สารจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกกลุ่มชาติพันธุ์

เนื่องในโอกาสวันรณรงค์เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์


วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2553

พี่น้องที่รักทั้งหลาย

พระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้วันอาทิตย์ในสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันรณรงค์เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกกลุ่มชาติพันธุ์ ตระหนักและสำนึกอยู่เสมอในความสำคัญของภารกิจกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าภาระหน้าที่ที่จำเป็นเร่งด่วนในยุคปัจจุบันนี้คือชะตากรรมของชีวิตชนเผ่าที่กำลังถูกกลืนหายไปในกระแสทางหลักจากทุนนิยม การท่องเที่ยวนิยม บริโภคนิยม เงินตรานิยม การเมืองนิยม อำนาจนิยม ทรัพยากรนิยม ภาวะโลกร้อนนิยม เป็นต้น

ในอดีตที่ผ่านมาบรรพชนของพี่น้องชาติพันธุ์ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตที่สวยงาม เขากำหนดชะตากรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคมเล็ก ๆ มีความเป็นพี่เป็นน้อง มีธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ การสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของคน ธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องพึ่งพิงอิงกันฉันพี่น้องที่เน้นระบบคุณค่า ความหมายของชีวิต เป็นดั่งวัฒนธรรมชีวิต มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนในชุมชนต้องให้เกียรติให้การเคารพเพื่อความสมดุลในระบบนิเวศ การดำรงอยู่อย่างพอเพียงที่เป็นพลังของชีวิตในครอบครัว การเคารพผู้อาวุโสที่ช่วยให้เกิดการวางรากฐานของชีวิตที่สำคัญ การฟังเรื่องเล่าที่ผู้อาวุโสถ่ายทอดสอดแทรกปรีชาญาณเป็นดั่งแรงบันดาลใจที่เติมเต็มชีวิต การดูแลชีวิตของผู้คนในชุมชนให้พบความสุขโดยอาศัยภูมิปัญญาและแนวปฏิบัติที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งหลายนี้บันดาลให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์สามารถประกาศตัวตนได้ชัดเจน มีความภาคภูมิใจในชีวิตที่ปรากฎออกมาในสังคมไทย

แต่ในปัจจุบันพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กลับประสบชะตากรรม ที่ตัวเองไม่ได้มีโอกาสเตรียมตัวที่จะต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาในชีวิต ครอบครัว ชุมชน สังคม ก่อให้เกิดความแตกแยกในครอบครัว ชุมชน มีการแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา มีการชิงดีชิงเด่นเอารัดเอาเปรียบ การเหยียบย่ำคนยากคนจนที่เป็นชนเผ่าด้วยกัน การไม่เคารพผู้อาวุโส เหล่านี้เป็นปัญหาที่พี่น้องชาติพันธุ์ต้องประสบ และกำลังจะกลายเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลานต่อไปในวันข้างหน้าถ้าไม่รีบย้อนกลับมาไตร่ตรองถึงเครื่องหมายกาลเวลาหรือสัญญาณที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้อย่างผู้รู้เท่าทัน

หากจะพิจารณาถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง กระแสการเมืองนิยมกำลังกลายเป็นประเด็นที่สำคัญที่ทำให้เกิดการแตกแยกในหมู่ของพี่น้องชาติพันธุ์ การแบ่งพรรคแบ่งพวก การตัดขาดญาติมิตร การโกหก การใส่ร้ายป้ายสี การอุปถัมถ์ ได้ทำลายระบบคุณค่าดั้งเดิมที่เน้นวัฒนธรรมแห่งชีวิต แต่การเมืองนิยมเน้นวัฒนธรรมแห่งความตาย ที่ยกย่องคนด้วยการมี ไม่ใช่การเป็น การเมืองทำลายการดำรงอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์ มีการสอนด้วยตัวอย่างในชีวิตประจำวัน ให้รู้จักการกดขี่ข่มเหง การดูถูก การรีดไถ การเอารัดเอาเปรียบ การไม่สนใจชีวิตคนแต่สนใจเงินตรา จนลืมศักดิ์ศรีของคนอื่นในความเป็นมนุษย์

สิ่งที่ควรแก่การไตร่ตรองอีกนั้นมีหลายประเด็นได้แก่ กระแสภาวะโลกร้อนที่โลกตะวันตกประเทศพัฒนาแล้วกำลังผลักให้ภาระเหล่านี้ตกอยู่กับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือ “ด้อยพัฒนา”โดยมองไปที่พี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่าที่ให้ต้องมารับภาระแก้ปัญหาเหล่านี้ทั้งๆ ที่สาเหตุของปัญหานั้นอยู่ที่ประเทศอุตสาหกรรมมากกว่าประเทศเกษตรกรรม กระแสภาวะโลกร้อนจึงเกิดกระบวนการเอารัดเอาเปรียบพี่น้องชาติพันธุ์ ไม่ได้มีการเคารพให้พี่น้องชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการกำหนด กระแสการท่องเที่ยวก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พรากชีวิตปกติสุข พ่อแม่ลูกที่อยู่บนดอยถูกดึงลงมาสู่ในเมืองกลายเป็นสลัมชาติพันธุ์ในหลายแห่ง

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ ๑๖ ทรงตระหนักดีและเรียกร้องให้เราเอาใจใส่ต่อปัญหาทางสังคมทั้งระดับโลกและท้องถิ่น “การท่องเที่ยวสามารถเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของวัฒนธรรม แต่มันก็สามารถเป็นโอกาสสำหรับการเอารัดเอาเปรียบและความเสื่อมของศีลธรรมได้ด้วยเช่นกัน....บ่อยครั้งการท่องเที่ยวสากลจะหนักไปทางรูปแบบของบริโภคนิยมและสนุกนิยม” (พระสมณสาสน์ ความรักในความจริง) พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยเฝ้าระวังด้วยความเป็นห่วงบรรดาพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องเผชิญกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงซึ่งมาพร้อมกับวิธีการโฆษณาชวนเชื่อ หลอกให้คิดว่าชีวิตมีความสำเร็จเพราะมีเงินมาก ฉะนั้นการก้าวเดินแต่ละวันของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในยุคปัจจุบันจึงต้องเป็นไปอย่างมีความระมัดระวัง และมุ่งพัฒนาตนสู่ความสัมพันธ์ที่มีความเป็นพี่เป็นน้องมากขึ้น

“การพัฒนามนุษย์เหนือสิ่งใดขึ้นอยู่กับการยอมรับว่า มนุษยชาติเป็นครอบครัวเดียวกัน”(พระสมณสาสน์ ความรักในความจริง) จะเป็นจริงได้อย่างไรถ้าไม่ได้มีการตระหนักและสำนึกถึงการหันหน้ามาร่วมมือกัน “การร่วมมือกันในการพัฒนา จะต้องไม่เจาะจงอยู่แต่มิติเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว การร่วมมือกันเป็นโอกาสพิเศษมากต่อการพบกันระหว่างวัฒนธรรมและประชาชน...หากประเทศยากจนเปิดกว้างให้กับทุกวัฒนธรรมโดยไม่มีการวิพากษ์และไม่เลือก พวกเขาก็จะไม่สามารถรับมือต่อการพัฒนาที่เข้ามากระทบต่อชีวิตของพวกเขาได้อย่างถูกต้องถ่องแท้...การมองเห็นความสำคัญของคุณค่ามนุษย์ซึ่งเป็นตัวหล่อหลอมมนุษย์ขึ้นมา”(พระสมณสาสน์ ความรักในความจริง ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ ๑๖)

“ความร่วมมือจะต้องพบความจริงที่มีการแบ่งปันและความเป็นหนึ่งเดียวกัน...จำต้องมีความรักความเมตตาในความจริงซึ่งก็คือหลักการในคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรคาทอลิกที่มุ่งสู่ความยุติธรรมและความดีส่วนรวม...ความยุติธรรมนี้เตือนเราให้มอบแก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นของเขา...ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่แยกออกจากความรักเมตตาไม่ได้เลย และเป็นสิ่งที่อยู่ภายในความรักเมตตาเอง ความยุติธรรมเป็นหนทางแรกแห่งความรักเมตตา”(พระสมณสาสน์ ความรักในความจริง ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ ๑๖) พระศาสนจักรจึงหวังในความดีงามของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมแห่งชีวิตว่าจะเบ่งบานในสังคมไทยให้ได้พบสันติสุขและก่อให้เกิดการยอมรับในกลุ่มชนเผ่าเล็กๆ ที่มีความรักที่ยิ่งใหญ่ต่อชีวิตมนุษย์
 

ขอพระแม่มารีย์พรหมจารี มารดาของพระศาสนจักร “กระจกเงาแห่งความยุติธรรม” และ “ราชินีแห่งสันติ” ปกป้องและวิงวอนเพื่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ในวันรณรงค์เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ในปีนี้เทอญ

ด้วยความปรารถนาดี
 
พระสังฆราชฟิลิป บรรจง ไชยรา
ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม
แผนกกลุ่มชาติพันธุ์

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกกลุ่มชาติพันธุ์
๑๒๒/๑๑ ชั้น ๗ ซอยนาคสุวรรณ ถนนนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ๑๐๑๒๐
โทรศัพท์/โทรสาร. ๐-๒๖๘๑-๓๙๐๐ ต่อ ๑๗๐๒
http://cegthai.cbct.netE-mail  cegthai@yahoo.com