Share |

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

“เมื่อรับศีลล้างบาป ท่านทั้งหลายถูกฝังพร้อมกับพระคริสตเจ้า
และกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์” (คส 2:12)


 

พี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย

เทศกาลมหาพรตอันนำเราเข้าสู่วันสมโภชปัสกา เป็นเวลามีค่ามากที่สุดและมีความสำคัญในเชิงจารีตพิธีกรรมอย่างยิ่งสำหรับพระศาสนจักร ในโอกาสสำคัญนี้ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะขอมอบคำขวัญสำคัญบางประการ เพื่อท่านจะได้นำเอาไปปฏิบัติด้วยความขยัน หมั่นเพียร  ขณะที่พระศาสนจักรกำลังรอคอยที่จะได้เผชิญหน้ากับองค์พระผู้เป็นเจ้าในปัสกานิรันดร์กาล

ชุมชนพระศาสนจักรผู้เร่าร้อนด้วยการสวดภาวนาและการทำบุญให้ทาน ต่างก็พยายามชำระล้างจิตใจของตนด้วยการสวดภาวนาอย่างเข้มข้น  เพื่อจะได้มีชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้า ด้วยการรับอานิสงส์อย่างบริบูรณ์จากรหัสธรรมแห่งการไถ่กู้ของพระองค์ (เทียบ บทขอบพระคุณเทศกาลมหาพรต แบบที่ 1)

1.เราได้รับชีวิตใหม่นี้แล้วในวันที่เรารับศีลล้างบาป โดยที่เรา “กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสิ้นพระชนม์และการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า” และทันทีเราก็เริ่ม “ผจญภัยที่น่ายินดีและสูงส่งแห่งการเป็นศิษย์ของพระองค์” (คำเทศน์วันสมโภชพระเยซูเจ้า ทรงรับพิธีล้าง 10 มกราคม 2010) ในจดหมายหลายฉบับของนักบุญเปาโล ท่านย้ำบ่อยๆ ถึงความสัมพันธ์หนึ่งเดียวกับพระบุตรของพระเป็นเจ้าว่า ศีลล้างบาปนี้นำอะไรมาสู่เราบ้าง  ความจริงแล้วศีลล้างบาปที่เรา

ส่วนใหญ่ได้รับตั้งแต่ยังเป็นทารกนั้น ชี้ให้เราเห็นถึงของขวัญของพระเจ้าว่า ไม่มีผู้ใดจะรับชีวิตนิรันดรโดยอาศัยความพยายามของตนเองได้ พระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งทำลายบาป และในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เราได้มีประสบการณ์ถึง “ความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูทรงมี” (ฟป 2:5) นั้นเป็นพระหรรษทานแบบให้เปล่าที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์ทุกคน

ในจดหมายที่มีถึงชาวฟิลิปปีท่านอัครสาวกของชนต่างศาสนาแสดงออกซึ่งความหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาศัยการมีส่วนร่วมในการสิ้นพระชนม์ และการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า โดยชี้ให้เห็นเป้าหมายว่าเพื่อที่ “ข้าพเจ้าต้องการรู้จักพระองค์ รู้จักฤทธานุภาพของการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ต้องการมีส่วนร่วมในพระ-ทรมานของพระองค์ โดยมีสภาพเหมือนพระองค์ในความตาย จะได้บรรลุถึงการกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายด้วย” (ฟป  3:10-11) ดังนั้น ศีลล้างบาปจึงมิใช่เป็นเพียงจารีตพิธีในอดีต แต่ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป

เมื่อได้รับชีวิตของพระเป็นเจ้าและได้รับการเรียกร้องให้กลับใจอย่างแท้จริงแล้ว ต่างก็ได้รับพระพรและการสนับสนุนโดยพระหรรษทาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ตามพระฉบับของพระคริสตเจ้า ศีลล้างบาปมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับเทศกาลมหาพรต เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมีประสบการณ์ กับพระหรรษทานที่ช่วยให้รอด   บรรดาปิตาจารย์แห่งสังคายนาวาติกันที่2

เตือนบรรดาพระสงฆ์ผู้อภิบาลวิญญาณให้ใช้ “คุณลักษณะแห่งศีลล้างบาปที่มีเฉพาะสำหรับเทศกาลมหาพรต”(ธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ Sacrosanctum concilium ข้อ 109) ความจริงแล้วพระศาสนจักรมักเชื่อมโยงคืนตื่นเฝ้าปัสกาด้วยการเฉลิมฉลองศีลล้างบาป  เพราะศีลล้างบาปนี้ทำให้รหัสธรรม ยิ่งใหญ่กลายเป็นความจริง คือมนุษย์ที่ตายต่อบาปถูกทำให้เป็นผู้มีส่วนร่วมในชีวิตใหม่แห่งพระคริสตเจ้า ผู้เสด็จกลับคืนพระชนมชีพและรับพระจิตของพระเป็นเจ้า ผู้ทรงทำให้พระเยซูเจ้ากลับฟื้นจากความตาย (เทียบ รม 8:11)

พระหรรษทานที่ประทานให้เปล่านี้จะต้องได้รับการจุดให้ลุกโชติช่วงชัชวาลในแต่ละคน อย่างสม่ำเสมอ  และเทศกาลมหาพรตก็เปิดทางให้เราปฏิบัติเฉกเช่นคริสตชนสมัยแรกๆ ที่กำลังเรียนคำสอน ซึ่งก็คงเหมือนกับคริสตชนที่กำลังเรียนคำสอนในปัจจุบัน  เป็นเสมือนโรงเรียนแห่งความเชื่อและชีวิต คริสตชนที่จะหาสิ่งใดมาทดแทนมิได้  พวกเขาดำเนินชีวิต ศีลล้างบาปของตน ดุจการปฏิบัติที่หล่อหลอมความเป็นอยู่ทั้งชีวิตของพวกเขาเลยทีเดียว

2.เพื่อให้การเดินทางของเราสู่วันปัสกาเป็นเรื่องจริงจัง และเป็นการเตรียมตัวเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่น่าชื่นชมยินดีและสง่างามที่สุดในปฏิทินการเฉลิมฉลอง รอบปี  จะมีอะไรดีไปกว่าปล่อยให้พระวาจาของพระเจ้านำพาเราไป  เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักรโดยอาศัยบทพระวรสารวันอาทิตย์ในเทศกาลมหาพรต จึงค่อยๆนำเราให้ได้เผชิญหน้ากันอย่างเป็นพิเศษกับพระคริสตเจ้า ด้วยการเตือนใจเราให้รำลึกถึงขั้นตอนต่างๆ ก่อนที่จะรับศีลล้างบาป 

ซึ่งหากเป็นผู้ที่กำลังเรียนคำสอนอยู่ก็เพื่อเตรียมตัวที่จะรับศีลแห่งการเกิดใหม่ ส่วนสำหรับผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วนั้นก็ดำเนินไปตามขั้นตอนต่างๆ ในการเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระคริสตเจ้า  และยอมมอบตนเองให้กับพระองค์ให้มากยิ่งขึ้น

การเดินทางวันอาทิตย์สัปดาห์แรกในเทศกาลมหาพรต เผยให้เราเห็นถึงสภาพของมนุษย์ในโลกนี้  สงครามที่มีชัยต่อการผจญล่อลวงและการเริ่มต้นแห่งพันธกิจของพระเยซูเจ้า  ล้วนแล้วแต่เป็นการเชิญชวน ให้เราได้ตระหนักถึงความอ่อนแอของเรา เพื่อที่เราจะได้รับพระหรรษทานอันจะทำให้เราเป็นไทจากบาป  แล้วได้รับพละกำลังใหม่ในองค์พระคริสตเจ้า  ผู้ทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต (เทียบ ระเบียบการรับคริสตชนที่เป็นผู้ใหญ่ ข้อ 25) มันเป็นการเตือนสติที่รุนแรงมากว่า

ความเชื่อของคริสตชนหมายถึงการเลียนแบบฉบับของพระเยซูและเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์ นั่นคือต้องทำสงคราม “ต่อต้านอำนาจของผู้ปกครองที่เป็นเจ้านายแห่งความมืดในโลกนี้” (อฟ 6: 12) ซึ่งปีศาจกำลังทำงานอยู่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้กระทั่งทุกวันนี้  มันพยายามล่อลวงทุกคนที่พยายามจะเข้าใกล้พระเยซู ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างผู้มีชัย เพื่อเปิดดวงใจเราให้มีความหวัง ตลอดจนนำพาเราให้ได้รับชัยชนะเหนือสิ่งชั่วช้าที่คอยหลอกลวงเรา

พระวรสารเรื่องการประจักษ์พระวรกายของพระ-คริสตเจ้า ทำให้ตาเราเห็นถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนการกลับคืนชีพ และเป็นการประกาศถึงการมีส่วนของมนุษย์ในพระเป็นเจ้า ชุมชนคริสตชนต่างตระหนักดีว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้นำพวกเขา ดังเช่นกรณีของอัครสาวกเปโตร ยากอบ และยอห์น ผู้ซึ่ง “ขึ้นไปบนภูเขาสูงด้วยตัวของพวกเขาเอง” (มธ 17:1) เพื่อรับพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าในองค์พระคริสตเจ้าอีกครั้งหนึ่งในฐานะที่เป็นบุตรและธิดาในองค์พระบุตร  “นี่คือพระบุตรสุดที่รักของเรา พระองค์เป็นที่โปรดปรานของเรา ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังพระองค์เถิด” (มธ 17:5)

มันเป็นคำเชื้อเชิญให้เราอยู่ห่างไกลจากเสียงรบกวนในชีวิตประจำวันเพื่อปลีกตัวเองให้ไปอยู่ท่ามกลางการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้า  ทุกวันพระองค์ทรงปรารถนาที่จะมอบพระวาจาซึ่งเจาะทะลุทะลวงเข้าไปในส่วนลึกของจิตวิญญาณเรา ณ ที่ซึ่งเราสามารถแยกแยะความดี จากความชั่วได้ (เทียบ ฮบ  4:12) อีกทั้งจะเพิ่มพูนความตั้งใจของเราในการติดตามพระองค์ไป

คำถามที่พระเยซูตรัสกับหญิงชาวสะมาเรีย “ขอน้ำเราดื่มหน่อยสิ” (ยน 4:7) ถูกนำมาถามเราเองในพิธีกรรมของวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สาม มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพิสมัยของพระเป็นเจ้าที่มีต่อมนุษย์ชายหญิงทุกคน พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะจุดประกายในดวงใจของเรา ซึ่งความปรารถนาที่จะได้รับพระพรแห่ง “น้ำพุภายใน ที่พุ่งขึ้นมาแสวงหาชีวิตนิรันดร์” (ยน 4:14) มีแต่น้ำประเภทนี้เท่านั้นที่จะสามารถดับความกระหายของเรา

เพื่อแสวงหาความดี ความจริง และความสวยงาม มีแต่น้ำนี้ที่มอบให้จากพระบุตรเท่านั้นที่จะสามารถทำให้ทะเลทรายแห่งดวงวิญญาณที่อยู่ไม่เป็นสุขและไม่รู้จักอิ่มพอมีความอุดมสมบูรณ์ได้ จนกระทั่งดวงวิญญาณของเรา “พบที่พักพิงในพระเป็นเจ้า” ดังคำพูดอันลือเลื่องของนักบุญเอากุสตีโนที่กล่าวไว้พระวรสารวันอาทิตย์ที่เล่าถึง “ชายผู้เกิดมาตาบอด” แสดงให้เราทราบถึงพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นแสงสว่างของโลก พระวรสารดังกล่าวท้าทายเราแต่ละคนด้วยคำถามว่า “ท่านเชื่อในบุตรแห่งมนุษย์หรือไม่?”  “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อ!” (ยน 9:35. 38) ชายผู้เกิดมาตาบอดขานตอบด้วยความชื่นชมยินดี

ด้วยการเปล่งเสียงดังให้ผู้ที่มีความเชื่อทุกคนได้ยิน  อัศจรรย์นี้เป็นเครื่องหมาย ที่แสดงว่า พระคริสตเจ้าไม่เพียงแต่ต้องการที่จะมอบสายตาให้เรามองเห็นได้เท่านั้น แต่ทรงเปิดวิสัยทัศน์ภายในของเราด้วย เพื่อความเชื่อของเราจะได้มีความล้ำลึกมากยิ่งขึ้นและเพื่อเราจะได้ยอมรับพระองค์ว่าทรงเป็นพระผู้ไถ่แต่พระองค์เดียวของเรา พระองค์ทรงนำความสว่างมาให้ทุกคนที่มีชีวิตบอดมืด และนำพวกเขาให้มีชีวิตดุจ “บุตรธิดาแห่งความสว่าง”

ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ห้า เมื่อมีการประกาศการฟื้นชีวิตของลาซารัส เราก็ต้องเผชิญกับรหัสธรรมสูงสุดแห่งการมีชีวิตของเรา“เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต...ท่านเชื่อเรื่องนี้หรือไม่?”(ยน 11:25-26) สำหรับชุมชนคริสตชน มันเป็นช่วงเวลาที่จะต้องตั้งความหวังของเราทั้งหมดไว้ในพระเยซูแห่งนาซาเร็ธ เช่นเดียวกันกับมาร์ธา  “เชื่อพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์เป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ที่จะต้องเสด็จมาในโลกนี้” (ยน  11:27) ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสตเจ้าในชีวิตนี้ จะเตรียมตัวเราให้ได้ชัยชนะต่ออุปสรรคแห่งความตาย

เพื่อเราจะได้มีชีวิตนิรันดรกับพระองค์  ความเชื่อในการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตายและความหวังในชีวิตนิรันดร เปิดตา ของเราให้เห็นความหมายสุดท้ายแห่งการมีชีวิต  พระ-เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ชายหญิงเพื่อการกลับคืนชีพและมีชีวิตนิรันดร ความจริงนี้ให้ความหมายที่แน่นอนชัดเจนแก่ประวัติศาสตร์มนุษย์ แก่ชีวิตของมนุษย์ชายหญิง แต่ละคนและแก่สังคม แก่วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐศาสตร์ด้วย ปราศจากซึ่งแสงสว่างแห่งความเชื่อแล้วไซร้ จักรวาลทั้งปวงก็จะมลายสิ้นในหลุมศพที่ไม่มีอนาคตและความหวังใดเลย

การเดินทางช่วงเทศกาลมหาพรตประสบกับความสมบูรณ์ครบถ้วนในตรีวาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนศักดิ์สิทธิ์แห่งการตื่นเฝ้า ด้วยการรื้อฟื้นคำสัญญาในวันรับศีลล้างบาป เรายืนยันว่าพระคริสตเจ้าคือพระเจ้าแห่งชีวิตของเรา เรายืนยันว่าชีวิตที่พระเป็นเจ้าประทานให้นั้น เมื่อเราเกิดใหม่จาก “น้ำและพระจิตเจ้า” เราก็แสดงความเชื่อมั่นอีกครั้งหนึ่งว่า  เราจะตอบสนองต่อพระ-หรรษทานเพื่อจะเป็นศิษย์ของพระองค์
 

3.อาศัยการมอบตนเองของเราสู่การสิ้นพระชนม์ และการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า โดยอาศัยศีลล้างบาป เราก็ขับเคลื่อนดวงใจของเราให้เป็นอิสระทุกวันจากภาระหน้าที่ด้านวัตถุต่างๆ  จากความสัมพันธ์ที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางกับ “โลก” ที่ทำให้เรากลายเป็นคนยากจน อีกทั้งทำให้เราไม่มีเวลาให้กับพระเจ้าและเพื่อนบ้าน แต่ในพระคริสตเจ้า พระเป็นเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์เองว่าเป็นองค์แห่งความรัก (เทียบ 1ยน 4:7-10) ไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็น“พระวจนาตถ์แห่งไม้กางเขน” แสดงให้เห็นถึงพลานุภาพแห่งการไถ่กู้ของพระเจ้า (เทียบ 1คร 1:18) ที่ประทานให้เพื่ออุ้มชูมนุษย์ชายหญิงขึ้นมาใหม่และนำพวกเขาไปสู่ความรอด

มันเป็นความรักในมิติสุดยอด (เทียบสมณสาส์น Dues Caritas Est ข้อ 12) อาศัยขนบธรรมเนียมปฏิบัติในการจำศีล การทำบุญให้ทาน และการสวดภาวนา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจของเราที่จะกลับใจ เทศกาลมหาพรตสอนเราให้รู้จักดำเนินชีวิตแห่งความรักของพระคริสตเจ้าได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น  การอดอาหารซึ่งอาจเกิดจากความตั้งใจหลายประการด้วยกันนั้น มีความหมายในมิติของศาสนาที่ล้ำลึกมากสำหรับบรรดาคริสตชน

โดยรับประทานอาหารน้อยกว่าเดิม  เราสามารถเรียนรู้ที่จะเอาชนะการเห็นแก่ตัวของเรา เพื่อดำเนินชีวิตในตรรกะแห่งการมอบตนเองเป็นของขวัญและมีหัวใจที่รู้จักรัก อาศัยการเสียสละบางสิ่งบางอย่าง ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เหลือกินเหลือใช้ เราก็เรียนรู้ที่จะมองข้าม “ตัวฉัน” ไป เพื่อที่จะได้พบกับบางอย่างที่อยู่ใกล้ชิดตัวเรา ซึ่งจะทำให้เรารู้จักพระเป็นเจ้าบนใบหน้าของบรรดาพี่น้องชายหญิงมากมาย

สำหรับคริสตชนแล้วการจำศีลไม่ใช่เรื่องน่ารำคาญ แต่เป็นการทำให้เราได้ใกล้ชิดกับพระเป็นเจ้ามากขึ้น  และทำให้เรามีโอกาสสนองตอบความต้องการของผู้อื่นเพิ่มขึ้น จึงเท่ากับเป็นการทำให้ความรักที่มีต่อพระเป็นเจ้านั้น กลายเป็นความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย (เทียบ มก  12:31)ในการเดินทางของเรานั้น บ่อยครั้งเราต้องเผชิญกับการโน้มน้าวที่จะสะสมและลุ่มหลงเงินทอง ซึ่งเป็นการผลักดันพระเป็นเจ้ามิให้เป็นหมายเลขหนึ่งในชีวิตของเรา

ความละโมบในทรัพย์สินเงินทองนำไปสู่การใช้ความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบและความตาย ด้วยเหตุนี้  พระศาสนจักรโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลมหาพรต นี้ จึงเตือนเราให้ทำบุญทำทาน ซึ่งหมายถึงมีการแบ่งปันกันส่วนการบูชาวัตถุนั้น ไม่เพียงแต่จะผลักดันเราให้หลุดพ้นไปจากผู้อื่นเท่านั้น มันยังจะทำให้เขาผู้นั้นรู้สึกอ้างว้างว่างเปล่า ไม่มีความสุข  หลอกลวงตัวเอง ทำให้เขาผู้นั้นเกิดความสับสนโดยที่ไม่สามารถจะบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการได้

เพราะเขาผู้นั้นยึดถือเอาวัตถุแทนที่จะเอาพระเจ้าเป็นที่ตั้ง เพราะพระเจ้าแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่จะเป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิต  เราจะเข้าใจความดีเยี่ยงบิดา ของพระเป็นเจ้าได้อย่างไร หากหัวใจของเราเต็มไปด้วยการเห็นแก่ตัว  และการกระทำต่างๆ ของเราก็หลอกตัวเราเองว่า อนาคตของเรานั้นมีหลักประกันมั่นคง  การล่อลวงนั้นก็คือการคิดเช่นเดียวกันกับชายร่ำรวยในนิทานเปรียบเทียบ “วิญญาณเอ๋ย จ้ามีทรัพย์สมบัติมากมายเก็บไว้ใช้ได้หลายปี...”

เราต่างก็ตระหนักดีถึงคำพิพากษาของพระเป็นเจ้า “คนโง่เอ๋ย คืนนี้เขาจะเรียกเอาชีวิตเจ้าไป” (ลก 12:19-20) การทำบุญให้ทานเป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงความเป็นเลิศของพระเป็นเจ้า และเป็นการเบนความสนใจของเราไปหาผู้อื่น เพื่อเราจะได้พบว่า  พระบิดาเจ้านั้นทรงคุณงามความดีสักเพียงใด แล้วเราจะได้รับพระเมตตาของพระองค์ ตลอดระยะเวลาเทศกาลมหาพรต  พระศาสนจักรนำเอาพระวาจาของพระเจ้าที่มีความหมายสมบูรณ์แบบอย่างเป็นพิเศษมามอบให้เรา

อาศัยการรำพึงและนำพระวาจามาไตร่ตรอง  เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตไปตามนั้น ทุกวัน เราสามารถเรียนรู้การสวดภาวนาที่มีคุณค่าและหาที่ใดไม่ได้ โดยอาศัยการสดับฟังพระองค์อย่างตั้งอกตั้งใจ พระองค์จะตรัสกับดวงใจของเรา  แล้วเราก็หล่อเลี้ยงการเดินทางแห่งความเชื่อซึ่งเราได้รับมาตั้งแต่วันที่เราได้รับศีลล้างบาป การสวดภาวนายังจะทำให้เราได้มีความรู้ใหม่เรื่องของเวลา

ความจริงหากมิคำนึงถึงมิติแห่งนิรันดร์กาลและสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติแล้ว เวลาก็มีแต่นำเราไปสู่ทิศทางที่ปราศจากซึ่งอนาคต  ตรงกันข้าม เวลาเราสวดภาวนา  เรามีเวลาสำหรับพระ-เป็นเจ้าเพื่อที่จะเข้าใจว่า “พระวาจาของพระองค์จะไม่มีวันผ่านพ้นไป” (เทียบ มก 13:31) เพื่อจะเข้าไปอยู่ในสายสัมพันธ์หนึ่งเดียวกับพระองค์ “ไม่มีใครนำความยินดีไปจากท่านได้” (ยน 16:22) เท่ากับเป็นการเปิดประตูให้กับตัวเราเองสู่ความหวังที่จะไม่มีวันทำให้เราต้องผิดหวัง นั่นคือชีวิตนิรันดร

สรุปคือ การเดินทางในเทศกาลมหาพรต ที่เราได้รับ การเชื้อเชิญให้พิศเพ่งไตร่ตรองรหัสธรรมแห่งไม้กางเขน นี้ มีจุดประสงค์ที่จะทำให้เกิดภายในตัวเราซึ่ง “รูปแบบแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระองค์” (ฟป 3:10) เพื่อทำให้เรากลับใจเปลี่ยนชีวิต เพื่อเราจะได้ถูกปรับเปลี่ยนด้วยการกระทำของพระจิตเจ้า  เฉกเช่นนักบุญเปาโลผู้เดินทางไปเมืองดามัสกัส เพื่อเราจะได้ปรับการดำเนินชีวิตเสียใหม่ ให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เพื่อที่เราจะได้หลุดพ้นจากการเห็นแก่ตัว

เอาชนะสัญชาตญาณที่มุ่งแต่เอาเปรียบผู้อื่น และเปิดใจเราให้มีความรักต่อพระคริสตเจ้า เทศกาลมหาพรตเป็นเวลาดีมากที่จะยอมรับความอ่อนแอของเรา ที่จะตรวจสอบชีวิตของเราอย่างจริงจัง  เพื่อรับพระหรรษทานแห่งศีลอภัยบาป เพื่อเดินรอยตามพระยุคลบาทของพระคริสตเจ้าไปด้วยใจเด็ดเดี่ยว พี่น้องชายหญิงที่รัก  อาศัยการเผชิญหน้าเป็นการส่วนตัวกับพระผู้ไถ่และอาศัยการจำศีล การทำบุญให้ทานและการสวดภาวนา การเดินทางแห่งการกลับใจสู่วันฉลองปัสกา จะนำเราให้ได้พบกับศีลล้างบาปของเราใหม่

ในมหาพรตปีนี้  ขอให้เราจงได้รับพระหรรษทาน ที่พระเป็นเจ้าประทานให้ในช่วงเวลานั้น เพื่อพระหรรษทาน จะได้นำความสว่างมาสู่เราและนำพาการกระทำทุกอย่าง ของเรา สิ่งที่ศีลศักดิ์สิทธิ์ให้ความหมายและต้องตระหนักถึงนั้น เราถูกเรียกร้องให้มีประสบการณ์ทุกวัน  โดยการติดตามพระคริสตเจ้าด้วยใจกว้างและจริงใจ 

ในการเดินทางของเรานี้ ขอให้เรามอบตัวเราไว้กับพระแม่มารีย์พรหมจารี ผู้ทรงให้กำเนิดพระวจนาตถ์ทั้งในความเชื่อและในเลือดเนื้อ เพื่อพวกเราทุกคนจะได้มอบตนเองทั้งครบให้กับการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพ แห่งพระบุตรของพระนาง และได้รับชีวิตนิรันดร เช่นเดียวกันกับพระแม่ด้วยเทอญ

จากวาติกัน 4 พฤศจิกายน 2010

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

ขอขอบคุณ อุดมสาร