Share |

วันที่ 29 เมษายน 2012 วันอาทิตย์ที่สี่ในเทศกาลปัสกา

“กระแสเรียกเป็นของประทานจากความรักของพระเจ้า”

พี่น้องที่รักทั้งหลาย วันภาวนาสากลเพื่อกระแสเรียกครั้งที่ 49 ซึ่งจะฉลองในวันที่ 29 เมษายน 2012 วันอาทิตย์ที่สี่ในเทศกาลปัสกานี้ เชิญชวนเราให้คำนึงถึงความคิดหลัก “กระแสเรียกเป็นของประทานจากความรักของพระเจ้า” 
บ่อเกิดของประทานทุกอย่างที่ดีบริบูรณ์คือพระเจ้าผู้ทรงเป็นความรัก “Deus caritas est” : “ผู้ใดดำรงอยู่ในความรัก ย่อมดำรงอยู่ในพระเจ้า” (1 ยน 4:16) พระคัมภีร์บอกให้เรารู้ว่าความสัมพันธ์ดั้งเดิมระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์นี้มีอยู่ก่อนการเนรมิตสร้างเสียอีก

เมื่อเขียนจดหมายถึงคริสตชนที่เมืองเอเฟซัส นักบุญเปาโลขับร้องขอบพระคุณและสรรเสริญพระบิดาเจ้า ซึ่งทรงพระกรุณาหาขอบเขตมิได้ ทรงบันดาลให้แผนการณ์ที่ทรงประสงค์จะช่วยมวลมนุษย์ให้รอดพ้นสำเร็จเป็นจริง แผนการณ์นี้เป็นแผนการณ์แสดงความรัก เปาโลกล่าวว่า “พระองค์ทรงเลือกสรรเราแล้วในพระเยซูคริสตเจ้าองค์พระบุตรตั้งแต่ก่อนการเนรมิตสร้างโลก เพื่อให้เราศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ด้วยความรัก” (อฟ 1:4) เราได้รับความรักจากพระเจ้า ตั้งแต่ “ก่อน” ที่เราจะมีความเป็นอยู่เสียด้วย! เพราะอิทธิพลความรักอย่างไร้เงื่อนไขเท่านั้น พระองค์ทรงเนรมิตสร้างเรา “มิใช่จากสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว” (เทียบ 2 มคบ 7:28) เพื่อทรงทำให้เรามีความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์กับพระองค์

ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีรู้สึกพิศวงอย่างยิ่งในผลงานที่พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าได้เนรมิตขึ้นมา จึงร้องอุทานว่า “เมื่อข้าพเจ้าแหงนมองท้องฟ้าซึ่งนิ้วพระหัตถ์บรรจงสร้างไว้ มองดูเดือนดูดาวที่พระองค์ทรงประดับไว้อย่างมั่นคง มนุษย์เป็นใคร พระองค์จึงทรงระลึกถึงเขา บุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร พระองค์จึงทรงต้องเอาพระทัยใส่?” (สดด 8:3-4) ดังนั้น ความจริงลึกซึ้งที่ว่าทำไมเรามีความเป็นอยู่ได้จึงซ่อนอยู่ในธรรมล้ำลึกน่าพิศวงนี้ – สิ่งสร้างทุกอย่าง โดยเฉพาะมนุษย์แต่ละคน เป็นผลจากพระประสงค์ของพระเจ้าและเป็นกิจการที่ทรงกระทำเพราะความรัก. ความรักนี้ไม่มีขอบเขต เป็นความรักที่ซื่อสัตย์และคงอยู่ตลอดไป (เทียบ ยรม 31:3) การค้นพบความเป็นจริงประการนี้เป็นตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราอย่างลึกซึ้งจริงๆ

ในหนังสือ Confessions (คำประกาศสรรเสริญ) ของท่าน นักบุญออกัสตินใช้ถ้อยคำที่ทรงพลังกล่าวถึงการที่ท่านได้ค้นพบพระเจ้าผู้ทรงเป็นความงามและความรักสูงสุด พระเจ้าผู้ทรงอยู่ใกล้ชิดกับท่านตลอดเวลา ในที่สุดท่านยังเปิดความคิดและจิตใจให้พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงว่า “ข้าพเจ้าได้รักพระองค์สายเกินไป พระองค์ผู้ทรงเป็นความงดงามที่เก่าและใหม่อยู่เสมอ ข้าพเจ้ารักพระองค์สายเกินไป พระองค์ทรงอยู่ภายในข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าอยู่ภายนอก และค้นหาพระองค์อยู่ที่นั่น. ข้าพเจ้ามีแต่ความไม่น่ารัก แต่ก็ได้จุ่มตัวลงไปในสิ่งน่ารักต่างๆที่พระองค์ได้ทรงเนรมิตสร้างไว้. พระองค์ทรงอยู่กับข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่กับพระองค์ สิ่งสร้างต่างๆได้พรากข้าพเจ้าไว้จากพระองค์

ถึงกระนั้นถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในพระองค์ ก็คงจะไม่มีความเป็นอยู่ใดเลย. พระองค์ทรงเรียก พระองค์ทรงตะโกนเรียก และทรงแทรกผ่านความหนวกของข้าพเจ้า พระองค์ทรงส่งส่องแสงแวววับ พระองค์ทรงส่องสว่าง และทรงขจัดความมืดบอดของข้าพเจ้า พระองค์ทรงส่งกลิ่นหอมของพระองค์บนตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพยายามสูดลมหายใจและบัดนี้ใจเต้นโหยหาพระองค์ ข้าพเจ้าได้ชิมพระองค์แล้ว บัดนี้ข้าพเจ้ายิ่งหิวและกระหายมากขึ้น พระองค์ได้ทรงสัมผัสข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็เร่าร้อนหาสันติของพระองค์” (X,27.38)

ท่านนักบุญแห่งเมืองฮิปโปพยายามใช้ภาพพจน์เหล่านี้บรรยายถึงความลึกลับที่บรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ของการที่ท่านพบกับพระเจ้า พบกับความรักของพระเจ้าที่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทั้งหมดของท่าน ความรักนั้นไม่มีขอบเขตและนำหน้าเรา พยุงเราและเรียกเราให้เดินไปตามวิถีทางชีวิต ความรักฝังรากอยู่ในพระพรที่พระเจ้าประทานให้เราเปล่าๆโดยแท้จริง สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ก่อน คือบุญราศียอห์นปอลที่ 2 เมื่อตรัสโดยเฉพาะถึงสังฆภาพเพื่อรับใช้ ทรงกล่าวว่า “กิจกรรมทุกอย่างเพื่อรับใช้ – เมื่อนำเราให้รักและรับใช้พระศาสนจักร – ย่อมช่วยปลุกเร้าให้เราเติบโตขึ้นในความรักที่พร้อมยิ่งขึ้นจะรับใช้พระเยซูเจ้า พระประมุข ผู้อภิบาลและพระสวามีของพระศาสนจักร

ความรักนี้เป็นการตอบสนองความรักของพระเจ้าที่พระองค์ประทานให้เราเปล่าๆโดยที่เราไม่ได้วอนขอ” (Pastores Dabo Vobis, 25) อันที่จริง กระแสเรียกทุกอย่างที่เฉพาะเจาะจงเกิดขึ้นจากการที่พระเจ้าทรงริเริ่ม กระแสเรียกนี้เป็นของประทานจากความรักของพระเจ้า!  พระองค์ทรงเป็นบุคคลแรกที่ทรงเริ่มต้น “ก้าวแรก” และไม่ใช่เพราะว่าพระองค์ทรงพบอะไรดีในตัวเรา แต่เพราะความรัก “ที่ทรงหลั่งลงในดวงใจของเราเดชะพระจิตเจ้า” (รม 5:5)

ในทุกยุคทุกสมัย บ่อเกิดของการเรียกจากพระเจ้าพบได้ในการริเริ่มของความรักไร้ขอบเขตของพระเจ้าผู้ทรงแสดงพระองค์อย่างสมบูรณ์ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ดังที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในสมณสาส์นฉบับแรกของข้าพเจ้า Deus Caritas Est ว่า “เราแลเห็นพระเจ้าได้หลายวิธี. ในเรื่องความรักที่พระคัมภีร์เล่าไว้ พระองค์เสด็จมาหาเรา ทรงพยายามพิชิตดวงใจของเรา ตลอดทางไปจนถึงการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ถึงการที่พระหทัยถูกแทงบนไม้กางเขน จนถึงการแสดงพระองค์หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และถึงพระราชกิจยิ่งใหญ่ที่ทรงแนะนำพระศาสนจักรที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาผ่านทางกิจกรรมของบรรดาอัครสาวก องค์พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งพระศาสนจักรไปเลยในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรสมัยต่อมา พระองค์ยังทรงพบพวกเราอยู่อีกในผู้คนทั้งชายและหญิงที่สะท้อนการประทับอยู่ของพระองค์ ในพระวาจา ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และโดยเฉพาะในศีลมหาสนิท” (ข้อ 17)

ความรักของพระเจ้าคงอยู่ถาวร พระองค์ทรงซื่อสัตย์ต่อพระองค์เอง ทรงซื่อสัตย์ต่อ “พระวาจาที่ทรงบัญชาไว้สำหรับมนุษย์หนึ่งพันชั่วอายุคน” (สดด 105:8) อย่างไรก็ตาม ความงดงามของความรักเช่นนี้ของพระเจ้า ที่นำหน้าและอยู่พร้อมกับเรา จำเป็นต้องได้รับการประกาศซ้ำอีก โดยเฉพาะต่อบรรดาเยาวชนรุ่นต่อมา ความรักของพระเจ้าเช่นนี้เป็นพลังผลักดันที่ซ่อนอยู่ เป็นแรงบันดาลใจที่ไม่มีวันเหือดแห้งแม้ในสถานการณ์ยุ่งยากที่สุด พี่น้องที่รักทั้งหลาย เราจำเป็นต้องเปิดใจรับความรักนี้เข้ามาในชีวิต ทุกๆวันพระเยซูคริสตเจ้าทรงเรียกเราให้เข้าไปพบความรักของพระบิดาเจ้าผู้ทรงความดีอย่างสมบูรณ์ (เทียบ มธ 5:48) มาตรฐานสูงส่งของชีวิตคริสตชนอยู่ที่การ “รัก” เช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงรัก พระองค์ทรงแสดงความรักนี้ให้ปรากฏโดยประทานพระองค์อย่างสมบูรณ์ให้บังเกิดผลตามที่ทรงสัญญาไว้

นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนได้เขียนจดหมายถึงคุณแม่อธิการิณีพระอารามที่เมืองเซโกเวียซึ่งเป็นทุกข์ใจในการที่ท่านนักบุญถูกสั่งห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ ท่านเตือนคุณแม่อธิการิณีให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพระเจ้า “คุณแม่อย่าคิดถึงอะไรอื่นนอกจากว่าพระเจ้าทรงจัดการทุกสิ่ง และที่ใดที่ไม่มีความรัก ก็จงเติมความรักลงไป แล้วคุณแม่จะตักตวงความรักได้ที่นั่น” (จดหมาย, 26) ระแสเรียกทุกอย่างเกิดและเจริญเติบโตขึ้นในบรรยากาศการถวายตนและเปิดตนให้แก่ความรักของพระเจ้า และเป็นผลจากความรักนี้ เราจะดำเนินชีวิตรักพี่น้องที่ทำให้เราแลเห็นพระพักตร์ของพระคริสตเจ้าได้ (เทียบ มธ 25:31-46) ก็โดยตักตวงจากบ่อเกิดความรักนี้อาศัยการอธิษฐานภาวนา การเข้าถึงพระวาจาของพระเจ้าและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

โดยเฉพาะศีลมหาสนิท อย่างสม่ำเสมอ. นักบุญเกรโกรีพระสันตะปาปาทรงอธิบายว่า “ความรักทั้งสอง” นี้ – ความรักพระเจ้าและความรักเพื่อนมนุษย์ – สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกเพราะหลั่งไหลมาจากบ่อเกิดเดียวกัน คือพระเจ้า และกลับไปหาบ่อเกิดนั้นด้วย ท่านใช้อุปมาเรื่องหน่ออ่อนของต้นไม้เพื่ออธิบายเรื่องนี้ว่า “ก่อนอื่นหมดพระเจ้าทรงปลูกฝังความรักต่อพระองค์ ซึ่งเป็นเสมือนรากไว้ในจิตใจของเราที่เป็นเสมือนเนื้อดิน แล้วนั้นความรักต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นเสมือนใบก็จะแตกออกมา” (Moralium Libri, sive exposition in Librum B.Job, Lib.VII, Ch.24,28; PL 75, 780D).
ผู้ที่ต้องการจะออกเดินเพื่อตัดสินใจว่าตนมีกระแสเรียกให้เป็นพระสงฆ์เพื่อรับใช้และมีกระแสเรียกให้ดำเนินชีวิตถวายตนแด่พระเจ้า จะต้องดำเนินชีวิตแสดงความรักหนึ่งเดียวต่อพระเจ้าที่แสดงออกเป็นสองแบบนี้ (คือรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์) อย่างเข้มข้นเป็นพิเศษโดยบริสุทธิ์ใจ

การแสดงความรักทั้งสองแบบนี้เป็นเครื่องหมายเด่นชัดของกระแสเรียก ความรักต่อพระเจ้า ที่พระสงฆ์และผู้ถวายตนได้รับเรียกมาเพื่อสะท้อนให้ปรากฏนั้น แม้จะไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก นับเป็นพลังผลักดันให้ตอบสนองการที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกมาให้ถวายตนเป็นพิเศษโดยการบวชเป็นพระสงฆ์หรือโดยถวายตนปฏิบัติตามคำแนะนำของพระวรสาร ถ้อยคำแข็งขันที่นักบุญเปโตรทูลตอบพระอาจารย์เจ้าว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” (ยน 21:15) มีความลับของชีวิตที่ยอมสละตนเพื่อดำเนินชีวิตสำหรับพระเจ้าโดยสมบูรณ์ซ่อนอยู่ภายใน และดังนี้จึงเป็นชีวิตที่มีความยินดีอย่างลึกซึ้ง

การแสดงความรักทางปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง คือความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และโดยเฉพาะต่อผู้ที่มีความทุกข์และมีความขัดสนอย่างยิ่ง เป็นพลังบันดาลใจแน่วแน่ที่นำพระสงฆ์และผู้ถวายตนให้เป็นผู้สร้างชุมชนที่ทำให้ผู้คนมีความสัมพันธ์กันและเป็นผู้หว่านความหวัง. ความสัมพันธ์ที่ผู้ถวายตนแด่พระเจ้า และโดยเฉพาะพระสงฆ์ มีต่อชุมชนคริสตชนมีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นการแสดงความรักขั้นพื้นฐานออกมาให้ปรากฏ ท่านเจ้าอาวาสแห่งอาร์สชอบกล่าวเสมอๆว่า “พระสงฆ์ไม่ได้เป็นพระสงฆ์สำหรับตนเอง แต่สำหรับท่านทั้งหลาย” (Le cure d’Ars, Sa pensee – Son coeur; Foi Vivante ; 1966, p. 100).

พี่น้องพระสังฆราช พระสงฆ์ สังฆานุกร นักบวชชายหญิง ครูสอนคำสอน ผู้ปฏิบัติงานอภิบาล และทุกคนที่ทำงานด้านให้การอบรมศึกษาแก่เยาวชน ข้าพเจ้าขอเตือนอย่างจริงจังให้เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดต่อสมาชิกของชุมชนวัด สมาคมและขบวนการในพระศาสนจักรที่รู้สึกว่าตนได้รับเรียกให้เป็นพระสงฆ์หรือให้ถวายตนเป็นพิเศษแด่พระเจ้า พระศาสนจักรจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้เยาวชนจำนวนมากพร้อมที่จะตอบรับอย่างใจกว้างต่อการที่พระเจ้าทรงเรียกเขาด้วยความรัก งานการส่งเสริมกระแสเรียกก็คือจะต้องจัดหาการช่วยแนะนำให้ผู้ที่ได้รับเรียกเหล่านี้เดินหน้าต่อไปในหนทางที่ตนได้เลือก

ที่จุดศูนย์กลางของการนี้จะต้องมีความรักต่อพระวาจาของพระเจ้าที่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากความคุ้นเคยยิ่งๆขึ้นกับพระคัมภีร์ และการอธิษฐานภาวนาไม่หยุดหย่อนอย่างตั้งใจทั้งเป็นการส่วนตัวและพร้อมกันเป็นกลุ่ม การทำเช่นนี้จะช่วยให้เขาฟังเสียงการเรียกของพระเจ้าได้ในกลุ่มเสียงต่างๆของชีวิตประจำวัน แต่เหนืออื่นใดหมด ศีลมหาสนิทต้องเป็นหัวใจของการเดินทางตามกระแสเรียกทุกรูปแบบ ในศีลมหาสนิทนี้เองความรักของพระเจ้าสัมผัสเราในการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นการแสดงความรักอย่างสมบูรณ์ที่สุด และที่นี่ด้วยเรายังเรียนรู้อีกครั้งหนึ่งว่าจะต้องดำเนินชีวิตอย่างไรให้สอดคล้องกับ “มาตรฐานสูงส่ง” ของความรักต่อพระเจ้า พระคัมภีร์ การอธิษฐานภาวนาและศีลมหาสนิทเป็นสมบัติล้ำค่าที่ช่วยเราให้เข้าใจซาบซึ้งถึงความงามของชีวิตที่ดำเนินไปเพื่อรับใช้พระอาณาจักรอย่างเต็มที่

ข้าพเจ้าหวังว่าพระศาสนจักรท้องถิ่นและชนทุกกลุ่มในพระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านี้จะเป็นที่ที่กระแสเรียกต่างๆจะรับการพิจารณาได้อย่างใกล้ชิด และทดสอบได้ว่าเป็นกระแสเรียกแท้จริงหรือไม่ จะเป็นที่ที่เยาวชนทั้งชายและหญิงจะได้รับคำแนะนำด้านจิตใจอย่างเฉลียวฉลาดและหนักแน่นแข็งขัน โดยวิธีนี้ ชุมชนคริสตชนเองกลับเป็นการแสดงความรักของพระเจ้าซึ่งต้องมีอยู่ในกระแสเรียกทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการเรียกร้องของพระบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้า สภาพแวดล้อมเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้อย่างดีน่าชมเป็นพิเศษในครอบครัวคริสตชนที่มีความรักกันเป็นการแสดงออกของความรักที่พระคริสตเจ้าทรงมอบพระองค์เพื่อพระศาสนจักร (เทียบ อฟ 5:32) ภายในครอบครัวซึ่งเป็น “สังคมแห่งชีวิตและความรัก” (Gaudium et Spes, 48)

เยาวชนอาจมีประสบการณ์น่าชื่นชมของความรักที่มอบตนแก่ผู้อื่นเช่นนี้ได้ ใช่แล้ว ครอบครัวไม่เป็นเพียงพื้นที่พิเศษสำหรับการอบรมความเป็นมนุษย์และเป็นคริสตชน ครอบครัวยังอาจเป็น “แปลงเพาะพันธุ์แรกและดีที่สุดของกระแสเรียกสำหรับชีวิตการถวายตัวแก่พระอาณาจักรของพระเจ้า” (Familiaris Consortio, 53) โดยช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวให้แลเห็น ความงดงามและความสำคัญของการเป็นพระสงฆ์และการดำเนินชีวิตถวายตนแด่พระเจ้าได้ภายในครอบครัวเอง ขอให้บรรดาผู้อภิบาลและฆราวาสทุกคนได้ร่วมมือกันตลอดเวลาเพื่อให้ “บ้านและโรงเรียนของการอยู่ร่วมกัน” เช่นนี้ได้ทวีจำนวนขึ้น โดยมีแบบอย่างอยู่ที่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ที่นาซาเร็ธ ซึ่งสะท้อนชีวิตของพระตรีเอกภาพในโลกนี้ได้อย่างสมบูรณ์

พี่น้องพระสังฆราช พระสงฆ์ สังฆานุกร นักบวชชายหญิง และฆราวาสทุกคน โดยเฉพาะบรรดาหนุ่มสาวที่พยายามเปิดใจฟังพระสุรเสียงของพระเจ้าและพร้อมที่จะตอบสนองด้วยใจกว้างอย่างซื่อสัตย์ โดยคำภาวนาด้วยความหวังนี้ ข้าพเจ้ายินดีประทานพรของพระสันตะปาปาแก่ท่านทุกคน

จากวาติกัน 18 ตุลาคม 2011
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

ทัศไนย์ คมกฤส แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ
บ้านอับราฮัม สามพราน
19 กุมภาพันธ์ 2012.

ข้อมูล/อุดมสาร