เรียบเรียง โดย มองซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์
วศิน มานะสุรางกูล

สมเด็จ พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงสิ้นพระชนม์ในวันที่ 2 เมษายน 2005 และพิธีปลงพระศพมีขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2005 ณ พระมหาวิหาร นักบุญเปโตร กรุงโรม ท่ามกลางผู้มาร่วมไว้อาลัยนับแสน สิ่งที่น่าสังเกตอันดับแรกคือมีผู้คนมากมายหลายกลุ่มต่างชูป้าย “Santo Subito” พร้อมกับโห่ร้อง “ซางโต ซุบิโต้” ซึ่งหมายถึงว่า “นักบุญในทันที” อันเป็นเครื่องหมายว่า คนจำนวนมากเห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความเหมาะสมของพระองค์ท่าน และปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้สถาปนาขึ้นเป็นนักบุญในทันทีทันใด

ก่อน ที่จะไปถึงเรื่องการแต่งตั้งเป็นนักบุญของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นความรู้แก่ผู้อ่านเกี่ยวกับขั้นตอนและการพัฒนา กระบวนการของการสถาปนานักบุญ ผู้เขียนและผู้เรียบเรียงบทความนี้จึงขออธิบายพอสังเขปดังต่อไปนี้

ในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 (1978-2005) มีหลายคนพูดว่า วาติกัน กลายเป็น “โรงงานผลิตนักบุญ” เนื่องจากว่าในสมัยของพระองค์นั้นมีการแต่งตั้งบุญราศี (Blessed) ถึง 1,338 องค์ และสถาปนาเป็นนักบุญเกือบ 500 องค์ จำนวนดังกล่าวมากกว่าในสมณสมัยสันตะปาปาองค์ก่อนๆ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1588-1978 รวมกันเสียอีก

ก่อน สมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 นั้นการแต่งตั้งบุญราศีและสถาปนานักบุญแต่ละองค์ต้องใช้เวลายาวนานในกระบวน การ บ้างเป็นสิบๆ ปี หรืออาจจะเกินร้อยปีด้วยซ้ำไป แต่มาถึง ศต.ที่ 21 วิธีการและกระบวนการสถาปนาเปลี่ยนแปลงไปจากวิธีการในยุคแรกๆ ของพระศาสนจักร

* นักบุญในยุคแรกๆ ของพระศาสนจักร

ในช่วง ศต.ที่ 1-3 ของพระศาสนจักรท้องถิ่นรับรอง “ผู้ที่เป็นนักบุญหรือผู้ศักดิ์สิทธิ์” ค่อนข้างจะง่าย เพราะว่า ผู้นั้นเสียชีวิตเป็น “มรณสักขี” (Martyr) คือ ยอมพลีชีพเป็นพยานถึงพระวรสาร มีจำนวนมากทีเดียวที่ตายไปโดยการหลั่งเลือด เพราะคริสตชนสมัยนั้นไม่ยอมรับกฎหมายโรมัน! กลุ่มคริสตชนจึงรวบรวมซากศพที่หลงเหลือของบุคคลที่พลีชีวิตเหล่านี้เข้าด้วย กันและถือว่าเป็นสมบัติล้ำค่า หลุมศพของบุคคลเหล่านั้นกลายเป็นสถานที่สวดภาวนาของคริสตชน สักการะสถานต่างๆ จึงถูกสร้างขึ้นมากมาย ต่อมาสถานที่เหล่านั้นถูกสร้างขึ้นเป็นวัดต่างๆ และบางแห่งกลายเป็นวิหารหรืออาสนวิหาร แม้กระทั้งมหาวิหาร (Basilicas) ด้วย

หลังจาก “กฤษฎีกาแห่งมิลาน” ในปี ค.ศ.313 เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนติน ประกาศว่า คริสตชนไม่ใช่พวกนอกกฎหมายอีกต่อไป ดูเหมือนว่า ตั้งแต่ตอนนั้น การประกาศและยอมรับผู้หนึ่งผู้ใดเป็นนักบุญไม่ง่ายนัก คือไม่ได้เป็นแบบออโตเมติก! จึงเกิดคำถามว่า กลุ่มคริสตชนจะรู้ได้อย่างไรว่า บุคคลคนหนึ่งเป็นนักบุญ ถ้าหากเขาคนนั้นไม่ว่าชายหรือหญิง ไม่ได้ตายในลักษณะ “มรณสักขี” เพื่อยืนยันความเชื่อ และใช้มาตรการอะไรในการเลือกบุคคลนี้ บุคคลนั้น ว่าจะสมควรถูกประกาศอยู่ในสารบบของนักบุญหรือไม่ ด้วยเหตุนี้นักบุญในกลุ่มที่สองจึงเกิดขึ้น กล่าวคือ ผู้ซึ่งไม่ได้เป็น “มรณสักขี” และเป็นประเภท “ผู้ยึดมั่นในศาสนา-ผู้ศรัทธาแก่กล้า” (Confessors) ในที่นี้ไม่ใช่หมายความถึงผู้ที่ได้รับผลศักดิ์สิทธิ์ของศีลอภัยบาป แต่หมายถึง ผู้ที่ยึดมั่นในพระวาจาของพระเจ้าและปฏิบัติตามจริงจังโดยยึดมั่นในความ เชื่อถึงพระเยซูคริสตเจ้า ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญในประเภทนี้ จะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อมีอัศจรรย์เกิดขึ้นและพิสูจน์ได้หลังจากที่ท่าน เหล่านี้จากโลกนี้ไปแล้ว

* ในยุคที่พระศาสนาจักรเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย

ใน ขณะที่พระศาสนจักรเติบโตขึ้นและแผ่ขยายไปยังผืนแผ่นดินใหม่ พระสังฆราชท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณา ดูแลการสร้างสักการะสถาน วัด วิหารเหนือหลุมศพของผู้ศักดิ์สิทธิ์ พระสังฆราชท้องถิ่นเป็นผู้ตรวจสอบและรายงานอัศจรรย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มคริสตชน รวมทั้งเป็นผู้แนะนำในการเคลื่อนย้ายศพของผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้นไปยังสถานที่ ที่เหมาะสม ในเวลานั้น “การเปลี่ยนแปลง” ในลักษณะพิเศษเช่นนี้ จะเป็นเครื่องหมายสำคัญของการสถาปนาบุคคลนั้นเป็นนักบุญ และมีการกำหนดในปฏิทินทางพิธีกรรมของท้องถิ่นนั้นให้เป็นวันฉลองนักบุญดัง กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระบวนการการแต่งตั้งนักบุญเช่นนี้เป็นระดับพื้นๆ แบบท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงประชาชนในย่านนั้นรับรองความศักดิ์สิทธิ์ที่พิเศษของบุคคลนั้นที่ ตายไป ในเวลานั้นจึงเกิดความคิดที่ว่า การเป็นนักบุญของผู้หนึ่งผู้ใดควรจะต้องเป็นบุคคลระดับสากล เป็นที่ยอมรับทั่วกันในระดับกว้างทั่วไป ไม่ใช่นักบุญเฉพาะถิ่น ด้วยเหตุนี้ ระบบและวิธีการตัดสินการแต่งตั้งผู้หนึ่ง ผู้ใดให้เป็นนักบุญในระดับสากลถึงถูกกำหนดขึ้น

สมเด็จ พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 15 ( ค.ศ.985-996 ) เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่รับรองการแต่งตั้งนักบุญสังฆราช อุลริส แห่งเอาสเบอร์ก ในปี ค.ศ.993 โดยใช้วิธีการพิจารณาการสถาปนาในศาลของศาสนจักร ซึ่งประกอบด้วย “ผู้ร้องขอให้ประกาศเป็นนักบุญ” (Petitioners) “ทนายดำเนินการ” (Procurato) และ “ผู้สนับสนุนแห่งความเชื่อ” (Promoters of Faith) ในตำแหน่งสุดนี้รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือ “ทนายแก้ต่างฝ่ายซาตาน” (Devil’s Advocate) ที่เรียกเช่นนี้มิได้หลายความว่า ตำแหน่งนี้ความเกี่ยวพันกับพวกมารร้ายหรือซาตาน แต่เพราะหน้าที่ของเขา คือ ยืนกรานในหลักการของตนเอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในข้อที่ได้โต้แย้งต่างๆ การพิสูจน์ความจริงและเครื่องหมายอัศจรรย์ต่างๆนั้น เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือและถือเป็นทางการ ฉะนั้นผู้ที่ทำหน้าที่นี้ต้องยึดมั่นในความจริงเป็นหลัก ไม่มีการประนีประนอมเด็ดขาด เพื่อพิสูจน์ว่าผู้นั้นศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง

ขั้นตอนนำไปสู่การสถาปนาการเป็นนักบุญ: 1) การประกาศบุคคลนั้นเป็น “ผู้รับใช้พระเจ้า” (Servant of God) 2) จากนั้นการประกาศและแต่งตั้งเป็น “บุญราศี” (Blessed) ก่อนที่จะไปสู่การสถาปนาเป็นนักบุญ ด้วยเหตุนี้ “อัศจรรย์” จึงเป็นเงื่อนไขอันหนึ่งที่จำเป็นต้องมี อันเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงพระหรรษทานของพระเจ้าแสดงออกเป็นพิเศษผ่านทางบุคคลนั้น

ใน ศต.ที่ 18 สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 14 (1740-1758) ประกาศกฎเกณฑ์และกระบวนการแต่งตั้งบุญราศีและการสถาปนานักบุญ ถึง 5 เล่มใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในกระบวนการ และวิธีการการสถาปนานักบุญยาวนานถึง 200 ปี หลักการดังกล่าวยังผนวกเข้าไว้ในประมวลกฎหมายพระศาสนจักร ในปี ค.ศ.1917 และในปี ค.ศ.1930 สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอที่ 11 (1922-1939) ตั้งหน่วยงานเพื่อค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ขึ้น เพื่อศึกษาเป็นพิเศษถึงกรณีเก่าแก่ที่ยังตกค้างมาหลายศตวรรษ อันเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาเนิ่นนานซึงจำเป็นต้องสะสางเป็นพิเศษให้เกิดความ กระจ่างชัดในกรณี

- ในระหว่างสังคายนาวาติกันที่ 2 (1962-1965) ช่วงสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 (1963-1978) คณะกรรมาธิการเรื่องการสถาปนานักบุญเริ่มศึกษาอย่างจริงจังถึงวิธีการที่ พระศาสนจักรเอามาใช้ในกระบวนการ

- ต่อมาในสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 (1978-2005) ทรงดำเนินการต่อจากพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ในการวางกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้นในกระบวนการสถาปนา นักบุญ ซึ่งเอกสารต่างๆ สำเร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1983 และกระบวนการดังกล่าวนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้

- ในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันคือพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2008 สมณกระทรวงเพื่อการสถาปนานักบุญ ได้ประกาศแนวทางใหม่ในกระบวนการการแต่งตั้งนักบุญเพื่อที่จะได้ชะลอการแต่ง ตั้งนักบุญแบบพร่ำเพรื่อ เอกสารนี้ชื่อว่า “ซางโตรุม มาแตร์” (Sanctorum Mater) ซึ่งสมณกระทรวงดังกล่าวย้ำถึงหน้าที่ของสังฆมณฑลที่มีกระบวนการสืบสวนการ แต่งตั้งนักบุญได้เริ่มขึ้น จำเป็น ต้องยึดหลักการสอบสวนอย่างที่ธรรมประเพณีดั่งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา กล่าวคือ ขอให้ถือเป็นเรื่องจริงจัง เข้มงวด และถูกต้องแม่นยำในการตรวจสอบถึงกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ในการเจริญชีวิต หรือ การเป็นมรณสักขีอย่างแท้จริงของบุคคลนั้น เนื่องจากมีสังฆมณฑลหลายแห่ง เมื่อเริ่มกระบวนการการแต่งตั้งนักบุญให้แก่ผู้ที่จากโลกนี้ไปแบบธรรมดาๆ ไม่มีอะไรที่โดดเด่นแท้จริง แต่เริ่มกระบวนการจากที่มีผู้คนร้องขออันเนื่องมาจากความผูกผันพิเศษกับพวก เขาเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น และไม่สมเหตุสมผลแท้จริง

ใน ยุคปัจจุบัน เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปามีบทบาทโดดเด่นในการสถาปนานักบุญ บางคนอาจคิดไปว่ากระบวนการแต่งตั้งเริ่มขึ้นและจบลงที่วาติกันเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ใช่แล้ว ที่สมเด็จพระสันตะปาปาเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้าย แต่ทว่า กระบวนการทั้งหมดนั้นเหมือนกับพระศาสนจักรในยุคแรกๆ กล่าวคือ ทุกอย่างต้องเริ่มจากพระศาสนจักรท้องถิ่นอันเป็นหลักสำคัญ

ขอบคุณข้อมูลจาก : catholicworldtour.blogspot.com