สารวันสิทธิมนุษยชน

บทภาวนาเพื่อมวลชนวันสิทธิมนุยชน

Share |

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

“กระแสเรียกแห่ง ความรัก ความจริง ความยุติธรรม”

พี่น้องคริสตชนที่รักทุกท่าน

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน โอกาส สมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล  ศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยยังประกาศเป็น วันกระแสเรียก และ วันสิทธิมนุษยชน คำว่า “กระแสเรียก” ทำให้เรานึกไปถึงการที่เยาวชนชาย หญิงตอบรับเสียงเรียกของพระเป็นเจ้าเข้าสู่สถาบันฝึกอบรมการเป็นพระสงฆ์ นักบวช เพื่อสานต่อพันธกิจแห่งรักและรับใช้เพื่อนมนุษย์ แต่ต้องไม่ลืมว่าชีวิตคริสตชนก็คือการตอบสนองต่อเสียงเรียกของพระเป็นเจ้าเช่นกัน ให้มาเป็นลูกของพระบิดา ได้รู้จัก รัก มีความเชื่อในพระเยซูเจ้า และนำคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

จากสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย  การชุมนุมทางการเมืองในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมปีนี้ นำไปสู่การต่อสู้ทางความคิด การเลือกข้าง จนกลายเป็นความขัดแย้ง  ใช้ความรุนแรง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่สูญเสียบุคคลที่รักไป  เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคม จากมุมมองหรือจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นประเด็นท้าทายกระแสเรียกความเป็นคริสตชนของเรา

ในช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูสังคมปัจจุบันเช่นนี้ เราคริสตชนจำเป็นต้องไตร่ตรองว่า คุณธรรมแห่ง ความรัก  ความจริง  ความยุติธรรม ซึ่งเป็นกระแสเรียกของคริสตชน เราได้ยึดถือและปฏิบัติในคุณธรรมที่สำคัญเหล่านี้หรือไม่ เราจะปฏิบัติคุณธรรมแห่ง ความรัก  ต่อกันได้อย่างไร  ความรักควรเริ่มต้นด้วย การเคารพต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน, เคารพต่อสิทธิในการมีชีวิต, เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่มองอีกฝ่ายว่าเป็นศัตรู เพราะแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ใช่ศัตรู ศัตรูของเราคือ ความโกรธ เกลียด เคียดแค้น สิ่งที่จะช่วยสร้างให้เกิดความรักได้ก็ต่อเมื่อต่างฝ่ายต่างมีความไว้วางใจที่จะเปิดใจรับฟังกันอย่างแท้จริง โดยละอคติ ไม่ตัดสินไว้ก่อน และฟังเพื่อที่จะเข้าใจความรู้สึก ความต้องการของอีกฝ่าย แม้ไม่เห็นด้วยก็ตาม

สำหรับ ความจริง ซึ่งเป็นคุณธรรมประการที่สอง เราไม่ควรมองความจริงของตัวบุคคลหรือของคู่ขัดแย้งเป็นขาวและดำ และไม่มองปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ต้องมองให้ลึกถึงรากเหง้าของโครงสร้างปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรม และต้องร่วมกันทำความจริงให้ปรากฏว่าเกิดขึ้นจากอะไร จากใคร รวมทั้งต้องใช้ขันติธรรม และวุฒิภาวะในการยอมรับความจริง ทั้งนี้ด้วยความจริงเท่านั้นที่จะช่วยเยียวยาจิตใจผู้เจ็บปวดได้ คุณธรรมประการที่สามคือ ความยุติธรรม เราต้องช่วยกันแก้ไขหรือลดปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่การเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ คอร์รัปชั่นในทางการเมือง ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ต้องปรับทัศนคติที่มีต่อความยุติธรรมให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักเพื่อนพี่น้อง มิใช่ความรักต่อตนเอง (ผลประโยชน์) เป็นสำคัญ
 

ในสมณสาสน์ “พระเจ้าคือความรัก” (Deus Caritas Est) ของ พระสันตะปาปาเบเน-ดิกต์ ที่๑๖ ได้ยืนยันบทบาทของพระศาสนจักรต่อการส่งเสริมความยุติธรรมไว้ว่า พระศาสนจักรต้องไม่ยืนดูอยู่ข้างทางของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม แต่พระศาสนจักรต้องมีหน้าที่ชำระเหตุผลของความยุติธรรมทางการเมืองให้สะอาด เป็นความยุติธรรมที่ต้องอยู่บนหลักจริยธรรมและเมตตาธรรม นับเป็นโอกาสดีในวันสิทธิมนุษยชนฯ ที่คริสตชนในฐานะ “ผู้ถูกเรียก” จะสำรวจจิตใจของเราว่า ยังคงเป็นพระวิหารของพระเป็นเจ้าที่พระเยซูเจ้าองค์สันติราชาได้ทรงไถ่กู้ด้วยความทุกข์ทรมานบนไม้กางเขนซึ่งเป็นบัลลังก์ของพระองค์อยู่หรือไม่  ถ้าเป็นเช่นนั้นขอให้เราเผยแผ่พลังแห่งความรัก ความเมตตา กรุณา ความปรารถนาดีต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์ ให้พลังนี้แพร่ไปรอบๆ ตัวเรา แต่ถ้าจิตใจของเรายังมีความโกรธ เกลียด หรือหลงติดอยู่กับความคิด ความเชื่อของตนว่าถูกต้อง

พร้อมโต้เถียงหรือตัดสินว่าคนที่คิดเห็นต่างกับเราไม่ใช่เพื่อนพี่น้องอีกต่อไป ก็ขอให้เรามีเวลาอยู่เงียบๆ ต่อหน้าพระเป็นเจ้า ฟังเสียงจากภายในเพื่อทบทวนความรู้สึกหรือการกระทำเช่นนั้นว่า ก่อให้เกิดสันติสุขกับตัวเราหรือไม่
บทเทศน์บนภูเขาของพระเยซูเจ้าเรื่องความสุขที่แท้จริง (มธ ๕ : ๑-๑๐) และบทสอนของนักบุญเปาโล ให้หลักปฏิบัติทั้งการดำเนินชีวิตด้วยกระแสเรียก และด้วยการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน “อย่าตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว จงพยายามทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน จงอยู่อย่างสันติกับทุกคน อย่าแก้แค้นเลย แต่จงให้พระเจ้าทรงตัดสินลงโทษเถิด... อย่าให้ความชั่วชนะท่าน แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี” (รม ๑๒ : ๑๗-๑๙,๒๑)

ขอเชิญชวนคริสตชนช่วยกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว ด้วยการรับฟัง เข้าใจความต้องการของสมาชิกทุกๆ คน ปฏิบัติคุณธรรม ความรัก ความจริง ความยุติธรรม กับเพื่อน ผู้ร่วมงาน และทุกๆ คนที่เราสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงคนที่เราไม่รู้จัก เพราะทุกคนต่างมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเรา เป็นลูกของพระบิดาเจ้า เป็นพี่น้องในพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกับเรา

ขอพระเยซูเจ้าทรงอำนวยพระพรมายังพี่น้องผู้สร้างสันติทุกท่าน

(พระสังฆราชฟิลิป บรรจง ไชยรา)
ประธานกรรมาธิการฝ่ายสังคม
แผนกความยุติธรรมและสันติ
สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย

ขอขอบคุณ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)