เรียบเรียง โดย มองซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์
วศิน มานะสุรางกูล

* ขั้นตอนนำไปสู่การสถาปนาเป็นนักบุญ อาจสรุปได้ดังนี้

1. กระบวนการอาจเริ่มจากกลุ่มคริสตชนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง หรือ จากคณะนักบวชคณะหนึ่ง หรือ จากสถาบันสมาคมหนึ่ง เริ่มถามตัวเองว่า ถ้าหากมีใครหรือสมาชิกคนใดในพวกเขา อาจจะอยู่ในสถานภาพการเป็นนักบุญ ผู้นั้นไม่ใช่เพียงแค่คนดีคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งจริงๆ (Heroic Virtue)

2. จำเป็นต้องมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนและเห็นด้วยกับความคิด ไม่ใช่ 2-3 คน ที่เห็นด้วย แต่ต้องมีจำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องสาธารณะ

3. ควรทำให้คนทั่วๆไป รู้จักผู้ที่จะถูกเสนอชื่อให้เป็นนักบุญ โดยการเชิญชวนให้มารู้จักโดยการเขียนแผ่นพับ นิทรรศการประวัติส่วนตัว และเชิญชวนให้ทุกคนภาวนาผ่านทางผู้นั้น เพื่อจะให้คุณธรรมหรือฤทธิ์กุศลของผู้นั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้น

4. ในกรณีที่เกิดอัศจรรย์ขึ้นในบุคคลนั้น แม้ระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่เขาจากโลกนี้แล้ว ซึ่งได้รับการพิสูจน์อย่างพิถีพิถัน สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นโอกาสที่จะนำมาเสนอให้สาธารณะชนได้รับรู้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คณะที่ไม่รู้จักเขาเลย

5. บุคคลในคณะ สถาบัน ที่มีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อผู้ที่พวกเขาคิดว่าคงเป็นนักบุญ อาจจะแสดงออกในความศรัทธาพิเศษ แต่นี่ก็เป็นความศรัทธาส่วนตัว ซึ่งก็จะเป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง จึงเสนอต่อผู้ทีมีความศรัทธาเหล่านี้ อาจจะจัดให้มีการสวดภาวนาที่บ้าน หรือหลุมศพผู้นั้นที่สุสาน แต่ไม่ใช่วัด จากจุดนี้จะเริ่มทำให้ผู้นั้น เริ่มเป็นที่รู้จักในสาธารณะ

6. กลุ่มคริสตชน คณะนักบวช หรือ สถาบัน แน่นอนปรารถนาจะเก็บสิ่งของต่างๆ ที่เป็นของผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้นั้น ทั้งของที่เป็นส่วนตัวและของที่เขาเคยใช้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่เรียกว่า “พระธาตุ” (Relic) วัตถุสำคัญที่ตกทอดมา จะมีความสำคัญเพื่อใช้พิสูจน์ในกระบวนการพิสูจน์การสถาปนานักบุญ

7. จำเป็นอย่างยิ่งต้องนำเสนอเรื่องเช่นนี้แก่พระสังฆราชท้องถิ่น และท่านจะเป็นผู้ตัดสินใจที่จะดำเนินกระบวนการดังกล่าว

8. หลังจากที่เรื่องการเสนอตั้งแต่งนักบุญองค์ใหม่อยู่ในมือของพระสังฆราชท้อง ถิ่น จากนี้ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ มิได้หมายความว่า คณะ กลุ่ม หรือ สถาบัน นั้น สามารถซื้อการสถาปนานักบุญมาได้ แต่เพราะว่าที่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย เพราะว่า การค้นคว้า การสอบสวน กรณีดังกล่าวจะต้องมีผู้รับผิดชอบในโครงการทั้งหมด ซึ่งต้องมีคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลต่างๆ และเดินทางจะบ่อยครั้งถึงวาติกัน การรวบรวมค่าใช้จ่ายต่างๆนี้ จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปๆ มีส่วนร่วมในการสนับสนุน เพราะการเสนอนักบุญใหม่องค์หนึ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือ เฉพาะของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ซึ่งตามกฎของพระศาสนจักร สิ่งสำคัญคือ จะต้องมีคนทั่วๆไปสนับสนุนโครงการด้วย

9. บุคคลผู้ซึ่งรวบรวมเอกสารทั้งหมดให้พระสังฆราช และตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน จัดระบบและหมวดหมู่ เรียกว่า “ผู้ดำเนินการที่ยึดความจริงเป็นหลัก” (Postulator) เมื่อพระสังฆราชท้องถิ่นได้รับเอกสารและหลักฐานต่างๆทั้งหมดเป็นระบบระเบียบ จึงนำส่งไปยังวาติกัน ที่กระทรวงเพื่อการสถาปนานักบุญ (Congregation for Causes of Saints) ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในการดำเนินการหรือเรียกว่า “Positio”

10. การชันสูตรศพของผู้ที่ถูกนำเสนอกรณีเป็นนักบุญ (ในยุคกลางเรียกว่า Translation of Body) พระสังฆราชท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการชันสูตรศพจะต้องตรวจสอบอย่าง ละเอียด เพื่อให้มีความมั่นใจว่า เป็นศพของผู้นั้นจริงๆ บางกรณีมีความเป็นไปได้ที่ศพนั้นไม่เปื่อยเน่า อันเป็นเครื่องหมายสำคัญอันหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลนั้น ถึงแม้ว่าว่าศพนั้นเปื่อยเน่าไปแล้ว ก็มิได้หมายความว่า ผลการแต่งตั้งนักบุญจะออกมาในทางลบหรือไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ตามที่ปฏิบัติกันมา ซากศพนั้นจะต้องถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ใหม่ ที่ซึ่งเหมาะสมและง่ายต่อคนทั่วไปจะมีโอกาสได้แสดงความเคารพ สวดภาวนาและแสวงบุญ

11. หลังจากการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดอย่างพิถีพิถัน สมณกระทรวงเพื่อการสถาปนานักบุญ จะนำเสนอเอกสารทั้งหมดให้อยู่ในมือของสมณมนตรีเจ้ากระทรวง และสมาชิกทุกคนของกระทรวง เพื่อการพิจารณาและตัดสินในร่วมกันว่า สมควรจะนำเสนอกรณีดังกล่าวไปยังสมเด็จพระสันตะปาปา หรือไม่

12. เมื่อกรณีหรือมูลเหตุกระบวนการเริ่มขึ้น จะประกาศผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนักบุญว่า “ผู้รับใช้พระเจ้า” ( Servant of God) หลังจากการพิสูจน์และมีหลักฐานถี่ถ้วนว่า ผู้นั้นมีฤทธิ์กุศลที่โดดเด่นอย่างแท้จริงในชีวิตของท่าน ก็จะประกาศให้เป็น “บุคคลที่น่าเคารพ” (Venerable) ขั้นตอนต่อไป ต้องรอพระหรรษทานจากพระเจ้า เพราะเครื่องหมายจากพระองค์ถึงพระประสงค์ที่จะให้ผู้นั้นได้รับการแต่งตั้ง เป็นนักบุญ ซึ่งหมายถึงอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากพระเจ้า ผ่านทางคำภาวนาต่อ “ผู้รับใช้พระเจ้า” ก่อนที่จะประกาศแต่งตั้งท่านเป็น “บุญราศี” (Blessed) เมื่อมาถึงจุดนี้ บุญราศีใหม่จะได้รับบทภาวนาโดยเฉพาะในพิธีกรรม ทั้งมีการกำหนดวันฉลอง สถานที่ ตามปฏิทินในพระศาสนจักรท้องถิ่นนั้นๆ และสามารถประกาศเชิญชวนให้คนมาแสดงความศรัทธาต่อท่านได้ในวัด

ในอดีตการประกาศแต่งตั้ง “บุญราศี” องค์ใดองค์หนึ่ง จำเป็นต้องมีอัศจรรย์ที่เด่น 2 เรื่อง และต้องมีเพิ่มอีก 2 เรื่อง เพื่อสถาปนาเป็นนักบุญ แต่ในปัจจุบันด้องการอัศจรรย์พียง 1 เรื่อง เพื่อเป็นบุญราศี และเพิ่มอีก 1 เรื่องเพื่อการเป็นนักบุญ และในปัจจุบันผู้ที่เป็น “มรณสักขี” (Martyr) ไม่จำเป็นต้องมีอัศจรรย์เข้ามาสนับสนุน

ที่สังเกตก็คือเรื่องอัศจรรย์ มักจะเกี่ยวพันกับเรื่องการหายจากโรคภัยต่างๆ ซึ่งจะมีคณะแพทย์พิเศษที่เรียกว่า “คณะที่ปรึกษาทางแพทย์” (Consulta Medica) เป็นผู้ตรวจสอบกรณี และต้องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับอัศจรรย์นั้นเป็นโรคอะไร และคณะแพทย์ต้องให้คำอธิบายลำดับเหตุการณ์การป่วย การรักษา ผลการรักษาและอะไรคือความจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้นๆ คณะแพทย์ดังกล่าวไม่มีสิทธิ์ที่จะประกาศว่า “นี่คืออัศจรรย์” แต่จะต้องประกาศเป็นทางเชิงที่ว่า “พวก คณะแพทย์พบว่าโรคที่รับการรักษานั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่สามารถพบคำอธิบายและการพิสูจน์ได้โดยหลักการทางการแพทย์และทางวิทยา ศาสตร์”

13. กระบวนการท้ายที่สุด สมเด็จพระสันตะปาปาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะประกาศและแต่งตั้งผู้นั้นเป็นบุญราศีหรือไม่! หากมีการแต่งตั้งจะประกอบพิธีที่ไหน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วพิธีดังกล่าวประกอบขึ้นที่พระมหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม แต่ว่าไม่จำเป็นเสมอไปต้องทำที่กรุงโรมเท่านั้น ในสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 พระองค์เดินทางไปทั่วโลกบ่อยครั้ง และมักจะประกอบพิธีแต่งตั้งบุญราศี ในประเทศที่พระองค์เสด็จไป เช่น เมื่อต้องแต่งตั้งบุญราศี โยเซฟิน บาคีต้า พระองค์ประกอบพิธีที่ซูดาน แอฟริกา ขณะที่พระองค์เสด็จไปที่นั่น

14. จากนี้จำเป็นต้องรออัศจรรย์ที่เด่นชัดอีก 1 เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบุญราศีนั้น เพื่อจะได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ไม่มีอัศจรรย์เด่นๆ เกิดขึ้นอีกเลย มีหลายกรณีที่ผู้ถูกเสนอชื่อนั้นคงเป็นแค่เพียง “ผู้รับใช้พระเจ้า” หรือแค่เป็น “บุญราศี” แม้ว่า บางกรณีมีอัศจรรย์สนับสนุนให้ผู้นั้นเป็นนักบุญได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมเด็จพระสันตะปาปาผู้เดียว ที่จะตัดสินใจและเลือกบุคคลนั้นขึ้นในฐานะนักบุญหรือไม่?

มีคำถามว่า อะไรเกิดขึ้น ถ้าหากผู้นั้นไม่ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี ไม่เคยได้รับการประกาศให้เป็น “บุคคลที่น่าเคารพ” นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ บุคคลเหล่านั้นมีที่ของท่านในสวรรค์ และมีวันฉลองของท่านแน่นอน เหมือนกับทุกคนที่จากโลกนี้ไปในพระหรรษทานของพระเจ้า ซึ่งรวมถึงบุคคลผู้ที่เรารัก เรารู้จักที่จากโลกนี้ไปแล้ว วันฉลองของทุกคนคือ “วันฉลองนักบุญทั้งหลาย” นั่นเอง ซึ่งพระศาสนจักรกำหนดให้ฉลองในวันที่ 1 พฤศจิกายน สำหรับดวงวิญญาณทุกดวงที่ร่วมสิริมงคลในพระเจ้า แม้ว่าไม่ได้รับการประกาศอยู่ในสารบบนักบุญก็ตาม

* ชื่อหรือตำแหน่งที่ใช้เรียกบุคคลที่ร่วมสิริมงคลในพระเจ้า

- “ผู้รับใช้พระเจ้า” (Servant of God):
ตำแหน่งนี้ถูกประกาศและใช้เรียกบุคคลที่ถูกเสนอให้เป็นนักบุญ ทันทีเมื่อกรณีของท่านถูกเปิดออกเพื่อการสอบสวนอย่างเป็นทางการ

- “ผู้ที่น่าเคารพ” (Venerable): ใช้เรียกผู้รับใช้พระเจ้า เมื่อท่านได้รับการประกาศโดยกฤษฎีกาจากสมณกระทรวงเพื่อการสถาปนานักบุญ เกี่ยวกับฤทธิ์กุศลอันโดดเด่นของผู้นั้น

- “บุญราศี” (Blessed): เมื่อมีอัศจรรย์เด่นเกิดขึ้นและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นอัศจรรย์แท้จริงที่เกิดขึ้นแก่ “ผู้ที่น่าเคารพ” นั้น และสมเด็จพระสันตะปาปาเห็นด้วยในการแต่งตั้งให้เป็นบุญราศีและประกอบพิธีแต่งตั้ง

- “นักบุญ” (Saint): หลังจากผู้นั้นอยู่ในฐานะ “บุญราศี” และถ้าหากเกิดอัศจรรย์ที่เด่นชัดเกิดขึ้นอีก 1 เรื่อง และกรณีดังกล่าวถูกนำเสนอไปยังสมเด็จพระสันตะปาปา ท้ายสุดขึ้นอยู่กับพระองค์ท่านจะสถาปนาขึ้นสู่ฐานะนักบุญหรือไม่! ถ้าพระองค์เห็นสมควรก็จะมีพิธีการสถาปนาบุคคลนั้นเป็นนักบุญ

ตาม ธรรมเนียมของพระศาสนจักรที่เคยปฏิบัติกันมา บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อเพื่อการแต่งตั้งเป็นนักบุญ สามารถกระทำได้หลังจากที่ท่านจากโลกนี้ไปแล้วอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี จึงจะเริ่มขบวนการไปสู่การแต่งตั้งเป็นบุญราศี แต่ในกรณีของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 นั้น เมื่อสิ้นพระชนม์และหลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงประกาศให้เริ่มกระบวนการเพื่อนำไปสู่ฐานะบุญราศีและนักบุญของพระ สันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เรียกว่า “ทางลัด” ไปสู่การเป็นนักบุญ เช่นเดียวกับกรณีของคุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา นั่นเอง

สมเด็จ พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 พิจารณาถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงของพระองค์ท่าน (พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2) ปรากกฎขึ้นจริงๆ และศาสนิกชนทั่วโลกเป็นจำนวนมากที่ได้ร้องขอและเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ เพื่อให้พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ขึ้นสู่ฐานะนักบุญในทันที ทั้งนี้ พระองค์มีความเหมาะสมแท้จริง ด้วยเหตุนี้ขบวนการจึงเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณข้อมูลจาก : catholicworldtour.blogspot.com