สารของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16
เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง วันสันติภาพสากล

 

1  มกราคม  2553

หากต้องการสร้างสันติภาพ จงปกป้องคุ้มครองสิ่งสร้าง (If you want to cultivate peace, protect creation.)

1.ในวาระเริ่มต้นปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าขอส่งพรแห่งสันติภาพด้วยความจริงใจมาสู่ชุมชนคริสตชน ผู้นำระหว่างประเทศ และผู้มีน้ำใจดีทั่วโลก สำหรับวันสันติภาพสากลครั้งที่ 43 นี้ ข้าพเจ้าได้เลือกหัวข้อ หากต้องการสร้างสันติภาพ จงปกป้องคุ้มครองสิ่งสร้าง การเคารพสิ่งสร้างมีผลอย่างใหญ่หลวง ไม่เพียงเพราะ “สิ่งสร้างคือการเริ่มต้นและพื้นฐานของกิจการของพระเจ้า”และในปัจจุบันการบำรุงรักษาสิ่งสร้างถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษยชาติ แต่การที่มนุษย์ปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไม่เป็นมนุษย์ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างมากมายต่อสันติภาพและต่อการพัฒนามนุษย์ที่แท้จริงและบูรณาการ ได้แก่ สงคราม ความขัดแย้งระหว่างประเทศและในภูมิภาค การก่อการร้าย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือภัยคุกคามที่เกิดจากการเพิกเฉยต่อโลกและสรรพสิ่งทางธรรมชาติที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่เรา หรือไม่ก็ใช้โลกและสรรพสิ่งทางธรรมชาติอย่างไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จำเป็นที่มนุษยชาติจะต้องฟื้นฟูและเสริมสร้างให้เกิด “พันธสัญญาระหว่างมนุษย์ด้วยกันและสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรสะท้อนความรักที่สร้างสรรค์ของพระเจ้า ด้วยเหตุที่เรามาจากพระองค์และกำลังเดินทางไปหาพระองค์”
 

2.ในสมณสาสน์ของข้าพเจ้าที่มีชื่อว่า ความรักในความจริง  (Caritas in Veritate) ข้าพเจ้ากล่าวว่า การพัฒนามนุษย์แบบบูรณาการ เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพันธกรณีที่หลั่งไหลมาจาก ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ต้องถือว่าสิ่งแวดล้อมเป็นพระพรของพระเจ้าที่ประทานให้แก่มนุษย์ทุกคน ซึ่งเราต้องใช้อย่างรับผิดชอบต่อมนุษยชาติทั้งมวล โดยเฉพาะต่อคนยากจนและชนรุ่นต่อไปในอนาคต ข้าพเจ้ายังสังเกตได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ธรรมชาติโดยเฉพาะมนุษย์นั้น ถูกมองเป็นเพียงผลผลิตจากโอกาสหรือจากวิวัฒนาการ ความรู้สึกรับผิดชอบของเราโดยรวมจะลดลงด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง การมองว่าสิ่งสร้างเป็นพระพรของพระเจ้าที่ทรงประทานให้แก่มนุษยชาติ ช่วยให้เราเข้าใจกระแสเรียกของเราและการที่เราเหมาะสมกับฐานะความเป็นมนุษย์ ทำให้เราสามารถขับเพลงออกมาด้วยความอัศจรรย์ใจ เช่นบทเพลงสดุดีที่ว่า “เมื่อข้าพเจ้าแหงนมองท้องฟ้า ซึ่งนิ้วพระหัตถ์บรรจงสร้างไว้ มองดูเดือนดูดาวที่พระองค์ทรงประดับไว้อย่างมั่นคง มนุษย์เป็นใคร พระองค์จึงทรงระลึกถึงเขา บุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร พระองค์จึงต้องทรงเอาพระทัยใส่?” (สดด 8:3-4) การเฝ้ามองความงดงามของสิ่งสร้างดลใจให้เราสำนึกถึงความรักของพระผู้สร้าง พระเจ้าผู้เป็นองค์ความรักที่ทรง “เคลื่อนย้ายดวงอาทิตย์และดวงดาว”

3.เมื่อยี่สิบปีก่อน พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้เลือกหัวข้อ สันติภาพกับพระเจ้าพระผู้สร้าง สันติสุขกับสิ่งสร้างทั้งมวล (Peace with God the Creator, Peace with all of creation.) สำหรับสารวันสันติภาพสากล พระองค์ย้ำถึงความสัมพันธ์ของเราในฐานะสิ่งสร้างของพระเจ้าที่มีต่อจักรวาลรอบตัวเรา พระองค์กล่าวไว้ในสารว่า “ยุคสมัยของเรานี้ มีความสำนึกเพิ่มมากขึ้นว่าสันติภาพของโลกถูกคุกคาม ... และโดยการขาด ความเคารพที่เหมาะสมต่อธรรมชาติ” พระองค์ยังกล่าวอีกว่า “ความสำนึกต่อระบบนิเวศน์นั้น แทนที่จะถูกมองข้าม กลับจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือให้พัฒนาเจริญก้าวหน้า และมีการแสดงออกที่เหมาะสมในแผนงานและการริเริ่มที่เป็นรูปธรรม”

พระสันตะปาปาหลายพระองค์ก่อนหน้านี้ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมตัวอย่างเช่นในปี 1971 ในโอกาสครบรอบปีที่แปดสิบของสมณสาสน์ ว่าด้วยสิ่งใหม่ๆ (Rerum Novarum) ของพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 พระสันตะปาปาปอล ที่ 6 ได้ชี้ว่า “การเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติอย่างไม่รู้จักยั้งคิด เสี่ยงต่อการทำลายล้างธรรมชาติ และมนุษย์เองกลับตกเป็นเหยื่อของการทำลายล้างนั้นเอง” พระองค์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ไม่เพียงแต่สิ่งแวดล้อมทางวัตถุเท่านั้นที่ตกอยู่ในอันตราย เช่น มลภาวะและขยะ โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ และความสามารถในการทำลายอย่างเด็ดขาด แม้แต่สิ่งจำเป็นในชีวิตของมนุษย์เองก็มิได้อยู่ใต้การควบคุมของมนุษย์อีกต่อไป ดังนั้นจึงก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมในอนาคตที่มนุษย์อาจทนต่อไปไม่ได้ นี่เป็นปัญหาสังคมในวงกว้างที่เกี่ยวโยงกับครอบครัวมนุษยชาติทั้งมวล”

4.แม้ว่าจะมิได้ก้าวล่วงเข้ามานำเสนอการแก้ปัญหาทางเทคนิคเป็นการเฉพาะ แต่พระศาสนจักรยังคงมีความห่วงใยในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมนุษย์” ที่จะเรียกร้องให้เราสนใจต่อความสัมพันธ์ระหว่าง พระผู้สร้าง มนุษย์ และระเบียบที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ในปี 1990 พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้กล่าวถึง “วิกฤติของระบบนิเวศน์” ด้วยการเน้นถึงคุณลักษณะทางจริยธรรมเป็นประการสำคัญ พระองค์ชี้ให้เห็น “ความจำเป็นเร่งด่วนทางด้านศีลธรรมที่จะต้องมี ความเป็นปึกแผนหนึ่งเดียวกันแบบใหม่ (a new solidarity)”  ข้อเรียกร้องของพระองค์มีความเร่งด่วนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เมื่อมีสัญญาณของวิกฤติที่เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะถือได้ว่าขาดความรับผิดชอบหากเราไม่มีการใส่ใจอย่างจริงจัง เรายังคงเพิกเฉยต่อหน้าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นจริงต่างๆ ได้หรือ เช่น

การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ การขยายตัวของทะเลทราย การเสื่อมโทรมและการสูญเสียประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่การเกษตรที่กว้างใหญ่ไพศาล มลภาวะในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่มีมากขึ้น และการทำลายป่าเขตเส้นศูนย์สูตรและเขตร้อน เราจะไม่ใส่ใจต่อปรากฏการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นได้หรือ เช่น “ผู้ลี้ภัยทางสิ่งแวดล้อม” (environmental refugees) คือประชาชนที่ถูกผลักดันจากความเสื่อมโทรมให้ต้องทิ้งแหล่งที่อยู่อาศัยของตน ซึ่งมักจะรวมไปถึงทรัพย์สินของตนด้วย โดยต้องเผชิญกับอันตรายและความไม่แน่นอนอันเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่เต็มใจ เรายังจะเมินเฉยต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นได้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้หรือ ? สิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการปฏิบัติสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิที่จะมีชีวิต มีอาหารเพียงพอ มีสุขภาพอนามัยที่ดี และได้รับการพัฒนา

5.เห็นได้ชัดว่า วิกฤติด้านระบบนิเวศน์ไม่อาจถูกมองแยกจากคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาและความเข้าใจของมนุษย์ต่อความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อผู้อื่นและสิ่งสร้างทั้งมวล ความสุขุมจะต้องชี้นำ การทบทวนรูปแบบการพัฒนาของเราอย่างลึกซึ้งในระยะยาว ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความหมายและเป้าหมายของเศรษฐศาสตร์ ด้วยสายตาที่จะแก้ไขหน้าที่และการประยุกต์ใช้ที่ผิดพลาด สุขภาพของระบบนิเวศน์ของโลกเรียกร้องเรื่องนี้ และวิกฤติทางวัฒนธรรมและศีลธรรมของมนุษยชาติยังเรียกร้องด้วยเช่นกัน ซึ่งปรากฏการณ์ของวิกฤติดังกล่าวเห็นได้ชัดในทุกส่วนของโลกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว 

มนุษยชาติจำเป็นต้องมี การฟื้นฟูวัฒนธรรมใหม่อย่างลึกซึ้ง มนุษยชาติต้องการ ค้นหาคุณค่าต่างๆที่สามารถเป็นพื้นฐานที่มั่นคง สำหรับการสร้างอนาคตที่สดใสเพื่อทุกคน วิกฤติของเราในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องที่เกี่ยวกับอาหาร สิ่งแวดล้อมหรือสังคม ต่างก็เป็นวิกฤติทางศีลธรรมด้วยกันทั้งหมด และต่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน วิกฤติต่างๆ เหล่านี้เรียกร้องให้เราคิดหาหนทางใหม่ที่เราจะร่วมเดินทางด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤติเหล่านี้เรียกร้องการดำเนินชีวิตที่สุขุมและเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน โดยมีกฎและรูปแบบข้อตกลงใหม่ ซึ่งเน้นยุทธศาสตร์ที่ทำได้จริงอย่างมั่นใจและกล้าหาญ ในขณะเดียวกับที่ปฏิเสธอย่างเด็ดเดี่ยวต่อยุทธศาสตร์ที่ล้มเหลว ด้วยวิธีการนี้เท่านั้นที่วิกฤติในปัจจุบันจะเป็น โอกาสแห่งการพิจารณาแยกแยะและการวางแผนยุทธศาสตร์ใหม่

6.ที่เราเรียก “ธรรมชาติ” ซึ่งครอบคลุมสากลจักรวาลว่ามีจุดเริ่มต้นใน “แผนการแห่งความรักและความจริง” ไม่เป็นความจริงกระนั้นหรือ? โลก “มิใช่ผลิตผลจากความจำเป็นอันใด หรือจากชะตากรรมไร้เหตุผล หรือจากความบังเอิญแต่อย่างใด... โลกเกิดจากน้ำพระทัยอันอิสระของพระเจ้า พระองค์ทรงปรารถนาที่จะทำให้สิ่งสร้างได้มีส่วนร่วมในการดำรงอยู่ ในพระปรีชาญาณและในความมีพระทัยดีของพระองค์”  ในหน้าแรก ๆ ของ หนังสือปฐมกาล กล่าวถึงแผนการแห่งสากลจักรวาลอันชาญฉลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากความคิดของพระเจ้า และถึงผลสำเร็จในตัวมนุษย์ทั้งชายและหญิง ผู้ได้รับการสร้างมาตามพระฉายาและความละม้ายเหมือนของพระผู้สร้างเพื่อ “กระจายไปเต็มทั้งแผ่นดิน” และ “เป็นนายปกครอง” เหนือโลกในฐานะ “ผู้ดูแล” ของพระเจ้าเอง (เทียบ ปฐก 1:28)

การประสานกลมกลืนกันระหว่างพระผู้สร้าง มนุษยชาติ และโลกที่ถูกสร้างขึ้นมา ดังที่ได้อธิบายไว้ในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นมาเพราะบาปของอาดัมและเอวา ก็คือมนุษย์ทั้งชายและหญิงซึ่งต้องการเข้ามาแทนที่พระเจ้า และปฏิเสธที่จะยอมรับว่าตนเองเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า  ด้วยเหตุนี้ งาน “การเป็นนายปกครอง” เหนือโลก “ไถหว่านและดูแล” จึงถูกรบกวนด้วย และเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในและระหว่างมนุษยชาติด้วยกันและกับสิ่งสร้างทั้งมวล (เทียบ ปฐก 3:17-19) มนุษย์ปล่อยตัวเป็นทาสของความเห็นแก่ตัว

พวกเขาเข้าใจความหมายของคำสั่งของพระเจ้าอย่างผิดๆ และแสวงหาประโยชน์จากสิ่งสร้างด้วยความปรารถนาที่จะเป็นนายเหนือสิ่งสร้างอย่างเด็ดขาด แต่ความหมายที่แท้จริงของคำสั่งของพระเจ้าตามที่มีการอธิบายไว้อย่างชัดเจนใน หนังสือปฐมกาล  มิใช่เป็นแค่การมอบหมายอำนาจ แต่เป็นการมอบหมายความรับผิดชอบ ปรีชาญาณของผู้คนในบรรพกาลได้สำนึกว่าธรรมชาติมิได้มีไว้ให้เราใช้เหมือนกับ “กองขยะที่กระจัดกระจาย”

การเผยแสดงของพระคัมภีร์ช่วยให้เราเห็นว่าธรรมชาติเป็นพระพรจากพระผู้สร้าง ผู้ทรงกำหนดระเบียบขึ้นภายในซึ่งช่วยให้มนุษย์สามารถค้นหาหลักการที่จำเป็นเพื่อ “ไถหว่านและดูแล” (เทียบ ปฐก 2:15)  ทุกสิ่งที่ดำรงอยู่เป็นของพระเจ้า ผู้ทรงมอบหมายให้แก่มนุษย์มิใช่เพื่อให้ใช้อย่างไร้เหตุผล แทนที่จะทำหน้าที่ดั่งผู้ร่วมงานของพระเจ้า มนุษย์กลับตั้งตนแทนที่พระเจ้า และในท้ายที่สุดได้กระตุ้นให้ธรรมชาติเกิดการทรยศขึ้น “ซึ่งเป็นการข่มเหงมากกว่าการปกครองโดยมนุษย์" ดังนั้น มนุษย์จึงมีหน้าที่ในการดูแลสิ่งสร้างด้วยความรับผิดชอบเพื่อบำรุงรักษาและทำให้เกิดผลผลิตอย่างอุดม

7.น่าเศร้าใจที่เห็นได้ชัดเจนว่า คนจำนวนมากในประเทศและพื้นที่ต่างๆในโลกของเรานี้ กำลังประสบความยากลำบากมากขึ้น เพราะคนอีกจำนวนมากเพิกเฉยหรือปฏิเสธที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบ สังคายนาวาติกันที่ 2 ได้เตือนเราว่า “พระเจ้าทรงประทานโลกและทุกสิ่งที่อยู่ในโลกให้แก่ประชาชาติทั้งมวลและทุกประเทศ”  สรรพสิ่งในสิ่งสร้างเป็นของมนุษยชาติทั้งมวล กระนั้นก็ดีระดับการหาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน กำลังก่ออันตรายอย่างรุนแรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่เพียงเฉพาะสำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นต่อชนรุ่นใหม่ในอนาคตอันใกล้ด้วย  ไม่ยากเลยที่จะพบเห็นความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

ที่มักเกิดจากการขาดการมองการณ์ไกลของนโยบายทางการ หรือการมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งได้กลายเป็นภัยคุกคามน่าสลดใจต่อสิ่งสร้างอย่างรุนแรง  เพื่อแก้ปัญหาปรากฏการณ์นี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การตัดสินใจใด ๆ ทางเศรษฐกิจนั้น มีผลทางด้านศีลธรรมด้วย”   ดังนั้น จึงต้องมีการเคารพต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เราควรมีความห่วงใยต่อการคุ้มครองและคำนึงถึงค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและสังคม

โดยถือเป็นส่วนสำคัญของค่าใช้จ่ายโดยรวมที่จะเกิดขึ้น ประชาคมระหว่างประเทศและบรรดารัฐบาลของประเทศต่างๆ มีความรับผิดชอบต่อการส่งสัญญาณที่ถูกต้องเพื่อคัดค้านอย่างเข้มแข็งต่อการใช้สิ่งแวดล้อมอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสภาวะอากาศ และมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนทั้งในแง่มุมของกฎหมายและเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกับผู้ที่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ยากจนในโลกและชนรุ่นต่อไปในอนาคต

8.ความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นระหว่างชนรุ่นต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ชนรุ่นใหม่ในอนาคตไม่อาจแบกรับความเสียหายอันเกิดจากการที่เราใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นของส่วนรวมได้ “เราได้รับมรดกจากชนรุ่นก่อน และเราได้รับประโยชน์จากการทำงานของชนร่วมสมัยของเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีพันธกรณีต่อทุกคน และเราไม่สามารถปฏิเสธที่จะให้ความสนใจต่อชนรุ่นใหม่ที่กำลังตามหลังเรามา เพื่อให้ครอบครัวมนุษยชาติขยายตัวมากขึ้น ความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันระดับสากลเป็นทั้งประโยชน์และหน้าที่ นี่คือความรับผิดชอบที่ชนรุ่นปัจจุบันมีต่อชนรุ่นใหม่ที่กำลังตามมา เป็นความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับรัฐต่างๆ แต่ละรัฐและประชาคมระหว่างประเทศด้วย”

ทรัพยากรธรรมชาติควรถูกใช้ไปในลักษณะที่ ประโยชน์ในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งสร้างที่มีชีวิต ทั้งที่เป็นมนุษย์และมิใช่ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยที่การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินส่วนตัวจะไม่ขัดแย้งกับจุดหมายปลายทางที่เป็นสากลของสรรพสิ่ง โดยที่กิจกรรมของมนุษย์จะไม่แลกความอุดมสมบูรณ์ของโลกกับประโยชน์ของประชาชนในปัจจุบันและอนาคต นอกจากความเป็นปึกแผนหนึ่งเดียวกันระหว่างชนรุ่นต่างๆ แล้ว ยังมีความจำเป็นเร่งด่วนทางศีลธรรมที่จะต้องมีการฟื้นฟู ความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันภายในชนรุ่นเดียวกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ “ประชาคมระหว่างประเทศมีหน้าที่เร่งด่วนที่จะหาวิธีการที่ตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ ในการควบคุมการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรที่ไม่อาจหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยให้ประเทศยากจนเข้ามาอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย เพื่อวางแผนร่วมกันสำหรับอนาคต”

วิกฤติของระบบนิเวศน์แสดงให้เห็นความเร่งด่วนที่จะต้องมีความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวที่ก้าวพ้นเวลาและสถานที่  เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนักว่า ในบรรดาสาเหตุของวิกฤติของระบบนิเวศน์ในปัจจุบันนี้ คือความรับผิดชอบของบรรดาประเทศอุตสาหกรรมที่ได้ทำมาในอดีต กระนั้นก็ดี ประเทศที่มีการพัฒนาน้อยกว่า โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของตนต่อสิ่งสร้างได้ เพราะหน้าที่อย่างค่อยเป็นค่อยไปในการกำหนดมาตรการและนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพเป็นภารกิจของทุกคน การกระทำดังกล่าวจะเกิดผลสำเร็จได้ง่ายขึ้นหากประเทศอุตสาหกรรมจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนให้น้อยลง ในการช่วยเหลือและการแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา

9.ในบรรดาปัญหาพื้นฐานที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องใส่ใจคือ ทรัพยากรด้านพลังงานและการพัฒนายุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนร่วมกัน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการพลังงานของชนรุ่นปัจจุบันและในอนาคต หมายความว่าสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว ต้องเตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็บริโภคพลังงานให้น้อยลงและปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน ในเวลาเดียวกันมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการวิจัย การใช้พลังงานและรูปแบบของการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง และ “การกระจายทรัพยากรพลังงานไปทั่วโลก เพื่อให้ประเทศที่ขาดทรัพยากรเหล่านั้นได้มีโอกาสเข้าถึงด้วย”

วิกฤติของระบบนิเวศน์เปิดโอกาสทางประวัติศาสตร์ ให้พัฒนาแผนการดำเนินการร่วมกันที่มุ่งกำหนดรูปแบบการพัฒนาโลกไปในทางเคารพสิ่งสร้างมากขึ้นและเพื่อการพัฒนามนุษย์แบบบูรณาการ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากคุณค่าที่สอดคล้องกับความรักในความจริง ข้าพเจ้าสนับสนุนการยอมรับแบบอย่างการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของการยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง การส่งเสริมและการแบ่งปันความดีส่วนรวม ความรับผิดชอบ การมีจิตสำนึกถึงความจำเป็นของเราที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต และความสุขุมรอบคอบซึ่งเป็นคุณธรรมที่บอกเราว่า มีความจำเป็นอะไรบ้างที่จะต้องกระทำในวันนี้ โดยคำนึงถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้

10. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลกอย่างยั่งยืนและรอบด้าน  เรียกร้องให้มุ่งใช้สติปัญญาของมนุษย์ไปในการวิจัยทางเทคโนโลยีและวิทยาการ รวมไปถึงการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง “ความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันแบบใหม่” (the new solidarity) เป็นคำที่พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ใช้ใน สารวันสันติภาพสากล ปี 1990  และคำว่า “ความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันในระดับโลก” (the global solidarity) ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้ใช้ใน สารวันสันติภาพสากล ปี 2009 ของข้าพเจ้าเอง เป็นทัศนคติที่จำเป็นเพื่อให้ความพยายามของเราในการคุ้มครองสิ่งสร้าง โดยอาศัยการบริหารจัดการทรัพยากรของโลกเป็นไปด้วยการประสานงานระหว่างประเทศที่ดีขึ้นกว่าเดิม เฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เมื่อมีการเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนมากขึ้นระหว่างการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์แบบบูรณาการ ความเป็นจริงทั้งสองอย่างนี้ไม่อาจแยกจากกันได้

เนื่องจาก  “การพัฒนามนุษย์แต่ละคนแบบบูรณาการ จำเป็นจะต้องเกิดจากความพยายามร่วมกันเพื่อการพัฒนามนุษยชาติโดยองค์รวม” ในปัจจุบันมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และแนวทางนวัตกรรมจำนวนมากที่นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งแวดล้อมที่น่าพอใจและมีความสมดุล ตัวอย่างเช่นจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนการวิจัยวิธีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีศักยภาพสูง เช่นเดียวกันยังต้องให้ความสนใจต่อปัญหาน้ำในระดับโลกและระบบวัฏจักรน้ำของโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อทุกชีวิตในโลกเป็นลำดับแรก ความมั่นคงของน้ำอาจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะต้องมีการศึกษายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาชนบท

โดยมุ่งที่เกษตรกรรายย่อยและครอบครัวของพวกเขา รวมทั้งการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมในการบริหารจัดการป่าไม้ การขจัดขยะ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเชื่อมโยงระหว่างการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเอาชนะความยากจน เรายังจำเป็นต้องมีนโยบายระดับประเทศที่สำคัญยิ่ง พร้อมกับพันธะหน้าที่ระหว่างประเทศที่จำเป็นซึ่งจะก่อประโยชน์ที่สำคัญโดยเฉพาะในระยะกลางและระยะยาว ด้วยเหตุนี้จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการที่อยู่เหนือทัศนคติแบบบริโภคนิยมเพียงอย่างเดียว เพื่อส่งเสริมรูปแบบการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ยังคงเคารพสิ่งสร้าง และตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ปัญหาของระบบนิเวศน์จะต้องได้รับการจัดการ ไม่เพียงเพราะภาพปรากฏของสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในระดับรุนแรงเท่านั้น แต่จะต้องเกิดจากแรงจูงใจที่แท้จริงเพื่อสร้างสรรค์ความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันในระดับโลกอย่างน่าเชื่อถือ

โดยได้รับแรงบันดาลใจจากคุณธรรมความรัก ความยุติธรรม และความดีส่วนรวม  ดังเช่นที่ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไว้ว่า “เทคโนโลยีมิใช่เป็นเพียงแค่เทคโนโลยี แต่เป็นสิ่งที่เปิดเผยตัวมนุษย์และแรงบันดาลใจของเขาที่มุ่งไปสู่การพัฒนา เทคโนโลยีแสดงให้เห็นความตึงเครียดภายในที่ผลักดันให้มนุษย์ค่อย ๆ เอาชนะข้อจำกัดทางวัตถุ ในแง่นี้ เทคโนโลยีเป็นการตอบสนองต่อคำสั่งของพระเจ้าในการไถหว่านและดูแลแผ่นดิน (เทียบ ปฐก 2:15) ซึ่งพระองค์ได้มอบหมายให้แก่มนุษยชาติ และต้องให้เป็นพลังเสริมสร้างพันธสัญญาระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เป็นพันธสัญญาที่ควรจะสะท้อนความรักสร้างสรรค์ของพระเจ้า

11. นับวันจะยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าประเด็นความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ท้าทายเราให้สำรวจตรวจสอบรูปแบบการดำเนินชีวิตของเราและรูปแบบการบริโภครวมทั้งการผลิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมักจะไม่มีความยั่งยืน ทั้งจากมุมมองทางสังคม สิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งในแง่เศรษฐกิจด้วย เราไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนะอย่างแท้จริงที่จะมีผลต่อ การดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ “ซึ่งการแสวงหาความจริง ความงาม ความดี และความเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนอื่นเพื่อการเติบโตร่วมกัน เป็นปัจจัยที่เป็นทางเลือกของผู้บริโภคได้ใช้ตัดสินใจ รวมไปถึงการอดออมและการลงทุน”การศึกษาเพื่อสันติภาพจะต้องเริ่มต้นด้วยการตัดสินใจอย่างมองการณ์ไกลของมนุษย์แต่ละคน ครอบครัว ชุมชน และรัฐ เราต่างต้องรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองและเอาใจใส่ดูแลสิ่งแวดล้อม

ความรับผิดชอบนี้ไม่มีพรมแดน ตามหลักแห่ง การช่วยเหลืออุดหนุน  เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนต้องมุ่งมั่นตามความสามารถที่เหมาะสมของแต่ละคนในการทำงานเพื่อเอาชนะผลประโยชน์เฉพาะที่ดำรงอยู่อย่างแพร่หลาย การปลุกจิตสำนึกและการให้การศึกษาเป็นบทบาทพิเศษของกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานด้วยความเชื่อมั่นและใจกว้างในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศน์ เป็นความรับผิดชอบที่ควรอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อ “ระบบนิเวศน์ของมนุษย์” (human ecology) อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น สื่อมวลชนเองก็มีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยการนำเสนอคนต้นแบบด้านบวกที่ให้แรงบันดาลใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของโลก คือความพยายามร่วมกันที่มีความรับผิดชอบในการก้าวข้ามแนวทางต่างๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ชาตินิยมที่เห็นแก่ตัว ไปสู่วิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างอย่างสม่ำเสมอต่อความต้องการของประชาชนทั้งมวล

เราไม่อาจเมินเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ทั้งนี้เพราะความเสื่อมโทรมของส่วนหนึ่งส่วนใดของโลกมีผลกระทบต่อเราทุกคน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แต่ละคน กลุ่มทางสังคมและบรรดารัฐต่าง ๆ เป็นเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม คือต้องเป็นไปด้วยความเคารพ และด้วย “ความรักในความจริง” (charity in truth) ในบริบทที่กว้างไกลนี้ เราสามารถสนับสนุนความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในการลดการสะสมอาวุธ และการส่งเสริมโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจัง ซึ่งการมีอาวุธเหล่านี้ เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของโลกและต่อการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่องของชนรุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่ที่จะตามมา

12. พระศาสนจักรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งสร้าง และพระศาสนจักรถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติความรับผิดชอบในชีวิตของสาธารณชนเพื่อปกป้องคุ้มครองโลก น้ำ และอากาศ ในฐานะที่เป็นพระพรของพระเจ้า พระผู้สร้างที่ทรงประทานให้แก่ทุกคน และเหนืออื่นใดเพื่อช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากอันตรายจากการทำลายตัวเอง ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับรูปแบบทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมการดำรงชีวิตของมนุษย์ ผลก็คือ “เมื่อ ‘ระบบนิเวศน์ของมนุษย์’ ได้รับการเคารพภายในสังคม ระบบนิเวศน์ของสิ่งแวดล้อมก็จะได้รับประโยชน์ด้วย” เราไม่อาจเรียกร้องเยาวชนคนหนุ่มสาวให้เคารพสิ่งแวดล้อมได้หากพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือให้เคารพตัวเอง โดยเริ่มจากในครอบครัวของตนและในสังคมโดยรวม  หนังสือแห่งธรรมชาติมีหนึ่งเดียวและไม่อาจแบ่งแยกได้ หนังสือเล่มนี้มิได้รวมเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยจริยธรรมของแต่ละคน ครอบครัว และสังคมด้วย  หน้าที่ของเราต่อสิ่งแวดล้อมหลั่งไหลมาจากหน้าที่ของเราต่อบุคคล ทั้งในแง่แต่ละคนและในความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย

ดังนั้น ข้าพเจ้าพร้อมที่จะสนับสนุนความพยายามในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศน์ ที่ข้าพเจ้าได้ระบุไว้ในสมณสาสน์ ความรักในความจริง ซึ่งจะปกป้องคุ้มครอง “ระบบนิเวศน์ของมนุษย์” ที่แท้จริง ดังนั้น จึงยืนยันอย่างแข็งขันถึงการไม่อาจล่วงละเมิดได้ของชีวิตมนุษย์ในทุกระยะและในทุกเงื่อนไข ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ และพันธกิจที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของครอบครัวสถานที่ซึ่งมนุษย์ได้รับการอบรมให้รักเพื่อนบ้านและเคารพต่อธรรมชาติ  มีความจำเป็นที่จะต้องพิทักษ์คุ้มครองมรดกของมนุษย์ในสังคม มรดกแห่งคุณค่านี้มีต้นกำเนิดอยู่ในและเป็นส่วนหนึ่งของกฎศีลธรรมทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเคารพมนุษย์ในฐานะบุคคลและสิ่งสร้าง

13. อีกประการหนึ่ง เราไม่อาจลืมข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า ประชาชนมากมายจะมีประสบการณ์สันติภาพและความสงบ การฟื้นฟูใหม่และการฟื้นฟูพละกำลัง เมื่อพวกเขาได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับความงดงามและประสานกลมกลืนของธรรมชาติ ในเรื่องนี้เราจะพบเห็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกันในขณะที่เราดูแลสิ่งสร้าง เราจะตระหนักว่าโดยอาศัยการสร้างสรรพสิ่ง พระเจ้าทรงดูแลเรา ในอีกด้านหนึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะไม่หยุดลงที่การยึดถือธรรมชาติเป็นสิ่งสูงสุด หรือถือว่าธรรมชาติมีความสำคัญมากกว่าบุคคลมนุษย์ หากคำสอนของพระศาสนจักรก่อให้เกิดข้อสงสัยอย่างใหญ่หลวงเกี่ยวกับแนวคิดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนพื้นฐานของการยึดเอาระบบนิเวศน์และชีวภาพเป็นศูนย์กลาง

เป็นเพราะว่าแนวคิดดังกล่าวขจัดความแตกต่างของอัตลักษณ์และคุณค่าระหว่างบุคคลมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  ด้วยวิสัยทัศน์ที่เน้นความเสมอภาคของ “ศักดิ์ศรี” ของสิ่งสร้างที่มีชีวิตทั้งมวล แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การลบล้างลักษณะเฉพาะและบทบาทที่สำคัญกว่าของมนุษย์ แนวคิดดังกล่าวยังเปิดหนทางนำไปสู่ลัทธิความเชื่อแบบใหม่ที่ถือพระเจ้าคือทุกสิ่งซึ่งเจือปนไปด้วยลัทธินอกรีตแบบใหม่ซึ่งจะมองเห็นกำเนิดความรอดของมนุษย์ในธรรมชาติเท่านั้น อันเป็นความเข้าใจในมิติของลัทธินิยมธรรมชาติล้วนๆ  พระศาสนจักรมีความห่วงใยว่า การตอบคำถามนี้จะต้องเป็นไปในลักษณะสมดุล

โดยการเคารพต่อ “ระเบียบกฎเกณฑ์” ที่พระผู้สร้างได้จารึกไว้ในผลงานของพระองค์ โดยมอบบทบาทการพิทักษ์ดูแลและบริหารจัดการให้แก่มนุษย์พร้อมกับความรับผิดชอบต่อสิ่งสร้าง เป็นบทบาทที่มนุษย์จะล่วงละเมิดไม่ได้ และเป็นบทบาทที่มนุษย์ไม่อาจละเลยได้ ในทำนองเดียวกัน แนวคิดในทางตรงกันข้ามซึ่งจะยึดถือเอาเทคโนโลยีและพลังอำนาจของมนุษย์เป็นหลักสำคัญสูงสุด จะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงไม่เพียงต่อธรรมชาติเท่านั้น แต่ต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์เองด้วย

14. หากต้องการสร้างสันติภาพ จงปกป้องคุ้มครองสิ่งสร้าง การแสวงหาสันติภาพโดยประชาชนผู้มีน้ำใจดีจะง่ายขึ้นอย่างแน่นอน หากทุกคนยอมรับความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกกันได้ระหว่างพระเจ้า มนุษย์และสิ่งสร้างทั้งมวล ตามการชี้นำของการเผยแสดงของพระเจ้าและความสัตย์ซื่อต่อธรรมประเพณีของพระศาสนจักร  คริสตชนต่างมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ คริสตชนไตร่ตรองถึงจักรวาลและความมหัศจรรย์ของจักรวาลตามแสงสว่างของงานสร้างสรรค์ของพระบิดาเจ้าและงานไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงอาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ ทำให้เราได้กลับมาคืนดีกับพระเจ้า  “ทุกสิ่ง ทั้งสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินและสิ่งที่อยู่ในสวรรค์” (คส 1:20)

พระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ ทรงมอบพระจิตของพระองค์แก่มนุษยชาติ เพื่อทรงนำหนทางแห่งประวัติศาสตร์ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่ง เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จกลับมาอย่างรุ่งเรือง จะเกิด “ฟ้าใหม่และโลกใหม่” (2 ปต 3:13) ที่ซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพจะดำรงอยู่ตลอดกาล การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเพื่อสร้างโลกแห่งสันติภาพจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์แต่ละคนและทุกคน เป็นสิ่งท้าทายเร่งด่วนที่ทุกคนต้องเผชิญด้วยการอุทิศตนที่มีการฟื้นฟูใหม่ร่วมกัน และเป็นโอกาสอันสุขุมรอบคอบในการส่งต่อความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีกว่าสำหรับมนุษย์ทุกคน

ให้กับชนรุ่นใหม่ที่กำลังมาถึงขอให้เรื่องนี้มีความชัดเจนสำหรับบรรดาผู้นำโลกและทุกผู้คนในทุกระดับที่มีความห่วงใยต่ออนาคตของมนุษยชาติ การปกป้องคุ้มครองสิ่งสร้างและการสร้างสันติภาพมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญศาสนิกผู้มีความเชื่อทุกคนให้นำเสนอคำภาวนาต่อพระเจ้า พระผู้สร้างผู้ทรงพลานุภาพและพระบิดาแห่งความเมตตา เพื่อให้มนุษย์ทุกคนทั้งชายและหญิงจะได้นำเอาเสียงเรียกร้องที่เร่งด่วนนี้เข้าไปไว้ในหัวใจของตน นั่นคือ หากต้องการสร้างสันติภาพ จงปกป้องคุ้มครองสิ่งสร้าง

จากวาติกัน 8 ธันวาคม 2552
พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

เอกสารอ้างอิง
  คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 198
  พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สารวันสันติภาพสากล ปี 2008, ข้อ 7
  เทียบ ข้อ 48
  Dante Alighieri, The Divine Comedy, Paradiso, XXXIII, 145
  สารวันสันติภาพสากล ปี 1990, ข้อ 1
  สารส่วนพระองค์ ครบรอบปีที่แปดสิบ, ข้อ 21
  สารวันสันติภาพสากล ปี 1990, ข้อ 10
  เทียบ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สมณสาสน์ ความรักในความจริง, ข้อ 32
  คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 295
  Heraclitus of Ephesus (c. 535 – c. 475 B.C.), Fragment 22B124, in H. Diels-W. Kranz, Die Fragmente der Vorsokratiker, Weidmann, Berlin,1952, 6th ed.
  เทียบ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สมณสาสน์ ความรักในความจริง, ข้อ 48
  พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2, สมณสาสน์ การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย, ข้อ 37
  เทียบ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สมณสาสน์ ความรักในความจริง, ข้อ 50
  พระธรรมนูญว่าด้วย  พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้” ข้อ 69
  เทียบ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2, สมณสาสน์ “ความห่วงใยสังคม”, ข้อ 34
  พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สมณสาสน์ ความรักในความจริง, ข้อ 37
  สมณสภาเพื่อความยุติธรรมและสันติ, ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร, ข้อ 467; เทียบ สมเด็จ
   พระสันตะปาปาปอล ที่ 6 สมณสาสน์ “การพัฒนาประชาชาติ”, ข้อ 17
  เทียบ พระสันตะปาปายอห์น  ปอล ที่ 2, สมณสาสน์ การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย, ข้อ 30-31, 43
  พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สมณสาสน์ ความรักในความจริง, ข้อ 49.
  อ้างแล้ว
  เทียบ นักบุญโทมัส อไควนัส, S. Th., II-II, q. 49, 5
  เทียบ ข้อ 9
  เทียบ ข้อ 8
  พระสันตะปาปาปอล ที่ 6  สมณสาสน์ “การพัฒนาประชาชาติ”, ข้อ 43.
  พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สมณสาสน์ ความรักในความจริง, ข้อ 69
  พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2, สมณสาสน์ การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย, ข้อ 36
  เทียบ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สมณสาสน์ ความรักในความจริง, ข้อ 51
  เทียบ อ้างแล้ว, ข้อ 15, 51.
  เทียบ อ้างแล้ว ข้อ 28, 51, 61; พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2, สมณสาสน์ การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย, ข้อ 38, 39
  เทียบ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16, สมณสาสน์ ความรักในความจริง, ข้อ 70
 

ขอขอบคุณ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)