![]() | ||||||||
![]() | ||||||||
![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() |
สารของ
ทุกปีในโอกาสเทศกาลมหาพรต
พระศาสนจักรเชื้อเชิญทุกคนให้ทบทวนชีวิตอย่างจริงจังเสียใหม่โดยยึดเอาคำสอนของพระวรสารเป็นแสงสว่างนำทาง ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เราใคร่เสนอข้อคิดบางประการเกี่ยวกับเรื่องความชอบธรรม โดยเริ่มต้นจากคำสอนของนักบุญเปาโลที่ว่า ความชอบธรรมของพระเจ้าปรากฏให้เห็นโดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ก่อนอื่นเราอยากทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า ความชอบธรรม เสียก่อน ซึ่งตามธรรมดาทั่วไปหมายความว่า คืนสิ่งที่เป็นของเขาให้เขาไป ตามคำจำกัดความของนักกฎหมายชาวโรมันในศตวรรษที่ 3 ที่ชื่อว่า อุลเปียน แต่ความจริงแล้ว คำจำกัดความที่ว่านี้มิได้ระบุว่าอะไรคือ สิ่งที่เป็นของเขา ที่จะต้องคืนให้แก่แต่ละเจ้าของ กฎหมายไม่ได้ให้หลักประกันอะไรไว้เลยกับคนว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดนั้นคืออะไร เพื่อคนเราจะเจริญชีวิตได้อย่างบริบูรณ์ครบรูปแบบ มีอะไรที่ล้ำลึกภายในบางอย่างที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเราจะได้เป็นสิ่งประทานในรูปแบบแห่งของขวัญเท่านั้น เราอาจกล่าวได้ว่าคนเรามีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยความรักนั้น ซึ่งมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะประทานให้ได้ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาลักษณ์และความละม้ายคล้ายกันกับพระองค์ เรื่องอำนวยความสะดวกฝ่ายวัตถุต่างๆนั้นมีประโยชน์และเป็นสิ่งจำเป็นแน่นอน แม้พระเยซูเองก็ได้ทรงเป็นห่วงเป็นใยและทำการรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรค เลี้ยงอาหารฝูงชนที่ติดตามพระองค์ แล้วยังทรงสาปแช่งความไม่รู้จักร้อนจักหนาวที่แม้นกระทั่งทุกวันนี้ส่งผลให้ผู้คนอดอยากล้มตายเป็นร้อยๆล้านคนเพราะขาดอาหาร น้ำดื่ม และหยูกยา ดังนั้นความชอบธรรมในเรื่องของ การแบ่งปัน กันนั้นไม่ได้มอบ สิ่งที่เป็นของเขา ให้เขาเลย
มนุษย์ต้องการข้าวกินฉันใด มนุษย์ยิ่งจะมีความต้องการพระเจ้ามากยิ่งขึ้นไปกว่าข้าวอีก นักบุญเอากุสตีโนบอกว่า หาก ความชอบธรรมเป็นคุณธรรมที่มอบสิ่งที่เป็นของเขาให้แก่มนุษย์แต่ละคน... แล้วความชอบธรรมของมนุษย์ไปอยู่ที่ไหน เมื่อเขาทอดทิ้งพระเจ้าผู้ทรงเป็นความจริงถ่องแท้เล่า? De civitate Dei, XIX, 21) มาระโกผู้นิพนธ์พระวรสาร รายงานคำพูดของพระเยซูที่สอดแทรกอยู่ในการโต้วาทีในตอนนั้นเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าอะไรบริสุทธิ์อะไรไม่บริสุทธิ์ ท่านรายงานดังนี้ว่า ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้ แต่สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั่นแหละทำให้เขามีมลทิน ...จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย (มก 7, 14-15, 20-21) นอกจากปัญหาเรื่องอาหาร เราอาจสังเกตได้จากปฏิกิริยาของพวกฟาริสีที่ชี้ให้เห็นถึงการประจญตลอดกาลภายในตัวมนุษย์ นั่นคือการสรุปว่าต้นตอของความชั่วเกิดจากปัจจัยภายนอก หากจะว่ากันไปแล้วอุดมการณ์ส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้มักยึดถือเอาทฤษฎีนี้เป็นหลัก เพราะความไม่ชอบธรรมเกิดจาก ปัจจัยภายนอก ดังนั้นเพื่อจะให้ความชอบธรรมกลับคืนมา เป็นการเพียงพอที่จะขจัดปัจจัยภายนอกออกไป เพราะมันเป็นต้นเหตุของความไม่ชอบธรรม พระเยซูเตือนว่า ความคิดแบบนี้ไม่ฉลาดและมองแบบคนสายตาสั้น ความไม่ชอบธรรมอันเป็นผลของความชั่วนั้นไม่ได้มีรากเหง้ามาจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว ต้นตอของมันอยู่ที่ใจมนุษย์ ซึ่งหัวใจมนุษย์นี้มีเชื้อประหลาดที่ให้ความร่วมมือกับความชั่ว ผู้แต่งบทเพลงสดุดีตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วยความขมขื่น ใช่แล้ว ข้าพเจ้ามีความผิดตั้งแต่เกิด เป็นคนบาปตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ (สดด 51, 5) อันที่จริงแล้ว มนุษย์ถูกทำให้เป็นคนอ่อนแอจากอิทธิพลมหาศาล ซึ่งทำลายความสามารถของเขาในการเข้าไปสู่สายสัมพันธ์กับผู้อื่น มนุษย์โดยธรรมชาติมักเปิดใจกว้างที่จะแบ่งปันกับผู้อื่นได้อย่างเสรีอยู่แล้ว แต่มนุษย์กลับพบในตัวเองว่ามีพลังประหลาดที่เป็นตัวถ่วงโน้มนำทำให้เขาหยุดชะงักเหมือนเต่าหดหัวเข้ากระดอง แล้วคิดว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่นและตั้งตัวเป็นอริกับคนภายนอกทุกคน นี่คือการเห็นแก่ตัว อันเป็นผลของบาปกำเนิด อาดัมและเอวาเมื่อถูกล่อลวงด้วยการโกหกคำโตจากซาตาน ฉกเอาผลไม้ลึกลับมารับประทานขัดคำสั่งของพระเจ้า เขาเปลี่ยนความคิดจากความไว้วางใจในพระเจ้ามาเป็นความสงสัยและการชิงดีชิงเด่นอยากเป็นใหญ่ เปลี่ยนจากความคิดแห่งการยอมรับและความวางใจในพระเจ้ามาเป็นการทำตามอำเภอใจตนเอง (เทียบ ปฐก 3, 1-6)
ผลที่ตามมาคือ เขาเกิดรู้สึกไม่สงบและความไม่แน่ใจขึ้นมาทันที มนุษย์เราจะเป็นอิสระจากอิทธิพลที่เห็นแก่ตัวและเปิดใจสู่ความรักได้อย่างไร? ณ ศูนย์กลางแห่งปรีชาญาณของชนชาติอิสราเอล เราจะพบได้กับความสัมพันธ์ที่ล้ำลึกระหว่างความเชื่อในพระเจ้า ผู้ทรง เชิดชูผู้ยากไร้จากกองเถ้าถ่าน (สดด 113, 7) กับความชอบธรรมต่อเพื่อนบ้าน ศัพท์ภาษาฮีบรูที่แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์กุศลแห่งความชอบธรรมคือ ความเที่ยงตรง ซึ่งบ่งบอกถึงความหมายนี้ได้เป็นอย่างดี อันที่จริงแล้ว ในมุมมองหนึ่ง ความเที่ยงตรง หมายถึงการน้อมรับน้ำพระทัยพระเจ้าด้วยความเต็มใจ ส่วนอีกมุมมองหนึ่งนั้นหมายถึง ความเท่าเทียมกันในความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน (เทียบ อพย 20, 12-17) โดยเฉพาะกับคนยากจน คนแปลกหน้า เด็กกำพร้า และหญิงหม้าย (เทียบ ฉธบ 10, 18-19) แต่สองความหมายนี้ต่างเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพราะการมอบสิ่งของให้กับคนยากจนสำหรับชนชาติอิสราเอลแล้วมิใช่ใดอื่นนอกจากเป็นการคืนสิ่งที่เป็นของพระเจ้าให้กับพระเจ้า ผู้ทรงเมตตาสงสารประชากรของพระองค์ มันไม่ใช่เป็นเหตุบังเอิญที่แผ่นศิลาจารึกพระธรรมบัญญัติซึ่งถูกนำมามอบให้กับโมเสสบนภูเขาซีนายนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ชนชาติอิสราเอลข้ามทะเลแดงไปแล้ว การสดับฟังพระธรรมบัญญัติหมายถึงการมีความเชื่อในพระเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้ รับฟังเสียงเรียกร้องแห่งประชากร ของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์ก็ ทรงเสด็จมาเพื่อช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของชาวอียิปต์ (เทียบ อพย 3, 8) พระเจ้าทรงเอาใจใส่และคอยฟังเสียงร้องของคนยากจน
และในขณะเดียวกันก็ทรงขอร้องให้รับฟังพระองค์ด้วย
พระองค์ทรงเรียกร้องความชอบธรรมให้กับคนจน (เทียบ บสร 4, 4-5, 8-9) คนแปลกหน้า (เทียบ อพย 22, 20) และทาส ( ฉธบ 15, 12-18) เพื่อที่จะเข้าสู่ความชอบธรรม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงภาพลวงตาและความพึงพอใจในตัวเองทั้งสิ้น รวมถึงการปิดตัวเองอย่างแน่นหนา ซึ่งเป็นต้นตอแห่งความไม่ชอบธรรม พูดอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งที่ต้องการมากกว่านั้นได้แก่การทำใจให้เป็นอิสระ ซึ่งกฎระเบียบในตัวมันเองไร้อำนาจที่จะทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้ แล้วมนุษย์เรามีความหวังอะไรบ้างไหมที่จะมีความชอบธรรม?
ความเที่ยงธรรมที่พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น
ซึ่งพระองค์ประทานให้ทุกคนที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ไม่มีความแตกต่างใดๆอีก ทุกคนกระทำบาปและขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า แล้วทุกคนก็ได้รับความชอบธรรมเป็นของประทานโดยทางพระหรรษทาน อาศัยการไถ่กู้เราให้เป็นอิสระในพระคริสตเยซู พระเจ้าทรงสถาปนาพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปโดยอาศัยความเชื่อและโดยอาศัยการหลั่งโลหิต เพื่อจะได้สำแดงความเที่ยงธรรมของพระองค์โดยอดกลั้นไม่ลงโทษบาปในอดีต (รม 3, 21-25) เหนือสิ่งใดสิ้นมันคือความชอบธรรมที่มาจากพระหรรษทาน ซึ่งไม่ใช่มนุษย์ที่ทำการเปลี่ยนแปลง รักษาตนเองหรือรักษาผู้อื่น ความจริงที่ว่า การชดเชยบาป เกิดจาก พระโลหิต ของพระคริสตเจ้า หมายถึงการบูชาที่ทำให้หลุดพ้นจากน้ำหนักแห่งความผิดของเขา แต่การกระทำด้วยความรักของพระเจ้า ผู้ทรงเปิดพระองค์ออกกว้างจนถึงที่สุด แม้กระทั่งยอมให้พระองค์เองถูก สาปแช่ง จากมนุษย์ เพื่อที่จะประทาน พระพร ซึ่งเป็นของพระเจ้าเท่านั้นให้กับเรา (เทียบ กท 3, 13-14) แต่นี่จุดประกายข้อขัดแย้งขึ้นมาทันที นี่มันเป็นความชอบธรรม แบบไหนกัน ที่ผู้ชอบธรรมสละชีวิตเพื่อคนผิด แล้วคนผิดกลับได้รับพระพร ซึ่งควรเป็นพระพรสำหรับผู้ชอบธรรม? นี่ไม่ได้หมายความหรือว่า แต่ละคนได้รับสิ่งที่เป็นของตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็นของตน? ความจริงแล้ว นี่แหละที่เราพบกับความชอบธรรมของพระเจ้า ซึ่งแตกต่างกันอย่างลึกลับจากพวกเราชาวพารา พระเจ้าได้ทรงจ่ายแทนเราโดยทางพระบุตรของพระองค์ ซึ่งเป็นราคาที่มากมายใหญ่โตสุดที่จะคำนวณได้ ต่อหน้าความชอบธรรมแห่งไม้กางเขน มนุษย์อาจยังมีการขบถไม่ซื่อกับพระองค์ ประเด็นนี้ส่อให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ใช่เป็นผู้ที่พึงพอใจในตัวเอง แต่ต้องการผู้ยิ่งใหญ่อื่น เพื่อจะได้ตระหนักถึงตัวเองได้อย่างเต็มเปี่ยม การกลับใจหันหน้าเข้าหาพระคริสตเจ้า การเชื่อในพระวรสาร ในที่สุดแล้วหมายความว่า เราต้องออกไปจากภาพลวงของการพึงพอใจในตัวเอง เพื่อจะได้สามารถพบและยอมรับความต้องการของตน นั่นคือ ความต้องการผู้อื่น ความต้องการพระเจ้า ความต้องการการให้อภัยของพระองค์ และความต้องการมิตรภาพของพระองค์ ดังนั้น เราจึงเข้าใจว่าความเชื่อนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากความจริงตามธรรมชาติ และความรู้สึกที่ดีจำเป็นต้องมีความสุภาพ เพื่อที่จะยอมรับว่า ข้าพเจ้าต้องการผู้อื่นที่ยิ่งใหญ่ในการปลดปล่อยข้าพเจ้าให้เป็นไทจาก สิ่งที่เป็นของข้าพเจ้า เพื่อพระองค์จะได้ให้เปล่า สิ่งที่เป็นของพระองค์ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท ต้องขอบคุณการกระทำของพระคริสตเจ้า ที่ทำให้เราสามารถก้าวเข้าสู่ความชอบธรรมที่ ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ความรักนั่นเอง (เทียบ รม 13, 8-10) ความชอบธรรมที่ตระหนักตนเองดีในทุกกรณี ที่สำนึกว่าตนเป็นลูกหนี้มากกว่าเป็นเจ้าหนี้ เพราะว่าตนเองได้รับมากกว่าที่ตนเองจะคาดหวังเป็นไหนๆ เมื่อได้รับพลังจากประสบการณ์นี้แล้ว คริสตชนจำต้องเคลื่อนตัวเองให้กลายเป็นผู้มีส่วนในการผลักดันให้เกิดสังคมที่มีความชอบธรรม ณ ที่ซึ่งทุกคนจะได้รับสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะดำรงชีวิตตามศักดิ์ศรีที่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ และความชอบธรรมดังกล่าวได้รับการจรรโลงจากความรัก พี่น้องที่รักทั้งหลาย เทศกาลมหาพรตมีจุดสุดยอดที่ตรีวารปัสกา ซึ่งปีนี้เราจะทำการเฉลิมฉลองความชอบธรรมของพระเจ้ากันเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นความบริบูรณ์แห่งความรักเมตตา
ของกำนัล และความรอด ขอให้เทศกาลที่เราทำการใช้โทษบาปนี้ เป็นเวลาสำหรับคริสตชนทุกคนที่จะกลับใจอย่างแท้จริงและตระหนักอย่างดีถึงรหัสธรรมของพระคริสตเจ้าผู้เสด็จมาเพื่อทำให้ความชอบธรรมทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไป พร้อมกันนี้ เราขอส่งความปรารถนาดีและการอวยพรมายังพี่น้องทุกท่าน
จากรัฐวาติกัน 30 ตุลาคม 2009
| ||||||||
ขอขอบคุณคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม | ||||||||
![]() | ||||||||