เช็คเมลล์ ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์หน้าหลัก

ค้นหาข้อมูล :

สารของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16
วันภาวนาเพื่อพระกระแสเรียกทั่วโลก ครั้งที่ 45

13 เมษายน 2008 
วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา
เรื่อง: กระแสเรียกในพันธกิจแห่งการรับใช้ของพระศาสนจักร

พี่น้องชายหญิงที่รักยิ่งทั้งหลาย

         1. เราได้เลือกหัวข้อเรื่อง กระแสเรียกในภารกิจการรับใช้ของพระศาสนจักร สำหรับวันภาวนาเพื่อกระแสเรียก
ทั่วโลก ซึ่งฉลองในวันที่ 13 เมษายน 2008 นี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ได้ทรงสั่งแก่บรรดาอัครสาวกดังนี้
         “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนาม  พระบิดา
พระบุตร และพระจิต” (มธ 28,19) และบอกแก่เขาด้วยว่า “เราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28,20) พระศาสนจักรโดยรวมก็คือเป็นธรรมทูตและสมาชิกแต่ละคนของพระศาสนจักรก็คือผู้ที่ประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้า
         โดยทางศีลล้างบาปและศีลกำลัง คริสตชนแต่ละคนมีกระแสเรียกให้เป็นประจักษ์พยานและให้ไปประกาศพระวรสาร ดังนั้นการเป็นธรรมทูตจึงมีความผูกพันอย่างแนบแน่นเป็นพิเศษกับกระแสเรียกของการเป็นพระสงฆ์  ในพันธสัญญากับชนชาติอิสราเอลนั้น พระเจ้าทรงพอพระทัยในบุคคลบางคนที่พระองค์ทรงเลือกสรร ทรงเรียกเขามา และส่งเขาไปในพระนามของพระองค์
         ในพันธกิจของการเป็นประกาศกและนี่คือสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำ เช่น ตัวอย่างของโมเสส พระองค์ได้ทรงสั่งเขาว่า “เราจะส่งท่านไปเฝ้าฟาโรห์ เพื่อท่านได้นำประชากรของเรา...ออกจากประเทศอียิปต์...เมื่อท่านได้นำประชากรออกจากประเทศอียิปต์แล้ว ท่านจึงกลับมารับใช้พระเจ้าบนภูเขานี้”(อพย 3,10.12) และเช่นเดียวกันกับผู้ทำนายอื่น ๆ ด้วย

         2. พระสัญญาที่ทรงกระทำกับบรรพบุรุษของเรา กลับกลายเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้กล่าวไว้ว่า “ พระบุตรได้เสด็จมา พระองค์คือผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา และในพระบุตรนี้เองที่ตั้งแต่ก่อนเนรมิตโลกพระบิดาทรงเลือกเราและทรงกำหนดล่วงหน้าให้เราเป็นบุตรบุญธรรม.... เพื่อกระทำตามพระประสงค์ของพระบิดา พระคริสตเจ้าได้ทรงสถาปนาพระอาณาจักรสวรรค์บนโลกนี้  ทรงแสดงให้เราทราบถึงธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระอาณาจักรสวรรค์ ทรงนำเราสู่ความรอดพ้นด้วยการนอบน้อมตาม พระประสงค์ของพระบิดา” (Dogmatic Constitution Lumen gentium, 3) 
         ในชีวิตเปิดเผยช่วงต้นๆ ของพระเยซูเจ้า ขณะที่ทรงสั่งสอนอยู่ในแคว้นกาลิลี พระเยซูเจ้าทรงเลือกสานุศิษย์บางคนให้เป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์ที่สุดในพันธกิจแห่งการไถ่กู้ของพระองค์ เช่น ในโอกาสที่ทรงทวีขนมปัง พระองค์ตรัสแก่บรรดาอัครสาวกว่า “ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด” (มธ 14,16) พระองค์ทรงเชิญชวนให้พวกเขาตอบสนองความต้องการของฝูงชน ด้วยการมอบอาหารแก่พวกเขา เพื่อพวกเขาจะได้ไม่หิวโหย และพระองค์ยังได้ทรงกล่าวถึงอาหาร “ที่คงอยู่และนำชีวิตนิรันดรมาให้” (ยน 6,27)  พระองค์ทรงมีพระทัยเมตตากรุณาต่อประชาชน
         เนื่องจากพระองค์เสด็จไปตามหมู่บ้านและเมืองต่างๆ ทรงพบประชาชนที่น่าสงสาร ปราศจากความช่วยเหลือ“ดังฝูงแกะที่ไม่มีผู้เลี้ยง” (มธ 9,36)  ด้วยความรักของพระองค์ จึงทรงเชิญชวนบรรดาสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “ฉะนั้น ท่านจงภาวนาวอนขอต่อเจ้าของนา ให้ส่งคนงานออกไปเก็บเกี่ยวเถิด” (มธ 9,38)  พระองค์ได้ทรงส่งสานุศิษย์สิบสองคนแรกให้ “ออกไปตามหาฝูงแกะที่หายไปจากชนชาติอิสราเอล” ซึ่งเป็นพระบัญชาที่ชัดเจน  หากพวกเราได้หยุดพิจารณาถึงพระวรสารของนักบุญมัทธิว ในบทนี้ซึ่งเป็นบทที่เรียกกันว่าเป็น“การเทศนาเรื่องธรรมทูต  ” เราจะสังเกตได้ว่า มุมมองทั้งหมดเป็นลักษณะกิจกรรมการประกาศข่าวดีของกลุ่มคริสตชนที่มีความซื่อสัตย์ในบทสอนและปฏิบัติตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า การตอบรับกระแสเรียกของพระองค์ หมายถึงการยอมเผชิญภยันตรายทั้งปวง แม้แต่การถูกประหารชีวิต ด้วยการมีสติและด้วยความเรียบง่าย
         เนื่องจาก “ศิษย์ย่อมจะไม่อยู่เหนืออาจารย์ และคนใช้ไม่อยู่เหนือนายของตน”  (มธ 10, 24) หากเราร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับอาจารย์ สานุศิษย์ทั้งหลายก็จะไม่ประกาศพระอาณาจักรสวรรค์โดยลำพังอีกต่อไป เพราะว่าพระเยซูเจ้าจะทรงกระทำการอยู่ในตัวของเขา“ผู้ใดที่ยอมรับท่าน ก็ยอมรับเราด้วย และผู้ใดที่ยอมรับเรา ก็ยอมรับผู้ที่ส่งเรามาด้วย” (มธ 10,40) นอกจากนี้ ในฐานะประจักษ์พยานอันแท้จริง “ที่รับพลังจาก เบื้องบน”  บรรดาสานุศิษย์ได้สั่งสอนให้มวลมนุษยชาติ “ให้กลับใจและรับการอภัยบาป”

         3. เนื่องจากพระเยซูเจ้าทรงส่งสานุศิษย์ 12 คนซึ่งเรียกว่า “อัครสาวก” เพื่อให้เดินไปในหนทางแห่งโลกนี้โดยการประกาศพระวาจา ในฐานะเป็นพยานแห่งการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า  นักบุญเปาโลเขียนถึงคริสตชนในเมืองโครินธ์ว่า  “พวกเรา คือบรรดาอัครสาวกที่ไปสั่งสอนเรื่ององค์พระคริสต์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขน”(1 คร 1,23) ในหนังสือกิจการอัครสาวกซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในกระบวนการประกาศข่าวดีและกล่าวถึงสานุศิษย์อื่น ๆ ที่มีกระแสเรียกแห่งการเป็นธรรมทูต ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุแวดล้อม บางครั้งก็เป็นสิ่งที่เจ็บปวด เช่นถูกขับไล่ออกจากประเทศของตนเอง
         เนื่องจากเป็นผู้ติดตามของพระเยซูเจ้า (อฟ 8,1-4)  พระจิตผู้ศักดิ์สิทธิ์ทรงอนุญาตให้มีการทดลองนี้ เพื่อเปลี่ยนเป็นโอกาสแห่งพระพรและด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวพระนามของพระองค์จะได้รับการประกาศไปยังผู้อื่น เพื่อขยายกลุ่มคริสตชนให้กว้างออกไป ชายและหญิงเหล่านี้ที่นักบุญลูกาเขียนไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวกว่า “ได้เสี่ยงชีวิตของตนเพื่อพระเยซูเจ้า     พระเจ้าของเรา” (15,26)  บุคคลแรกในกลุ่มที่กล่าว คือ เปาโลแห่งทาร์ซัส ผู้ที่พระองค์ทรงเรียกให้มาเป็นอัครสาวกอย่างแท้จริง เรื่องของนักบุญเปาโล ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล มีเรื่องที่กล่าวถึงท่านมากมายหลายประการที่เชื่อมโยงระหว่างกระแสเรียกและพันธกิจ แม้จะถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าท่านตั้งตนเองเป็นอัครสาวกโดยมิได้รับอนุญาต แต่ท่านได้กล่าวย้ำถึงกระแสเรียกโดยตรงจากองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างชัดเจนและมั่นใจ  (รม 1,1; กท 1,11-12.15-17)

         4. ในช่วงแรกเริ่ม และช่วงต่อๆ ไป สิ่งที่ผลักดันบรรดาอัครสาวก ก็คือ “ความรักของพระคริสต์” (2คร 5,14)ในฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระศาสนจักร ผู้อ่อนน้อมต่อกิจการของพระจิตเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ บรรดาธรรมทูตจำนวนนับไม่ถ้วน ได้ติดตามรอยเท้าของอัครสาวกในหลายศตวรรษที่ผ่านมา สภาสังคายนาวาติกันที่สอง กล่าวว่า“แม้ว่าอัครสาวกแต่ละท่านของพระคริสต์เจ้า จะอยู่ใกล้หรือไกลพระองค์เพียงใด ต่างก็มีหน้าที่ของตนในการประกาศข่าวดีและประกาศความเชื่อ
         พระเยซูคริสตเจ้าทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการจากบรรดาสานุศิษย์ของพระองค์ให้อยู่กับพระองค์และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอนแก่นานาชาติ” (มก 3,13-15)  (Decree Ad gentes, 23) ที่จริงแล้ว ความรักของพระคริสตเจ้าจะต้องสื่อสารมายังพี่น้องด้วยคำพูด การกระทำ และชีวิตทั้งหมดของตน พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ผู้ล่วงลับได้เขียนไว้ว่า “กระแสเรียกพิเศษของบรรดาธรรมทูตที่ปฏิญาณตน “ตลอดชีวิต” ยังคงมีผลที่ใช้การได้ดี เป็นแบบอย่างความมุ่งมั่น ของบรรดาธรรมทูตของพระศาสนจักร ผู้ยึดมั่นอุทิศตนทั้งครบ ด้วยความเพียรพยายาม อย่างกล้าหาญและมั่นคงเสมอ” (Encyclical Redemptoris missio, 66)

         5. ท่ามกลางบุคคลที่อุทิศตนทั้งครบในการเผยแผ่พระวรสาร ยังคงมีพระสงฆ์ที่มีกระแสเรียกในการประกาศพระวาจาของพระเจ้าด้วยวิธีพิเศษ ด้วยการเป็นศาสนบริกรแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะศีลมหาสนิทและศีลแห่งการคืนดี  บรรดาผู้ที่อุทิศตนเพื่อช่วยคนยากไร้ คนเจ็บป่วย คนที่ทนทุกข์ทรมาน และผู้ที่ประสบความยากลำบากในดินแดนส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากในทุกวันนี้ ที่ยังไม่เคยรู้จักพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง บรรดาธรรมทูตที่ได้ประกาศถึงการไถ่กู้ด้วยความรักของพระคริสตเจ้าเป็นครั้งแรกสำหรับบุคคลเหล่านั้น จากสถิติได้แสดงว่า ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ต้องขอขอบคุณสำหรับงานอภิบาลของพระสงฆ์ผู้มีความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ สำหรับความรอดพ้นของพี่น้องของเขา 
         ในบริบทนี้ เราขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ “พระสงฆ์ ผู้ที่มีความเชื่อ และทำงานอย่างซื่อสัตย์และมีน้ำใจกว้างขวางในการสร้างกลุ่มคริสตชน ด้วยการประกาศพระวาจาพระเจ้า และการถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ อุทิศพลังชีวิตทั้งหมดของตนแก่พันธกิจของพระศาสนจักร   ขอให้เราขอบคุณพระเจ้าสำหรับบรรดาพระสงฆ์ที่ต้องทนทุกข์ยากลำบากแม้จะต้องสละชีวิตของตนเพื่อ พระคริสต์เจ้า ...พวกเขาคือพยานที่มีชีวิต ที่สามารถสร้างแรงใจให้แก่เยาวชนจำนวนมาก ให้ติดตามพระคริสตเจ้าและมอบชีวิตของตนสำหรับผู้อื่น เพื่อที่จะได้ค้นพบชีวิตที่แท้จริง” (Apostolic Exhortation Sacramentum caritatis, 26)

         6. ยังคงมีชายและหญิงจำนวนมากอยู่เสมอในพระศาสนจักร ผู้ซึ่งได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า ให้เลือกชีวิตตามพระวาจาแบบลึกซึ้งจริงจัง ปฏิญาณตนด้วยคำสัญญาแห่งความบริสุทธิ์ ความยากจนและความนบนอบ นักบวชชายหญิงจำนวนมากที่อยู่ในสถาบันต่างๆของการบำเพ็ญพรตและเจริญชีวิตในโลกของนักบวช        “มีบทบาทสำคัญในการประกาศข่าวดีให้แก่โลก” (Decree Ad gentes, 40) ด้วยการสวดภาวนาอย่างต่อเนื่องและภาวนาในหมู่คณะ นักบวชผู้มีชีวิตบำเพ็ญพรตสงบเสงี่ยม นักบวชที่มีชีวิตชีวา ผู้อุทิศตนช่วยเหลือมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง กระทำกิจการของความรักที่เสียสละต่างๆ อย่างมากมาย ผู้นำการเป็นประจักษ์พยานแห่งความเมตตาของพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวาของพวกเขาไปยังทุกคน
         ในเรื่องที่เกี่ยวกับบรรดาอัครสาวกในยุคสมัยของเรานี้ พระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ผู้รับใช้พระเจ้า ได้ทรงกล่าวไว้ว่า “ขอบคุณสำหรับความศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ผู้ที่มีใจเสียสละอย่างน่าสรรเสริญและยอมละทิ้งทุกอย่าง เพื่อไปประกาศพระวาจาพระเจ้า จนกว่าจะถึงเวลาสิ้นโลก พวกเขามีความคิดในพันธกิจแห่งการประกาศข่าวดี โดยมิได้เรียกร้องคำยกย่องใด ๆ พวกเขาเป็นผู้มีน้ำใจดี บ่อยครั้งที่พวกเขาออกไปภายนอกสังฆมณฑล และ ยินยอมที่จะเสี่ยงภัยไม่ว่าในด้านสุขภาพและชีวิตของตนเอง พระศาสนจักรจึงเป็นหนี้บุญคุณบุคคลเหล่านี้อย่างมากมายจริงๆ”
(Apostolic Exhortation Evangelii nuntiandi, 69)
 
         7. นอกจากนี้ เพื่อให้พระศาสนจักรได้สามารถเดินหน้าต่อไป ในพันธกิจที่พระคริสตเจ้าทรงประทานให้แก่พระศาสนจักรและเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาขาดแคลนผู้เทศน์สอนพระวาจา ซึ่งโลกกำลังต้องการอย่างมากและเป็นสิ่งจำเป็นที่บรรดาคริสตชนจะต้องไม่ละเลย ในการอบรมสั่งสอนข้อความเชื่อแก่บรรดาบุตรหลานและหมู่คณะของตนอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องรักษาผู้ที่มีความเชื่อ ให้มีจิตสำนึกในหน้าที่ของการเป็นผู้แพร่ธรรมที่ร้อนรน และร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับประชากรของโลก พระพรแห่งความเชื่อ เตือนให้บรรดาคริสตชนทุกคนร่วมมือกันในการทำงานประกาศพระวรสาร  จิตสำนึกนี้ต้องการการดูแลทำนุบำรุง ด้วยการเทศน์และ การสอนคำสอน
         โดยอาศัยพิธีกรรมและการอบรมในการสวดภาวนาอย่างสม่ำเสมอ เราจะต้องฝึกฝนการต้อนรับผู้อื่น โดยความรักที่เสียสละ และการเป็นผู้ร่วมเดินทางฝ่ายจิต ด้วยการไตร่ตรองและวินิจฉัย เช่นเดียวกันกับการวางแผนงานอภิบาล ซึ่งการดูแลเอาใจใส่ต่อกระแสเรียกเป็นส่วนสำคัญยิ่ง

         8. กระแสเรียกที่จะเกิดผลดี นำไปสู่การเป็นพระสงฆ์ที่ดีต่อไปนั้น จะเจริญเติบโตขึ้นโดยการเพาะปลูกอย่างดีในผืนดินที่มีชีวิตจิตวิญญาณ เพื่อการนำไปสู่ชีวิตสงฆ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป อันที่จริงกลุ่มคริสตชนที่เจริญชีวิตในธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรในมิติแห่งการเป็นธรรมทูตอย่างลึกซึ้ง จะไม่มองแต่ภายในตนเองเท่านั้น  พันธกิจในการเป็นพยานแห่งความรักของพระเจ้าย่อมจะบังเกิดผลดีเป็นพิเศษ เมื่อได้แบ่งปันร่วมกันในรูปแบบของหมู่คณะ “เพื่อให้คนทั้งโลกได้เชื่อ” (ยน 17,21) 
         การที่พระศาสนจักรสวดภาวนาต่อพระจิตเจ้าทุกวัน ย่อมเป็นของขวัญสำหรับกระแสเรียก และเช่นเดียวกันกับการเริ่มต้นของบรรดาอัครสาวกที่รวมกันอยู่รอบๆ   พระแม่มารีย์ พระมารดาแห่งอัครสาวก หมู่คณะของพระศาสนจักรย่อมจะเรียนรู้จากพระนาง เพื่อวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ประทานอัครสาวกใหม่ ผู้ซึ่งเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในหมู่คณะที่ความเชื่อและความรักเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อพันธกิจของพระศาสนจักร

         9. เราขอฝากข้อคิดนี้แก่หมู่คณะคริสตชนทั้งหลาย เพื่อว่าเขาจะได้ยึดถือเป็นข้อคิดของตนเอง และเหนือไปกว่านั้น พวกเขาจะได้สร้างแรงจูงใจโดยอาศัยคำภาวนาของเขาด้วย เราขอสนับสนุนความมุ่งมั่นของผู้ที่ทำงานด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และใจกว้างขวางต่อการรับใช้ในพระกระแสเรียก และขอส่งคำอวยพรแห่งอัครสาวกจากดวงใจของเราเป็นพิเศษมายังผู้ให้การอบรม ผู้สอนคำสอนและทุกๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนผู้ที่อยู่ในเส้นทางแห่งพระกระแสเรียก

สำนักวาติกัน
3 ธันวาคม 2007


พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16

ข้อมูล : สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย