Share |

“เราจงพิจารณา หาทางปลุกใจกันและกัน ให้มีความรัก และประกอบกิจการดี” (ฮบ 10:24)
 

พี่น้องที่รักทั้งหลาย

0.1  อีกครั้งหนึ่งที่เทศกาลมหาพรตเปิดโอกาสให้เรา ไตร่ตรองถึงจุดศูนย์กลางแห่งชีวิตคริสตชน ซึ่งได้แก่ความรักเมตตา เป็นเวลาที่เหมาะสมยิ่งที่เราจะหันมาฟื้นฟูการเดินทางในความเชื่อของเรา ทั้งในฐานะที่เป็นปัจเจกชนและในฐานะที่เป็นชุมชนโดยอาศัยพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ การเดินทางนี้เป็นการเดินทาง ที่ต้องมีการสวดภาวนาและการแบ่งปันกัน การรักษาความเงียบ และการจำศีลอย่างเป็นพิเศษ เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองความชื่นชมยินดีแห่งปัสกา

0.1.1  เทศกาลในจารีตพิธีกรรมมีอยู่ 4 เทศกาล  2 เทศกาลที่สำคัญ คือ เทศกาล พระคริสตสมภพ และเทศกาลปัสกา อีก 2 เทศกาลคือ เทศกาลเตรียมรับเสด็จ ซึ่งเป็นการเตรียมฉลองเทศกาลพระคริสตสมภพ และเทศกาลมหาพรต ซึ่งเป็นการเตรียมเฉลองเทศกาลปัสกา คือ เทศกาลพระคริสต์ทรงกลับคืนพระชนมชีพ มีชัยชนะต่อบาป พระองค์ทรงพามวลมนุษย์ทุกคนข้ามผ่าน  ความตายไปสู่ชีวิตใหม่

0.1.2  เนื่องจากเทศกาลปัสกาเป็นเทศกาลที่มีค่าและสำคัญยิ่ง เทศกาลมหาพรตซึ่งเป็นช่วงเวลา 40 วัน ที่คริสตชนจะต้องให้ความสนใจทำการฟื้นฟูชีวิตอย่างจริงจัง ซึ่งมีเครื่องมือที่จารีตพิธีกรรมเตรียมไว้ให้อย่างเหมาะสม กล่าวคือพระวาจาของพระเจ้าและศีลศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยหล่อหลอมตระเตรียมจิตใจให้เรามีความพร้อม เพื่อเฉลิมฉลองปัสกาด้วยความปีติยินดีอย่างมีอิสระเสรี

0.1.3  40 วันตลอดมหาพรต จึงเป็นการเดินทางฝ่ายจิตที่เชิญชวนให้เราคิดถึงพระเยซูเจ้าผู้ทรงใช้เวลา 40 วัน ทรงอยู่ในความเงียบ ทรงภาวนา ทรงจำศีลอดอาหาร เตรียมออกเทศนาเป็นการอุทิศชีวิตของพระองค์เพื่อมวลชน

0.2  ในปีนี้ ข้าพเจ้าใคร่เสนอข้อคิดบางประการ จากข้อความสั้นๆของพระคัมภีร์ในจดหมาย ถึงชาวฮีบรู “เราจงพิจารณาหาทางปลุกใจกันและกันให้มีความรักและประกอบกิจการดี” คำพูดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์เตือนใจเรา ให้วางใจในพระเยซูคริสตเจ้า มหาสมณะผู้ทรงบรรลุชัยชนะ ทำให้เราได้รับการอภัยบาปและทรงเปิดหนทางใหม่ให้เราเข้าสู่พระเจ้าได้ การยอมรับนับถือพระคริสตเจ้าก่อให้เกิดผลในชีวิตที่ถูกหล่อหลอมด้วยฤทธิ์กุศล 3 ประการ ซึ่งพระเจ้าประทานให้ นี่หมายถึงการเข้าหาพระเจ้า “ด้วยจริงใจและเปี่ยมด้วยความเชื่อ” (ว. 22) ยืนหยัด “ในความหวังที่เราตั้งมั่น” (ว. 23)

และเฝ้าระวังดำเนินชีวิตในชีวิตแห่ง “ความรักและการประกอบกิจการดี” (ว. 24) ด้วยกันกับบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรา ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์เน้นว่า เพื่อธำรงชีวิตนี้ที่ได้รับการหล่อหลอมด้วยพระวรสาร เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องมส่วนร่วมในจารีตพิธีกรรม และสวดภาวนาพร้อมกันเป็นหมู่คณะ โดยรำลึกถึงเป้าหมายสุดท้ายของเราที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันในพระเจ้า (ว. 25) ตรงนี้ข้าพเจ้าใคร่ที่จะไตร่ตรองวรรคที่ 24 ซึ่งสอนไว้อย่างชัดเจน มีคุณค่า และเหมาะแก่กาลเวลา เกี่ยวกับ 3 มิติแห่งชีวิตคริสตชนด้วยกัน นั่นคือ ความห่วงใยในผู้อื่น การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความศักดิ์สิทธิ์ส่วนตัว

0.2.1  หัวข้อสาส์นมหาพรตของพระสันตะปาปาปีนี้ เป็นข้อความพระคัมภีร์สั้นๆ ของจากจดหมายถึงชาวฮีบรู “เราจงพิจารณา หาทางปลุกใจกันและกันให้มีความรัก และประกอบกิจการดี” (ฮบ 10:24) ซึ่งเป็นคำเตือนใจให้คริสตชนสมัยแรกๆ ได้ตระหนักว่า การล้างบาปมิใช่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่รับครั้งเดียวและก็สิ้นสุดกันเท่านั้น แต่ศีลล้างบาปเป็นกระแสเรียกที่คริสตชนทุกคนได้รับการเชิญชวนให้กลับใจและปรับเปลี่ยนชีวิตของตนอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่  เราจะต้องหาทางปลุกใจกันและกัน ให้ดำเนินชีวิตแห่งศีลบาป พยายามที่จะกลับใจอย่างต่อเนื่องและชำระมโนธรรมของเราในลักษณะที่ยั่งยืน  การแสดงออกที่เป็นรูปธรรมก็คือ ให้มีความรักและประกอบกิจการดีเป็นพิเศษ
 

0.2.2  ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์เชิญชวนให้เรานำคุณธรรมเชิงเทววิทยามาดำเนินชีวิต สร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า “ด้วยจริงใจและเปี่ยมด้วยความเชื่อ” (ว.22) เนื่องด้วยว่าในกระแสสังคมปัจจุบันมีสาเหตุปัจจัยมากมายและหลากหลาย ที่ทำให้ความเชื่อของเราเสื่อมและเสียไปในที่สุด เมื่อเรามีความเชื่อในเชิงความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับพระเจ้า และมีประสบการณ์ว่า พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ เราจึงมอบความหวังในพระองค์ด้วยความยึดมั่น อันเป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องหาทางปลุกใจกันและกัน ให้แสดงความเชื่อ และความหวังของเราด้วยความรักที่เป็นรูปธรรม ด้วยความห่วงใยและประกอบกิจเมตตาต่างๆ  คุณธรรม 3 ประการดังกล่าวนี้จะได้รับการหล่อหลอมจากพระวรสาร

ด้วยการมีส่วนร่วมในจารีตพิธีกรรมและการชุมนุมภาวนากันเป็นหมู่คณะ การนำหัวข้อของสาส์นมหาพรตปีนี้มาดำเนินชีวิต ช่างเหมาะเจาะกับแผนอภิบาลของ พระศาสนจักรไทยอย่างแท้จริง ที่จะ “อภิบาลชุมชนศิษย์พระคริสต์ ร่วมพันธกิจแบ่งปันข่าวดี”   ด้วยวิถีชุมชนวัด เพราะเราได้รับการเชิญชวนให้ดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะ กับเพื่อนพี่น้องในละแวกเดียวกัน หล่อหลอมชีวิตด้วยพระวรสารประกาศข่าวดีด้วยชีวิตเชิงประจักษ์   ตระหนักถึงการปลุกใจให้มีส่วนร่วมกับงานไถ่กู้ ที่พระศาสนจักรได้รับมอบมาจากพระคริสตเจ้า โดยการช่วยเหลือกันและกันด้วยกิจการดี

1. “เราจงพิจารณาทางปลุกใจกันและกัน” ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรา

1.1  มิติแรกนี้เป็นการเชิญชวนให้เรา “มีความกังวล” คำกริยาภาษากรีกที่ใช้ในที่นี้คือคำ katanoein  หมายถึงการพิจารณาไตร่ตรอง การสนใจ การพิจารณาอย่างรอบคอบและการจุดประเด็นอะไรบางอย่าง เราพบคำคำนี้ในพระวรสารตอนที่พระเยซูทรงเชิญศิษย์ของพระองค์ให้ “คิดถึง” นกกาที่ไม่ได้กังวลอะไร แต่ก็เป็นศูนย์กลางแห่งการเอาใจใส่แห่งพระญาณสอดส่องของพระเจ้า (เทียบ ลก. 12: 24) และให้สังเกตท่อนซุงในดวงตาของเรา ก่อนที่มองไปที่เศษฟางในตาของบรรดาพี่น้องของเรา (เทียบ ลก. 6: 41)  อีกวรรคหนึ่งในจดหมายถึงชาวฮีบรู เราพบการสนับสนุนให้ “มีความคิดแน่วแน่ถึงองค์พระเยซูเจ้า” (3: 1) ผู้ทรงเป็นอัครสาวกและมหาสมณะแห่งความเชื่อของเรา

ดังนั้นคำกริยาที่ใช้เตือนใจเรา ชวนเราให้หันหน้าไปมองผู้อื่น บุคคลแรกที่ต้องมองคือพระเยซู ให้เรากังวลซึ่งกันและกัน มิให้ซ่อนตัวอยู่ตามลำพังและเพิกเฉยต่อชะตากรรมแห่งบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรา แต่บ่อยครั้งทัศนคติของเรากลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เย็นชาไม่สนใจใด ๆ เพราะเกิดจากการเห็นแก่ตัวและสวมหน้ากากทำทีว่า ให้ความเคารพกับ “เรื่องส่วนตัว”

1.1.1  การเชิญชวนให้ “มีความกังวล” เป็นกระบวนการของการพินิจพิเคราะห์ ให้ความสนใจ สังเกตด้วยความเอาใจใส่ และดูรายละเอียดในบางสิ่งบางอย่าง บุคคลที่เราจะต้องมีท่าทีดังกล่าวข้างต้น ก็คือพระเยซูเจ้า ที่เชิญชวนเราให้เรากังวล สนใจ และห่วงใยชีวิตของผู้อื่น ไม่สนใจแต่เรื่องส่วนตัว ซึ่งในปัจจุบันนี้ ผู้คนมักไม่สนใจใยดีต่อผู้อื่น ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว และปกป้องตนเองให้รู้สึกว่าดี และถูกต้องด้วยคำว่า “เป็นเรื่องส่วนตัว”

1.2  สำหรับทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน เสียงของพระเจ้าทรงเรียกร้องเราทุกคน ให้มีความห่วงใยซึ่งกันและกัน พระองค์ทรงขอร้องให้เราเป็น “ผู้พิทักษ์” พี่น้องชายหญิงของเรา  (ปฐก. 4: 9) ให้สร้างความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความเอื้ออาทรและความสนใจต่อกันและกันเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นการอยู่ดีแบบครบวงจรของผู้อื่นด้วย  บัญญัติยิ่งใหญ่แห่งความรักซึ่งกันและกันเรียกร้องให้เรารับผิดชอบ ให้เราต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งทุกคนเป็นสิ่งสร้างและเป็นบุตรของพระเจ้าเหมือนเรา  เมื่อเป็นพี่เป็นน้องกันในความเป็นมนุษย์ และในบางกรณีก็เป็นพี่น้องกันในความเชื่อด้วย สิ่งนี้น่าจะช่วยเราให้ยอมรับในผู้อื่น ตัวฉันที่แท้จริงอีกคนหนึ่ง

ซึ่งได้รับความรักอันไม่มีขอบเขตจากพระเจ้า  หากเราพยายามสร้างการมองผู้อื่น ในทำนองที่พวกเขาล้วนเป็นพี่เป็นน้องของเรา ความเอื้ออาทร ความยุติธรรม และความเมตตากรุณาก็จะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายในดวงใจของเรา สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 กล่าวยืนยันว่า โลกของเราทุกวันนี้ต้องทนทุกข์มากมายก็เพราะขาดความ เป็นพี่น้องกัน “สังคมมนุษย์กำลังป่วยหนัก  ต้นเหตุไม่ใช่เพราะขาดทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพราะ การควบคุมจากอภิสิทธิ์ชนไม่กี่คน แต่เป็นเพราะความสัมพันธ์ฉันพี่น้องอ่อนแอลงทั้งระหว่างปัจเจกชนและระหว่างชาติ” (ความก้าวหน้าของประชาชาติ 66)

1.2.1  พระเจ้ายังทรงเชิญชวนให้เราถือว่า เพื่อนมนุษย์ทุกคนเป็นพี่เป็นน้องของเรา และให้ความสนใจต่อกันและกัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี แบบครบวงจรหรือแบบบูรณาการ “อาแบลน้องชายท่านอยู่ที่ไหน” กาอินทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลน้องหรือ” (ปฐก 4:9)

1.2.2  เหตุผลที่เราต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นคือ ทุกคนเป็นสิ่งสร้าง และเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นพี่น้องในความเป็นมนุษย์และในความเชื่อ อันที่จริงเพื่อนพี่น้องเหล่านั้นคือ (เป็น)ใคร เขาก็คือ (เป็น)ฉันอีกคนหนึ่ง เพียงแต่เขาไม่มีเหมือนฉันในบางเรื่องเท่านั้น ทั้งฉันและเขาก็ได้รับพระเมตตาอันไม่มีขอบเขตเช่นเดียวกัน มนุษย์แต่ละคนต่างกันที่มี เหมือนกันที่เป็น

1.2.3  พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างมาให้มนุษย์ทุกคน ในบางกรณีบางสิ่งบางอย่างไปตกอยู่ที่ใครบางคน แต่ สิ่งเหล่านั้นที่ฉันมีเหลือเฟือ ก็ยังเป็นของคนอื่นอยู่ดี ฉันต้องมีสำนึกที่จะนำไปคืนให้แก่เพื่อนมนุษย์ ดังนั้นเวลาเราทำบุญหรือให้สิ่งของแก่ใคร อย่าคิดมากมายว่าเราทำดีนักหนา เราเพียงกำลังนำของของเขาที่เราครอบครองอยู่ ไปคืนแก่บุคคลนั้นเท่านั้น เพราะของเหล่านั้นก็เป็นของเขาเหมือนกัน พระสันตะปาปาปอลที่ 6  ให้ข้อคิดว่า สังคมมนุษย์ป่วยหนัก มิใช่ขาดทรัพยากรธรรมชาติ แต่เพราะขาดความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง (เทียบ ความก้าวหน้าของประชาชาติ ข้อ 66)

1.3  ความกังวลต่อผู้อื่นรวมถึงความปรารถนาสิ่งดีๆสำหรับพวกเขาในทุกมิติไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายกาย ฝ่ายศีลธรรมหรือฝ่ายจิตใจ  วัฒนธรรมร่วมสมัยดูเหมือนจะขาดจิตสำนึกเรื่องความดีความชั่ว แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเน้นว่า ความดีนั้นมีอยู่และความดีจะต้องชนะความชั่ว เพราะว่าพระเจ้า ทรงเป็น “ผู้ที่มีน้ำพระทัยกว้างและกระทำการด้วยน้ำพระทัยกว้าง” (สดด. 119: 68)  ความดีคือทุกอย่างที่ให้ ปกป้องและส่งเสริมชีวิต ความเป็นพี่น้องกันและความเป็นหนึ่งเดียวกัน

ดังนั้นการรับผิดชอบต่อผู้อื่นจึงหมายถึงปรารถนาและกระทำเพื่อความดีของผู้อื่นโดยหวังว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นผู้ที่ยอมรับคุณงามความดีและการเรียกร้องที่ทุกคนต้องทำความดี ความกังวลต่อผู้อื่นหมายถึงการตระหนักถึงความต้อง การของพวกเขา พระคัมภีร์เตือนเราให้ระวังอันตรายมิให้ปล่อยให้หัวใจของเราเย็นชาจากอะไรที่เราเรียกกันว่า “ความเย็นชาฝ่ายจิต” ซึ่งทำให้เราขาดความรู้สึกต่อความทุกข์ของผู้อื่น  นักบุญลูกาเล่านิทานเปรียบเทียบสองเรื่องของพระเยซูเจ้าด้วยการยกตัวอย่าง

ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องชาวสะมาเรีย  สงฆ์และคนเก็บภาษี “เดินผ่านไป” (เทียบ ลก. 10: 30-32) ในเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส เศรษฐีคนนั้นไม่สนใจความยากจนของลาซารัส ซึ่งกำลังหิวโหยเกือบตาย อยู่ที่หน้าประตูบ้านของเศรษฐี (เทียบ ลก. 16: 19) นิทานเปรียบทั้งสองเรื่องแสดงให้เราเห็นตัวอย่างของความตรงกันข้ามระหว่าง “ความเป็นกังวล” ในการมองผู้อื่นด้วยความรักและความเมตตาสงสาร

1.3.1  ความกังวลต่อผู้อื่นหมายถึง ความปรารถนาดีที่จะมอบความดี  ทุกๆ มิติของชีวิตแก่ผู้อื่น คือ ด้านร่างกาย  ด้านศีลธรรม ด้านจิตใจ ความดีที่เป็นเชิงรูปธรรมคือการให้ ปกป้อง และส่งเสริมชีวิต ความเป็นพี่เป็นน้อง และความสนิทสัมพันธ์กัน

1.3.2  นิทานเปรียบเทียบเรื่องชาวซามาเรียผู้ใจดี [เทียบ ลก 10:30-32] ซึ่งสงฆ์และคนเก็บภาษีเดินผ่านไป และเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส ซึ่งเราพบว่าเศรษฐีมิได้ขับไสไล่ส่งลาซารัส เขาเพียงแต่ไม่สนใจใยดี ให้ความช่วยเหลือเท่านั้น  [เทียบ ลก 16:19] ทุกครั้งที่สวดบทสารภาพบาป เราได้กล่าวเสียงดังว่า “ข้าพเจ้าได้ทำบาปมากมายด้วยกาย วาจา และด้วยการละเลย” เราได้ละเลย เฉยเมย เพิกเฉย และไม่นำพาต่อผู้ขัดสนที่ขาดแคลนสิ่งจำเป็นต่างๆ ในชีวิตมากน้อยแค่ไหน  มหาพรตปีนี้ เราต้องทบทวนตนเองในประเด็นนี้มิใช่หรือ

1.4  อะไรคืออุปสรรคของความเป็นมนุษย์  และการมองด้วยความรักไปยังบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรา? บ่อยครั้งเป็นเพราะการเป็นเจ้าของความมั่งมีฝ่ายวัตถุและจิตสำนึกแห่งความพอเพียง  แต่มันก็อาจเป็นเพราะความโน้มเอียงที่จะถือประโยชน์ส่วนตนและปัญหาของตนมาก่อนสิ่งใดด้วย  เราไม่ควรที่จะเป็นคนที่ขาดความสามารถในการ “แสดงความเมตตา” ต่อผู้ที่กำลังทุกข์ทรมาน ไม่ควรที่จะเก็บใจของเรา ไว้ในเรื่องราวและปัญหาของเรา จนกระทั่งใจของเราไม่สามารถที่จะได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญ ของคนยากไร้ 

ความสุภาพของใจและประสบการณ์ส่วนตัวในความทุกข์สามารถปลุกจิตสำนึกแห่งความเมตตาและการเห็นอกเห็นใจในตัวเราให้ตื่นขึ้นได้ “ผู้ที่ชอบธรรมย่อมจะเข้าใจได้ดีถึง ต้นเหตุของผู้อ่อนแอ ซึ่งคนชั่วไม่อาจที่จะเข้าใจได้” (สภษ. 29: 7) เราเข้าใจดีถึงบุญลาภของ “ผู้ที่เป็นทุกข์เศร้าโศก” (มธ. 5: 5) เราเข้าใจดีผู้ที่สามารถมองข้ามตนเองและรู้สึกสงสารความทุกข์ยากของผู้อื่น  การเข้าไปหาผู้อื่นแล้วเปิดใจให้กับความต้องการของพวกเขา สามารถเป็นโอกาสสำหรับความรอดและการที่จะได้รับพระพรจากพระเจ้า

1.4.1  สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เราไม่มีหัวใจแบบมนุษย์ ซึ่งควรสงสาร เข้าใจ แบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น คือ ความมั่งมีฝ่ายวัตถุ และความสำนึกว่าตนไม่ต้องพึ่งใครแล้ว ให้เราฟังคำเตือนใจจากพระวาจาต่อไปนี้ ซึ่งมีความชัดเจน และเป็นรูปธรรม “เราไม่ได้นำสิ่งใดติดตัวเข้ามาในโลก และเราก็นำอะไรออกไปไม่ได้ ตราบใดที่มีอาหารและเครื่องนุ่งห่ม เราก็พอใจแล้ว คนที่อยากรวยก็ตกเป็นเหยื่อของการทดลอง ติดกับดักและตกลงไปในตัณหาชั่วร้ายโง่เขลามากมาย ซึ่งทำให้มนุษย์จมลงสู่ความพินาศย่อยยับ “ความรักเงินตราเป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายทุกประการ” บางคนเมื่อแสวงหาแต่เงินก็พลัดหลงจากความเชื่อ เป็นเหตุให้ตนเองได้รับความทุกข์เป็นอันมาก” (1 ทธ 6:7-10)

1.5 “ความห่วงใยต่อกันและกัน” ยังหมายถึงการห่วงใยต่อความดีฝ่ายจิตของเขาด้วย ตรงนี้ข้าพเจ้าใคร่ที่จะพูดถึงมิติแห่งชีวิตคริสตชน ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า มันค่อนข้างที่จะถูกลืมไป นั่นคือ การแก้ไขความบกพร่องของกันและกันฉันพี่น้องเพื่อเห็นแก่ความรอดนิรันดร ในทุกวันนี้โดยทั่วไปแล้ว เรามีความรู้สึกไวต่อความคิดในเรื่องของความรักเมตตาและการเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่นในด้านวัตถุ แต่แทบจะไม่มีการพูดถึงเลยเกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านจิตใจต่อบรรดา พี่น้องชายหญิงของเรา มันไม่ได้เป็นเช่นนี้เลย

สำหรับพระศาสนจักรยุคต้นๆ ตามชุมชนต่าง ๆที่มีวุฒิภาวะในความเชื่อ พวกเขามีความกังวลไม่ใช่แต่สุขภาพฝ่ายกายของบรรดาพี่น้องชายหญิง เท่านั้น แต่รวมไปถึงสุขภาพฝ่ายจิตและความรอดนิรันดรด้วย พระคัมภีร์สอนเราว่า “จงตำหนิคนฉลาดแล้วเขาจะชอบที่ถูกตำหนิ  จงเปิดใจกับคนฉลาด เขาจะฉลาดมากขึ้น จงสอนผู้ชอบธรรมเขาจะมีความชอบธรรมเพิ่มขึ้น” (สภษ. 9: 8..)

พระคริสตเจ้าเองทรงสั่งให้เราเตือนพี่น้องที่ ทำบาป (เทียบ มธ. 18: 15) คำกริยาที่ใช้เพื่อแสดงการตักเตือนกันฉันพี่น้องคือ elenchein เป็นคำเดียวกันที่ใช้เพื่อแสดงถึงพันธกิจ ในการประกาศพระวรสารของคริสตชนที่จะต้องพูดต่อต้าน ชนชาติที่หมกมุ่นอยู่แต่ในความชั่ว (เทียบ อฟ. 5: 11)

1.5.1  ตามปกติเรามักห่วงใยกันเฉพาะเรื่องร่างกายและวัตถุ เพราะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม มองชัดวัดได้ เราเห็นผู้ที่ขัดสนคลาดแคลนแล้ว ก็เกิดความสงสาร เห็นใจและหยิบยื่นความช่วยเหลือ แต่ทว่าเรามักมองข้ามความรับผิดชอบต่อความบกพร่องทางด้านจิตใจ ในกลุ่มคริสตชนยุคต้นๆ ต่างคนต่างเป็นห่วงถึงเรื่องสุขภาพฝ่ายจิตใจ และความรอดนิรันดร จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ที่จะต้องเป็นห่วงเตือนใจกันให้สนใจ ทำการฟื้นฟูชีวิต กลับจิตกลับใจ และระลึกถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการมามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ และตั้งทิศทางให้ถูกต้อง

1.6  ธรรมประเพณีปฏิบัติของพระศาสนจักรรวม “การตักเตือนคนบาป” ไว้ในงานเมตตาธรรมด้วย  เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องรื้อฟื้นมิตินี้  สำหรับงานเมตตาธรรมของคริสตชน  เราต้องไม่เงียบเฉยต่อความชั่ว ข้าพเจ้ากำลังนึกถึงคริสตชนเหล่านั้น ผู้ที่มัวแต่เกรงใจผู้อื่นหรือเพื่อที่ตนจะไม่ต้องยุ่งยาก เลยปรับตัวเองให้กับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในขณะนี้  แทนที่จะตักเตือนพี่น้องให้เลิกคิดและเลิกการกระทำที่ขัดแย้งกับความจริง

รวมถึงการที่พวกเขาไม่เดินอยู่บนหนทางแห่งความดี สำหรับการตักเตือนแบบคริสตชนนั้นจะต้องไม่ถูกผลักดันด้วยจิตตารมณ์แห่งการกล่าวหาหรือกล่าวโทษ  มันจะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยความรักความเมตตาและเกิดจากความห่วงใยอย่างจริงใจเพื่อเห็นแก่ความดีของผู้อื่น ดังที่นักบุญเปาโล กล่าวว่า “ถ้าท่านพบว่าใครคนหนึ่งทำผิด ท่านซึ่งมีพระจิตเจ้าเป็นผู้นำ จงตักเตือนแก้ไขเขาด้วย ความอ่อนโยน จงระวังตัว ท่านอาจถูกทดลองด้วย” (กท. 6: 1)

ในโลกที่เต็มไปด้วยการเห็นแก่ตัว จำเป็นที่เราจะต้องค้นให้พบว่าการตักเตือนแก้ไขกันและกันฉันพี่น้องนั้นมีความสำคัญยิ่ง เพื่อที่เราจะได้เดินไปในเส้นทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ด้วยกัน   พระคัมภีร์บอกเราว่าแม้ “คนชอบธรรมยังทำผิด 7 ครั้ง” (สภษ. 24: 16)  เรามีความอ่อนแอและขาดความครบครันด้วยกันทุกคน  (เทียบ 1 ยน. 1: 8) ดังนั้น  มันจึงเป็นการรับใช้ที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยเหลือผู้อื่นและยอมให้ผู้อื่นช่วยเหลือเรา

เพื่อที่เราจะได้ทราบความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับตัวเรา แก้ไขชีวิตของเรา และเดินไปอย่างถูกต้องในหนทางของพระเจ้า การมองของเรานั้นจำเป็นเสมอที่ต้องเป็นการมองที่มีความรักพร้อมกับการตักเตือน ซึ่งต้องมีทั้ง รู้และมีความเข้าใจ ต้องแยกแยะและมีการให้อภัย (เทียบ ลก. 22: 61) เฉกเช่นที่พระเจ้าทรงกระทำและ จะทรงกระทำต่อไปสำหรับเราแต่ละคน

1.6.1  การตักเตือนคนบาป ถูกจัดไว้ในงานเมตตาธรรมประการหนึ่ง ซึ่งสมควรได้รับการฟื้นฟู ทำความเข้าใจ และหาทางปฏิบัติ ความเกรงใจเป็นอุปสรรคอันสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งไม่กล้าตักเตือนผู้ที่ทำผิด เราต้องไม่ลืมพระวาจาที่กล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าท่านใดหลงผิดไปจากความจริง และอีกคนหนึ่งนำเขากลับมา จงรู้ไว้เถิดว่า ผู้ที่ช่วยคนบาปให้กลับมาจากทางผิด ก็จะช่วยวิญญาณของตนให้รอดพ้นจากความตายและจะได้รับการอภัย” [ยบ 5:19-20]

1.6.2  นักบุญเปาโลให้ข้อสังเกตในเรื่อง วิธีการเตือนว่า “ถ้าท่านพบว่าใครคนหนึ่งทำผิด ท่านซึ่งมีพระจิตเจ้าเป็นผู้นำ จงตักเตือนแก้ไขเขาด้วยความอ่อนโยน จงระวังตัว ท่านอาจถูกทดลองด้วย”   [กท 6:11] โดยหลักการ ทุกคนปรารถนาให้ผู้กระทำผิด มีความสำนึกและปรับเปลี่ยนชีวิต แต่โดยเชิงวิธีการ ย่อมมีความแตกต่างกันตามกาลเทศะ หลักการนั้นต้องแน่วแน่ แต่วิธีการต้องนิ่มนวล หรือกล่าวสั้น ๆ   แบบจำง่าย ๆ คือ  “แข็งใน” แต่  “อ่อนนอก” นอกนั้น ยังต้องมีทั้งความรู้และความเข้าใจ ต้องแยกแยะระหว่างบาปและคนบาป และสามารถให้อภัยได้ ให้เราเลียนแบบอย่างของพระเยซูเจ้าในกรณีของหญิงที่ถูกจับได้ขณะที่ผิดประเวณี  [เทียบ ยน 8:1-11]

2. “ความกังวลต่อกันและกัน” พระพรแห่งการตอบแทนซึ่งกันและกัน

2.1 การใส่ใจต่อผู้อื่นอยู่ตรงกันข้ามกันกับจิตตารมณ์ ซึ่งอาศัยการดำเนินชีวิตติดกับมิติโลก อย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่สามารถมองเห็นมิติเหนือธรรมชาติและไม่ยอมรับการเลือกคุณธรรมที่อ้างว่าทำไป ในนามของเสรีภาพส่วนบุคคล  สังคมของเราอาจกลายเป็นสังคมของคนตาบอดต่อความทุกข์ฝ่ายกายและต่อการเรียกร้องเชิงจิตและจริยธรรมแห่งชีวิต  สิ่งนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นในชุมชนคริสตชน นักบุญเปาโลเตือนเราให้ “พยายามทำกิจการที่นำไปสู่สันติ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่กันและกัน” (รม. 14: 19) เพื่อความดีของเพื่อนบ้าน “เพื่อที่เราจะได้สนับสนุนกันและกัน” (15: 2)         ไม่หาผลประโยชน์ส่วนตัว “แต่เห็นแก่ประโยชน์ของทุกคน เพื่อเขาจะได้รับการรอดพ้น” (1 คร. 10: 33) การตักเตือนกันและการให้กำลังใจกันในจิตตารมณ์แห่งความสุภาพและความรัก จะต้องเป็น ส่วนหนึ่งแห่งชีวิตชุมชนคริสตชน

2.1.1 ชุมชนคริสตชนต้องตระหนักถึงความกังวลที่ต้องมีต่อกันและกัน ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี มีชีวิตเชิงประจักษ์พยานแก่กันและกัน  สนับสนุนกันและกัน หากมีบุคคลหรือกลุ่มใดมีจิตตารมณ์ และกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน นอกนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกคนมากกว่าของส่วนตัว ตักเตือนกันและกันยามที่มีเรื่องที่ท้าทายเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่กันและกันเสมอ

2.2 ศิษย์ของพระคริสตเจ้าที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์โดยอาศัยศีลมหาสนิท ดำเนินชีวิตในความเป็นมิตรไมตรีจิต ซึ่งผูกมัดพวกเขาไว้ด้วยกัน ในฐานะที่เป็นอวัยวะแห่งกายเดียวกัน นี่หมายความว่าคนอื่นเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า ซึ่งหมายความว่า ชีวิตของเขาและความรอด ของเขาเกี่ยวพันกับชีวิตและความรอดของข้าพเจ้าเองด้วย ตรงนี้เรากำลังสัมผัสกับมิติลึกล้ำแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน การมีชีวิตอยู่ของเรามีความสัมพันธ์กันกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในทางดีหรือทางร้าย

ทั้งบาปและการกระทำแห่งความรักของเรามีความสำคัญในเชิงสังคม  การตอบสนองต่อกัน และกันนี้เห็นได้ในพระศาสนจักร ซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า ชุมชนคริสตชนมีการทำการใช้โทษบาปอย่างสม่ำเสมอ และทูลวิงวอนขออภัยโทษสำหรับบาปของบรรดาสมาชิก แต่ก็แสดงความชื่นชมยินดีในแบบฉบับแห่งฤทธิ์กุศลและความรัก ที่ปรากฏอยู่ท่ามกลางพระศาสนจักรด้วย ดังที่นักบุญเปาโลกกล่าวไว้ว่า “อวัยวะทุกส่วนจะเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน” (1 คร. 12: 25)  เพราะเรากอปรเป็นกายเดียวกัน

2.2.1  ศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชน อาศัยพลังจากความสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ฉันต้องพร้อมที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนพี่น้องทุกระดับ ไม่ว่าเพื่อนพี่น้องจะมีชีวิตในทางดีหรือทางร้ายก็ตาม เพราะทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า และสมาชิกอื่น ๆ ในพระกายทิพย์ของพระองค์ “ผู้ใดกินเนื้อและดื่มโลหิตเรา ผู้นั้นอยู่ในเราและเราอยู่ในผู้นั้น” [ยน 5:56] และ “อวัยวะทุกส่วนจะเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน” ชีวิตและความรอดของเพื่อนพี่น้องในพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า ก็เป็นชีวิตและความรอดของข้าพเจ้าด้วย [เทียบ 1 คร 12:25]

2.3  การประกอบเมตตากิจต่อบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรา อย่างที่แสดงออกด้วยการให้ทาน อันเป็นการปฏิบัติที่พร้อมกันกับการสวดภาวนาและการจำศีล คือวิถีที่นิยมปฏิบัติกันในช่วงเทศกาลมหาพรต มีพื้นฐานอยู่ในการที่เราต่างเป็นของกันและกัน นอกนั้น คริสตชนยังสามารถแสดงความเป็นสมาชิกของตนในกายเดียวกันซึ่งได้แก่พระศาสนจักรโดยอาศัยการเป็นห่วงเป็นใยอย่างเป็นรูปธรรม ต่อคนที่ยากจนข้นแค้นด้วย

เช่นเดียวกันการห่วงใยซึ่งกันและกันหมายถึงการยอมรับความดีที่พระเจ้ากำลังกระทำในตัวผู้อื่นและด้วยการโมทนาคุณพระองค์สำหรับอัศจรรย์แห่งพระหรรษทาน ที่พระเจ้าในความดีอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ประทานให้อย่างสม่ำเสมอสำหรับบรรดาลูกของพระองค์ เมื่อคริสตชนเห็นว่าพระจิตเจ้ากำลังกระทำการในผู้อื่น พวกเขาไม่สามารถที่จะเป็นอื่นได้ นอกจากชื่นชมยินดีและถวายพระสิริมงคลแด่พระบิดาเจ้าสวรรค์ (เทียบ มธ. 5: 16)

2.3.1  การปฏิบัติศาสนกิจหลัก 3 ประการ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่นิยมปฏิบัติกัน ได้รับการเน้นในช่วงเทศกาลมหาพรต คือ การให้ทาน การสวดภาวนา และการจำศีล ความห่วงใยที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนคือ ความห่วงใยต่อผู้ที่ยากจนข้นแค้น การยอมรับความดีในบุคคลอื่น และรู้จักขอบพระคุณในความดีอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

3. “ปลุกใจกันและกันให้มีความรักและประกอบกิจการดี” เดินทางไปด้วยกันในความศักดิ์สิทธิ์

3.1  คำพูดเหล่านี้ในจดหมายถึงชาวฮีบรู (10: 24) เร่งเร้าให้เราไตร่ตรองถึงการเรียกร้องให้ไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการเดินทางอย่างสม่ำเสมอแห่งชีวิตจิต ในขณะที่เราแสวงหาพระพร ฝ่ายจิตที่สูงส่งรวมถึงในการแสวงหาความรักที่เลิศล้ำและบังเกิดผลเพิ่มขึ้นด้วย (เทียบ 1 คร.12:31- 13:13) ความห่วงใยซึ่งกันและกันควรปลุกเราให้มีความรักที่บังเกิดผลมากขึ้น ซึ่ง“ดุจแสงในยามรุ่งอรุณความสว่างของมันจะถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ในเวลากลางวัน”(สภษ. 4:18)

ความรักดังกล่าวจะทำให้เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ดุจเป็นการลิ้มรสล่วงหน้าแห่งวันนิรันดรในพระเจ้าที่กำลังรอเราอยู่เวลาที่ประทานมาให้เราในโลกนี้นั้นมีค่าล้ำเลิศ เพื่อให้เราไตร่ตรองกระทำกิจการดีด้วยความรักต่อพระเจ้า  ด้วยวิธีนี้พระศาสนจักรเองก็จะก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สู่การมีวุฒิภาวะอย่างสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ.4 :13)   คำเตือนที่สนับสนุนให้เราแต่ละคนพยายามบรรลุความบริบูรณ์แห่งความรักและกระทำกิจการดี มีพื้นฐานอยู่บนมิติอันทรงพลังแห่งการเจริญเติบโต

3.1.1  การปลุกใจให้ตระหนักเสมอว่า ชีวิตคือการเดินทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์  สู่ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องอื่นๆ ซึ่งจะต้องดำเนินไปแต่ละวัน เป็นการลิ้มรสวันแห่งนิรันดรล่วงหน้า ซึ่งได้เริ่มต้นแล้วจนกระทั่งทุกคนบรรลุถึงวุฒิภาวะสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า  [เทียบ  อฟ 4:13]

3.2  เป็นที่น่าเสียดายว่า ยังมีการประจญล่อลวงอยู่เสมอที่ทำให้เราเป็นคนไม่รู้ร้อนรู้หนาวเมินพระจิตเจ้า ไม่ยอมใช้สติปัญญาที่เราได้รับเพื่อความดีของตัวเราเองและเพื่อความดีของผู้อื่น  (เทียบ มธ.25:25...) เราทุกคนได้รับความมั่งคั่งทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายกายที่เราได้รับมา เพื่อนำไปใช้ ในการทำให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จลุล่วงไป เพื่อความดีของพระศาสนจักร และเพื่อความรอดของเราเป็นการส่วนตัว (เทียบ ลก.12:21; 1ทธ.6:18) ผู้นำจิตวิญญาณเตือนเราว่าในชีวิตแห่ง ความเชื่อผู้ที่ไม่ก้าวหน้าก็จะถอยหลัง  พี่น้องชายหญิงที่รัก ขอให้เราจงรับคำเชื้อเชิญ

โดยเฉพาะ ณ บัดนี้ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะตั้ง “มาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน แบบคริสตชน” (เริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ 31)  ปรีชาญาณของพระศาสนจักรในการยอมรับและประกาศ คริสตชนบางท่านที่มีชีวิตโดดเด่นเป็นบุญราศีหรือนักบุญนั้นยังมีจุดประสงค์ที่จะจูงใจผู้อื่นให้เอาแบบฉบับฤทธิ์กุศลของท่านเหล่านั้นด้วย นักบุญเปาโลเตือนเรา “ให้คิดว่าผู้อื่นดีกว่าตน”   (รม. 12: 10)

3.2.1  บนเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดรที่สมบูรณ์ ยังมีการประจญล่อลวงอยู่เสมอที่จะไม่รู้ร้อนรู้หนาว    ไม่ร่วมมือกับพระจิตเจ้าผู้ทรงนำทาง และเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต อีกทั้งไม่ยอมใช้สติปัญญาที่จะแสวงหาวิธีที่นำความดีที่ได้รับมา ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น ซึ่งทำให้เราระลึกถึงเรื่อง เงินตะลันต์  ซึ่งคนที่รับหนึ่งตะลันต์เข้ามารายงานว่า “ข้าพเจ้ามีความกลัวจึงนำเงินของท่านไปฝังดินซ่อนไว้” [มธ 25:25] เราอดคิดไม่ได้ถึงพระวาจาที่ว่า “ผู้ที่มีมากจะได้รับมากขึ้น ส่วนผู้ที่มีน้อย  สิ่งเล็กน้อยที่เขามีจะถูกริบไปด้วย” [มก 4 :25]

3.3  ในโลกที่เรียกร้องคริสตชนให้ฟื้นฟูการเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักและความซื่อสัตย์ ต่อพระเจ้า ขอให้เราทุกคนรู้สึกว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรักซึ่งกันและกัน รับใช้กัน และกระทำกิจการดี (เทียบ ฮบ. 6:10) การเรียกร้องนี้มีความสำคัญมากเป็นพิเศษในเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะมาถึงในการเตรียมตัวเพื่อต้อนรับการเฉลิมฉลองปัสกา ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดี และคำภาวนามายังท่านทั้งหลายในช่วงเทศกาลมหาพรต และขอมอบทุกท่านไว้ในคำวิงวอนของพระแม่มารีย์พรหมจารี  ขออวยพรมายังท่านทุกคน

3.3.1  คริสตชนทุกคนจึงต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษในเทศกาลศักดิ์สิทธิ์นี้ ฟื้นฟูชีวิตความรักและความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า แบบที่เป็นประจักษ์พยานได้ สร้างประสบการณ์ที่ดีส่วนบุคคลกับพระเยซูเจ้า นำคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติจนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็นข่าวดี พร้อมทั้งนำประสบการณ์ดีไปแบ่งปันกับผู้อื่น เป็นการเตรียมตัวเฉลิมฉลองการข้ามผ่านจากชีวิตเก่าสู่ชีวิตใหม่พร้อมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ชนะอำนาจบาปและความตาย ในโอกาสปัสกาปีนี้