Share |

“รอยแผลของพระองค์ได้รักษาท่านให้หาย” (1ปต 2:24)

พี่น้องที่รัก

โอกาสระลึกถึงแม่พระแห่งเมืองลูร์ดซึ่งตรงกับ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ของทุกปี พระศาสนจักรได้ตั้งให้เป็นวันผู้ป่วยสากล ตามความปรารถนาที่สมเด็จพระสัน-ตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ผู้ศักดิ์สิทธิ์ทรงตั้งใจไว้ คือ ให้ถือเป็นโอกาสดีที่จะรำพึงเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกแห่งความทุกข์ทรมานและเหนืออื่นใดให้เป็นโอกาสที่จะสร้างความรู้สึกไวต่อความต้องการของพี่น้องผู้เจ็บป่วย ให้มากยิ่งขึ้นในชุมชนและสังคมของเรา หากสำนึกว่าแต่ละคนเป็นพี่น้องของเรา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่อนแอ ผู้ทุกข์ทรมานและผู้ต้องการรับการเยียวยารักษา บุคคลเหล่านี้ต้องเป็นศูนย์รวมแห่งความสนใจไยดีของเรา เพื่อว่าจะต้องไม่มีใครเพียงสักคนเดียวในพวกเขา ที่จะถูกลืมหรือถูกทอดทิ้งให้อยู่ชายขอบสังคม อันที่จริงโดยแก่นแท้มาตรวัดในความเป็นมนุษยชาติถูกกำหนดไว้ในสัมพันธภาพกับความทุกข์ทรมานและผู้ทุกข์ทรมาน นี่ควรเกิดเป็นความจริงได้ทั้งสำหรับแต่ละคน และสังคม สังคมใดที่ไม่ยอมรับผู้กำลังทุกข์ทรมาน อีกทั้งปฏิเสธที่จะช่วยเหลือแบ่งปันความทุกข์ทรมานของพวกเขาและไม่รับภาระในแบบที่ว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้นับเป็นสังคมที่ไร้มนุษยธรรมและโหดร้าย (พระสมณสาส์น Spe Salvi - รอดพ้นด้วยความหวังข้อ 38)

ขอให้การริเริ่มดีๆ ในโอกาสนี้ซึ่งมีอยู่แล้วในแต่ละสังฆมณฑลพร้อมๆ กับการจัดฉลองอย่างสง่าทางการซึ่งปีนี้จะมีขึ้นที่สักการสถานพระนางมารีอาที่อาลตอตติ้ง (Altotting) ประเทศเยอรมนี เป็นแรงกระตุ้นทุกคนให้มีการดูแลเอาใจใส่ผู้ทุกข์ทรมานมากขึ้นและได้ผลยิ่งขึ้น

1) ข้าพเจ้ายังระลึกได้ดีในระหว่างการเยี่ยมเยียนเมืองตูรินอย่างเป็นทางการ ข้าพเจ้าหยุดรำพึง ภาวนา
ณ ผ้าห่อพระศพอันศักดิ์สิทธิ์ต่อหน้าภาพพระพักตร์ ที่กำลังทนทุกข์ทรมาน ภาพนี้เชื้อเชิญเราให้รำพึงพิจารณาพระองค์เองผู้ทรงยอมรับเอาความทุกข์ทรมานของมนุษย์ในทุกกาลเวลาและทุกแห่งหนรวมทั้งทรงยอมรับเอาความทุกข์ทรมาน ความยากลำบาก และบาปของเราไว้กับพระองค์เองด้วย

ผู้มีความเชื่อใจศรัทธาหลายคนในประวัติศาสตร์ได้มาอยู่ตรงหน้าผ้าห่อพระศพที่หุ้มห่อพระกายของผู้ได้ถูกตรึงบนไม้กางเขนนี้ซึ่งทุกอย่างที่ประจักษ์เห็นนั้นตรงกับสิ่งซึ่งพระวรสารบันทึกไว้และถ่ายทอดให้เราเกี่ยวกับเรื่องราวความทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู เมื่อพินิจพิเคราะห์เรื่องนี้ทำให้เรารำพึงไปถึงข้อความที่นักบุญเปโตรได้บันทึกไว้ว่า “รอยแผลของพระองค์ได้รักษาท่านให้หาย” (1ปต 2:24) บุตรพระเจ้าทรงรับทนทรมาน สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ เพราะเหตุนี้

รอยแผลที่พระองค์ได้รับกลับกลายเป็นเครื่องหมายแห่งการไถ่กู้ เครื่องหมายแห่งการอภัยโทษ และเครื่องหมายแห่งการกลับคืนดีกับพระบิดาเจ้าและก็ยังได้กลายเป็นบททดสอบความเชื่อของบรรดาสาวกและของเราด้วย ทุกครั้งที่พระองค์ตรัสถึงความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ที่พระองค์จะได้รับ อัครสาวกไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ และอีกทั้งยังต่อต้านอีกด้วย สำหรับอัครสาวกและพวกเราก็เช่นกัน ความทุกข์ทรมาน ยังคงเป็นนัยที่แฝงด้วยธรรมล้ำลึกยากที่จะยอมรับและนำพาสาวกสองท่านที่เอมมาอูสเดินไปด้วยกัน กำลังเศร้าใจเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม ในสองสามวันที่ผ่านมา และเมื่อพระผู้ทรงกลับคืน

พระชนม์ชีพได้ทรงดำเนินบนเส้นทางร่วมกับพวกเขา เพียงเท่านั้นเองก็ได้ทรงเปิดดวงตาของพวกเขาให้มองเห็นอะไรใหม่ๆ (เทียบ ลก 24:13-31) อัครสาวกโทมัสเช่นกัน ชี้ให้เห็นและเข้าใจว่า ยากสักปานใดที่จะมาเชื่อเรื่องหนทางมหาทรมานในการไถ่กู้ “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” (ยน 20:25) แต่เมื่อมายืนต่อพระพักตร์พระองค์ หลังจากที่พระองค์ทรงชี้ให้เห็นรอยแผลแล้ว  คำตอบของโทมัสเริ่มเปลี่ยนแปลง ไป กลายเป็นการประกาศยืนยันความเชื่อ “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20: 28)

ตอนแรกดูเหมือนเป็นอุปสรรคขัดขวางยากที่จะผ่านพ้นไปได้เพราะเหตุการณ์ปรากฏออกมาให้เห็นชัดถึงความล้มเหลวของพระเยซู แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นบททดสอบความรักเปี่ยมด้วยชัยชนะในการพบปะกับพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ “พระเจ้าพระองค์เท่านั้นผู้ทรงรักเราจนกระทั่งยอมรับด้วยพระองค์เองยอมรับเอาบาดแผลและความเจ็บปวดทรมานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ทรมานของ ผู้บริสุทธิ์นี่คือค่าคู่ควรแห่งความเชื่อ”(สาร Urbi et Orbi โอกาสปัสกา 2007)

2) บรรดาผู้ป่วยและผู้รับทุกข์ทรมานที่รัก แน่นอนโดยอาศัยรอยแผลของพระคริสต์ทำให้พวกเราสามารถมองเห็นความเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งเข้ามาสร้างความ ลำบากใจให้แก่มนุษยชาติด้วยสายตาแห่งความหวัง   อาศัยการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูไม่ได้ หมายความว่าพระองค์จะทรงเอาความทุกข์ทรมานและความชั่วร้ายออกไปจากโลกแต่ได้ทรงชนะความทุกข์ทรมานและความชั่วร้ายอย่างถอนรากถอนโคน  องค์แห่งความรักผู้ทรงมหิทธานุภาพทรงเป็นปรปักษ์ ต่อต้านความหยิ่งยะโสของจ้าวแห่งความชั่วร้าย พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าหนทางสู่ความสงบ สันติสุข และความชื่นชมยินดี ก็คือ พระองค์ผู้ทรงเป็นองค์ ความรักนั่นเอง “เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จง
รักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34)
พระคริสต์ผู้ทรงชนะความตายดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางพวกเรา  และเราเองควรกล่าวเช่นเดียวกับท่านนักบุญโทมัสด้วยว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า” พวกเราติดตามพระอาจารย์ของเรา พร้อมเสมอที่จะยอมเสียสละชีวิตเพื่อพี่น้องของเรา (เทียบ 1ยน 3:16) และพร้อมที่จะเป็นสารนำความชื่นชมยินดีซึ่ง

ไม่เกรงกลัวต่อความเจ็บปวดทรมาน คือ ความชื่นชม ยินดีแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ นั่นเองนักบุญแบร์นาร์ดยืนยันว่า “พระเจ้าไม่อาจทุกข์ทรมาน แต่สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขได้” พระเจ้าองค์ความจริงและองค์ความรักในสภาพบุคคลทรงต้องการทุกข์ทรมานเพื่อเราและกับเรา นั่นคือ ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อสามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมนุษย์ในรูปแบบที่เป็นจริงที่เป็นเลือดเป็นเนื้อ

ดังนั้นในความทุกข์ทรมานทุกประการของมนุษย์ได้เข้าไปรวมในองค์เอกะซึ่งทรงร่วมแบ่งปันความทุกข์ทรมานและความอดทน  ในความทุกข์ทรมานทุกประการนั้น พระองค์ทรงประทานความปลอบบรรเทาใจ  ความปลอบบรรเทาใจอันมาจากความรักของพระเจ้าที่ต้องการมีส่วนร่วมในความทุกข์ทรมานนี้เป็นการเสริมสร้างดวงดาวรุ่งโรจน์แห่งความหวังผุดขึ้นมา (เทียบ พระ-สมณสาส์น Spe Salvi รอดพ้นด้วยความหวัง ข้อ 39) พี่น้องที่รัก ข้าพเจ้าขอกล่าวซ้ำอีกครั้งในสาส์น ฉบับนี้ถึงท่านเพื่อหวังให้ท่านได้กลายเป็นประจักษ์พยาน โดยอาศัยความทุกข์ทรมาน ชีวิต และความเชื่อของท่านเอง

3) พูดถึงเดือนสิงหาคมหน้า ปี ค.ศ. 2011 ที่เมืองมาดริด (Madrid) ประเทศสเปนจะมีการจัดชุมนุมเยาวชนโลกในโอกาสวันเยาวชนโลก ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะกล่าวเป็นพิเศษแก่บรรดาเยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ขณะนี้ บ่อยครั้งที่พระมหาทรมานและกางเขนของพระเยซูทำให้เรากลัวเพราะดูเหมือนว่าเป็นการปฏิเสธชีวิต  แท้ที่จริงแล้ว ตรงกันข้าม ไม่ใช่เช่นนั้นแน่นอน! กางเขนเป็นการ “ตอบรับ” ของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ นั่นคือ เป็นการแสดงความรักของพระองค์ที่เข้มข้น สูงส่งที่สุด และเป็นแหล่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร ชีวิตพระเจ้าไหลหลั่งมาจากพระหทัยที่ถูกทิ่มแทงนี้เอง พระองค์เท่านั้นสามารถนำพาโลกไปสู่ความเป็นไทจากความชั่วร้าย และทำให้อาณาจักรแห่งความยุติธรรมอาณาจักรแห่งสันติสุข

และอาณาจักรแห่งความรักอันเป็นอาณาจักรที่พวกเราปรารถนาอยากได้ (เทียบสาส์นในโอกาสวันชุมนุมเยาวชนโลก 2011) บรรดาเยาวชนที่รัก  ท่านจงเรียนรู้ที่จะ 'มองเห็น' และ 'พบปะ' กับพระเยซูในศีลมหาสนิทที่ซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่ในรูปแบบที่เป็นจริงเพื่อเราจนกระทั่งไปถึงจุดที่พระองค์เองยอมพระองค์เป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต พร้อมทั้งมีจิตสำนึกรู้จักรับใช้ผู้ยากไร้ ผู้เจ็บป่วย พี่น้องที่กำลังทุกข์ทรมานและอยู่ในความยากลำบากต่างๆ ซึ่งกำลังต้องการความช่วยเหลือจากท่าน (เทียบ สาส์น ในโอกาสวันชุมนุมเยาวชนโลก 2011, 4)   สำหรับเธอ เยาวชนทุกคนทั้งที่กำลังเจ็บป่วยและสุขภาพดี พ่อขอย้ำอีกครั้งในการเชื้อเชิญเธอให้สร้างสะพานเชื่อมความรักและความเป็นปึกแผ่น เพื่อว่าจะไม่มีใครสักคนเดียว ที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวแต่ให้อยู่ใกล้พระเจ้าและเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ที่เป็นบุตรธิดาพระเจ้า (เทียบ General Audience – สุนทรพจน์แก่ผู้เข้าเฝ้า 15 พฤศจิกายน 2006)

4) จากการรำพึงรอยแผลของพระเยซู เราจ้องมองยังดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระองค์ในที่ซึ่งความรักของพระเจ้าได้แสดงออกเองในรูปแบบสุดยอดที่สุด  พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ก็คือพระคริสต์ผู้ทรงมอบพระองค์เป็นบูชาบนไม้กางเขน ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ที่ถูกแทงหลั่งโลหิตและน้ำ (เทียบ ยน 19:34) อัน “เป็นสัญลักษณ์แห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรเพื่อมนุษย์ทุกคนที่ได้รับเชิญให้เข้าสู่พระหฤทัยที่เผยอยู่ จะได้ตักตวงความรอดพ้นจากพุน้ำนิรันดร (ข้อความจาก บทนำขอบพระคุณวันสมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าในมิสซาจารีตโรมัน)
โดยเฉพาะเธอผู้กำลังป่วยอยู่ควรรู้สึกเข้าใกล้ชิดสนิทดวงพระหฤทัยที่เต็มเปี่ยม ด้วยความรักนี้และได้รับการเชิญตักตวงน้ำพุนี้ด้วยความเชื่อและปีติยินดีโดยภาวนาว่า “น้ำจากสีข้างของพระคริสต์ชำระข้าพเจ้า พระมหาทรมานของพระคริสต์บันดาลให้ข้าพเจ้าเข้มแข็งเปี่ยมพลัง โอ้ พระเยซูผู้ทรงดีเหลือล้น โปรดสดับฟังข้าพเจ้า ในรอยแผลของพระองค์ได้ซ่อนข้าพเจ้าไว้” (คำภาวนาของ นักบุญอิกญาซีโอ แห่งโลโยลา)

5) สุดท้ายในสาส์นฉบับนี้ของข้าพเจ้า ขอกล่าวถึงวันผู้ป่วยสากลในครั้งต่อไป ข้าพเจ้าปรารถนาส่งความรักต่อทุกคนและแต่ละคนด้วยความรู้สึกที่ข้าพเจ้าอยากมีส่วนแบ่งปันความทุกข์ทรมานและความหวังซึ่งแต่ละวันท่านประสบอยู่ในการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ เพื่อขอพระองค์จะได้ทรงประทานสันติสุขและการเยียวยารักษาใจแก่ท่าน

ขอพระนางมารีย์พรหมจารีดูแลเอาใจใส่เคียงข้างท่านพร้อมกับพระองค์ซึ่งเราให้เกียรติพระนาม ของพระนางด้วยความมั่นใจว่าเป็น “ความรอดของคนไข้และองค์บรรเทาผู้ทุกข์ยาก” ณ เชิงกางเขนทำให้คำประกาศของซีเมโอนเป็นจริงขึ้นมา ที่ว่า “ส่วนท่านเอง ดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน” (เทียบ ลก 2:35) จากห้วงเหวแห่งความทุกข์ระทมและจากการมีส่วนร่วมกับพระมหาทรมานของพระบุตร ทำให้พระนางมารีย์ได้ยอมรับพันธกิจใหม่ นั่นคือกลายเป็นพระมารดาของพระคริสต์ในท่ามกลางศิษย์ของพระองค์

ขณะถูกตรึงบนไม้กางเขน พระเยซูทรงแนะนำศิษย์แต่ละคนให้กับพระนางว่า“คุณแม่นี่คือลูกของคุณแม่” (เทียบ ยน 19:26-27) การร่วมทุกข์ร่วมสุขฐานะพระมารดากับพระบุตรกลายเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขฐานะพระมารดากับเราแต่ละคนในความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นแต่ละวัน (เทียบ บทเทศน์ที่เมืองลูร์ด 15 กันยายน 2008)

พี่น้องที่รัก โอกาสวันผู้ป่วยสากล ข้าพเจ้าเชื้อเชิญท่านผู้มีอำนาจทางการเมือง ทั้งหลายด้วยเพื่อท่านทั้งหลายจะได้ลงมือลงแรงสร้างระบบสุขภาพอนามัยให้ดี ยิ่งขึ้นในอันที่จะสนับสนุนช่วยเหลือผู้กำลังทุกข์ทรมานโดยเฉพาะผู้ยากไร้และผู้อยู่ ในความต้องการมากที่สุด  และสำหรับทุกสังฆมณฑล ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาด้วยความรักมายังพระสังฆราช พระสงฆ์ ผู้รับเจิม สามเณร เวชบุคคล อาสาสมัคร และทุกท่านที่กำลังอุทิศตนด้วยความรักในการดูแลเอาใจใส่ และบรรเทาทุกข์รอยแผลของพี่น้องผู้กำลังเจ็บป่วยทั้งในโรงพยาบาล ในสถานพยาบาล และในครอบครัว 

ขอให้ท่านเรียนรู้ที่จะมองเห็นใบหน้าแห่งใบหน้าทั้งหลายเสมออันได้แก่ พระพักตร์ของพระคริสต์ในใบหน้าของผู้ป่วยข้าพเจ้ามั่นใจที่จะระลึกถึงทุกท่านในคำภาวนา ข้าพเจ้าขออวยพรมายังทุกท่าน

จากวาติกัน

21 พฤศจิกายน 2010 สมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
 

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

(แปลโดยคณะนักบวชคามิลเลียนประเทศไทย)

ขอขอบคุณ อุดมสาร