Share |

“สิ่งที่ท่านได้ทำต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อย ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา”

พี่น้องคริสตชนที่รักทุกท่าน

          วันสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรฯ ปีนี้ นับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้กลับไปศึกษาคำสอนด้านสังคมฉบับหนึ่งในวาระแห่งการเฉลิมฉลอง ๔๐ ปี คือ สาร “ความยุติธรรมในโลก” (Justice in the World) เป็นมรดกแห่งพระพรจากการประชุมสภาพระสังฆราชทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ.๑๙๗๑ ในสมัยของ พระสันตะปาปา ปอลที่ ๖ ซึ่งแสดงจุดยืนของพระศาสนจักรในการส่งเสริมความยุติธรรมดังนี้ “กิจการใดก็ตามที่กระทำในนามความยุติธรรม และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลก เป็นมิติหนึ่งที่ประกอบกันขึ้นของการประกาศพระวรสาร และเป็นพันธกิจของพระศาสนจักรเพื่อการไถ่กู้มนุษยชาติ และปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากการกดขี่ทุกรูปแบบ” (ความยุติธรรมในโลก ข้อ ๖)

          วามห่วงใยของผู้นำพระศาสนจักรในเรื่องความยุติธรรมมีดังนี้ “เรารับฟังเสียงร่ำไห้ของผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากความรุนแรง และถูกกดขี่จากโครงสร้างและระบบที่อยุติธรรม และได้ยินเสียงอุทธรณ์ว่า โลกนี้กำลังออกนอกลู่นอกทางซึ่งขัดแย้งกับแผนการของพระผู้สร้าง” (ข้อ ๕)  และ “จากพระธรรมเดิม พระเป็นเจ้าได้เผยแสดงพระองค์เองให้กับมนุษย์ว่าพระองค์เป็น ‘ผู้ปลดปล่อยของผู้ได้รับการกดขี่ข่มเหง’ และเป็น ‘ผู้ปกป้องคนยากจน’ ” (ข้อ ๓๐ )

          ในสังคมไทยปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าความอยุติธรรมทางโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำยังคงดำรงอยู่  และนับวันยิ่งเป็นปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น จากความละโมบของมนุษย์ที่เอารัดเอาเปรียบธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการในการกินดื่มที่เกินความพอดีหรือมุ่งแต่รสชาติ และการเสพติดเครื่องอำนวยความสะดวก ความสนุกสนานเพลิดเพลินจากเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องเบียดบังมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น

          ตัวเลขปี ๒๕๕๐ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ประชากรที่มีรายได้สูงร้อยละ ๒๐ มีส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ ๕๔.๙  แต่ประชากรที่มีรายได้ต่ำร้อยละ ๒๐ มีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ ๔.๔ และมีคนยากจนที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตถึง ๕.๔ ล้านคน, ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพเห็นได้จากตัวเลขปี ๒๕๕๑ ข้าราชการ ๕ ล้านคน ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพจากรัฐถึง ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าหรือ “บัตรทอง” ที่ดูแลคนไทยทั่วประเทศ ๔๗ ล้านคน รัฐมีงบให้เพียง ๙๘,๗๐๐ ล้านบาท เท่ากับว่าข้าราชการได้เงินอุดหนุนมากกว่าถึง ๗ เท่า 

          สารความยุติธรรมในโลกย้ำจุดยืนของพระศาสนจักรที่จะต้อง “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน นำอิสรภาพมาสู่ผู้ถูกกดขี่ นำความยินดีมาให้ผู้ทุกข์ยาก (ลก ๔ : ๑๘) ชีวิตของพระเยซูเจ้าเป็นแบบอย่างให้กับเรา พระองค์เกิดในครอบครัวผู้ใช้แรงงานและใช้ชีวิตใกล้ชิดกับ “ผู้ต่ำต้อยที่สุด” อยู่บ่อยครั้ง พระองค์บอกกับเราว่า การปฏิบัติตามกฎบัญญัติตามตัวอักษรอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่พระองค์ดูเราจาก “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ ๒๕: ๔๐) และสารความยุติธรรมในโลกให้แนวทางกับเราว่า ความรักของคริสตชนต่อเพื่อนบ้านและความยุติธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน เราต้องเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิ์ของเขา เพราะมนุษย์แต่ละคนเป็นภาพที่เห็นได้ของพระเป็นเจ้าที่เรามองไม่เห็น  (ข้อ ๓๔)

          นอกจากนี้ สารความยุติธรรมในโลกได้แสดงความกังวลต่อพระศาสนจักรว่า ได้ปฏิบัติตนเสมือน “เกาะแห่งความร่ำรวย”  ซึ่งล้อมรอบด้วยคนยากจนหรือไม่ ? กระแสสังคมที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจนิยม การดำเนินชีวิตของเราได้เป็นแบบอย่างของความมัธยัสถ์หรือไม่ ? (ข้อ ๔๘)  วิถีบริโภคของเราอยู่ในระดับพอดีหรือไม่ ? ได้มีการเจือจุนผู้ยากไร้หรือไม่ ?  ซึ่งนอกจากวัตถุสิ่งของแล้ว สิ่งที่เราจะให้ได้ก็คือ ความสามารถของเราจากพระพรของพระและการปฏิบัติจิตสาธารณะ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในวิกฤตน้ำท่วมในปีนี้ นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นนายจ้างหรือหัวหน้างาน เราได้ปฏิบัติความความยุติธรรมกับผู้ร่วมงานในเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการหรือไม่ ?  ขณะเดียวกันการศึกษาภาคบังคับ ก็จำเป็นที่จะต้องทบทวนบทบาทในการทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสอนให้คน “ใจกว้างและรับใช้ผู้อื่น” มากกว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลที่จิตใจคับแคบ  การสอนลูกหลานที่เริ่มต้นในครอบครัวและชุมชน ควรปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติความยุติธรรม ความรัก และรู้เท่าทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

          ขอเชิญชวนเราคริสตชนที่มีสายสัมพันธ์แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกันในศีลมหาสนิท ให้หันหลังต่อการพึ่งพิงตัวเองหรือคิดถึงแต่ตัวเอง มาเชื่อมั่นศรัทธาในพระเป็นเจ้า ขอพระหรรษทานให้เรามีปรีชาญาณ ความเข้มแข็ง กล้าหาญที่จะ “ทำให้ความอยุติธรรมลดลง รวมไปถึงลดใช้ความรุนแรง ขจัดความเกลียดชัง และก้าวไปด้วยกันในการสร้างความยุติธรรม, เสรีภาพ, ความเป็นพี่เป็นน้อง และความรัก” (ข้อ ๗๖)

ขอพระเยซูเจ้าอำนวยพระพรมายังพี่น้องผู้สร้างความยุติธรรมและสันติทุกท่าน
 

 

(พระสังฆราชฟิลิป บรรจง ไชยรา) 
  ประธานกรรมาธิการฝ่ายสังคม
       สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย

 

จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม
แผนกความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
๒๔๙๒ ซอยประชาสงเคราะห์  ๒๔ 
ห้วยขวาง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๗๗-๔๖๒๕, ๐-๒๒๗๕-๗๗๘๓   โทรสาร ๐-๒๖๙๒-๔๑๕๐
เว็บไซต์ www.jpthai.org // อีเมล์: jpthai@jpthai.org // www.facebook.com/JPThai - ยส. (ยุติธรรมและสันติ)