สารวันสิทธิมนุษยชน
ของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย


“ปฏิบัติกับเขาอย่างที่เขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา”


วันอาทิตย์ที่  ๑๕  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒
 


พี่น้องคริสตชนผู้มีน้ำใจดีทั้งหลาย

วันระลึกถึงสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนไ ด้มาถึงอีกครั้ง เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่เราคริสต-ชนจะมาทบทวน ทำความเข้าใจถึงความหมายของ “สิทธิมนุษยชน” รวมไปถึงคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะมีความแตกต่างทาง เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ฐานะ การศึกษา ความคิดเห็นทางการเมือง ต่างมีคุณค่าศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน มีสิทธิ์อย่างเต็มเปี่ยมที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขบนโลกใบนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์โดยไม่มีผู้ใดมาละเมิด และด้วยความเชื่อของคริสตชน เราตระหนักว่าทุกคนต่างเป็นพี่น้องและเป็นหนึ่งเดียวกันในความรักของพระเป็นเจ้า

เรามิอาจปฏิเสธความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมได้ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน การลดทอนความเป็นมนุษย์ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งจากความคิดและผลประโยชน์ทางการเมืองที่แบ่งเป็นฝักฝ่าย แต่ละฝ่ายไม่รับฟังแนวคิดหรือวิถีทางที่ต่างออกไปจากพวกตน โจมตีคนที่คิดเห็นต่างว่ามีความเลวร้ายไม่รักชาติบ้านเมือง และบ่อย ครั้งเกิดการกระทบกระทั่งจนนำไปสู่ความรุนแรงต่อกันทั้งทางวาจา หรือแม้แต่ทำร้ายร่างกายกันอย่างไร้เหตุผล หลายครั้งความขัดแย้งนี้ลุกลามเข้าไปสู่สถาบันครอบครัวที่ควรเป็นแหล่งพักพิงอันอบอุ่น เป็นพื้นที่แห่งความรัก ความเข้าใจ และการให้อภัย

ในระดับปัจเจกยังมีภาพสะท้อนของการมีอคติ จิตใจที่ไม่เปิดกว้าง การดูถูกเหยียดหยามของคนไทยบางคนกับประชาชนจ ากประเทศเพื่อนบ้านที่มาใช้แรงงานหนักแต่ได้รับค่าตอบแทนต่ำ และยังเห็นภาพของสังคมที่ปฏิบัติความเมตตากรุณาต่อกันน้อยลง และไม่เคารพศักดิ์ศรีคนที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนยากจนที่ถูกกระทำจากโครงสร้างที่อยุติธรรม มิหนำซ้ำยังตกเป็นเหยื่อของผู้คอยหาประโยชน์จากพวกเขาโดยผู้มีกำลังมากกว่าในสังคมอำนาจนิยม มีเด็กเร่ร่อน ลูกหลานแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอีกมากที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียน ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโย บายชัดเจนที่ให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมแก่เด็กทุกคนที่อายุถึงเกณฑ์ รวมทั้งเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรและเด็กไร้สัญชาติ

พวกเราได้ชื่อว่าเป็นคริสตชน เชื่อมั่นศรัทธาในวิถีปฏิบัติและคำสอนของพระเยซูเจ้า ความเป็นคริสตชนต้องอยู่ในเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ การเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้าไม่ควรสิ้นสุดอยู่เพียงการไปร่วมมิสซาบูชาขอบพระคุณ หรือทำกิจศรัทธาต่า งๆ เท่านั้น ในภาคปฏิบัติของชีวิต เราควรเห็นคุณค่าของคนที่แตกต่างจากเราว่า เขามีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และมีสิทธิ์เท่าเทียมกับเรา เพราะพระเป็นเจ้าได้มอบความรัก เสรีภาพ อิสรภาพกับทุกคนอย่างเสมอกัน

บทสอนของพระเยซูเจ้าเรื่องความรักต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์คือ “ท่านจะต้องรักองค์พระเป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุด วิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (ลก ๑๐: ๒๗) และให้เรารักแม้แต่ผู้ที่เกลียดชังหรือกระทำไม่ดีต่อเรา “จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน” (ลก ๖: ๒๗-๒๘) นอกจากนี้มนุษย์ทุกคนไม่ควรมีอคติหรือตัดสินลงโทษคนอื่นตามใจชอบด้วยกฎหมู่ ต้องให้โอกาส ให้อภัยแก่ผู้ทำผิด เพราะเราทุกคนล้วนเป็นคนบาป เคยทำผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้น (ยน ๘: ๑-๑๑) คำสอนเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นหลัก ปฏิบัติที่คริสตชนควรยึดถือเป็นสำคัญ ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังต้องการผู้ที่ดำเนินชีวิตที่เป็นประจักษ์พยาน

ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนคริสตชนได้ไตร่ตรองถึงชีวิตของเราว่าได้ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะคนที่แตกต่างกับเราทั้งทางความคิดและทางกายภาพ ด้วยความรัก เห็นอกเห็นใจ และมีน้ำใจช่วยเหลือเขาเท่าที่จะทำได้แล้วหรือยัง ถ้าเรายังมีอคติ มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเขาที่มีความคิด ความรู้สึก ความต้องการไม่ได้แตกต่างจากเรา และทำผิดต่อเขาทางกาย วาจาและใจ ขอให้เรากล้าหาญที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองนับแต่วันนี้ เพราะสังคมแห่งสันติสุขจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มเปลี่ยนที่จิตใจของแต่ละบุคคลก่อน

และให้เราร่วมอธิษฐานภาวนาเพื่อทุกคนจะได้ปฏิบัติต่อกันด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อเราคริสตชนจะได้พ บพระเป็นเจ้าในเพื่อนมนุษย์ทุกคน และความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมจะได้คลี่คลายไปในที่สุดด้วยความรัก ความเข้าใจ และจิตใจของเราจะ  “เกิดสันติ เห็นอกเห็นใจ อ่อนน้อม เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา บังเกิดผลที่ดีงามไม่ลำเอียง ไม่เสแสร้ง ผู้ที่สร้างสันติย่อมเป็นผู้หว่านในสันติ และจะเก็บเกี่ยวผลเป็นความชอบธรรม” (ยก ๓: ๑๗-๑๘)


ขอพระเยซูเจ้าทรงอำนวยพระพรมายังพี่น้องผู้สร้างสันติทุกท่าน


 
     (พระสังฆราชฟิลิป บรรจง ไชยรา)

ประธานกรรมาธิการฝ่ายสังคม
 แผนกความยุติธรรมและสันติ
สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
 

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม
แผนกความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
เว็บไซต์ www.jpthai.org    e-mail:jpthai@jpthai.org