วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012
“จิตวิญญาณแห่งยุติธรรม เมตตาธรรม รักกันฉันพี่น้อง”
 

พี่น้องคริสตชนที่รักทุกท่าน

วันอาทิตย์ที่สามในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยกำหนดให้เป็น  “วันสิทธิมนุษยชน” โอกาสวันสิทธิมนุษยชนปีนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องร่วมกันไตร่ตรองคุณธรรมสำคัญสามประการ ของชีวิตคริสตชนคือ  ความยุติธรรม เมตตาธรรม และความรักกันฉันพี่น้อง ประเทศไทยเป็นแผ่นดินแห่งความสุขสงบ ไม่มีความขัดแย้งรุนแรงในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา คนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือกันยามเมื่อคนร่วมชาติประสบทุกข์ยาก มีการรวมกลุ่มเป็นจิตอาสาช่วยคนและสัตว์ที่ได้รับความลำบาก มีผู้ประกอบการที่คิดถึงผู้ขาดโอกาสและผลิตสินค้าที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักผลไม้โดยคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค ตลอดจนผู้บริโภคหัวใจสีเขียวที่ใช้ชีวิตเป็นมิตรกับธรรมชาติ  แต่เราไม่อาจปฏิเสธความจริงที่รับรู้ว่า ความเมตตา ความรักกันฉันพี่น้อง ความอดทน ผ่อนหนักผ่อนเบา เริ่มเลือนหายไปจากสังคมเรามากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่ที่ผู้คนมาจากคนละรากเหง้าพื้นเพ แม้รั้วบ้านติดกันหรืออยู่ห้องติดกันก็แทบไม่รู้จักกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเราจึงเป็นสิ่งที่ละเลยไป โดยคิดว่าเขาไม่ใช่ญาติพี่น้องหรือไม่ได้เป็นเพื่อนของเราการที่ผู้คนไร้น้ำใจไมตรีต่อกันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม

ผู้คนถูกบีบคั้นด้วยภาวะเศรษฐกิจ ต้องดิ้นรนทำมาหากินเพื่อความอยู่รอด และความต้องการของแต่ละคนที่มีมากขึ้นซึ่งถูกกระตุ้นด้วยโฆษณาและกลยุทธ์การตลาดให้เราอยากบริโภคสินค้าและบริการ โดยมิได้หยุดคิดว่าสิ่งของเหล่านั้นจำเป็นกับชีวิตอย่างแท้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีประโยชน์มากก็จริง แต่ส่วนใหญ่กลับถูกใช้เพื่อตอบสนองความบันเทิงสนุกสนาน  ผ่อนคลายความโดดเดี่ยวอ้างว้างในจิตใจที่รู้สึกขาดบางสิ่งอยู่ตลอดเวลา หรือช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นคนทันสมัย ไม่ตกยุค 

ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ออกรุ่นใหม่มาให้อยากครอบครองอยู่เสมอ  เวลาส่วนใหญ่ของคนยุคไอทีจึงหมดไปกับการพูดคุยโทรศัพท์ เพ่งอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยมของตนเพื่อเล่น facebook, twitter ส่งข้อความหาเพื่อน แชร์ภาพถ่ายหรือเล่นเกมส์  ซึ่งกำลังเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะปัจเจกนิยม ที่ละเลยการสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างและผู้อื่น แม้แต่สมาชิกในครอบครัวของตน

ในช่วงเวลาของ “ปีแห่งความเชื่อ” ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการเปิดสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (1962-1965) นับเป็นโอกาสดียิ่งที่เราจะกลับมาศึกษาทบทวนคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นผลผลิตจากสังคายนาดังกล่าว ที่ยังคงเนื้อหาร่วมสมัยอยู่มากคือ“พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้” (Gaudium et Spes) 1965 ซึ่งได้แสดงจุดยืนของพระศาสนจักรว่า มนุษย์ทุกคนต่างเป็นสมาชิกในครอบครัวที่มีพระบิดาเดียวกัน “พระเป็นเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ห่วงใยมนุษย์ทุกคนเยี่ยงบิดา และมีพระประสงค์ให้มนุษยชาติทั้งมวล รวมกันเป็นครอบครัวที่มีความเป็นหนึ่งเดียว และปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นพี่เป็นน้อง” (ข้อ 24)

และให้ข้อปฏิบัติแก่เราว่า “เพื่อนบ้านของท่านเป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกับท่าน” ในประการแรกที่ควรคำนึงถึงคือแต่ละชีวิตมีความศักดิ์สิทธิ์ และจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้มนุษย์แต่ละคนดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ขออย่าได้เลียนแบบเศรษฐีที่เมินเฉยต่อชายยากจนที่ชื่อลาซารัส...  เราทุกคนต่างเป็นเพื่อนบ้านของกันและกัน  เราควรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เดือดร้อน, ผู้ขาดโอกาสและผู้ที่ไม่มีใครสนใจดูแล ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ, แรงงานต่างชาติที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม, ผู้ลี้ภัย, เด็กที่เกิดมาโดยขาดองค์ประกอบของครอบครัวที่สมบูรณ์, คนอดอยากหิวโหยและผู้ที่ต้องการความรัก ความเมตตาเป็นพลังในการดำเนินชีวิต

ด้วยเพราะว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ. 25:40) (ข้อ 27) พร้อมกันนี้ขอให้เราเปิดใจกว้างต่อคนที่มีความคิด การกระทำที่ไม่เหมือนกับเรา “เราควรมีความเคารพและความรักต่อคนที่มีความคิดและการกระทำแตกต่างไปจากเรา ทั้งในเรื่องสังคม การเมือง หรือแม้แต่เรื่องศาสนา เพราะด้วยความเคารพและรัก จะทำให้เราเข้าใจถึงวิธีคิดของเขา การเสวนากับเขาก็จะง่ายยิ่งขึ้น” (ข้อ 28)

ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรฯ  จึงขอเชิญชวนคริสตชนผู้เป็นศิษย์ติดตามพระคริสต์ ได้มีเวลาสงบเงียบ ปล่อยวางจากวัตถุสิ่งของและความกังวลทั้งมวล ยกสายตาเงยหน้าขึ้นหาพระเป็นเจ้า ไตร่ตรองถึงคำสอนในเรื่อง ความยุติธรรม เมตตาธรรม ความรักกันฉันพี่น้อง ทั้งจากพระวรสารและคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรว่า มีความหมายต่อการดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวันอย่างไร จากนั้นเริ่มต้นสร้างบรรยากาศแห่งความรักให้แพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ของแต่ละบ้าน ดังเช่น ท่านนักบุญเปาโล ให้หลักศีลธรรมในครอบครัวไว้ว่า “ให้สามีรักภรรยาเหมือนรักตนเอง และภรรยาให้เคารพสามี พ่อแม่อย่าย้ำสอนจนลูกขุ่นเคือง แต่สั่งสอนตักเตือนตามหลักธรรมของพระเป็นเจ้า และให้ลูกเชื่อฟังบิดามารดา” (อฟ. 5 :33, 6:1-4)

เช่นนั้นแล้วครอบครัวคริสตชนจะร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมของเราด้วยจิตใจที่  “ตั้งใจแน่วแน่ที่จะเคารพบุคคลอื่นและประชาชนทุกคน รวมทั้งศักดิ์ศรีของเขา ปฏิบัติต่อกันด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง เพราะว่าสันติภาพเป็นผลผลิตจากความรัก” (ข้อ 78)

ขอพระเยซูเจ้าอำนวยพระพรมายังพี่น้องผู้สร้างความยุติธรรมและสันติสุขทุกท่าน
 
พระสังฆราชฟิลิป บรรจง  ไชยรา

ประธานกรรมาธิการฝ่ายสังคม
สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย

คุณภูมินทร์ พงษ์ไกรกิตติ เจ้าหน้าที่ยส.