หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ธรรมนูญด้านพระธรรม กล่าวถึง พระศาสนจักร
 “ Lumen Gentium “ เล่มที่ 1

บทที่  3 พระฐานานุกรมของพระศาสนจักรและตำแหน่งพระสังฆราชโดยเฉพาะ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 คณะของพระสังฆราช  และองค์พระประมุขของคณะ

22.  ตามที่พระสวามีเจ้าทรงแต่งตั้งไว้  นักบุญเปโตรกับอัครสาวกอื่น ๆ ทั้งหลาย รวมกันเป็นคณะอัครสาวกหนึ่งหน่วยฉันใด, ก็โดยเหตุผลอันเสมอกัน  พระสังฆราชกรุงโรมผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตร  กับบรรดาพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งอัครสาวกก็รวมกันและกันด้วยฉันนั้น เป็นหลักประเพณีถือกันมาแต่โบราณกาลนานนักหนา  ที่บรรดาพระสังฆราชผู้ได้รับแต่งตั้งในโลกจักรวาล  ท่านติดต่อกันระหว่างพวกท่านเอง  และติดต่อกับพระสังฆราชกรุงโรม โดยมีความสัมพันธ์กันทางด้านเอกภาพ, ทางด้านความรักหวังดีต่อกัน และทางการมีสันติสุขต่อกัน  เช่นเดียวกันการมาร่วมประชุมสังคายนากัน  เพื่อตกลงร่วมกันในปัญหาสำคัญ ๆ โดยใช้การตัดสิน  มีน้ำหนักจากความคิดเห็นของหลาย ๆ ท่าน,  ก็แสดงให้เห็นคุณลักษณะและหลักการเป็นคณะของทำเนียบพระสังฆราช.  คุณลักษณะการเป็นคณะนี้ยืนยันได้ด้วยพระสังคายนาสากลต่าง ๆ ที่ได้ประชุมกันมาในกระแสศตวรรษต่าง ๆ อีกด้วย,  เรื่องนี้ยังมีการส่อแสดงให้เห็นประจักษ์ด้วยประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาลคือ เมื่อมีใครได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกิดใหม่ เขาก็เชิญพระสังฆราชหลายองค์มาร่วมในการเทิดเกียรติของผู้ได้รับภาระหน้าที่สังฆภาพสูงสุด  ใครเข้าเป็นสมาชิกทำเนียบพระสังฆราช คนนั้นต้องได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยการอภิเษกของศักดิ์สิทธิการ และต้องร่วมสหพันธ์ของพระฐานานุกรมกับองค์พระประมุขของคณะ  ทั้งกับสมาชิกของคณะนั้นด้วย.

อันว่าคณะหรืออีกนัย (43) ทำเนียบของบรรดาพระสังฆราชไม่มีอำนาจ  เว้นแต่เมื่อเป็นที่ยอมรับว่า  ท่านอยู่ร่วมกับพระสังฆราชกรุงโรม,  ผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตร,  ในฐานะเป็นองค์พระประมุขของคณะ,  ซึ่งพระองค์ท่านจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังมีอำนาจของปฐมภาวะครบบริบูรณ์ (44) ต่อทุก ๆ คน  ไม่ว่าเป็นชุมพาบาลหรือสัตบุรุษ. เหตุด้วยว่าพระสังฆราชกรุงโรม  เดชะภาระหน้าที่ของพระองค์ท่าน,  กล่าวคือ  เป็นผู้แทนองค์พระคริสตเจ้า, และเป็นชุมพาบาลของพระศาสนจักรทั้งหมด,  จึงทรงอำนาจเต็มเปี่ยม,  สูงสุด  และสากลทั่วไปต่อพระศาสนจักร และทรงสามารถใช้อำนาจนี้ได้อยู่เสมออย่างอิสระเสรีด้วย. ส่วนทำเนียบพระสังฆราชซึ่งขึ้นแทนที่ของบรรดาอัครสาวก  ในด้านอาจาริยานุภาพ  และด้านการปกครอง  ฐานะชุมพาบาล, กว่านั้นอีกทำเนียบของอัครสาวกยังคงดำรงอยู่ต่อมาในทำเนียบของบรรดาพระสังฆราชด้วย, ในเมื่อท่านร่วมอยู่กับองค์พระประมุขของท่าน กล่าวคือพระสังฆราชกรุงโรม, แต่เป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีองค์พระประมุขนี้,  ในกรณีดังกล่าวทำเนียบพระสังฆราชก็เป็นผู้รับ (Subjectum)  อำนาจสูงสุดและเต็มเปี่ยมเหนือพระศาสนจักรสากลทั่วไป และอำนาจนี้อาจนำมาใช้ได้ก็เฉพาะเมื่อพระสังฆราชกรุงโรมทรงเห็นชอบด้วยเท่านั้น,  พระสวามีเจ้าได้ทรงวางท่านซีมอนคนเดียวเป็นศิลา และเป็นต้นกุญแจของพระศาสนจักร  (เทียบ มธ. 16,18-19)  และได้ทรงแต่งตั้งท่านเป็นชุมพาบาลของฝูงแกะของพระองค์ทั้งหมด     (เทียบ ยน. 21,15 ต่อ ๆ ไป),   ส่วนภาระหน้าที่ผูกมัดและแก้ออกที่พระองค์ได้ประทานให้แก่ท่านเปโตร  (เทียบ มธ. 16,19) นั้น,  พระองค์ก็ได้ประทานให้แก่ทำเนียบอัครสาวกด้วย ในเมื่อท่านร่วมอยู่ในองค์ประมุขของท่าน,  เรื่องนี้ประจักษ์แน่ชัด (เทียบ มธ. 18,18; 28,16-20) คณะอันนี้ในฐานะที่ประสมอยู่ด้วยมากคน ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและสากลภาพของประชากรของพระเป็นเจ้าในฐานะที่รวมกันอยู่ใต้ศีรษะอันเดียว ก็แสดงให้เห็นถึงเอกภาพแห่งฝูงแกะของพระคริสตเจ้า. ในฝูงแกะนี้บรรดาพระสังฆราชผู้สัตย์ซื่อ เคารพนับถือปฐมภาวะและความเป็นหัวหน้าแห่งศีรษะของตน,  ก็ใช้อำนาจของตนโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์สัตบุรุษของตน,  กว่านั้นอีกเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักรทั้งหมด,  โดยที่พระจิตเจ้าประทานพละกำลังแก่โครงสร้างอันประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ นั้น และประทานความสามัคคีปรองดองให้อยู่เสมอ อำนาจสูงสุดเหนือพระศาสนจักรสากลทั้งหมด,  ซึ่งคณะพระสังฆราชมีอยู่นั้น,  นำตัวแสดงออกมาใช้ด้วยท่วงทำนองอันสง่าราศี คือโดยทางพระสังคายนาสากล พระสังคายนาสากลไม่มีวันมีขึ้น  ถ้าหากผู้สืบตำแหน่งของท่านเปโตรไม่ยอมรับรองว่าเป็นเช่นนั้น  หรืออย่างน้อยยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น. เป็นเอกสิทธิ์ของพระสังฆราชกรุงโรมที่จะเรียกประชุมพระสังคายนาสากล, ที่จะเป็นประธานในที่ประชุมและที่จะรับรองพระสังคายนาสากลนั้น ๆ. อำนาจอันเดียวกันนี้ของคณะร่วมกับพระสันตะปาปาก็อาจปฏิบัติได้ โดยบรรดาพระสังฆราชที่กระจายอยู่ทั่วแผ่นดินโลก, ขอเพียงให้องค์พระประมุขของคณะทรงเรียกท่านมากระทำกิจกรรมอันเป็นของคณะ, หรืออย่างน้อยให้พระองค์ท่านรับรองว่า  เป็นกิจกรรมอันรวมเป็นหนึ่งเดียวของบรรดาพระสังฆราชที่กระจัดกระจายกัน หรือพระองค์ท่านทรงยอมรับอย่างอิสระเสรี อย่างเช่นที่กิจการนั้นเป็นกิจการของคณะโดยแท้.