบครองครอบครัวของพระองค์ พึงนำเอาแบบฉบับของพระชุมพาบาลผู้ดี, มาตั้งไว้ต่อหน้าต่อตา  : พระองค์ได้เสด็จมา  ไม่ใช่เพื่อให้เรารับใช้พระองค์  แต่เสด็จมาเพื่อทรงรับใช้เรา  (เทียบ มธ. 20,28 : มก. 10,45) พระสังฆราชเป็นคนมาจากมวลมนุษย์ และแปดเปื้อนอยู่ด้วยทุพพลภาพ ท่านจึงสามารถร่วมรับทุกข์กับคนโง่เขลาและคนที่หลงผิดไป  (เทียบ ฮบ. 5,1-2).  ท่านพึงไม่แหนงหน่ายรับฟังพวกผู้น้อยที่ท่านประคบประหงม  ดังเป็นลูกแท้ ๆ ของท่าน และที่ท่านชักชวนตักเตือนให้ร่วมมือร่วมใจกับท่านอย่างขมีขมัน,  ท่านจะต้องให้การต่อพระเป็นเจ้า  ด้วยเรื่องวิญญาณของพวกเขา (เทียบ ฮบ. 13,17), ฉะนั้น ท่านพึงเอาใจใส่ ด้วยอาศัยคำอธิษฐานภาวนา, ด้วยคำเทศนาสั่งสอน,  และด้วยการบำเพ็ญเมตตาจิตทุก ๆ อย่างเพื่อเขาเหล่านั้น  ทั้งเพื่อคนอื่นที่ยังไม่อยู่ในฝูงแกะเดียวกันด้วย, ท่านถือว่าเขาเหล่านี้ก็ได้รับการฝากฝังไว้กับท่าน ในพระสวามีเจ้าด้วย.  ตัวพระสังฆราชเอง ก็เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล, เป็นลูกหนี้ของทุก ๆ คน,  พึงสรรพพร้อมจะประกาศพระวรสารแก่ทุก ๆ คน (เทียบ รม. 1,14-15), และพึงตักเตือนสัตบุรุษทั้งหลายของคนให้ออกแรงแข็งขัน  ประกอบการงานอัครสาวก และการงานธรรมทูต ส่วนบรรดาสัตบุรุษก็ต้องผูกพันกับพระสังฆราชของคน  ดุจดังพระศาสนจักรผูกพันกับพระคริสตเจ้า  และดุจดังพระเยซูคริสตเจ้าทรงผูกพันกับพระบิดาเจ้า, ทั้งนี้เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมใจกันหันหน้าเข้าหาเอกภาพ และเพื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะได้ผลิตผลสมบูรณ์  เป็นเกียรติมงคลแด่พระเป็นเจ้า (เทียบ 2 คร. 4,15).