หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

เนื่องในวันภาวนาสากลเพื่อกระแสเรียก ครั้งที่ 44
วันที่ 29 เมษายน 2007 วันอาทิตย์ที่สี่แห่งเทศกาลปัสกา


หัวข้อ “กระแสเรียกเพื่อรับใช้พระศาสนจักรในฐานะที่ร่วมชิดสนิทสัมพันธ์กัน”
 

ข้อมูล : สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
 

พี่น้องชายหญิงที่รัก

วันภาวนาสากลเพื่อกระแสเรียกประจำปี เป็นโอกาสดีที่จะกล่าวถึงความสำคัญของกระแสเรียกในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร พร้อมทั้งร่วมกันสวดภาวนาเพื่อจะได้มีกระแสเรียกมากขึ้นและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น สำหรับการฉลองของปีนี้นั้น  เราใคร่ขอให้ประชากรของพระเป็นเจ้าทุกคนสนใจกับหัวข้อของปีนี้ ซึ่งมีความเหมาะสมมาก นั่นคือ กระแสเรียกเพื่อรับใช้พระศาสนจักรในฐานะที่ร่วมชิดสนิท สัมพันธ์กัน

ปีที่แล้ว ในช่วงของการเข้าเฝ้าทั่วไปทุกวันพุธ  เราได้อธิบาย อย่างต่อเนื่องถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร เราชี้ให้เห็นว่า ชุมชนคริสตชนกลุ่มแรกได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อชาวประมงกลุ่มหนึ่งจากกาลิลี หลังจากที่ได้พบกับพระเยซูเจ้า ได้ตัดสินใจยอมจำนนต่อสายพระเนตรและพระสุรเสียงของพระองค์ พร้อมทั้งตอบรับคำเชิญเร่งด่วนของพระองค์ที่กล่าวกับพวกเขาว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์” (มก 1:17 เทียบ มธ 4:19)  อันที่จริง พระเจ้าทรงเลือกบางคนให้ร่วมงานกับพระองค์ โดยตรง เพื่อจะได้ทำให้แผนการไถ่กู้ของพระองค์สำเร็จลุล่วงไป

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ตอนแรกพระองค์ทรงเรียกอับราฮัมให้สร้าง “ชนชาติที่ยิ่งใหญ่” (ปฐก 12:2)  ต่อมาพระองค์ทรงเรียกโมเสสให้ปลดปล่อยชนชาติอิสราเอล ให้รอดพ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ (เทียบ ปฐก 3:10) ถัดจากนั้นมา พระองค์ทรงเรียกคนอื่นๆ อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประกาศกให้ปกป้องและรักษาพันธสัญญาที่ทรงกระทำไว้กับประชากร ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่  พระเยซู ผู้ที่พระยาห์เวห์ทรงสัญญาไว้ ทรงเชื้อเชิญอัครสาวกแต่ละคนให้อยู่กับพระองค์ (เทียบ มก 3:14) และช่วยกันรับผิดชอบในพันธกิจของพระองค์

ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ขณะที่ทรงกำชับพวกเขาให้ทำการรำลึกต่อๆ ไป ถึงการสิ้นพระชนม์และการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ จนกระทั่งพระองค์จะเสด็จกลับมาใหม่อย่างรุ่งโรจน์ในวันสิ้นโลก พระองค์ทรงภาวนาต่อพระบิดาเพื่อพวกเขาว่า  “ข้าพเจ้าได้บอกให้เขารู้จักพระนามของพระองค์ และจะบอกให้รู้ต่อไป เพื่อความรักที่พระองค์ทรงรัก ข้าพเจ้าจะได้อยู่ในเขา และข้าพเจ้าจะได้อยู่ในเขาด้วยเช่นกัน” (ยน 17:26) เพราะฉะนั้นพันธกิจของพระศาสนจักรจึงมีรากฐานอยู่ที่ ความสนิทสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด และซื่อสัตย์กับพระผู้เป็นเจ้า

สังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่องพระศาสนจักร (Lumen Gentium) แห่งสังคายนาวาติกัน 2  กล่าวว่า  พระศาสนจักรเป็น “ประชากรที่เป็นหนึ่งเดียวกันในสายสัมพันธ์กับพระบิดา พระบุตร และพระจิต” (ข้อ 4) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงธรรมล้ำลึกของพระเจ้า หมายความว่า ความรักของพระตรีเอกภาพถูกสะท้อนออกมาให้เห็นในพระศาสนจักร ต้องขอบคุณผลแห่งการกระทำของพระจิตเจ้า ที่สมาชิกทุกคนของพระศาสนจักรรวมกันเป็น “กายเดียวและจิตเดียวกัน” ในพระคริสตเจ้า ประชากรที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้การนำของสงฆ์ผู้อภิบาล จึงเจริญชีวิตตามธรรมล้ำลึกแห่งสายสัมพันธ์กับพระเจ้า และกับบรรดาพี่น้องด้วยกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาพร้อมหน้ากันในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ศีลมหาสนิทเป็นแหล่งกำเนิดแห่งสายสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งพระเยซูเจ้า ทรงภาวนาเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันในวันก่อนที่พระองค์จะทรงรับทรมาน “ข้าแต่พระบิดา... ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนาเพื่อให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน  เพื่อให้เขาทั้งหลายอยู่ในพระองค์และในข้าพเจ้า โลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา” (ยน 17:21)  ความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนี้จะช่วยเสริมสร้าง  และก่อให้เกิดกระแสเรียกเพื่อรับใช้พระศาสนจักร ผู้เป็นหัวใจของผู้ที่มีความเชื่อ  เปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้า

และถูกผลักดันให้อุทิศตนเองอย่างหมดสิ้น เพื่อเห็นแก่พระอาณาจักรของพระเจ้า เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมกระแสเรียก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่งานอภิบาลต่างๆ จะต้องมุ่งความสนใจไปที่ธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร  ในฐานะที่เป็นสายสัมพันธ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะว่า ใครที่เจริญชีวิตอยู่ในชุมชนของ

พระศาสนจักรที่มีความรักกลมเกลียวกัน รับผิดชอบร่วมกัน และพร้อมใจกัน แน่นอนว่า พวกเขาจะเรียนรู้และเข้าใจอย่างง่ายดายถึง กระแสเรียกของพระคริสตเจ้า ดังนั้นการอภิบาลกระแสเรียกจึงเรียกร้องให้มี “การอบรม” อย่างสม่ำเสมอ ในการรู้จักรับฟังเสียงของพระเจ้า นี่คือสิ่งที่เอลีกระทำเมื่อท่านช่วยซามูเอลให้เข้าใจว่า พระเจ้าต้องการ
อะไรจากเขา พร้อมกับลงมือปฏิบัติตามเสียงนั้นทันที (เทียบ 1ซมอ 3:9)

การตั้งใจฟังด้วยความซื่อสัตย์และอ่อนน้อมจะเกิดขึ้นได้  ก็ในบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดขึ้นได้ โดยอาศัยการภาวนาตามพระบัญชาอย่างเปิดเผยของพระคริสตเจ้า เราต้องวิงวอนขอพระพรแห่งกระแสเรียกด้วย ประการแรกโดยการภาวนาพร้อมกันอย่างไม่หยุดหย่อนต่อ “พระคริสตเจ้าผู้เป็นเจ้าของนา” การเชื้อเชิญนั้นเป็นพหูพจน์  “จงวอนขอเจ้าของนาให้ส่งเหล่าคนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์เถิด” (มธ 9:38)

การเชื้อเชิญของพระคริสตเจ้านี้สอดคล้องกันกับเนื้อหาของบทสวด “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (มธ 6:9) บทภาวนาที่พระองค์ทรงสอนเราและเป็น “บทสรุปของพระวรสารทั้งหมด” ตามความเห็นที่มีชื่อเสียงของแตร์ตุลเลียน (เทียบ De Oratione, 1, 6 : CCL I, 258) ในมุมมองนี้ พระดำรัสของพระเยซูเจ้าก็จรรโลงใจเช่นเดียวกัน “ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้” (มธ 18:19)

ดังนั้นชุมพาบาลผู้ใจดีจึงเชิญพวกเราให้ภาวนาต่อ พระบิดาเจ้าสวรรค์ ภาวนาพร้อมกันหลายๆ คนและภาวนาอย่าง
ไม่หยุดหย่อน เพื่อพระองค์จะทรงเพิ่มพูนกระแสเรียก เพื่อการรับใช้พระศาสนจักรในฐานะที่เป็นชุมชนแห่งความสนิทสัมพันธ์กัน โดยอาศัยประสบการณ์แห่งการอภิบาลในอดีตหลายศตวรรษ ที่ผ่านมา สังคายนาได้เน้นถึงความสำคัญของการอบรมสงฆ์ในอนาคต ให้มีความสนิทสัมพันธ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระศาสนจักรอย่างใกล้ชิด

สำหรับประเด็นนี้เราพบในสมณสาส์น Presbyterorum ordinis ว่า  “ในการปฏิบัติพันธกิจของพระคริสตเจ้าผู้เป็นนายชุมพาและเป็นศีรษะ พระสงฆ์ในนามของพระสังฆราชจะต้องช่วยรับ และแบ่งหน้าที่กันตาม ความสามารถของตน ในการรวบรวมครอบครัวของพระเจ้าไว้ด้วยกันดุจพี่น้อง ที่ได้รับเชื้อแป้งจากพระจิตองค์เดียวกัน อาศัยพระคริสตเจ้าพวกเขาช่วยกันนำพาลูกแกะเหล่านั้นในนามของพระจิตสู่พระบิดาเจ้า” (ข้อ 6 สมณสาส์น หลังสมัชชา Pastores dabo vobis ยังคงส่งเสียงก้องกังวานเกี่ยวกับคำสอนของสังคายนา เมื่อมีการตอกย้ำว่า พระสงฆ์คือ “ผู้รับใช้ของพระศาสนจักร 

ในฐานะที่เป็นคณะของผู้ที่มีความสนิทสัมพันธ์เดียวกัน  คือความสนิทสัมพันธ์กับพระสังฆราช และเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิดกับคณะสงฆ์ที่ตนสังกัด พระสงฆ์คือผู้ที่สร้างความเป็นเอกภาพแห่งชุมชนคริสตชนนี้ ให้เกิดมีความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวสำหรับผู้ที่มีกระแสเรียกต่างกัน พระพรต่างกัน และการรับใช้ที่ต่างกัน” (ข้อ 16) ภายในประชากร
คริสตชน  เป็นสิ่งที่ขาดมิได้ที่จะต้องให้พันธกิจ  และความสามารถพิเศษทุกอย่าง  นำพาทุกคนให้เข้าไปอยู่ในความสนิทสัมพันธ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน 

เป็นหน้าที่ของพระสังฆราชและพระสงฆ์ที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดความสนิทสัมพันธ์ดังกล่าว และให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันกับกระแสเรียกและการรับใช้พระศาสนจักรในทุกๆ มิติด้วย ชีวิตผู้ถวายตัวก็เช่นเดียวกัน โดยธรรมชาติในตัวเองก็เพื่อรับใช้ความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้  ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงกล่าวไว้หลังสมัชชาใน Vita consecrata ว่า “ชีวิตผู้ถวายตัวสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้อย่างแน่นอน โดยอาศัยการปฏิบัติความเป็นพี่น้องกันอย่างมีชีวิตชีวาในพระศาสนจักร ดุจการเป็นประจักษ์พยานต่อพระตรีเอกภาพ อาศัยการส่งเสริมความรักฉันพี่น้องอย่างสม่ำเสมอ  แม้ในวิถีแห่งชีวิตหมู่คณะ

ชีวิตผู้ถวายตัวก็กลายเป็นประจักษ์พยานว่า การมีส่วนร่วมในความสนิทสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพนั้น สามารถเปลี่ยนความสนิทสัมพันธ์ตามประสามนุษย์ และสร้างความเอื้ออาทรแบบใหม่ขึ้นมาได้” (ข้อ 41) ศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและสุดยอดแห่งชีวิตของพระศาสนจักร จะต้องเป็นศูนย์กลางของทุกชุมชนคริสตชน ใครก็ตามที่มอบตนเองเป็นผู้รับใช้พระวรสาร หากนำเอาศีลมหาสนิทมาดำเนินชีวิต จะก้าวหน้าในความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้าน ผลก็คือจะเป็นผู้มีส่วนช่วยสร้างพระศาสนจักร

ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมแห่งความสนิทสัมพันธ์ เราสามารถยืนยันได้ว่า “ความรักต่อศีลมหาสนิท” จะเป็นแรงบันดาลใจ และก่อให้เกิดกิจกรรมเสริมสร้างกระแสเรียกไปทั่วพระศาสนจักร เพราะดังที่เราได้กล่าวไว้ในสมณสาส์น Deus caritas est กระแสเรียกสู่ชีวิตสงฆ์ และสู่ศาสนบริการ รวมทั้งการให้บริการต่างๆ จะเจริญงอกงามขึ้นในหมู่ประชากรของพระเจ้า ณ ที่ซึ่งประชากรสามารถมองเห็นพระคริสตเจ้าได้ อาศัยพระวาจาของพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลมหาสนิท ที่เป็น เช่นนี้เพราะว่า “ในพิธีกรรมของพระศาสนจักร ในการสวดภาวนา และในชุมชนของผู้มีความเชื่อที่เจริญชีวิตด้วยกัน เรามีประสบการณ์แห่งความรักของพระเจ้า เราเห็นการประทับอยู่ของพระองค์ เราจึงสามารถเรียนรู้และทราบถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรา พระองค์ทรงรักเราก่อน และพระองค์ก็ยังทรงกระทำเช่นนี้ต่อไป จึงทำให้เราต้องตอบสนองพระองค์ด้วยความรักเช่นเดียวกัน” (ข้อ 17)

สุดท้าย ให้เราหันหน้าไปหาพระแม่  ผู้ที่เป็นกำลังใจคอยสนับสนุนชุมชนแรก ณ ที่ซึ่ง “ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอเป็นน้ำหนึ่ง--ใจเดียวกัน” (กจ 1:14) เพื่อพระแม่จะได้ช่วยพระศาสนจักรในโลกยุคนี้ ให้เป็นแบบจำลองของพระตรีเอกภาพ เป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนแห่งความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ทุกคน  ขอพระแม่พรหมจารี ผู้ตอบสนองต่อการเรียกของพระบิดาโดยทันที ด้วยการกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า” (ลก 1:38)  ได้โปรดวิงวอนเพื่อบรรดาคริสตชน  จะไม่ขาดผู้รับใช้ที่จะนำความยินดีของพระเจ้ามาให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์  

ผู้ที่อาศัยความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระสังฆราช  ประกาศพระวรสารด้วยความซื่อสัตย์ ประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อภิบาลประชากรของพระเจ้าด้วยความเอาใจใส่ และพร้อมเสมอที่จะประกาศพระวรสารให้แก่มนุษยชาติทั่วไป ในสมัยของเราก็เช่นกัน ขอพระแม่ทรงโปรดให้มีผู้ถวายตัวเพิ่มขึ้น ผู้ที่ยินดีทวนกระแส  เจริญชีวิตในความยากจนตามจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร ถือความบริสุทธิ์และความนบนอบ และเป็นประจักษ์พยานถึงวิถีทางของพระคริสตเจ้ารวมถึงข่าวดีแห่งความรอดพ้น พี่น้องที่รัก ผู้ที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกให้มีกระแสเรียกอย่างใดอย่างหนึ่งในพระศาสนจักร  เราขอมอบพวกท่านทุกคนเป็นพิเศษต่อพระแม่มารีย์

เพื่อพระแม่ผู้ทรงเข้าใจความหมายแห่งพระวาจาของพระเยซูมากกว่าใครๆ “มารดาและพี่น้องของเรา คือผู้ที่ฟังพระวาจาของพระเจ้าและนำไปปฏิบัติ” (ลก 8:21) จะได้สอนท่านให้รู้จักฟังพระวาจาแห่งพระบุตรของพระแม่ ขอพระแม่โปรดช่วยท่านให้สามารถกล่าวด้วยชีวิตว่า “พระเจ้าข้า  ข้าพเจ้ามาเพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระองค์” (ฮบ 10:7) พร้อมกับความปรารถนาเหล่านี้ เราขอส่งคำภาวนาจากใจและอวยพรมายังท่านทุกคน

นครวาติกัน 10 กุมภาพันธ์ 2007

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16

บทภาวนาสำหรับองค์สมเด็จพระสันตะปา
ข้าแต่พระเจ้า  แหล่งแห่งชีวิตนิรันดร และความจริง โปรดทรงมอบพระจิตแห่งความกล้าหาญ และการตัดสินที่เที่ยงธรรม พระจิตแห่งความรู้และความรัก แก่ผู้นำฝูงชุมพาของพระองค์เพื่อทรงปกครอง ดูแลพระศาสนจักรด้วยความเชื่อมั่น แห่งการดูแลเอาใจใส่ เหมือนดังอัครสาวกเปโตร และผู้สืบตำแหน่งขององค์พระคริสตเจ้า ในการสถาปนาพระศาสนจักร สู่ความศักดิ์สิทธ์หนึ่งเดียว ความรัก และสันติสุขสำหรับมนุษยโลก เราวิงวอนทั้งนี้ ผ่านทางองค์พระคริสตเจ้า ผู้ทรงจำเริญ และเสวยราชย์ เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์และพระจิต ตลอดนิรันดร อาแมน