สาสน์วันสตรีสากล
จาก พระสังฆราชฟิลิป บรรจง ไชยรา

 

8 มีนาคม 2010

พี่น้องคริสตชนที่รัก

วันสตรีสากลเวียนมาอีกครั้งทุกๆวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่พระศาสนจักรทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงความรักและความสามัคคีนานาชาติ ในการรณรงค์เสริมสร้างสิทธิสตรี อันจะนำไปสู่สมดุลแห่งความเป็นมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า วันสตรีสากลในปีนี้ข้าพเจ้าขอเชิญชวนพี่น้องคริสตชนทุกท่านระลึกและสวดภาวนาให้สตรีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสตรีที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ความรุนแรงภายในครอบครัว ความรุนแรงจากชุมชนและสังคมที่รายล้อมและถาโถมโดยไม่ทันตั้งตัว

หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน พยายามส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ในการพัฒนาชุมชนด้วยการสนับสนุนโครงการต่างๆ บนพื้นฐานของบทบาทหญิงชาย  แต่ดูเหมือนว่าผลที่เกิดขึ้นนั้น สตรียังไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือต่อรองเพื่อปกป้องสิทธิของตนและชุมชนได้เต็มกำลัง สาเหตุสำคัญคือ สตรียังขาดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาศักยภาพของสตรีให้รู้เท่าทันในสาระแก่นสำคัญส่วนต่างๆ ของชีวิต ยืนหยัดมั่นคงในการดำรงชีวิตตามแก่นธรรมที่ได้รู้แจ้งแล้วนั้นเมื่อสตรีเข้มแข็งผลที่ตามมาก็คือครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น

สาระแก่นสำคัญประการแรกของเราคริสตชนคือ การมีชีวิตจิตที่มั่นคงเป็นพื้นฐานซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์รักกับพระเจ้า ผู้ทรงสร้าง ทรงรัก และทรงเรียกเราให้เกิดมาและมีชีวิต ธรรมล้ำลึกแห่งการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางความเชื่อและความสัมพันธ์ของเรา การเพ่งพิศพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับเอากายจะเปลี่ยนวิธีมองความเป็นจริงในปัจจุบัน ขณะที่เราเพ่งพิศพระเจ้าผู้ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์เราได้รับเชิญชวนให้บูรณาการร่างกายจิตวิญญาณและความคิดเรื่องส่วนบุคคลและส่วนรวม หญิงและชาย กิจวัตรประจำวันและสิ่งเหนือธรรมชาติ

สาระแก่นสำคัญประการต่อมา คือแนวทางการปฏิบัติพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย เราได้รับการเชิญชวนให้ร่วมมือกับผู้อื่น ซึ่งสามารถแสดงออกได้หลายทาง เช่น ด้วยความสนิทสัมพันธ์ การให้ทุกคนมีส่วนร่วม การเป็นหนึ่งเดียวกัน การติดต่อเชื่อมโยงกัน การสนทนา การติดต่อเชื่อมโยงถึงกัน และการทำงานอภิบาลร่วมกัน สามารถเสริมสร้างพลังและช่วยให้เรามุ่งเน้นที่การทำงานเพื่อโลกที่ยุติธรรมมากขึ้น ความสนิทสัมพันธ์ ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์จากการร่วมมือร่วมใจ สามารถเป็นคำยืนยันว่า เป็นไปได้ที่เราจะทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

การให้ทุกคนมีส่วนร่วม เสนอเส้นทางที่นำไปสู่สันติภาพ เมื่อเราพูดกับบุคคลที่อยู่ใน “อีกค่ายหนึ่ง” และส่งเสริมการสนทนาหารือในทุกเรื่องที่มีท่าทีว่าจะทำให้เกิดความแตกแยก และทำให้เราแยกตัวจากกันและกัน สุดท้ายคือ การตระหนักรู้เรื่องของโลก เรามีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับจักรวาลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลอย่างลึกซึ้งต่อจิตสำนึก ความเชื่อ ชีวิตจิต และพันธกิจของเรา ช่วยให้เรามองเห็นว่าทุกสิ่งในโลกล้วนน่าอัศจรรย์ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน และเกี่ยวเนื่องกัน ในปัจจุบัน เรารู้ว่าทรัพยากรของโลกมีอยู่อย่างจำกัด และเรามีความรับผิดชอบมากขึ้นที่จะดูแลสภาพแวดล้อมของเรา ความรู้นี้ทำให้เราเข้าใจความยุติธรรมซึ่งนำไปสู่การดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย และเคารพในบูรณภาพแห่งสิ่งสร้าง

ขอให้เราดูพระนางมารีย์เป็นแบบอย่าง เพื่อเราจะได้เป็นสตรีแห่งความหวังและมีอิสรภาพภายใน ผู้แผ่รังสีแห่งสันติในโลกที่มีแต่ความรุนแรง และแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นสตรีแห่งความกล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นสตรีที่ให้กำลังใจกันและกันและกับทุกคน เพื่อจะได้ยืนหยัดมั่นคงในการเป็นผู้ให้ชีวิตแก่มนุษยชาติทั้งมวล(อ้างอิงเอกสารAMOR XV-Sr.Maria Lau,IJS)

อวยพรมาในองค์พระคริสตเจ้า

พระสังฆราชฟิลิปบรรจง ไชยรา
ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม

 

ขอขอบคุณคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม