Share |

สารของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

1 มกราคม 2554/2012

ให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพ
(Educating Young People in Justice and Peace)

1. ในวาระการเริ่มต้นปีใหม่ ซึ่งเป็นพระพรของพระเจ้าที่ทรงประทานให้แก่มนุษยชาติ เป็นสัญญาณให้ข้าพเจ้าส่งความปรารถนาดีมายังทุกท่าน ด้วยความเชื่อมั่นและความรักอย่างใหญ่หลวง และขออำนวยพรด้วยความจริงใจว่า ช่วงเวลาในขณะนี้ของเรา อาจต้องได้รับการจารึกไว้ด้วยความยุติธรรมและสันติที่เป็นรูปธรรมเราควรมีทัศนคติอย่างไรในการมองปีใหม่ ? เราค้นพบภาพลักษณ์ที่สวยงามมาก

ในเพลงสดุดีบทที่ 130 ผู้นิพนธ์บทเพลงสดุดีกล่าวว่า

ผู้ที่มีความเชื่อเฝ้ารอคอยพระเจ้า “มากกว่าผู้ที่รอคอยเวลารุ่งอรุณเสียอีก” (ข้อ 6) พวกเขาเฝ้ารอคอยพระองค์
ด้วยความหวังอันแน่วแน่ เพราะทราบดีว่า พระองค์จะทรงนำแสงสว่าง พระเมตตา และความรอดพ้นมาให้ การรอคอยนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของ “ประชากรที่ได้รับเลือกสรร”ซึ่งตระหนักว่าพระเจ้าทรงสอนพวกเขา ให้มองโลกตามความจริง และไม่ท้อแท้ต่อความยากลำบาก ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญท่าน ให้มองปี 2012 ด้วยทัศนคติแห่งความไว้วางใจเชื่อมั่น ที่จริงปีที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ (2011) มีร่องรอยของความรู้สึกไม่พอใจต่อวิกฤติที่ปรากฏขึ้นในสังคม โลกแห่งการทำงานและเศรษฐกิจเป็นวิกฤติที่มีสาเหตุมาจาก วัฒนธรรมและตัวมนุษย์

ดูเหมือนว่าเงามืดได้ปกคลุมเหนือยุคสมัยของเรา และปิดกั้นเรามิให้เห็นแสงสว่างแห่งปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในเงามืดนี้ หัวใจของมนุษย์ยังคงเฝ้ารอรุ่งอรุณ ดังที่ผู้นิพนธ์บทเพลงสดุดีได้กล่าวถึง โดยเหตุที่ความคาดหวังนี้คือพลังพิเศษและปรากฏชัดในตัวเยาวชน ความคิดคำนึงของข้าพเจ้าจึงมุ่งไปถึงพวกเขา รวมถึงการทำความดีที่พวกเขาสามารถสร้างและต้องสร้างให้เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นข้าพเจ้าขอมอบสารวันสันติภาพสากลครั้งที่ 45 ในเรื่องของการศึกษาว่า “จงให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพ” ด้วยความเชื่อมั่นว่า เยาวชนผู้เปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นและอุดมการณ์

พวกเขาสามารถมอบความหวังใหม่ให้แก่โลกข้าพเจ้ายังส่งสารนี้ไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ครอบครัวและทุกคนที่เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาและการอบรม รวมถึงบรรดาผู้นำทางศาสนา สังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสื่อมวลชน เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีความสนใจต่อเยาวชนและความทุกข์ร้อนของพวกเขา สามารถที่จะรับฟังพวกเขาและชื่นชมพวกเขา มิใช่เป็นเพียงสิ่งเสริมแต่งเฉพาะกาลเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่สำคัญที่สุดสำหรับสังคมโดยรวม เพื่อสร้างอนาคตแห่งความยุติธรรมและสันติ สิ่งนี้เป็นเรื่องการสื่อสารกับเยาวชน ในเรื่องการชื่นชมต่อคุณค่าแห่งชีวิตเชิงบวกและกระตุ้นพวกเขาให้เกิดความปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตด้วยการรับใช้ “ความดี”

นี่คือบทบาทหน้าที่ของเราแต่ละคนความกังวลห่วงใยที่เยาวชนมากมายทั่วโลก แสดงออกมาในยุคสมัยนี้ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาปรารถนาถึงอนาคตด้วย ความหวังที่แน่วแน่ ในปัจจุบัน เยาวชนกำลังประสบกับความเข้าใจเกี่ยวกับหลายสิ่งหลายอย่าง พวกเขาต้องการได้รับการศึกษาซึ่งเตรียมพวกเขาให้สัมผัสกับโลกที่เป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น พวกเขาเห็นความยากลำบากที่จะสร้างครอบครัว และหางานที่มั่นคงทำ พวกเขาสงสัยว่า จะอุทิศตนทำงานทางด้านการเมืองวัฒนธรรมและเศรษฐกิจได้อย่างจริงจังหรือไม่

เพื่อสร้างสังคมที่มีโฉมหน้าความเป็นมนุษย์และเป็นพี่เป็นน้องกันมากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญที่ความไม่สบายใจและความคิดเบื้องหลังเหล่านี้จะได้รับความสนใจในทุกระดับของสังคม
พระศาสนจักรมองเยาวชนด้วยความหวัง และความเชื่อมั่น พระศาสนจักรสนับสนุนพวกเขาให้แสวงหาความจริง
ให้ปกป้องความดีส่วนรวม เปิดใจต่อโลกรอบตัวพวกเขา และมุ่งมั่นที่จะเห็น “สิ่งใหม่ๆ” (อสย 42:9, 48:6)

ผู้ให้การศึกษา (Educators)

2. การศึกษาเป็นการผจญภัยที่ยากลำบากและน่าสนใจที่สุดในชีวิต คำว่า Educating (การให้การศึกษา) มาจากคำภาษาละตินว่า educere หมายถึงการนำเยาวชนให้เคลื่อนออกไปจากตัวเอง และแนะนำพวกเขาให้รู้จักความเป็นจริง มุ่งไปสู่ความสมบูรณ์พร้อมที่นำไปสู่การเติบโตก้าวหน้า และพัฒนาการแห่งการเติบโตก้าวหน้านี้ได้รับการส่งเสริมด้วยการเผชิญกับเสรีภาพสองแบบ คือแบบผู้ใหญ่และแบบเยาวชน พัฒนาการนี้เรียกร้อง ความรับผิดชอบในส่วนของผู้เรียนรู้ ซึ่งต้องเปิดใจกว้างต่อการได้รับการชี้นำไปสู่ความเข้าใจถึงความเป็นจริง และในส่วนของ
ผู้ให้การศึกษาซึ่งต้องพร้อมที่จะอุทิศตัวเอง ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันเราต้องการผู้ที่เป็นประจักษ์พยานที่แท้จริงมากกว่าแต่ก่อน และไม่เพียงแค่เป็นผู้ถ่ายทอดกฎระเบียบ และข้อเท็จจริงแบบเป็นส่วนๆ เท่านั้น

แต่เราต้องการประจักษ์พยาน ผู้สามารถมองออกไปไกลมากกว่าผู้อื่น เพราะชีวิตของพวกเขากว้างกว่ามากนัก
ผู้เป็นประจักษ์พยานคือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตของตัวเองเพื่อผู้อื่นการศึกษาในเรื่องสันติและความยุติธรรมที่แท้จริงจะเกิดขึ้นที่ไหน ? ลำดับแรกคือในครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่คือผู้ให้การศึกษาเป็นอันดับแรก ครอบครัวคือหน่วยแรกของสังคม“ในครอบครัวนี้เองที่เด็กๆ ได้เรียนรู้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการเป็นคริสตชน ที่จะช่วยเขาดำรงชีวิตอย่างสร้างสรรค์และสันติสุขร่วมกับผู้อื่น ในครอบครัวนี้เองที่เด็กๆ เรียนรู้ความเป็นปึกให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพแผ่นหนึ่งเดียวกันระหว่างชนรุ่นต่างๆ เรียนรู้การเคารพกฎระเบียบ การให้อภัยและรู้จักต้อนรับผู้อื่น” 1 ครอบครัวเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่เราได้รับการฝึกอบรม

ในเรื่องความยุติธรรมและสันติ เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่ครอบครัวและชีวิตเองถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง และแตกเป็นเสี่ยงๆ อยู่เสมอสภาพการทำงานที่มักเข้ากันไม่ได้กับความรับผิดชอบต่อครอบครัว ความกังวลเกี่ยวกับอนาคต จังหวะก้าวชีวิตที่เร่งรีบไร้การควบคุม ความจำเป็นที่ต้องเคลื่อนย้ายที่อยู่บ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ยังไม่ต้องกล่าวถึงการยังชีพเพียงเพื่อให้อยู่รอดไปวันต่อวัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ยากที่จะให้หลักประกันได้ว่าเด็กๆ จะได้รับสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือ การมีพ่อแม่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน

เมื่อพ่อแม่อยู่ด้วยทำให้มีความเป็นไปได้ต่อการร่วมทุกข์สุขในหนทางแห่งชีวิตที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และยังช่วยถ่ายทอดประสบการณ์และความเชื่อมั่นที่พ่อแม่ได้รับจากช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไปเป็นประสบการณ์และความเชื่อมั่นที่สามารถสื่อสารถ่ายทอดให้กันและกันได้ ก็โดยการใช้เวลาอยู่ร่วมกันเท่านั้น ข้าพเจ้าแนะนำให้พ่อแม่อย่าได้ท้อแท้ แต่ให้กำลังใจบรรดาบุตรของตน โดยการดำเนินชีวิตของตนเป็นแบบอย่าง ด้วยการมอบความหวังของตนไว้ในพระเจ้าให้อยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด พระองค์ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดของความยุติธรรมและสันติที่แท้จริง

ข้าพเจ้ายังขอส่งสารมายังผู้ที่รับผิดชอบ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วยความสำนึกรับผิดชอบอย่างยิ่ง ขอให้พวกท่านให้หลักประกันว่า ศักด์ิศรีของแต่ละบุคคลต้องได้รับการเคารพและชื่นชมเสมอ ขอให้พวกท่านได้เอาใจใส่ใจว่า เยาวชนทุกคนสามารถค้นพบกระแสเรียกของเขาและเธอ และได้รับความช่วยเหลือให้พัฒนาพระพรที่ได้รับจากพระเจ้านี้ ขอให้พวกท่านสร้างหลักประกันต่อครอบครัวว่า บรรดาบุตรธิดาของพวกเขาจะได้รับการศึกษาที่ไม่ขัดต่อมโนธรรมและหลักศาสนาของตนสถาบันการศึกษาทุกๆ แห่ง ควรจะเป็นพื้นที่ที่เปิดต่อพระเจ้าและสิ่งสูงสุดทั้งมวล เป็นสถานที่แห่งการเสวนา สถานที่แห่งการประสานสอดคล้องกัน และสถานที่แห่งการรับฟังกันอย่างใส่ใจ เป็นสถานที่ซึ่งเยาวชนรู้สึกว่าได้รับความชื่นชม

เพราะความสามารถส่วนตัวและความงดงามภายในของตน และสามารถเรียนรู้ที่จะภาคภูมิใจ ในความเป็นพี่น้องชายหญิงของตน ขอให้เยาวชนได้รับการสอนให้ลิ้มรสความชื่นชมที่เกิดจากการปฏิบัติเมตตาธรรมและความรักต่อผู้อื่นในแต่ละวันและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสร้างสังคมที่มีความเป็นมนุษย์ และเป็นพี่เป็นน้องกันมากยิ่งขึ้นข้าพเจ้าเรียกร้องบรรดาผู้นำทางการเมือง ได้ให้ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมแก่บรรดาครอบครัว และสถาบันการ
ศึกษาต่างๆ ในการใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อให้การศึกษา พ่อแม่ควรได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติ

ให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพหน้าที่ของตน ขอให้พวกท่านให้หลักประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใด ที่ถูกปฏิเสธต่อการเข้าถึงการศึกษา และครอบครัวสามารถเลือกได้อย่างอิสรเสรี ถึงแบบแผนการศึกษาที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับบุตรของตน ขอให้พวกท่านมุ่งมั่นช่วยให้ครอบครัวที่ ต้องพลัดพรากจากกันเพราะความจำเป็นต้องหาเลี้ยงครอบครัวได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยให้เยาวชนได้เห็นภาพลักษณ์ทางการเมืองที่โปร่งใส ในฐานะที่เป็นภาคบริการรับใช้ที่แท้จริง เพื่อความดีสำหรับทุกคน ข้าพเจ้าไม่อาจลืมที่จะเรียกร้องโลกของสื่อมวลชนให้มีคุณูปการต่อการศึกษา ในสังคมปัจจุบัน สื่อมวลชนมีบทบาทพิเศษ พวกท่านไม่เพียงให้ข้อมูลข่าวสารเท่านั้นแต่ยังก่อให้เกิดความคิดในจิตใจของผู้ชมผู้ฟังของท่านด้วย

ซึ่งทำให้พวกท่านสามารถมีคุณูปการที่สำคัญต่อการศึกษาของเยาวชน นอกจากนี้แล้วยังมีความสำคัญที่ต้องไม่ลืมว่า การศึกษาและการสื่อสารนั้น มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกันเป็นอย่างยิ่ง การศึกษาเกิดขึ้น โดยอาศัยการสื่อสาร ซึ่งมีอิทธิพลในการหล่อหลอมบุคคลให้ดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้เยาวชนเองจำเป็นจะต้องมีความกล้าหาญ ในการดำเนิน
ชีวิตด้วยมาตรฐานที่สูงซึ่งกำหนดไว้ใช้สำหรับผู้อื่นด้วยมาตรฐานนั้นคือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ขอให้พวกท่านมีความเข้มแข็งที่จะใช้เสรีภาพของตนอย่างดีและชาญฉลาด เยาวชนเองก็มีส่วนรับผิดชอบต่อการศึกษาของตนเช่นกัน รวมถึงการศึกษาในเรื่องความยุติธรรมและสันติด้วย

การให้การศึกษาในเรื่องความจริงและเสรีภาพ(Educating in truth and freedom)

3. ครั้งหนึ่ง ท่านนักบุญออกัสติน ตั้งคำถามว่า“มีอะไรบ้างที่มนุษย์ต้องการลึกซึ้งมากไปกว่าความจริง?”(Quid
enim fortius desiderat anima quam veritatem?) 2 โฉมหน้าของสังคมที่มีความเป็นมนุษย์ ขึ้นอยู่กับคุณูปการของการศึกษาที่ช่วยให้คำถามที่ไม่อาจห้ามได้นี้ดำรงอยู่ต่อไป อันที่จริงการศึกษาเป็นเรื่องของการอบรมบุคคลอย่างครบทุกมิติ รวมถึงมิติ ทางศีลธรรมและจิตวิญญาณด้วยโดยเน้นเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์ และความดีของสังคมที่เขาเป็นสมาชิก ดังนั้น เพื่อให้การศึกษา ถึงความจริง สิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดอย่างแรกคือ การที่จะรู้ว่าบุคคลมนุษย์คือใครและการรู้ถึงธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อได้ไตร่ตรองโลกรอบตัวแล้ว ผู้นิพนธ์บทเพลงสดุดีได้สะท้อนว่า

“เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นฟ้าสวรรค์ ซึ่งพระหัตถ์ของพระองค์ได้ทรงสร้างสรรค์ไว้ มองดูเดือนดูดาวที่พระองค์ทรงประดับไว้อย่างมั่นคง มนุษย์เป็นใคร พระองค์จึงทรงระลึกถึงเขา มนุษย์ที่ต้องตายเป็นใครเล่า พระองค์จึงต้องทรงเอาพระทัยใส่” (สดด 8 :4-5) นี่คือปัญหาพื้นฐานที่จะต้องตั้งคำถาม “มนุษย์คือใครกันเล่า?” มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ภายในจิตใจของเขากระหายหาชีวิตนิรันดร กระหายหาความจริงและเป็นความจริงที่ไม่ใช่แยกส่วนให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพ แต่เป็นความจริงที่สามารถอธิบายถึงความหมายของชีวิต

เนื่องจากมนุษย์ถูกสร้างตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า และมีความละม้ายคล้ายพระองค์ การตระหนักอย่างสุดซึ้งว่าชีวิต เป็นพระพรที่ประมาณค่ามิได้ ได้นำไปสู่การค้นพบศักด์ิศรีที่ลึกซึ้งและไม่สามารถล่วงละเมิดได้ของมนุษย์แต่ละคน ด้วยเหตุนี้ ก้าวแรกในการศึกษาคือ การเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงภาพลักษณ์ ของพระผู้สร้างในตัวมนุษย์ ตามด้วยการเรียนรู้ที่จะเคารพมนุษย์ แต่ละคนอย่างลึกซึ้งและช่วยเหลือผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับศักด์ิศรีที่สูงค่านี้ เราต้องไม่ลืมว่า “การพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้องแท้จริง ต้องเกี่ยวกับบุคคลทั้งครบในทุกๆ มิติแห่งชีวิต” 3 รวมไป
ถึงมิติเหนือธรรมชาติ เราไม่อาจเสียสละบุคคลเพื่อเห็นแก่ความดีเฉพาะบางประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคมไม่ว่าจะเป็นส่วนตัวหรือส่วนรวม มนุษย์จะเข้าใจความหมายของเสรีภาพแบบมนุษย์ได้ก็ด้วยการดำรงความสัมพันธ์กับพระเจ้าเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะอบรมมนุษย์ให้มีเสรีภาพที่แท้จริง

การดำเนินการดังว่านี้ มิใช่ไม่มีอุปสรรคหรือถือเอาเจตจำนงเสรีเป็นสิ่งสูงสุด มิใช่การถือเอาตัวเองเป็นหลัก (the absolutism of the self) เมื่อมนุษย์เชื่อว่าตัวเองเป็นสิ่งสูงสุด โดยไม่หวังพึ่งใครหรือสิ่งอื่นใด และสามารถทำทุกสิ่งตามที่เขาต้องการ ในที่สุดเขาก็จะพบความขัดแย้งระหว่างความจริงของชีวิตตัวเอง กับการสูญเสียเสรีภาพ
ของตน ในทางตรงกันข้าม มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ เขาต้องดำเนินชีวิตในความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะกับพระเจ้าเสรีภาพที่แท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากพระเจ้าเสรีภาพมีคุณค่าสูงส่งแต่ก็เปราะบางเช่นกัน อาจเกิดความเข้าใจผิดและนำเสรีภาพไปใช้ไปในทางที่ผิดๆ

“ทุกวันนี้อุปสรรคที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเป็นพิเศษต่อหน้าที่การให้การศึกษาคือแนวคิด สัมพัทธนิยม (relativism) ที่ดำรงอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของเรา แนวคิดนี้ถือว่าไม่มีอะไรเป็นความจริงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยยึดถือเอาตัวเองและความปรารถนาของตนเป็นหลักสูงสุดเพียงอย่างเดียว ภายใต้เสรีภาพที่ฉาบฉวยนี้ก็ได้กลายเป็นคุกขังแต่ละคนซึ่งแยกประชาชนออกจากกัน กักขังแต่ละบุคคลไว้ให้อยู่กับตัวของเขาหรือเธอเองเท่านั้น ดังนั้น ด้วยความคิด
สัมพัทธนิยมแบบนี้ การศึกษาที่แท้จริงจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากแสงสว่างแห่งความจริง ไม่ช้าก็เร็ว มนุษย์แต่ละคนก็จะตกอยู่ในสภาพที่ไม่แน่ใจต่อความดีของชีวิตตัวเอง และความสัมพันธ์ที่ประกอบเป็นความดีนั้น ไม่แน่ใจต่อเหตุผลของเขาหรือเธอ ในการมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น”

ดังนั้น ในการใช้เสรีภาพของตน มนุษย์จะต้องเคลื่อนให้พ้นจากแนวคิดสัมพัทธนิยมและหันมาค้นพบความจริงเกี่ยวกับตัวเอง และความจริงเกี่ยวกับความดีและความชั่วร้าย ในห้วงลึกของมโนธรรมของตนนั้น มนุษย์ค้นพบกฎที่ตนมิได้เป็นผู้กำหนดให้ตัวเอง แต่เขาต้องปฏิบัติตามเสียงมโนธรรมนี้ ที่เรียกร้องเขาให้รักและกระทำแต่สิ่งดีๆ หลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้าย และมีความรับผิดให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพ ชอบต่อสิ่งดีและสิ่งชั่วร้ายที่ตนกระทำ 5 ดังนั้น การใช้เสรีภาพ จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะสากล เป็นการแสดงถึงศักด์ิศรีของมนุษย์แต่ละคนและหล่อหลอมส่วนสำคัญของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย การใช้เสรีภาพจึงเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตร่วมกันด้วยความยุติธรรมและสันติสุข

ดังนั้น สิทธิในการใช้เสรีภาพ จึงเป็นหัวใจของการส่งเสริมความยุติธรรมและสันติ ซึ่งเรียกร้องให้มีการเคารพต่อตัวเอง และผู้อื่น รวมถึงผู้ที่มีวิถีชีวิตและการดำรงชีพแตกต่างจากคนอื่นอย่างมากมายด้วย ทัศนคตินี้ก่อให้เกิดองค์ประกอบต่างๆที่หากปราศจากสิ่งนี้แล้ว สันติและความยุติธรรมก็จะเป็นเพียงคำพูดโดยไม่มีแก่นสาร นั่นคือ การไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความสามารถที่จะเสวนาอย่างสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ที่จะให้อภัย ซึ่งมนุษย์แต่ละคนปรารถนาจะได้รับอย่างสม่ำเสมอ แต่กลับยากที่จะให้ การปฏิบัติเมตตาธรรมร่วมกัน ความรักต่อผู้อ่อนแอที่สุด รวมไปถึงความพร้อมที่จะเสียสละ

ให้การศึกษาเรื่องความยุติธรรม (Educating in justice)

4. ในโลกของเรานี้ แม้ว่าจะมีการแสดงให้เห็นความตั้งใจ ที่จะทำดีก็ตาม แต่คุณค่าของบุคคล ศักด์ิศรีของมนุษย์และสิทธิ มนุษยชนกลับถูกคุกคามอย่างรุนแรง ด้วยความโน้มเอียงอันแพร่หลายในการพึ่งพาเฉพาะต่อหลักเกณฑ์ของผลประโยชน์กำไร และการถือครองวัตถุปัจจัย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องไม่ละทิ้งแนวคิดเรื่องความยุติธรรมที่เกิดจากรากฐานเหนือธรรมชาติที่จริง ความยุติธรรมมิใช่เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา เนื่องจากสิ่ง ที่ยุติธรรมนั้นมิได้ถูกกำหนดไว้ด้วยบทบัญญัติทางกฎหมาย แต่ด้วยอัตลักษณ์ที่ลึกซึ้งของตัวมนุษย์เอง ความยุติธรรมเป็นวิสัยทัศน์ที่ครบถ้วนของมนุษย์ ที่ช่วยเราให้รอดพ้นจากการตกหลุม แนวคิดความยุติธรรมตามข้อตกลงสัญญาและช่วยเราให้ค้นพบความยุติธรรมภายใต้แนวคิดของความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวและความรัก

เราไม่อาจเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง ที่วัฒนธรรมสมัยใหม่ บางกระแส ถูกสร้างขึ้นบนหลักการทางเศรษฐกิจแบบ
เหตุผลนิยม (rationalist) และ ปัจเจกนิยม (individualist) ซึ่งตัดขาดจากแนวคิดเรื่องความยุติธรรม ที่มีรากฐานมาจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งยังแยกออกจากเมตตาธรรมและความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว “การส่งเสริม ‘นครทางโลก’ (The earthly city)ไม่ใช่กระทำได้โดยความสัมพันธ์ ระหว่างสิทธิและหน้าที่เพียงเท่านั้น แต่ด้วยขอบเขตพื้นฐานที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก นั่นคือความสัมพันธ์ของการให้ ความมีเมตตาและความเป็นหนึ่งเดียว การปฏิบัติความรักเมตตาแสดงให้เห็นเสมอๆ ถึงความรักของพระเจ้าในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ความรักเมตตาให้คุณค่าทางให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพเทววิทยาและความรอดแก่ความมุ่งมั่นทั้งมวลเพื่อความยุติธรรม
ให้เกิดขึ้นในโลก”

“ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุขเพราะเขาจะอิ่ม”(มธ 5:6) เขาเหล่านั้นจะอิ่มเพราะหิวและกระหายความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้าด้วยตัวเขาเองและกับพี่น้องชายหญิง และกับสิ่งสร้างทั้งมวล

ให้การศึกษาในเรื่องสันติ (Educating in peace)

5. “สันติภาพมิใช่ภาวะของการปราศจากสงครามเท่านั้น และไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่การรักษาดุลอำนาจระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน สันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นบนโลกได้โดย ไม่มีการปกป้องความดีของบุคคลมนุษย์ การติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์อย่างอิสรเสรี การเคารพศักด์ิศรีของบุคคลมนุษย์และประชาชน และการปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้องอย่างนอบน้อม” 8 เราผู้เป็นคริสตชนเชื่อว่าพระคริสต์คือองค์สันติที่แท้จริงของเรา ในพระองค์และโดยกางเขน ของพระองค์นั้น พระเจ้าได้ทรงทำให้โลกคืนดีกับพระองค์ และได้ทำลายกำแพงแห่งการแบ่งแยกที่แยกเราออกจากกันและกัน (เทียบ อฟซ 2:14-18) ในพระองค์นั้นมีเพียงครอบครัวเดียวที่คืนดีกันในความรักอย่างไรก็ตาม สันตินี้มิใช่เป็นเพียงพระพรที่ได้รับ แต่ยังถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้สันติเกิดขึ้นด้วย เพื่อให้เราเป็นผู้สร้างสันติที่แท้จริง เราจะต้องให้การศึกษาตัวเราเองด้วย

การปฏิบัติความเมตตาปรานี ความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน การทำงานร่วมกัน ความเป็นพี่เป็นน้องกัน การมีส่วนร่วมอย่าง เข้มแข็งในชุมชนและเอาใส่ใจต่อการสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหา ระดับชาติและระหว่างประเทศ และเห็นความสำคัญต่อ การแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการกระจายความมั่งคั่ง การส่งเสริมการเจริญเติบโต ความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา และการแก้ไขความขัดแย้ง พระเยซูเจ้าทรงเทศนาบนภูเขาว่า

“ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า” (มธ 5:9) สันติสำหรับทุกคน คือผลพวงของความยุติธรรมสำหรับทุกผู้คน และไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงภาระหน้าที่อันสำคัญนี้ ในการส่งเสริมความยุติธรรม ตามความสามารถเฉพาะและความรับผิดชอบของแต่ละคน สำหรับเยาวชนผู้มีอุดมคติอันแกร่งกล้าพ่อขอเชื้อเชิญลูกเป็นพิเศษให้อดทน และพากเพียรในการแสวงหาความยุติธรรมและสันติ ในการฝึกฝนให้รู้ถึงว่าอะไรที่เป็นธรรมและเป็นความจริง แม้ว่าจะต้องเสียสละตนเองและว่ายทวนกระแสน้ำก็ตาม

ยกสายตาเงยหน้าขึ้นหาพระเจ้า (Raising one’s eyes to God)

6. ต่อหน้าสิ่งท้าทายอันยุ่งยากในการเดินบนหนทางแห่งความยุติธรรมและสันติ เราอาจถูกลองใจให้ถามคำถามให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพ ดังถ้อยคำของผู้นิพนธ์บทเพลงสดุดีว่า “ข้าพเจ้าเงยหน้ามองภูเขา ข้าพเจ้าจะได้รับความช่วยเหลือจากที่ใดเล่า?” (สดด 121:1) ข้าพเจ้าขอกล่าวกับทุกท่าน เฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน โดยปรารถนาที่จะกล่าวย้ำในเรื่องนี้ว่า “ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ช่วยให้โลกรอดพ้น แต่คือการหันกลับไปหาพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระผู้สร้างของเรา ผู้ทรงเป็นหลักประกันแห่งเสรีภาพของเรา และให้หลักประกันต่อสิ่งที่ดีและแท้จริงเท่านั้น ที่จะช่วยโลกให้รอดได้ เป็นการหันกลับไปอย่างไม่มีเงื่อนไขสู่พระเจ้า ผู้ทรงเป็นมาตรวัดว่าอะไรถูกต้อง และในเวลาเดียวกันก็ทรงเป็นความรักชั่วนิรันดร จะมีอะไรที่สามารถช่วยเราให้รอดได้นอกจากความรักเล่า?” 9

ความรักทำให้เกิดความยินดีในความจริง เป็นพลังที่ช่วยเราให้มุ่งมั่นต่อความจริง ความยุติธรรม สันติภาพ เพราะความรักอดทนต่อทุกสิ่ง เชื่อในทุกสิ่ง หวังในทุกสิ่งและยืนหยัด ในทุกสิ่ง (เทียบ 1 คร 13:1-13) เยาวชนที่รัก ลูกเป็นพระพรที่ทรงคุณค่าสำหรับสังคมอย่าได้ยอมจำนนต่อความท้อแท้เมื่อเผชิญความยากลำบาก และอย่าได้ปล่อยตัวให้กับหนทางแก้ไขที่จอมปลอม ซึ่งมักจะดู เหมือนว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเอาชนะปัญหา อย่าได้กลัวเกรง
ที่จะมุ่งมั่นอุทิศตนต่องานที่ยากลำบากและเสียสละ ต่อการเลือกแนวทางที่ต้องการความซื่อสัตย์ และความเสมอต้นเสมอปลาย ความถ่อมตนและการอุทิศตน จงมีความมั่นใจในความเป็นเยาวชนของลูก และความปรารถนาอย่างลึกซึ้งถึงความสุขความจริง ความงดงาม และความรักที่แท้จริง จงใช้ชีวิต

ในช่วงเวลานี้ของลูกอย่างเต็มที่ มีความหมาย และเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้น จงตระหนักว่า ตัวลูกเองเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับผู้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ต่อความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความอยุติธรรมและการทุจริตคอรัปชั่น และมุ่งสร้างอนาคตที่ดีกว่า จงตระหนักถึงศักยภาพของลูก อย่ามุ่งแต่ตัวเองเป็นหลัก แต่จงทำงานเพื่ออนาคตที่สดใสกว่าสำหรับทุกคน ลูกจะไม่โดดเดี่ยวเลย พระศาสนจักรมีความมั่นใจในลูก ติดตามลูก ให้กำลังใจลูก และปรารถนาจะมอบของขวัญอันทรงคุณค่าที่สุด ที่พระศาสนจักรมีให้แก่ลูก นั่นคือ ในทุกโอกาสที่เงยหน้ายกสายตาขึ้นหาพระเจ้า อยู่ต่อหน้ากับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นองค์ความยุติธรรมและสันติ

สำหรับชายและหญิงทุกท่านทั่วทั้งโลก ผู้ใส่ใจต่อการสร้างสันติ ข้าพเจ้าขอบอกว่า สันติมิใช่พระพรที่ได้รับแล้ว แต่เป็นเป้าหมายที่เราแต่ละคนและทุกคน ต้องปรารถนาไปให้ถึงขอให้เรามองอนาคตด้วยความหวังมากขึ้น ขอเราจงให้กำลังใจ ซึ่งกันและกันในระหว่างการเดินทางสายนี้ ขอให้เราทำงานร่วมกันเพื่อให้โลกของเรามีโฉมหน้าแห่งความเป็นมนุษย์ และความเป็นพี่เป็นน้องกันมากขึ้น และให้เราถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันต่อชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าที่ให้การอบรมพวกเขา ให้เป็นประชากรแห่งสันติและผู้สร้างสันติ

ให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพ ข้าพเจ้านำเสนอการไตร่ตรองของข้าพเจ้าด้วยความคิดเหล่านี้ และขอเรียกร้องทุกคน ขอให้เรารวมพลัง ด้านจิตใจ ศีลธรรม และทรัพยากรวัตถุ เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการ “ให้การศึกษาเยาวชนในเรื่องความยุติธรรมและสันติภาพ”

จากวาติกัน 8 ธันวาคม 2012
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

เอกสารอ้างอิง
(1) BENEDICT XVI, Address to Administrators of Lazio Regionand of the Municipality and Province of Rome (14 January 2011):L’Osservatore Romano, 15 January 2011, p. 7.

(2) Commentary on the Gospel of John, 26, 5.

(3) BENEDICT XVI, Encyclical Letter Caritas in Veritate (29 June2009), 11: AAS 101 (2009), 648; cf. PAUL VI, Encyclical Letter Populorum Progressio (26 March 1967), 14: AAS 59 (1967),
264.

(4) BENEDICT XVI, Address for the Opening of the Diocesan Ecclesial Meeting in the Basilica of Saint John Lateran (6 June2005): AAS 97 (2005), 816.

(5) Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Pastoral Constitution on the Church in the Modern World Gaudium et Spes, 16.

(6) Cf. BENEDICT XVI, Address to the Bundestag (Berlin, 22 September2011): L’Osservatore Romano, 24 September 2011, pp. 6-7.

(7) ID., Encyclical Letter Caritas in Veritate, 6 (29 June 2009), 6:AAS 101 (2009), 644-645.

(8) Catechism of the Catholic Church, No. 2304.

(9) BENEDICT XVI, Address at Youth Vigil (Cologne, 20 August 2005): AAS 97 (2005), 885-886.
 

ขอขอบคุณ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)