Share |

สารของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

1 มกราคม 2554/2011

เสรีภาพในการนับถือศาสนา คือหนทางสู่สันติภาพ (Religious Freedom, the Path to Peace)

1. ในวาระเริ่มต้นของปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมายังท่านแต่ละคนและทุกๆ คน ขอให้ท่านประสบแต่ความสงบและความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้ท่านมีสันติสุข น่าเศร้าใจ ปีที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ยังคงเต็มไปด้วยการเบียดเบียน การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรงโหดร้าย และการไม่ยอมรับความแตกต่างทางศาสนา

ข้าพเจ้าหวนคิดไปถึงประเทศอิรัก อันเป็นที่รักเป็นพิเศษ ยังคงเป็นเวทีแห่งความรุนแรงและความขัดแย้งในขณะที่กำลังพยายามมุ่งหน้าไปสู่อนาคตที่มั่นคงและการคืนดีกัน ข้าพเจ้าคิดถึงความทุกข์ทรมานของชุมชนคริสตชน โดยเฉพาะการโจมตีที่น่าตำหนิต่ออาสนวิหารไซโร-คาทอลิกแห่งพระมารดานิจจานุเคราะห์ ในกรุงแบกแดดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งพระสงฆ์สององค์และฆราวาสมากกว่า 50 ราย ถูกสังหารในขณะที่มาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ในวันต่อ ๆ มา ยังมีการโจมตีต่อเนื่อง แม้กระทั่งต่อบ้านเรือน

ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในหมู่ชุมชนคริสตชน และมีคนจำนวนมากที่ต้องการอพยพไปเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่านี้ ข้าพเจ้าต้องการให้ความมั่นใจต่อพวกเขาว่าข้าพเจ้ายังคงใกล้ชิดกับพวกเขาและพระศาสนจักรทั้งมวล ซึ่งเป็นความใกล้ชิดที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมในสมัชชาพิเศษของสังฆสภาสำหรับตะวันออกกลาง สังฆสภาให้กำลังใจชุมชนคาทอลิกในอิรักและในตะวันออกกลางโดยรวม ให้ดำเนินชีวิตด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อมุ่งเป็นประจักษ์พยานต่อความเชื่ออย่างกล้าหาญในดินแดนเหล่านี้

ข้าพเจ้าขอบคุณอย่างจริงใจต่อรัฐบาลที่ทำงานเพื่อขจัดความทุกข์ยากของบรรดาพี่น้องหญิงชายในครอบครัวมนุษยชาติเหล่านี้ และข้าพเจ้าเรียกร้องคาทอลิกทุกคนได้สวดภาวนาและสนับสนุนพี่น้องร่วมความเชื่อ ซึ่งเป็นผู้รับเคราะห์จากความรุนแรงและการไม่ยอมรับนี้ ในบริบทดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะสมเป็นพิเศษที่จะแบ่งปันการไตร่ตรองเรื่อง เสรีภาพในการนับถือศาสนา ในฐานะที่เป็นหนทางสู่สันติภาพ เป็นเรื่องเจ็บปวดที่จะคิดว่า ในบางพื้นที่ของโลกนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะประกาศศาสนาของตนอย่างเสรีนอกจากต้องยอมเสี่ยงชีวิตและการสูญเสียอิสรภาพส่วนบุคคล ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ เราพบรูปแบบอคติและเป็นปรปักษ์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนต่อผู้มีความเชื่อและต่อสัญลักษณ์ทางศาสนา

ในปัจจุบัน คริสตชนเป็นกลุ่มศาสนาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเบียดเบียนเพราะความเชื่อของพวกเขา คริสตชนจำนวนมากถูกสบประมาททุกวันและมักจะต้องดำเนินชีวิตด้วยความหวาดกลัวเพราะการแสวงหาความจริง ความเชื่อในพระเยซูคริสต์ และการเรียกร้องให้เคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนา สถานการณ์นี้ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการสบประมาทต่อพระเจ้าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ นอกจากนั้น ยังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและสันติภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานให้บรรลุผลในการพัฒนามนุษย์แบบบูรณาการที่แท้จริง

เสรีภาพในการนับถือศาสนาแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะพิเศษเกี่ยวกับบุคคลมนุษย์ เนื่องจากช่วยเราให้ดำเนินชีวิตส่วนตัวและส่วนรวมมุ่งไปหาพระเจ้า โดยพระองค์จะช่วยส่องสว่างให้เราเข้าใจอัตลักษณ์ ความหมาย และเป้าหมายของบุคคลอย่างครบถ้วน การปฏิเสธหรือการจำกัดเสรีภาพโดยพลการนี้  เท่ากับการส่งเสริมวิสัยทัศน์ที่ลดคุณค่าบุคคลมนุษย์ลง การบดบังบทบาททางสาธารณะของศาสนาคือการสร้างสังคมที่ไม่ยุติธรรม เนื่องจากละเลยที่จะคำนึงถึงธรรมชาติที่แท้จริงของบุคคลมนุษย์ เป็นการสกัดกั้นการเติบโตของสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนของครอบครัวมนุษยชาติทั้งมวล

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าวิงวอนผู้มีน้ำใจดีทั้งหญิงและชายได้รื้อฟื้นการอุทิศตนในการสร้างโลกที่ทุกคนมีอิสระที่จะประกาศศาสนาหรือความเชื่อของตน และ แสดงความรักของตนต่อพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจและวิญญาณและความคิดอ่าน (เทียบ มธ  22:37) นี่คือ ความรู้สึกที่ดลใจและชี้นำ สารวันสันติภาพสากลครั้งที่ 44 โดยใช้หัวข้อ ‘เสรีภาพในการนับถือศาสนา คือหนทางสู่สันติภาพ’

สิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะดำรงชีวิตและมีชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ

2. สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามีรากมาจากศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์   ซึ่งโดยสภาวะเหนือธรรมชาตินี้ไม่อาจเพิกเฉยหรือมองข้ามได้ พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทั้งหญิงและชายตามภาพลักษณ์และความละม้ายกับพระองค์ (เทียบ ปฐก 1:27) ด้วยเหตุนี้ มนุษย์แต่ละคนจึงได้รับ สิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะมีชีวิตที่สมบูรณ์จากจุดยืนทางจิตวิญญาณด้วย หากไม่รับรู้สภาวะทางจิตวิญญาณ และปราศจากการเปิดใจต่อผู้อยู่เหนือธรรมชาติแล้วไซร้ บุคคลมนุษย์ก็จะเริ่มต้นถอยหลังจากภายในตนเอง ไม่แสวงหาคำตอบให้กับคำถามที่ลึกซึ้งที่สุดในหัวใจของตนเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ละเลยต่อการใช้คุณค่าและหลักการทางจริยธรรมอย่างยั่งยืน แม้กระทั่งไม่สามารถมีประสบการณ์แห่งการใช้เสรีภาพที่แท้จริง รวมทั้งการสร้างสังคมที่ยุติธรรม

พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของเราเองนั้น เปิดเผยให้เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีมนุษย์ที่ลึกซึ้ง   “เมื่อข้าพเจ้าแหงนมองท้องฟ้า ซึ่งนิ้วพระหัตถ์บรรจงสร้างไว้ มองดูเดือนดูดาวที่พระองค์ทรงประดับไว้อย่างมั่นคง มนุษย์เป็นใคร พระองค์จึงทรงระลึกถึงเขา บุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร พระองค์จึงต้องทรงเอาพระทัยใส่ ถูกแล้ว พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้ด้อยกว่าพระเจ้าเพียงน้อยนิด ประทานความรุ่งโรจน์และเกียรติยศให้เป็นเสมือนมงกุฎประดับศีรษะ ทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นเจ้านายของผลงานทั้งมวลจากฝีพระหัตถ์ และทรงวางสรรพสิ่งไว้ใต้เท้าของเขา” (สดด 8:3-6)

การไตร่ตรองความจริงที่สูงส่งเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้เราสามารถพบกับความมหัศจรรย์แบบเดียวกันกับผู้ที่นิพนธ์บทเพลงสดุดี ธรรมชาติของเราเป็นการเปิดใจต่อพระธรรมล้ำลึก ซึ่งเป็นความสามารถที่จะตั้งคำถามที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับตัวเราเอง และกำเนิดของจักรวาล และภาพสะท้อนที่ลึกซึ้งแห่งความรักสูงส่งของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของสรรพสิ่งของมนุษย์แต่ละคนและประชาชน

ศักดิ์ศรีเหนือธรรมชาติของบุคคลเป็นคุณค่าสำคัญพื้นฐานของปรีชาญาณแบบยิว-คริสต์ แต่เพราะการใช้เหตุผลทำให้ทุกคนสามารถรับรู้ได้ ศักดิ์ศรีนี้ซึ่งถือเป็นความสามารถในการก้าวข้ามวัตถุธาตุของตนเพื่อแสวงหาความจริงนั้น จะต้องถือว่าเป็นความดีสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อการสร้างสังคมที่มุ่งสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น การเคารพต่อองค์ประกอบที่สำคัญของศักดิ์ศรีมนุษย์ เช่น สิทธิในการมีชีวิต และสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นเงื่อนไขของความชอบธรรมทางศีลธรรมของบรรทัดฐานทางสังคมและกฎหมายทุกประการ

เสรีภาพในการนับถือศาสนาและการเคารพซึ่งกันและกัน

3. เสรีภาพในการนับถือศาสนาคือบ่อเกิดของเสรีภาพทางศีลธรรม การเปิดใจต่อความจริงและความดีที่สมบูรณ์ การเปิดใจต่อพระเจ้า มีรากอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ เสรีภาพนี้ก่อให้เกิดศักดิ์ศรีที่สมบูรณ์แก่มนุษย์แต่ละคน และเป็นหลักประกันของการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างบุคคล เสรีภาพในการนับถือศาสนาจะต้องถือว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่ภูมิคุ้มกันจากการบังคับข่มขู่ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ถือเป็นความสามารถในกำหนดทางเลือกของตนตามความจริง

เสรีภาพและการเคารพเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ที่จริง “ในการใช้สิทธิของตนนั้น มนุษย์แต่ละคนและกลุ่มทางสังคมมีข้อผูกพันตามกฎแห่งศีลธรรมที่จะเคารพต่อสิทธิของผู้อื่น ตามหน้าที่ของตนที่มีต่อผู้อื่นและความดีส่วนรวมของทุกคน”
เสรีภาพซึ่งเป็นปรปักษ์หรือไม่ใส่ใจต่อพระเจ้า กลายเป็นการปฏิเสธตนเอง และไม่ให้หลักประกันต่อการเคารพผู้อื่นอย่างครบถ้วน เจตจำนงที่เชื่อว่าตนเองไม่สามารถแสวงหาความจริงและความดีอย่างแน่นอนนั้น ไม่มีเหตุผลที่เป็นเป้าหมายหรือแรงจูงใจในการกระทำที่ปกป้องสิ่งที่ถูกกำหนดด้วยผลประโยชน์ชั่วแล่นและเกิดขึ้นโดยบังเอิญ  และไม่มี “อัตลักษณ์” ในการพิทักษ์และสร้างขึ้นมาด้วยการตัดสินใจที่เป็นอิสระและเปี่ยมด้วยสำนึกอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ เจตจำนงนี้จึงไม่สามารถเรียกร้องการเคารพจาก “เจตจำนง” อื่น ๆ ซึ่งตัวเองก็ถูกแยกออกจากความเป็นตัวตนของตนเองที่ลึกซึ้ง และจึงไม่สามารถที่จะกำหนด “เหตุผล” อื่น ๆ หรือในเรื่องนี้ คือ ไม่มี “เหตุผล” แต่ประการใดเลย ภาพมายาที่แนวคิด สัมพัทธ์นิยมทางศีลธรรม (moral relativism) ให้หลักสำคัญต่อการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นแค่บ่อเกิดของความแตกแยกและการปฏิเสธศักดิ์ศรีของมนุษย์นั่นเอง

ดังนั้น เราจึงสามารถเห็นความจำเป็นที่จะรับรองมิติสองด้านของความเป็นเอกภาพของบุคคลมนุษย์ นั่นคือ  มิติทางศาสนา และ มิติทางสังคม ในเรื่องนี้ “จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่ผู้มีความเชื่อจะระงับส่วนหนึ่งของตนเอง นั่นคือความเชื่อ เพื่อจะได้เป็นพลเมืองที่มีคุณค่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นแต่ประการใดที่จะปฏิเสธพระเจ้าเพื่อจะได้ใช้สิทธิของตน”

ครอบครัวเป็นโรงเรียนแห่งเสรีภาพและสันติภาพ

4. หากเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นหนทางสู่สันติภาพ การศึกษาด้านศาสนาก็คือทางด่วนที่นำพาชนรุ่นใหม่ให้มองผู้อื่นเป็นพี่เป็นน้องของตน  ด้วยเขาได้รับเรียกให้มาเดินทางและทำงานร่วมกันเพื่อว่าทุกคนจะรู้สึกว่าตนเป็นสมาชิกที่มีชีวิตชีวาของครอบครัวมนุษยชาติที่มีความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะไม่มีใครถูกกีดกันออกไปเลย ครอบครัวที่สร้างขึ้นด้วยการแต่งงาน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันและการหนุนเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่างหญิงหนึ่งและชายหนึ่งนั้น ถือเป็นโรงเรียนแห่งแรก

ในการอบรมบ่มเพาะทางสังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม และชีวิตฝ่ายจิต และการเจริญเติบโตของเด็กๆ ผู้ซึ่งควรจะสามารถมองเห็นบิดาและมารดาของตนเป็นประจักษ์พยานบุคคลแรกในการดำเนินชีวิตที่มุ่งแสวงหาความจริงและความรักของพระเจ้า บิดามารดาต้องพร้อมเสมอที่จะถ่ายทอดมรดกความเชื่อ คุณค่า และวัฒนธรรมของตนแก่บุตรของตนอย่างรับผิดชอบและปราศจากอุปสรรค ครอบครัว

ซึ่งเป็นหน่วยแรกของสังคมมนุษย์ ยังคงเป็นสถานที่หลักในการอบรมด้านความสัมพันธ์ที่กลมเกลียวกันของการดำรงชีวิตในทุกระดับ ทั้งระดับมนุษย์  ระดับชาติ และระหว่างประเทศหนังสือปรีชาญาณ บอกเราว่า มีหนทางในการสร้างสายใยความเป็นพี่น้องทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งเยาวชนสามารถเตรียมพร้อมสำหรับความรับผิดชอบที่เหมาะสมในชีวิตของตน ในสังคมที่มีอิสรเสรี และด้วยจิตวิญญาณของความเข้าใจและสันติภาพ

มรดกร่วม

5.   อาจกล่าวได้ว่า ในบรรดาสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีรากในศักดิ์ศรีของบุคคลนั้น เสรีภาพในการนับถือศาสนามีสถานะพิเศษ เมื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้รับการยอมรับ ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ก็จะได้รับการเคารพตั้งแต่แก่นราก และลักษณะพื้นฐานทางด้านสังคมที่มีร่วมกันของกลุ่มคนและสถาบันของประชาชาติก็จะได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็ง ในทางตรงกันข้าม เมื่อใดที่เสรีภาพในการนับถือศาสนาถูกปฏิเสธ และมีความพยายามขัดขวางประชาชนมิให้ปฏิบัติศาสนกิจหรือความเชื่อ และดำเนินชีวิตตามความเชื่อ

เมื่อนั้น ศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็ถูกล่วงละเมิด ส่งผลให้เกิดภัยคุกคามต่อความยุติธรรมและสันติภาพ ซึ่งมีรากฐานในระเบียบทางสังคมที่ถูกต้องซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาด้วยแสงสว่างแห่งความจริงและความดีสูงสุด ในทำนองนี้ เสรีภาพในการนับถือศาสนายังเป็นการบรรลุผลสำเร็จของวัฒนธรรมทางการเมืองและกฎหมายที่เหมาะสม เสรีภาพนี้เป็นความดีสำคัญพื้นฐาน แต่ละบุคคลจะต้องมีอิสรเสรีที่จะใช้สิทธิในการประกาศและปฏิบัติศาสนาหรือความเชื่อของตน ทั้งที่เป็นส่วนตัวหรือในชุมชน

 ในที่สาธารณะหรือในที่ส่วนตัว ในการสอน การปฏิบัติ ในการพิมพ์ ในการนมัสการและในการร่วมพิธีกรรม จะต้องไม่มีอุปสรรคขัดขวาง หากชายหรือหญิงปรารถนาจะเปลี่ยนศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย ในบริบทนี้ กฎหมายระหว่างประเทศเป็นแบบอย่างและเป็นจุดอ้างอิงที่สำคัญสำหรับรัฐทุกประเทศ ตราบเท่าที่กฎหมายมิได้อนุโลมให้มีการบิดเบือนจากเสรีภาพในการนับถือศาสนา และตราบเท่าที่การดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่เป็นธรรมเพื่อระเบียบของสาธารณะได้รับการปฏิบัติ  ดังนั้น ระเบียบระหว่างประเทศจึงรับรองว่าสิทธิแห่งธรรมชาติของศาสนา

ว่ามีสถานะเดียวกับสิทธิในการมีชีวิตและเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นข้อพิสูจน์ความจริงที่ว่า สิทธิเหล่านี้เป็นแก่นสำคัญของสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิตามธรรมชาติและเป็นสากลที่กฎหมายของมนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธได้เสรีภาพในการนับถือศาสนามิใช่เป็นมรดกเฉพาะของผู้มีความเชื่อ แต่เป็นมรดกของครอบครัวของประชาชาติทั้งมวลของโลก เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐประเทศที่มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธ  ทั้งนี้โดยไม่มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวง

เนื่องจากเสรีภาพในการนับถือศาสนานี้เป็นการสังเคราะห์และแก่นสำคัญของสิทธิเหล่านี้ เป็น “กระดาษทดสอบในเรื่องการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ทั้งปวง”   ในขณะที่เสรีภาพในการนับถือศาสนานี้สนับสนุนการปฏิบัติคุณลักษณะเฉพาะที่สุดของมนุษย์ของเรา เสรีภาพนี้ได้สร้างหลักฐานที่จำเป็นในการบรรลุถึงการพัฒนาแบบบูรณาการ  ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งครบทุกมิติ

ศาสนาในมิติสาธารณะ

6. เสรีภาพในการในการนับถือศาสนาเป็นเช่นเดียวกับเสรีภาพอื่น ๆ นั่นคือ มาจากเรื่องของส่วนตัว และเป็นจริงได้ก็โดยความสัมพันธ์กับผู้อื่น เสรีภาพที่ปราศจากความสัมพันธ์มิใช่เสรีภาพที่สมบูรณ์ เสรีภาพในการนับถือศาสนามิได้จำกัดเพียงแค่มิติส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้ในชุมชนและในสังคม ตามวิถีที่สอดคล้องกับการดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์กันของบุคคลและลักษณะทางสาธารณะของศาสนา

ความสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบหลักของเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งกระตุ้นให้ชุมชนผู้มีความเชื่อให้ปฏิบัติความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวเพื่อความดีส่วนรวม ในมิติแห่งความเป็นชุมชนนี้ แต่ละบุคคลยังคงมีอัตลักษณ์และไม่อาจเลียนแบบกันได้ ในขณะเดียวกันก็ที่สามารถแสวงหาความครบครันและสมบูรณ์พร้อมได้คุณูปการของชุมชนทางศาสนาที่มีต่อสังคมเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ สถาบันการกุศลและวัฒนธรรมจำนวนมากมายเป็นสิ่งยืนยันต่อบทบาทสร้างสรรค์ที่ผู้มีความเชื่อปฏิบัติในชีวิตทางสังคม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ คุณูปการทางจริยธรรมของศาสนาต่อภาคการเมือง ศาสนาไม่ควรถูกกีดกันหรือถูกขัดขวาง แต่ต้องถือว่าเป็นคุณูปการที่มีประสิทธิภาพต่อการส่งเสริมความดีส่วนรวม

ในบริบทนี้ จำต้องกล่าวถึงมิติทางศาสนาของวัฒนธรรม ซึ่งสร้างขึ้นมานานนับหลายศตวรรษด้วยคุณูปการทางสังคม และโดยเฉพาะคุณูปการทางจริยธรรมของศาสนา มิตินี้มิได้เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความเชื่ออื่น  แต่กลับเสริมสร้างความเกี่ยวพันซึ่งกันและกันทางสังคม การประสานสัมพันธ์และความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน

เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นพลังเพื่อเสรีภาพและอารยธรรม:อันตรายที่เกิดจากการบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์

7. การบิดเบือนเสรีภาพในการนับถือศาสนาเพื่อปิดบังผลประโยชน์ที่แฝงเร้น  เช่น การโค่นล้มระเบียบที่มีอยู่ การกักตุนทรัพยากร หรือการกุมอำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง ลัทธิคลั่งศาสนา (Fanaticism), ลัทธิมูลฐานนิยม (Fundamentalism) และการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับศักดิ์ศรีของมนุษย์  ไม่อาจถือเป็นสิ่งชอบธรรมได้ โดยเฉพาะหากการกระทำนั้นแอบอ้างว่าทำในนามศาสนา การปฏิบัติศาสนาไม่อาจบิดเบือนหรือยัดเยียดด้วยกำลัง รัฐประเทศและบรรดาชุมชนมนุษย์จะต้องไม่ลืมว่า  เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นเงื่อนไขในการแสวงหาความจริง และความจริงไม่อาจยัดเยียดได้โดยความรุนแรง แต่ “ด้วยพลังแห่งความจริงของตัวเอง”

ด้วยเหตุนี้ ศาสนาคือพลังผลักดันเชิงบวกในการสร้างสังคมพลเมืองและการเมือง ใครจะปฏิเสธคุณูปการของศาสนาหลัก ๆ ของโลกต่อการพัฒนาของอารยธรรมได้อย่างไร ? การแสวงหาพระเจ้าด้วยความจริงใจได้นำไปสู่การเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์มากขึ้น ด้วยมรดกแห่งคุณค่าและหลักการของตน บรรดาชุมชนคริสตชนต่างก็มีคุณูปการมากมายต่อการทำให้มนุษย์แต่ละคนและประชาชาติได้สำนึกถึงอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของตน การสร้างสถาบันประชาธิปไตย และการรับรองต่อสิทธิมนุษยชนและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย

เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ในสังคมที่มีกระแสโลกาภิวัตน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น คริสตชนได้รับเรียก ไม่เพียงอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างรับผิดชอบของตนในชีวิตพลเมือง เศรษฐกิจ และการเมืองเท่านั้น แต่โดยอาศัยการเป็นประจักษ์พยานด้วยเมตตาธรรมและความเชื่อของตนด้วย ในการร่วมสร้างคุณูปการต่อความบากบั่นและมุ่งมั่นที่จะให้เกิดความยุติธรรม การพัฒนามนุษย์แบบบูรณาการ และระเบียบที่ถูกต้องของกิจการมนุษย์ การขจัดศาสนาออกจากชีวิตในทางสาธารณะ เท่ากับเป็นการกีดกันมิติชีวิตที่เปิดกว้างต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ

หากปราศจากประสบการณ์พื้นฐานนี้ ก็จะเป็นการยากที่จะนำสังคมไปสู่หลักการจริยธรรมสากลและสร้างระเบียบกฎหมายในระดับประเทศและระหว่างประเทศที่รับรองและเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนในฐานะที่ถูกกำหนดไว้ในเป้าหมายของ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ที่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 1948 ซึ่งน่าเสียดายที่ยังไม่ได้รับความสนใจหรือยังขัดแย้งกันอยู่

ประเด็นความยุติธรรมและความเป็นพลเมือง:ลัทธิมูลฐานนิยมและความเป็นปรปักษ์ต่อผู้มีความเชื่อ
การประนีประนอมกับรัฐประเทศในทางโลกเชิงบวก

8. ความตั้งใจเดียวกันที่ประณามลัทธิคลั่งศาสนาและลัทธิมูลฐานนิยมทางศาสนาในทุกรูปแบบ ต้องคัดค้านทุกๆ รูปแบบที่เป็นปรปักษ์ต่อศาสนาที่จะจำกัดบทบาททางสาธารณะของผู้มีความเชื่อต่อชีวิตทางพลเมืองและการเมืองจะต้องเข้าใจอย่างชัดเจนว่าลัทธิมูลฐานนิยมทางศาสนา และการมุ่งแต่ทางโลก (secularism) มีลักษณะเหมือนกันคือ ลัทธิทั้งสองเป็นรูปแบบสุดกู่ของการปฏิเสธความหลากหลายที่ชอบธรรม และหลักแห่งการสร้างสังคมโลก

ลัทธิทั้งสองกำหนดวิสัยทัศน์ต่อบุคคลมนุษย์ในเชิงลดทอนและและไม่เป็นธรรม โดยสนับสนุนรูปแบบต่าง ๆ ของ ลัทธิบูรณาการศาสนา (ReligiousIntergralism) และในอีกด้านหนึ่งก็สนับสนุน ลัทธิเหตุผลนิยม (Rationalism)  สังคมที่ยัดเยียดอย่างรุนแรง หรือในทางตรงกันข้ามปฏิเสธศาสนา เป็นสังคมที่ไม่เพียงแต่อยุติธรรมต่อมนุษย์แต่ละคนและพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังอยุติธรรมต่อสังคมเองด้วย พระเจ้าทรงเรียกมนุษยชาติด้วยแผนการแห่งความรักของพระองค์ในขณะที่ทรงคำนึงถึงบุคคลทั้งมวลในทุกมิติทั้งมิติทางธรรมชาติและชีวิตฝ่ายจิตของเขาแลเธอนั้น พระองค์ทรงเรียกหาคำตอบที่เสรีและรับผิดชอบทั้งหัวใจและชีวิตทั้งหมด ทั้งแต่ละคนและชุมชนด้วย สังคมเองก็เช่นกัน

ในฐานะที่เป็นการแสดงออกของบุคคล และของทุกมิติที่ประกอบขึ้นทั้งชายและหญิง จะต้องดำเนินชีวิตและจัดระเบียบตัวเอง ด้วยวิธีการที่ส่งเสริมการเปิดใจกว้างต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ด้วยเหตุผลนี้เอง กฎหมายและสถาบันของสังคม ไม่อาจได้รับการหล่อหลอมไปในทางที่จะเพิกเฉยต่อมิติทางศาสนาของพลเมืองของตน หรือแยกตัวจากมิติทางศาสนาอย่างเด็ดขาด โดยอาศัยกิจกรรมแบบประชาธิปไตยของพลเมืองที่ตระหนักถึงเสียงเรียกอันสูงส่งนี้ กฎหมายและสถาบันเหล่านี้ จะต้องสะท้อนอย่างเหมาะสมต่อธรรมชาติที่แท้จริงของบุคคล และสนับสนุนมิติทางศาสนาของธรรมชาตินี้ เนื่องจาก มิติทางศาสนามิใช่สิ่งสร้างของรัฐประเทศ จึงไม่อาจถูกกระทำจากรัฐ แต่กลับจะต้องได้รับการรับรองและเคารพ

เมื่อใดที่ระบบกฎหมายในระดับใดก็ตาม ทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศ เปิดโอกาสหรือยินยอมต่อลัทธิคลั่งศาสนา หรือลัทธิต่อต้านศาสนา ก็เท่ากับล้มเหลวในการปฏิบัติพันธกิจ นั่นคือ การคุ้มครองและส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิของทุกคน เรื่องเหล่านี้ไม่อาจถูกโยนให้กับความสุขุมรอบคอบของผู้ออกกฎหมายหรือเสียงส่วนใหญ่ ดังที่ ซิเซโร่ (Cicero) เคยชี้ไว้ว่า ความยุติธรรมเป็นอะไรบางอย่างที่มากกว่าเป็นเพียงแค่กิจการที่ออกและบังคับใช้กฎมายเท่านั้น แต่ยังรับรองศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคลด้วย   ซึ่งหากไม่มีการค้ำประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนาและใช้เสรีภาพนั้นอย่างเข้าถึงแก่นแท้แล้ว ศาสนิกชนก็จะสิ้นสุดลงด้วยการถูกลดทอนและละเมิด ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะตกไปเป็นเหยื่อของการบูชารูปเคารพทางศาสนา และสินค้าที่มีความเกี่ยวข้อง

ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับเขา  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้สังคมเสี่ยงต่อการเข้าสู่รูปแบบ ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จทางการเมืองและอุดมการณ์ (political and ideolocical totalitarianism) ซึ่งเน้นอำนาจสาธารณะ ขณะเดียวกับที่ลดความหมายและจำกัดเสรีภาพทางมโนธรรม ความคิด และศาสนา ในฐานะคู่แข่งที่มีศักยภาพ

การเสวนาระหว่างสถาบันพลเมืองและสถาบันศาสนา

9. มรดกของหลักการและคุณค่าที่แสดงออกด้วยความศรัทธาในศาสนาอย่างแท้จริง เป็นบ่อเกิดแห่งความร่ำรวยของประชาชนและลักษณะพื้นฐานด้านสังคมที่กลุ่มคนมีร่วมกัน มรดกนี้สื่อสารโดยตรงกับมโนธรรมและความคิดของทั้งหญิงและชาย และ เรียกร้องให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางศีลธรรมใจทางสังคม รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติคุณธรรมและแนวทางแห่งความรักต่อผู้อื่นในฐานะที่เขาเหล่านั้นเป็นพี่น้องหญิงชายของเรา และเป็นสมาชิกในครอบครัวมนุษยชาติที่กว้างใหญ่

ด้วยความเคารพต่อการเป็นสถาบันทางโลกเชิงบวกของรัฐ มิติด้านสาธารณะของศาสนาต้องได้รับการรับรองเสมอ การเสวนาระหว่างสถาบันพลเมืองและสถาบันศาสนา เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาแบบบูรณาการของบุคคลมนุษย์ และความผสานกลมเกลียวกันทางสังคม

มีชีวิตอยู่ด้วยความรักและความจริง

10.  ในโลกแห่งโลกาภิวัตน์ซึ่งเปี่ยมไปด้วยสังคม ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นทางชาติพันธุ์และศาสนา ศาสนาหลัก ๆ เป็นปัจจัยสำคัญต่อเอกภาพและสันติภาพสำหรับครอบครัวมนุษยชาติ บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในศาสนาและความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ความดีส่วนรวม บรรดาผู้มีความเชื่อเหล่านี้ได้รับเรียกให้แสดงการอุทิศตนอย่างรับผิดชอบในบริบทของเสรีภาพในการนับถือศาสนา ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรมทางศาสนา มีความจำเป็นที่จะให้คุณค่าต่อบรรดาองค์ประกอบที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของพลเมือง ในขณะเดียวกับการปฏิเสธทุกสิ่งที่ขัดแย้งกับศักดิ์ศรีของทั้งหญิงและชาย

พื้นที่สาธารณะที่ประชาคมระหว่างประเทศเปิดให้กับศาสนา และข้อเสนอของศาสนาที่นำไปสู่ “ชีวิตที่ดี” ช่วยสร้างหลักข้อตกลงเกี่ยวกับความจริงและความดี และฉันทามติด้านศีลธรรม ทั้งสองส่วนนี้เป็นพื้นฐานต่อการอยู่ร่วมกันด้วยความยุติธรรมและสันติสุข บรรดาผู้นำของศาสนาหลัก ๆ ด้วยตำแหน่งที่เขาเป็นอยู่ ด้วยอิทธิพลและอำนาจที่เขามีอยู่ในชุมชนของตนนั้น บรรดาผู้นำเหล่านี้เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ได้รับเรียกให้มีการเคารพซึ่งกันและกันและการเสวนาด้วย

ในส่วนของคริสตชนนั้น พวกเขาได้รับแรงกระตุ้นจากความเชื่อในพระเจ้า พระบิดาเจ้าของพระบุตรเยซูคริสต์ ให้ดำเนินชีวิตเป็นพี่น้องชายหญิงที่สัมพันธ์กันในพระศาสนจักร และทำงานร่วมกันในการสร้างโลกที่มนุษย์แต่ละคนและประชาชาติ “จะไม่ทำร้ายและทำลาย ... เนื่องจากโลกจะเต็มเปี่ยมไปด้วยการรู้จักพระเจ้าดั่งน้ำปกคลุมทะเล”  (อสย 11:9)

การเสวนาเป็นความพยายามร่วมกัน

11.  สำหรับพระศาสนจักร การเสวนาระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ เปรียบได้กับวิถีที่สำคัญในการร่วมมือกับชุมชนทางศาสนาทั้งมวลเพื่อมุ่งสู่ความดีร่วมกัน พระศาสนจักรเองไม่ปฏิเสธทุกสิ่งที่เป็นความจริงและศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาต่าง ๆ “พระศาสนจักรให้ความเคารพอย่างสูงต่อวิถีชีวิต วิถีปฏิบัติแนวคิดและคำสอนต่าง ๆ แม้ว่าจะมีความแตกต่างมากมายจากคำสอนของตนก็ตาม แต่ก็มักจะฉายภาพสะท้อนถึงความจริงนั้นซึ่งให้ความสว่างต่อมนุษย์ทั้งหญิงและชายทั้งมวล”

วิถีที่จะเดินนี้ มิใช่วิถีแห่งลัทธิสัมพัทธ์นิยม หรือ การผสานรวมศาสนา (Religious Syncretism) ที่จริงพระศาสนจักร “ประกาศและมีภาระหน้าที่ในการประกาศพระคริสต์โดยไม่หยุดยั้ง ซึ่งพระองค์ทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต (ยน 14:6) ในพระคริสต์ซึ่งพระเจ้าได้ทรงทำให้สรรพสิ่งคืนดีกับพระองค์นั้น มนุษย์จะพบความสมบูรณ์พร้อมของชีวิตทางศาสนา”   กระนั้นก็ดี นี่มิได้หมายถึงการละเว้นการเสวนาและความพยายามร่วมกันในการแสวงหาความจริงในมิติที่แตกต่างของชีวิต ดังเช่นที่ ท่านนักบุญโทมัส อไควนัส  กล่าวไว้ว่า “ความจริงทุกประการ ไม่ว่าจะแสดงออกโดยใครก็ตาม มาจากพระจิตเจ้าทั้งสิ้น”

ในปี 2011 นี้ เป็นวาระครบรอบ 25 ปีของ วันภาวนาสากลเพื่อสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่อัสซีซีในปี 1986 โดยพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ในโอกาสนั้น ผู้นำศาสนาหลัก ๆ ของโลกได้ยืนยันถึงความจริงที่ว่า ศาสนาคือปัจจัยแห่งความเป็นหนึ่งเดียวและสันติภาพ มิใช่การแบ่งแยกและการขัดแย้ง ความทรงจำของประสบการณ์นั้นให้เหตุผลที่จะหวังสู่อนาคตซึ่งผู้ที่นับถือศาสนาทุกคน จะมองตนเองเป็นผู้แทนแห่งความยุติธรรมและสันติภาพ ซึ่งก็จะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ความจริงทางศีลธรรมในการเมืองและการทูต

12.  การเมืองและการทูตควรมองมรดกทางศีลธรรมและจิตใจที่ศาสนาหลัก ๆ ของโลกมอบให้เพื่อรับรองและยืนยันความจริง, หลักการและคุณค่าที่เป็นสากลซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้โดยการปฏิเสธศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ อะไรคือความหมายในทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความจริงทางศีลธรรมในโลกการเมืองและการทูตเล่า?นี่หมายถึงการปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบบนพื้นฐานของความรู้แบบบูรณาการเกี่ยวกับความจริงและเป็นวัตถุวิสัย หรือหมายถึงการรื้อโครงสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองที่ลงเอยด้วยการเบียดความจริงและศักดิ์ศรีของมนุษย์ออกไป แต่กลับส่งเสริมคุณค่าเทียมโดยอ้างสันติภาพ

การพัฒนาและสิทธิมนุษยชน หรือหมายถึงการส่งเสริมการอุทิศตนที่ไม่เบี่ยงเบนไปจากการใช้กฎหมายเชิงบวกบนพื้นฐานของหลักกฎธรรมชาติ(16)สิ่งเหล่านี้จำเป็นและสอดคล้องกับการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของบุคคลมนุษย์ที่ได้รับปกป้องโดยประชาคมโลกใน กฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งประกาศใช้ในปี 1945 ซึ่งนำเสนอคุณค่าสากลและหลักศีลธรรมให้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับ บรรทัดฐาน สถาบัน และระบบที่กำกับการอยู่ร่วมกันในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

ก้าวข้ามความเกลียดชังและอคติ

13. แม้จะมีบทเรียนในประวัติศาสตร์และความพยายามของรัฐประเทศต่าง ๆ องค์กรระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค องค์กรเอกชน และผู้มีน้ำใจดีทั้งหญิงและชายจำนวนมากซึ่งทำงานทุกวันเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานก็ตาม โลกทุกวันนี้ยังคงเผชิญกับการเบียดเบียน การเลือกปฏิบัติ การกระทำที่รุนแรงและการไม่ยอมรับความแตกต่างทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและแอฟริกา เหยื่อส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของศาสนาของคนส่วนน้อย ซึ่งถูกกีดกันจากการปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่สามารถเปลี่ยนศาสนาอย่างเสรีโดยใช้รูปแบบของการข่มขู่และการละเมิดสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานและปัจจัยที่จำเป็นของพวกเขา รวมถึงการสูญเสียอิสรภาพส่วนตัว แม้กระทั่งเสียชีวิตด้วย

ดังเช่นที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว ยังคงมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นของการเป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ซึ่งในประเทศทางตะวันตก มักจะปรากฏออกมาในรูปของการปฏิเสธประวัติศาสตร์และการปฏิเสธสัญลักษณ์ทางศาสนาที่สะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของพลเมืองส่วนใหญ่ บ่อยครั้งที่รูปแบบของการเป็นปรปักษ์เหล่านี้ยังส่งเสริมความเกลียดชังและอคติด้วย  ซึ่งขัดแย้งกับวิสัยทัศน์ที่สงบและมีดุลยภาพของความหลากหลายและโลกียนิยมของสถาบัน โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความจริงที่ว่าชนรุ่นใหม่เสี่ยงที่จะสูญเสียการสัมผัสกับมรดกทางจิตใจที่ประเมินค่าไม่ได้ของประเทศของตน

ศาสนาได้รับการคุ้มครองโดยการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของชุมชนทางศาสนา ดังนั้น ผู้นำของศาสนาหลัก ๆ ของโลก และผู้นำประเทศจึงควรรื้อฟื้นการอุทิศใหม่ เพื่อการในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเฉพาะการคุ้มครองศาสนาของคนส่วนน้อย การกระทำนี้มิใช่การคุกคามต่ออัตลักษณ์ของคนส่วนใหญ่ แต่กลับเป็นโอกาสสำหรับการเสวนาและการสร้างสรรค์ความงดงามทางวัฒนธรรมของกันและกัน การคุ้มครองพวกเขาคือวิถีทางที่วิเศษสุดในการประสานจิตตารมณ์แห่งความมีน้ำใจดี ความใจกว้าง และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งจะช่วยให้หลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในทุกพื้นที่และทุกภูมิภาคของโลก

เสรีภาพในการนับถือศาสนาในโลก

14.  ในที่สุด ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะกล่าวต่อชุมชนคริสตชนที่ต้องประสบภัยจากการเบียดเบียน การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง การไม่ยอมรับความแตกต่าง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย  แอฟริกา ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นแผ่นดินที่พระเจ้าเลือกสรรและประทานพร ข้าพเจ้าให้หลักประกันแก่พวกเขาอีกครั้งหนึ่งที่จะส่งความรักแบบพ่อและคำภาวนาของข้าพเจ้า และเรียกร้องผู้ที่อยู่ในอำนาจให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติความอยุติธรรมทุกประการต่อคริสตชนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ท่ามกลางความยากลำบาก

ในปัจจุบันนี้ ขอให้บรรดาศิษย์ที่ติดตามพระคริสต์อย่าสูญเสียกำลังใจ ทั้งนี้เพราะ การเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร เป็นและยังคงเป็นสัญญาณแห่งความขัดแย้งอยู่เสมอ ขอให้เรารับพระวาจาของพระเยซูเจ้าเข้ามาไว้ในใจของเรา “ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน….. ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม …. ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่างๆนานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่” (มธ 5:4-12)

ต่อจากนั้นขอให้เรารื้อฟื้นใหม่ซึ่ง“คำสัญญาที่เราให้ว่าจะให้อภัยเมื่อเราขอพระเจ้าได้ทรงอภัยให้เราในบทภาวนา  ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย เป็นเราเองที่กำหนดเงื่อนไขและขอบเขตความเมตตาที่เราร้องขอเมื่อเราสวดว่า ‘โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น’ (มธ 6:12)”

ความรุนแรงไม่อาจเอาชนะได้ด้วยความรุนแรง ขอให้เสียงร่ำไห้ด้วยความเจ็บปวดของเรา จงควบคู่ไปกับความเชื่อ ความหวัง และการเป็นประจักษ์พยานถึงความรักของเราต่อพระเจ้า ข้าพเจ้ายังแสดงความหวังว่าในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป จะถึงกาลสิ้นสุดของการเป็นปรปักษ์และอคติต่อคริสตชนเพราะพวกเขาตัดสินใจที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีทางที่สอดคล้องกับคุณค่าและหลักที่ปรากฏอยู่ในพระวรสาร ขอให้ยุโรปหันกลับไปรื้อฟื้นคืนสู่รากของคริสตศาสนา

ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเข้าใจบทบาทในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในประวัติศาสตร์ ด้วยวิธีนี้ ยุโรปจะมีประสบการณ์กับความยุติธรรม มิตรภาพกลมเกลียวกัน และสันติภาพโดยการบ่มเพาะการเสวนาอย่างจริงใจกับประชาชนทั้งมวล

เสรีภาพในการนับถือศาสนาคือหนทางสู่สันติภาพ

15.โลกยังต้องการพระเจ้า โลกต้องการคุณค่าร่วมกันทางจริยธรรมและจิตวิญญาณที่เป็นสากล และศาสนาสามารถสร้างคุณูปการที่มีคุณค่าต่อการแสวงหาและสร้างระเบียบสังคมที่ยุติธรรมและมีสันติสุขในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
สันติภาพเป็นพระพรจากพระเจ้า และในเวลาเดียวกันก็เป็นหน้าที่ที่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ สังคมที่มีการคืนดีกับพระเจ้าจะใกล้ชิดกับสันติภาพมากขึ้น ซึ่งมิใช่เพียงแค่ภาวะที่ไม่มีสงคราม หรือเป็นผลมาจากความเป็นเลิศทางด้านการทหารหรือเศรษฐกิจเท่านั้น และจะเสียเวลาพูดไปทำไมกับแผนการหลอกลวงหรือการเบียดบังอันแยบยลนี้

ตรงกันข้าม สันติภาพคือผลของกระบวนการชำระให้บริสุทธิ์และการยกระดับทางวัฒนธรรม ศีลธรรม และชีวิตฝ่ายจิตที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์แต่ละคนและประชาชน เป็นกระบวนการที่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้รับการเคารพอย่างสมบูรณ์ ข้าพเจ้าเชื้อเชิญทุกท่านที่ต้องการเป็นผู้สร้างสันติภาพ โดยเฉพาะเยาวชนให้ใส่ใจต่อเสียงในหัวใจตน และแสวงหาแหล่งพักพิงที่มั่นคงในพระเจ้าเพื่อบรรลุถึงเสรีภาพที่แท้จริง

ซึ่งเป็นพลังที่ไม่มีเสื่อมสลาย สามารถให้ทิศทางใหม่และจิตวิญญาณใหม่แก่โลก และเอาชนะความผิดพลาดในอดีต พระสันตะปาปาปอล ที่ 6 ผู้มีปรีชาญาณวิสัยทัศน์กว้างไกลได้กำหนดให้มีวันสันติภาพสากลขึ้น ได้กล่าวไว้ว่า  “เหนืออื่นใด มีความจำเป็นที่จะสร้างสันติภาพด้วยอาวุธชนิดอื่นที่แตกต่างจากอาวุธที่มุ่งสังหารและขจัดมนุษยชาติ สิ่งที่เราต้องการเหนืออื่นใดคืออาวุธทางศีลธรรมที่ให้ความเข้มแข็งและเกียรติแก่กฎหมายระหว่างประเทศ ในลำดับแรกนั้น เป็นอาวุธของการปฏิบัติตามสนธิสัญญา”

เสรีภาพในการนับถือศาสนาคืออาวุธแห่งสันติภาพที่แท้จริงโดยมีพันธกิจเชิงประวัติศาสตร์และการเป็นประกาศก สันติภาพช่วยให้คุณภาพที่ลึกซึ้งที่สุดและศักยภาพของบุคคลมนุษย์เกิดผลอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นคุณภาพที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกและทำให้โลกดีขึ้น เสรีภาพในการนับถือศาสนาให้ความหวังต่ออนาคตของความยุติธรรมและสันติภาพ แม้ว่าจะยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีความอยุติธรรมอย่างร้ายแรง และความยากจนทางวัตถุปัจจัยและศีลธรรมก็ตาม ขอให้มนุษย์ทุกคนทั้งหญิงและชาย และสังคมในทุกระดับและในทุกส่วนของโลกจะได้ชื่นชมกับ เสรีภาพในการนับถือศาสนา คือหนทางสู่สันติภาพ ในเร็ว ๆนี้

จากวาติกัน 8 ธันวาคม 2010
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

  Cf. BENEDICT XVI, Encyclical Letter Caritas in Veritate, 29, 55-57.
 Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Declaration on Religious Freedom Dignitatis Humanae, 2.
  Cf. BENEDICT XVI, Encyclical Letter Caritas in Veritate, 78.
  Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Declaration on the Relation of the Church to Non-Christian Religions Nostra Aetate, 1
  ID., Declaration on Religious Freedom Dignitatis Humanae, 7.

  BENEDICT XVI, Address to the General Assembly of the United Nations (18 April 2008): AAS 100 (2008), 337.
  Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Declaration on Religious Freedom Dignitatis Humanae, 2.
  JOHN PAUL II, Address to Participants in the Parliamentary Assembly of the Organization for Security and Cooperation in Europe (OSCE) (10 October 2003), 1: AAS 96 (2004), 111.
  Cf. BENEDICT XVI, Encyclical Letter Caritas in Veritate, 11.
  Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Declaration on Religious Freedom Dignitatis Humanae, 1.
  Cf. CICERO, De Inventione, II, 160.
  Cf. BENEDICT XVI, Address to Representatives of Other Religions in the United Kingdom (17 September 2010): L’Osservatore Romano (18 September 2010), p. 12.
  Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Declaration on the Relation of the Church to Non-Christian Religions Nostra Aetate, 2.
  Ibid.
  Super Evangelium Joannis, I, 3.
16 Cf.  BENEDICT XVI , Address to Civil Authorities and the Diplomatic Corps in Cyprus  (4  June 2010) :  L’Osservatore Romano (6 June 2010), p. 8; INTERNATIONAL  THEOLOGICAL COMMISSION , The Search for Universal Ethics : A New Look at Natural Law, Vatican City, 2009.

17   PAUL VI, Message for the 1976 World Day of Peace: AAS 67 (1975), 671.
18 Ibid., p. 668.

ขอขอบคุณ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)