![]() | ||||||||
![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() |
![]() | ||||||||
สาส์นมหาพรตของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16
การเริ่มต้นของเทศกาลมหาพรต เป็นช่วงเวลาของการฝึกเดินทางแห่งชีวิตฝ่ายจิตที่เข้มข้นกว่าปกติ พิธีกรรมนำเสนอแนวทางสำหรับปฏิบัติการใช้โทษบาปใน 3 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์และธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตชนกล่าวคือ การสวดภาวนา การให้ทาน และการอดอาหาร ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวเฉลิมฉลองปัสกาและรับประสบการณ์เกี่ยวกับพลานุภาพของพระเจ้า ซึ่งเราจะได้ยินได้ฟังในวันตื่นเฝ้าก่อนวันปัสกา นั่นคือ ขับไล่ความบาปต่างๆ ออกไป ล้างมลทินให้หมดสิ้น ฟื้นฟูความบริสุทธิ์ที่หายไป นำความชื่นชมยินดีมาสู่ผู้ที่เป็นทุกข์ ขจัดความเกลียดชังออกไปจากใจ นำสันติสุขมาสู่เรา และทำลายความเย่อหยิ่งทางโลกของเรา (Paschal Praeconium) สำหรับสาส์นเทศกาลมหาพรตปีนี้ ข้าพเจ้าขอมุ่งการไตร่ตรองถึงคุณค่าและความหมายของการอดอาหารเป็นพิเศษ อันที่จริงแล้ว เทศกาลมหาพรตเชิญชวนเราให้ระลึกถึงการจำศีลอดอาหารเป็นเวลา 40 วันของพระคริสตเจ้าในทะเลทราย ซึ่งพระองค์ทรงกระทำก่อนที่จะเริ่มพันธกิจอย่างเปิดเผย เราอ่านพบในพระวรสารว่า พระจิตเจ้าทรงนำพระเยซูเจ้าไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้ปีศาจมาผจญพระองค์ เมื่อทรงอดอาหาร 40 วัน 40 คืนแล้วทรงหิว (มธ 4:1-2) เช่นเดียวกันกับโมเสสที่จำศีลอดอาหารก่อนที่จะรับแผ่นศิลาธรรมบัญญัติ (เทียบ อพย 34:28) และเอลียาห์จำศีลก่อนที่จะไปพบกับพระเจ้าบนภูเขาโฮเรบ (เทียบ 1พกษ 19:8) พระเยซูเจ้าก็เช่นเดียวกัน ทรงสวดภาวนาและถือศีลอดอาหารเพื่อเตรียมตัวสำหรับพันธกิจที่อยู่ข้างหน้าพระองค์ และทรงเริ่มด้วยการถูกผจญอย่างหนัก เราอาจสงสัยว่ามันมีคุณค่าและความหมายอะไรกันสำหรับเราชาวคริสตชนที่ต้องงดบางสิ่งที่ในตัวมันเองล้วนเป็นสิ่งดีและเป็นประโยชน์สำหรับการบำรุงเลี้ยงดู กายของเรา พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตชนสอนว่าการอดอาหารเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้เป็นอย่างมากในการหลีกเลี่ยงบาปและสิ่งที่จะนำเราไปสู่บาป เพราะเหตุนี้ประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้จึงเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่เชิญชวนเราให้ทำการถือศีลอดอาหาร ในพระคัมภีร์หน้าแรกๆ พระเจ้าทรงห้ามมิให้มนุษย์กินผลไม้ต้องห้าม ท่านจะกินผลไม้จากต้นไม้ทุกต้นในสวนได้ แต่อย่ากินจากต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว วันใดที่ท่านกินผลจากต้นนั้น ท่านจะต้องตาย (ปฐก 2:16-17) เมื่อต้องวิจารณ์ข้อห้ามของพระเจ้าในประเด็นนี้ นักบุญบาซิลตั้งข้อสังเกตว่า การอดอาหารได้ถูกกำหนดไว้แล้วในสวรรค์ และ บัญญัติข้อแรกในความหมายนี้ได้ถูกมอบให้กับอาดัม ท่านนักบุญสรุปว่า 'เจ้าจะต้องไม่กิน' คือบทบัญญัติแห่งการอดอาหารและการละเว้น (เทียบ Sermo de jejunio: PG 31, 163, 98) เพราะเหตุว่าเราทุกคนถูกดึงให้ต่ำลงด้วยบาปพร้อมกับผลของมัน การถือศีลอดอาหารจึงถูกนำมาเสนอให้เราเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างมิตรภาพใหม่กับพระเจ้า เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเอสราผู้ที่กำลังเตรียมตัวที่จะเดินทางจากถิ่นทุรกันดารไปยังดินแดนแห่งพันธสัญญาได้เรียกประชากรให้มาชุมนุมกันอดอาหาร เพื่อว่า เราจะได้ถ่อมตนลงต่อพระพักตร์พระเจ้า (อสร 8:21) พระเจ้าทรงได้ยินคำภาวนาของพวกเขาและทรงรับสั่งให้พวกเขาวางใจในพระเมตตาและการคุ้มครองของพระองค์ ในทำนองเดียวกันนี้ประชากรแห่งนินะเวห์ได้ตอบรับการเรียกร้องของโยนาห์ให้เป็นทุกข์กลับใจ จึงได้จำศีลอดอาหารอันเป็นเครื่องหมายแห่งความจริงใจของพวกเขา ด้วยการกล่าวว่า ใครจะไปรู้ได้ พระเจ้าอาจเปลี่ยนพระทัย คลายพระพิโรธ เพื่อที่พวกเราจะไม่ต้องพินาศ (ยนา 3:9) ในกรณีนี้ก็เช่นกัน พระเจ้าทรงเห็นการกระทำของพวกเขาและทรงไม่ลงโทษ ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่พระเยซูเจ้าทรงนำความสว่างใหม่มาสู่แรงบันดาลใจที่ล้ำลึกสำหรับการถือศีลอดอาหาร พระองค์ทรงประณามทัศนคติของชาวฟาริสี ซึ่งปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ใจของพวกเขาอยู่ห่างไกลจากพระ การจำศีลอดอาหารที่แท้จริงอย่างที่พระอาจารย์เจ้ากล่าวไว้ ณ ที่อื่นคือการปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระบิดาเจ้าในสวรรค์ ผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่ง ก็จะประทานบำเหน็จให้ท่าน (มธ 6:18) พระองค์เองได้ทรงวางแบบฉบับไว้แล้วในการตอบซาตานเมื่อทรงถือศีลอดอาหารครบ 40 วันแล้วว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า (มธ 4:4) การอดอาหารที่แท้จริงจึงหันประเด็นไปที่การกิน อาหารที่แท้จริง ซึ่งเป็นการทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา (เทียบ ยน 4:34) เหตุเพราะอาดัมไม่นบนอบคำสั่งของพระเจ้า ที่สั่งว่า อย่ากินจากต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว เพราะฉะนั้นผู้มีความเชื่อ โดยอาศัยการถือศีลอดอาหารก็แสดงออกถึงความตั้งใจที่จะมอบตนเองอย่างนอบน้อมให้กับพระเจ้าในความดีและพระเมตตาของพระองค์ธรรมเนียมถือศีลอดอาหารแพร่หลายมากในชุมชนคริสตชนสมัยแรกๆ (เทียบ กจ 13:3 ; 14:22 ; 27:21 ; 2คร 6:5)บรรดาปิตาจารย์ก็กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า พลังแห่งการจำศีลมีอำนาจในการลดละความบาป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัณหาของ อาดัมคนเก่า แล้วเปิดดวงใจของผู้มีความเชื่อสู่หนทางของพระเจ้า นอกเหนือจากนี้แล้วการถือศีลอดอาหารเป็นการปฏิบัติที่พบกันอยู่บ่อยๆ และได้รับการแนะนำจากบรรดานักบุญในทุกยุคทุกสมัย นักบุญเปโตร คริสโซโลกัส เขียนไว้ว่า การถือศีลอดอาหารเป็นดวงวิญญาณของการสวดภาวนา ความเมตตาเป็นเส้นเลือดทรงชีวิตของการถือศีลอดอาหาร ดังนั้นหากท่านสวดภาวนา ก็ให้ถือศีลอดอาหารไปด้วย ถ้าท่านถือศีลอดอาหาร ก็จงแสดงเมตตากิจ ถ้าท่านอยากให้การสวดวิงวอนของท่านได้รับการสดับฟัง ก็จง รับฟังการวิงวอนของผู้อื่น ถ้าท่านไม่ปิดหูของท่านสำหรับผู้อื่น ท่านก็เปิดหูของพระเจ้าสำหรับตัวท่านเอง (Sermo 43: PL 52, 320. 322) ในยุคสมัยของเรา การถือศีลอดอาหารดูเหมือนจะขาดอะไรบางอย่างที่มีความหมายฝ่ายจิตไป และมีรูปแบบใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นคือวัฒนธรรมที่มีประเด็นค่อนไปทางการอยู่ดีกินดีที่เป็นวัตถุ กลายเป็นยึดเอาคุณค่าการดูแลฝ่ายกาย แน่นอนว่าการถือศีลอดอาหารนำมาซึ่งคุณประโยชน์ฝ่ายกาย แต่สำหรับผู้ที่มีความเชื่อ ก่อนอื่นนั้นการถือศีลอดอาหารเป็น การบำบัด ที่จะรักษาเยียวยาทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคสำหรับการทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า ในพระสมณสาส์น Paenitemini ของปี 1966 สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่คริสตชนทุกคนจะต้องทำการถือศีลอดอาหารโดยกล่าวว่า คริสตชนทุกคน จะต้องไม่เจริญชีวิตเพื่อตนเองอีกต่อไป แต่เพื่อพระองค์ผู้ทรงรักและอุทิศชีวิตเพื่อเขา และเขาจะต้องมีชีวิตเพื่อบรรดาพี่น้องของเขาด้วย (เทียบ Ch. I) เทศกาลมหาพรตน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะเชิญชวนพวกเราให้ไตร่ตรองและรื้อฟื้นความสำคัญตลอดกาลแห่งธรรมเนียมปฏิบัติที่คริสตชนยึดถือกันมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งจะช่วยพวกเราให้รู้จักลดละการเห็นแก่ตัวของเรา อีกทั้งเปิดใจสู่ความรักของพระเจ้าและเพื่อนบ้าน อันเป็นบัญญัติใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นคำสรุปแห่งพระวรสารทั้งหมด(เทียบมธ 2:34-40) การถือศีลอดอาหารอย่างสัตย์ซื่อยังจะช่วยให้เรามีความเป็นเอกภาพในตัวเองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกายหรือฝ่ายจิต ช่วยเราให้หลีกเลี่ยงบาปและเจริญเติบโตขึ้นในความสนิทใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้าอีกด้วย นักบุญเอากุสตินผู้ทราบดีถึงความโน้มเอียงและความอ่อนแอของตนให้คำจำกัดความพยศชั่วของตนว่าเป็นปมเชือกที่ยุ่งเหยิง (Confession, II, 10.18) ท่านเขียนบันทึกไว้ว่า แน่นอนที่สุดที่ข้าพเจ้าจะต้องบังคับตนเองให้เลิกละ เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า เพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้เป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระองค์ และเพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้ร่วมในความชื่นชมยินดีกับพระองค์ (Sermo 400, 3, 3:PL 40, 708) การอดอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่บำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายเรานั้น จะช่วยสนับสนุนชีวิตภายในของเราสดับฟังเสียงของพระคริสตเจ้าและให้เราได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาทรงชีวิตของพระองค์ อาศัยการถือศีลอดอาหารและการสวดภาวนาเราก็ยอมให้พระองค์เสด็จมาและทำให้ความกระหายที่ลึกล้ำที่สุดของเราอิ่มเอมไป ซึ่งเราจะประสบได้ในส่วนลึกแห่งจิตใจของเรา นั่นคือความหิวกระหายที่มีต่อพระเจ้า ในขณะเดียวกันการถือศีลอดอาหารเป็นการช่วยเปิดตาเราให้เห็นสภาพการดำเนินชีวิตของบรรดาพี่น้องชายหญิงของเราด้วย ในจดหมายฉบับแรกนักบุญยอห์นเตือนเราว่า ถ้าผู้ใดมีทรัพย์สมบัติของโลกนี้และเห็นพี่น้องของตนขาดแคลนแต่ยังมีใจแคบต่อเขา ความรักของพระเจ้าจะดำรงอยู่ในผู้นั้นได้อย่างไร (1ยน 3:17)การอดอาหารด้วยความสมัครใจจะช่วยเราให้พัฒนาตนด้วยจิตตารมณ์ของชาวสะมาเรียผู้ใจดีที่น้อมตัวลงต่ำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่กำลังทนทุกข์(เทียบพระสมณสาส์นDeus Caritas Est, 15) อาศัยการยอมปฏิเสธตนเองเพื่อเห็นแก่ผู้อื่นเท่ากับเป็นการประกาศยืนยันว่า พี่น้องชายหญิงของเราที่มีความต้องการความช่วยเหลือนั้นไม่ใช่คนแปลกหน้า การสานต่อความเป็นกัลยาณมิตรและความใส่ใจต่อบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรานี่แหละที่ข้าพเจ้าสนับสนุนให้ทุกวัดและทุกชุมชนเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ในช่วงเทศกาลมหาพรต ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดอาหารแบบส่วนตัวหรือพร้อมกันทั้งชุมชน การอ่านพระวาจาพร้อมกัน การสวดภาวนา และการทำบุญให้ทาน นี่เป็นการปฏิบัติที่เข้มแข็งของชุมชนคริสตชนมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ซึ่งในเทศกาลนี้จะมีการรวบรวมเงินถุงทานกันเป็นพิเศษ (เทียบ 2คร 8:1-24 ; 2คร 9:1-15 , รม 15:25-27) สัตบุรุษจะได้รับการเชื้อเชิญให้มอบแก่คนจนสิ่งที่ตนประหยัดจากการจำศีล (Didascalia Ap., V 20, 18) เราต้องรื้อฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวให้กลับมาเป็นรูปธรรมเสียใหม่ในยุคของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลมหาพรต เท่าที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้น ดูเหมือนจะเป็นการเพียงพอแล้วว่า การถือศีลอดอาหารเป็นนิมิตสำคัญแห่งการปฏิบัติตนในเชิงพลีกรรมอันหนึ่ง เป็นสาตราวุธฝ่ายจิตที่จะรณรงค์กับการยึดติดอยู่กับตนเองในทุกรูปแบบ การสมัครใจละเว้นจากอาหารที่เอร็ดอร่อยและวัตถุเอื้ออำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ช่วยศิษย์ของพระคริสตเจ้าให้รู้จักควบคุมความอยากตามธรรมชาติที่ถูกทำให้อ่อนแอลงเพราะบาปกำเนิดและผลแห่งบาปกำเนิดก็ส่งผลลบมายังแต่ละคนโดยไม่เว้น เพลงเก่าแก่บทหนึ่งที่ใช้ขับร้องในจารีตพิธีช่วงมหาพรตให้การเตือนไว้อย่างน่าฟังว่า Utamur ergo parcius, verbis cibis et potibus, somno, iocis et arctius perstemus in custodia (ขอให้เราพูด กิน ดื่ม หลับนอน และสนุกด้วยความระมัดระวัง ขอให้เราเฝ้าระวังประสาทสัมผัสของเรา) พี่น้องชายหญิงที่รัก นับว่าเป็นสิ่งดีที่เราเห็นเป้าหมายสุดท้ายของการถือศีลอดอาหารว่าเป็นการเอื้อให้เรามอบตนเองให้เป็นของขวัญที่สมบูรณ์สำหรับพระเจ้า (เทียบพระสมณสาส์น Veritatis splendor, 21) ขอให้ทุกครอบครัวและทุกชุมชนจงได้ใช้เวลาในช่วงเทศกาลมหาพรตนี้อย่างดี เพื่อที่จะขจัดตนเองให้พ้นจากสิ่งที่จะทำให้จิตใจไขว้เขวและเจริญเติบโตขึ้นในทุกสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงวิญญาณ อีกทั้งก้าวเข้าสู่ความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้าน ข้าพเจ้ากำลังครวญคิดถึงการสวดภาวนาที่สูงส่งกว่า นั่นคือ Lectio Divina การรับศีลอภัยบาป และการมีส่วนร่วมในศีลมหาสนิทอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์
ด้วยการตั้งจิตแน่วแน่เช่นนี้ขอให้เราเข้าสู่เทศกาลมหาพรตด้วยจิตใจที่เป็นทุกข์ถึงบาป ขอให้พระแม่มารีย์พรหมจารี Causa nostrae laetitiae ผู้ทรงเป็นปฐมเหตุแห่งความชื่นชมยินดีของเราทรงประทับอยู่กับเราและช่วยเราในความพยายามของเราที่จะปลดเปลื้องจิตใจให้เป็นอิสระต่อทาสของบาป ช่วยทำให้จิตใจของเราเป็น ตู้ศีลทรงชีวิตของพระเจ้า พร้อมกับความปรารถนาดังกล่าวข้าพเจ้าจะสวดภาวนาให้ผู้มีความเชื่อและชุมชนพระศาสนจักรทุกแห่งในช่วงเทศกาลมหาพรต ขออวยพรมายังพี่น้องทุกคน จากสำนักวาติกัน 11 ธันวาคม 2008 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 | ||||||||
ขอขอบคุณ สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย | ||||||||
![]() | ||||||||