Share |

บทมิสซาวันสื่อมวลชนสากลครั้งที่44

สมณสภาสื่อสารสังคมสันตะสำนัก
วันสื่อมวลชนสากล ครั้งที่ 44
“พระสงฆ์และงานอภิบาลในโลกดิจิตอล : สื่อใหม่เพื่อนำเสนอพระวาจา”

 

พี่น้องชายหญิงที่รัก

หัวข้อสำหรับวันสื่อมวลชนสากล “พระสงฆ์และงานอภิบาลในโลกดิจิตอล : สื่อใหม่เพื่อนำเสนอพระวาจา” มีจุดประสงค์ให้ตรงกับการเฉลิมฉลองปีพระสงฆ์ของพระศาสนจักร ที่มุ่งไปยังความสำคัญและความละเอียดอ่อนของสื่อดิจิตอลในงานอภิบาล ซึ่งพระสงฆ์สามารถค้นพบแนวทางในการนำเสนอพระวาจาของพระเจ้า ชุมชนพระศาสนจักรได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการสื่อสาร ในการให้ความสนใจกับสังคม และมีมากขึ้นในการส่งเสริมการเสวนาในวงจรที่กว้างขวางออกไป แต่ในช่วงเวลานี้ การก้าวหน้าอย่างกะทันหัน และผลกระทบของสื่อสารต่างๆ เหล่านี้ต่อสังคม ยิ่งทำให้มีความสำคัญมากขึ้นในงานอภิบาลของพระสงฆ์

หน้าที่หลักของพระสงฆ์ทุกท่าน ก็คือการประกาศพระเยซูคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ของพระเจ้าผู้ทรงรับเอากาย และสานต่อพระหรรษทานอันบันดาลความรอดพ้นของพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระศาสนจักรในฐานะที่ได้รวบรวมและได้รับการเรียกร้องจากองค์พระวจนาตถ์ ย่อมเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งพระศาสนจักรได้จัดให้มีขึ้นกับประชาชน และพระสงฆ์ทุกท่านก็ได้รับกระแสเรียกให้เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้

ในพระคริสตเจ้าและพร้อมกับพระองค์ นี่คือเกียรติอันสูงส่ง และงดงามแห่งพันธกิจของพระสงฆ์ ซึ่งให้การตอบสนองเป็นพิเศษต่อคำท้าทายของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “พระคัมภีร์กล่าวว่า ทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์จะไม่ได้รับความอับอาย...เพราะทุกคนที่เรียกขานพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็จะรอดพ้น แต่เขาจะเรียกขานพระองค์ได้อย่างไร ถ้าพวกเขาไม่เชื่อ จะเชื่อได้อย่างไร ถ้าไม่เคยได้ยิน จะได้ยินได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครประกาศสอน จะมีผู้ประกาศสอนได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครส่งไป” (โรม 10:11, 13-15)

การตอบสนองสิ่งที่ท้าทายนี้อย่างเหมาะสม ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม ซึ่งเยาวชนเข้าใจดีเป็นพิเศษ จำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารที่เหมาะสม ในยุคการสื่อสารในระบบดิจิตอล ซึ่งประกอบด้วยการแสดงออกอย่างไร้ขอบเขต ช่วยให้เราสำนึกในถ้อยคำของนักบุญเปาโลมากขึ้น เมื่อท่านกล่าวว่า “หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี ข้าพเจ้าย่อมได้รับความวิบัติ” (1โครินธ์ 9:16) ยิ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ มีมากเท่าไร ก็จำเป็นที่ผู้รับผิดชอบในการประกาศข่าวดี จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น นอกจากนั้น ความพยายามของเขายังต้องมีความมุ่งมั่น เชี่ยวชาญ และน่าเชื่อถืออีกด้วย พระสงฆ์กำลังยืนอยู่ที่ธรณีของยุคใหม่ ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ในระยะทางที่ห่างไกลมากยิ่งขึ้น พวกท่านได้รับเชิญให้สนองตอบในด้านอภิบาล ด้วยการนำสื่อไปใช้ให้มีประโยชน์มากขึ้นในการประกาศพระวาจา

การแผ่ขยายของสื่อสารในรูปแบบต่างๆ มากมาย และรายการที่มีให้เลือกมากมาย อาจทำให้เราคิดว่าการปรากฏในเว็บไซต์ก็คงจะพอเพียงแล้ว หรือมองว่าเป็นเพียงช่องว่างที่จะต้องเติมให้เต็ม แต่พระสงฆ์ได้รับการคาดหวังอย่างถูกต้องที่จะให้เข้าไปอยู่ในโลกของสื่อทางดิจิตอล ในฐานะประจักษ์พยานที่ซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระวรสาร โดยประกอบหน้าที่ในฐานะผู้นำของมวลชน ซึ่งมักจะแสดงออกซึ่งซุ่มเสียงที่แตกต่างออกไป ซึ่งตลาดของดิจิตอลได้เบิกทางไว้ให้ ดังนั้นพระสงฆ์จึงได้รับการท้าทายให้ประกาศพระวรสาร โดยใช้เครื่องมือสื่อสารล่าสุด (ภาพ วิดีโอ animated features บล็อก เว็บไซต์) ซึ่งสามารถเปิดหนทางใหม่ในการเสวนา การเผยแผ่พระวรสารและการสอนคำสอน ควบคู่ไปกับเครื่องมือเก่าที่เคยใช้กันมา

ในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ พระสงฆ์สามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักกับชีวิตของพระศาสนจักร และช่วยให้ผู้คนรุ่นเดียวกับเราให้ได้พบพระพักตร์พระคริสตเจ้า พระสงฆ์จะสามารถบรรลุถึงจุดมุ่งหมายนี้ได้ หากพวกท่านจะเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ ตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งการอบรม เพื่อให้รู้ถึงการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างถูกต้องและได้ผล โดยมีแนวทางของเทววิทยาที่ถูกต้อง ควบคู่ไปกับชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของพระสงฆ์ ซึ่งยึดมั่นในการเสวนากับองค์พระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา การกระทำดังนี้ มิใช่เพียงแต่จะช่วยให้ท่านเห็นชัดถึงการออกไปสู่งานอภิบาลของท่านเท่านั้น หากแต่ยังทำให้การสื่อสารทาง “เว็บไซต์” มีจิตวิญญาณขึ้น

ความเอาพระทัยใส่ด้วยความรักของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์ในองค์พระคริสตเจ้า ต้องได้รับการแสดงออกในโลกดิจิตอล มิใช่ว่าเป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือเป็นเรื่องราวด้านสติปัญญาเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่แตะต้องได้ในปัจจุบันและกำลังดำเนินอยู่ การที่เราเข้าไปอยู่ในโลกนั้น เป็นการแสดงให้เพื่อนร่วมยุคของเรา โดยเฉพาะมนุษย์ในปัจจุบัน ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความสับสนว่า “พระเจ้าประทับอยู่ใกล้ตัวเรา และเราเป็นของกันและกันในองค์พระคริสตเจ้า” (พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ต่อเจ้าหน้าที่วาติกัน - 21 ธันวาคม 2009)

ในฐานะที่พระสงฆ์เป็นบุคคลของพระเจ้า ไม่มีใครที่จะทำได้ดีไปกว่าท่าน ในฐานะผู้ที่มีความสามารถด้านเทคนิคในยุคดิจิตอล ท่านสามารถที่จะทำให้พระเจ้าทรงประทับอยู่ในโลกปัจจุบันในภาคปฏิบัติ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าความเฉลียวฉลาดด้านศาสนาในอดีตคือสมบัติ ซึ่งสามารถดลใจเราให้เจริญชีวิตในปัจจุบันอย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะที่กำลังเสริมสร้างอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน นักบวชชายหญิงที่ทำงานด้านสื่อมวลชนมีหน้าที่พิเศษที่จะเปิดประตูต้อนรับการสัมผัสในรูปแบบที่ใหม่ รักษาไว้ซึ่งคุณสมบัติของการมีปฏิกิริยาต่อกันในด้านมนุษยสัมพันธ์ และแสดงความสนใจต่อเพื่อนมนุษย์และความต้องการทางด้านฝ่ายจิตวิญญาณของพวกเขา ดังนั้นเขาจึงจะสามารถช่วยชายหญิงในยุคดิจิตอลของเราให้สำนึกว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขา ให้พวกเขาก้าวหน้าในความปรารถนาและความหวัง และพยายามใกล้ชิดกับพระวาจาของพระเจ้า ผู้ทรงประทานความรอดและทรงสนับสนุนการพัฒนามนุษย์ทั้งครบ

ด้วยวิธีนี้พระวาจาก็จะสามารถผ่านทางแยกมากมายของถนนหนทางของ “ยุคไซเบอร์” และแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงมีที่พำนักอันถูกต้องของพระองค์ ในทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งยุคสมัยของเราด้วย ขอบคุณสื่อสารสังคมใหม่ที่บันดาลให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงดำเนินอยู่บนถนนในเมืองต่างๆ ของเรา ทรงหยุดอยู่หน้าประตูบ้านและในหัวใจของเรา เราสามารถกล่าวได้อีกครั้งหนึ่งว่า “ดูเถิด เรากำลังยืนเคาะประตู ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปกินอาหารร่วมกับเขา เขาจะกินอาหารร่วมกับเรา” (วิวรณ์ 3:20)

ในสาส์นของเราเมื่อปีที่แล้ว เราได้เน้นให้ผู้นำแห่งโลกของสื่อได้สนับสนุนวัฒนธรรมแห่งความเคารพในสิทธิและคุณค่าของมนุษย์แต่ละคน นี่คือหนทางหนึ่งที่พระศาสนจักรได้รับการเรียกร้องให้สนับสนุนความเคารพต่อวัฒนธรรมในยุคดิจิตอลของเราในปัจจุบัน อาศัยพระวรสารในมือและในหัวใจของเรา เราต้องเน้นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องเตรียมทางที่จะนำไปสู่พระวาจาของพระเจ้าต่อไป ในขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจกับผู้ที่ยังคงแสวงหาต่อไป อันที่จริงแล้วเราควรสนับสนุนการแสวงหาของพวกเขา ในฐานะที่เป็นก้าวแรกของการประกาศพระวรสาร การอยู่ในโลกของสื่อดิจิตอลในรูปแบบของงานอภิบาล เนื่องจากเป็นการนำเราให้เข้าไปสัมผัสกับผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ผู้ที่ไร้ศาสนา และประชาชนต่างวัฒนธรรม เราก็ควรพยายามเข้าใจผู้ที่ไร้ความเชื่อ ผู้ที่ท้อใจ และผู้ที่มีความปรารถนาอันลึกซึ้งต่อความจริงที่ยั่งยืนและสิ่งที่สูงสุด

ดังที่ประกาศกอิสยาห์วาดมโนภาพของบ้านแห่งการอธิษฐานภาวนาสำหรับมนุษย์ทุกคน (ดู อิสยาห์ 56:7) เราพอจะเห็นได้ไหมว่า “เว็บไซต์” ก็มีที่ไว้ดังเช่น “ลานสำหรับคนต่างศาสนา” ของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มสำหรับผู้ที่มิได้รู้จักกับพระเจ้า
การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และโลกดิจิตอลที่กว้างไกลขึ้น นับเป็นขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติโดยส่วนรวมและมนุษย์แต่ละคน และสามารถเป็นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้มีการพบปะและเสวนากัน แต่ความก้าวหน้าในเรื่องนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่มีความเชื่อด้วย ไม่ควรมีประตูที่ปิดตาย สำหรับผู้ที่อุทิศตนเพื่อใกล้ชิดกับผู้อื่นให้มากขึ้น ในพระนามของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์

โดยเฉพาะสำหรับพระสงฆ์ สื่อใหม่ๆ เป็นการเปิดโอกาสใหม่และกว้างไกล สำหรับงานอภิบาลช่วยให้ท่านนึกถึงพันธกิจสากลของพระศาสนจักร ให้กำลังใจท่านให้เสริมสร้างมิตรภาพที่กว้างไกลและเที่ยงแท้ และเป็นประจักษ์พยานแก่โลกถึงชีวิตใหม่ ซึ่งมาจากการสดับรับฟังพระวรสารของพระเยซูเจ้า องค์พระบุตรนิรันดรผู้เสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เพื่อความรอดพ้นของเราเอง แต่ในขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ควรสำนึกอยู่เสมอว่า การบรรลุผลขั้นสูงสุดแห่งงานอภิบาลของท่านนั้น มาจากพระคริสตเจ้าพระองค์เอง พระคริสตเจ้าที่ท่านสัมผัสและรับฟังในการอธิษฐานภาวนา ป่าวประกาศในการเทศน์สอนและชีวิตที่เป็นประจักษ์พยาน พระองค์ผู้ที่ท่านรู้จัก รักและเฉลิมฉลองในศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาป

ดังนั้น เราจึงขอเชิญชวนบรรดาพี่น้องสงฆ์ของเราอีกครั้งหนึ่ง ให้พยายามใช้ให้ดีที่สุด ซึ่งสิ่งที่เป็นไปได้อาศัยสื่อสารมวลชน ขอพระเจ้าทรงโปรดให้ท่านเป็นผู้เบิกทางที่มีจิตใจร้อนรน นำพระวรสารไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งสื่อต่างๆ ในปัจจุบันได้เปิดให้ไปถึง ด้วยความไว้วางใจดังนี้ เราจึงวอนขอพระมารดาพระเจ้า และท่านนักบุญยอห์น มารีย์ เวียนเนย์ ได้ปกป้องคุ้มครองท่าน และเราขอส่งพรของท่านอัครสาวกมายังท่านทุกคน

 

ให้ไว้ ณ สำนักวาติกัน วันที่ 24 มกราคม 2010

วันฉลองนักบุญฟรังซิส เดอซาลส์

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16
 

ขอขอบคุณหนังสืออุดมสาร